ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง / โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

 

เป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว ความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐประหารและผู้ประท้วงรัฐบาลในเมียนมายังไม่จบสิ้น หลายฝ่ายเป็นห่วงความขัดแย้งที่มีแต่ประชาชนล้มตาย ด้วยฝ่ายรัฐเมียนมายิง ไล่ทุบตีและเข่นฆ่า

ความห่วงใยต่อเหตุการณ์ความรุนแรงนี้มีทั่วโลก บ้างก็ว่าเกิดจากแรงกดดันภายนอกน้อยเกินไป

บ้างก็ว่า สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการบอยคอตน้อยเกินไป

ชาติมหาอำนาจได้แก่ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ต่อต้านการรัฐประหารน้อยเกินไป

จีนแสดงความไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ก็ไม่กดดันผู้นำทหารเมียนมา

อาเซียนหลายประเทศเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมือง บางประเทศสมาชิกอาเซียนเงียบเฉย

ผมเห็นด้วยทั้งหมด แต่เราจะคาดหวังแรงกดดันจากภายนอกต่อการรัฐประหารในเมียนมาได้เพียงใด ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้นิ่งดูดายหรือเล่นลิ้นดั่งนักวิชาการ

ผมว่า เราควรดูวิธีคิด ท่าทีและท่วงทำนองของผู้นำรัฐประหารเมียนมา น่าสนใจ

แต่ผมไม่ได้เห็นด้วยนะครับ

 

เมียนมา รัฐประหาร ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

แม้ว่าการช่วงชิงอำนาจระหว่างผู้นำทหารกับนางออง ซาน ซูจี และพันธมิตร เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่พรรค NLD ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในปี 2015 ผู้นำทหารแย่งชิงอำนาจจากผู้นำพลเรือนและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมานานกว่า 5 ปีแล้ว ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ การจัดสรรอำนาจในรัฐบาล ในกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย งบประมาณ และโดยเฉพาะช่วงชิงคะแนนนิยมจากประชาชน

การรัฐประหารครั้งนี้ จึงเป็นเครื่องมืออันเดียวจะเหนี่ยวรั้งและขับออง ซาน ซูจี และรัฐบาลพลเรือนออกจากการเมือง

อย่างไรก็ตาม มีใครได้ยินคำแถลงการณ์หรือเห็นเอกสารจากคณะรัฐประหารบ้างไหมว่า ผู้ทำรัฐประหารเป็นฝ่ายที่ทำผิดกฎหมาย ไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง

สังเกตให้ดี ตรรกะทางการเมืองที่พวกเขาใช้มาตลอดจนถึงขณะนี้คือ พวกเขาไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับฝ่ายต่อต้านและทำการประท้วงรัฐบาล ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทำผิดกฎหมายคือ นักการเมืองโกงการเลือกตั้ง

นายกรัฐมนตรีมีความผิดเรื่องความสะอาด โดยไม่สวมหน้ากากเวลาออกไปข้างนอก

ตอนนี้ ออง ซาน ซูจี ทุจริต

ครั้นเมื่อผู้คนจำนวนมาก ผู้คนทั่วประเทศ คนจากหลากหลายอาชีพออกมาประท้วงและนัดหยุดงาน ผู้ใหญ่ เด็ก ผู้ชาย หญิง ทั้งคนแก่และคนหนุ่ม แม้แต่เด็กก็ออกมาประท้วงต่อต้าน รัฐบาลทหารต่างประกาศว่า ผู้คนเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง

ส่วนผู้นำรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ กองกำลัง เจ้าหน้าที่รัฐ ล้วนทำตามกฎหมาย ทำตามหน้าที่ และรักษาความมั่นคงของประเทศ พวกเขามีอำนาจยิง ทำร้าย จับกุมคนที่ออกมาประท้วงได้ทั้งสิ้น

ยังไม่ได้ยินผู้นำทหารออกมายอมรับว่า ทำการรัฐประหารเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา แต่พวกเขาได้โยนความผิดไปที่นักการเมืองพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น พวกเขา (จนทุกวันนี้) ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับผู้ประท้วงทั้งหลาย

วิธีคิดเช่นนี้ แสดงว่าผู้ทำการรัฐประหารใช้แนวคิดที่ว่า ยึดอำนาจรัฐได้ ก็มีความชอบธรรมทางการเมือง และจัดการกับฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารด้วยวิธีการต่างๆ อย่างไรก็ได้

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้นำรัฐประหารจึงสั่งห้ามไม่ให้ใครๆ เรียกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ว่า รัฐประหาร ที่รัฐบาลห้ามสื่อมวลชน ห้ามใครต่อใครเรียกการกระทำของเขาว่ารัฐประหาร ผมเห็นว่าเป็นเรื่องจริงจังมากของผู้นำทหาร แต่ไม่ใช่การเลี่ยงบาลี เล่นคำ อ้างกฎหมาย ผู้นำทหารพยายามสร้างวิธีคิดให้ประชาชนและแม้แต่พวกเขาเองว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้มีความชอบธรรม พวกเขาไม่ใช่ต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ

 

ตรงนี้น่าสนใจมาก

สยาม รัฐประหาร ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

ผมขอย้ำว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับการรัฐประหารในเมียนมาและการปราบปรามประชาชน รวมทั้งรัฐประหารในไทยด้วย

แต่พยายามทำความเข้าใจวิธีคิดของผู้นำทหาร

คราวนี้มาดูที่ไทย

รสช. คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ 2534 (1991)

คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาคือ คมช. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ 2549 (2006)

คสช. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2557 (2014)

หากดูแค่ชื่อเรียกรัฐประหาร 3 ครั้งในไทย รสช. คมช. และ คสช. ควรคิดด้วยว่า คนทำรัฐประหารแต่ละครั้งเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายทำรัฐประหาร หากทำไม่ได้เป็นกบฏ

รัฐประหารครั้งที่ 1 ต้องนำโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แล้วสุ่มเสี่ยงกับรัฐบาลพลเรือน ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งต้องการหักโค่นด้วยนำอดีตนายทหารเข้ามาในรัฐบาล

รัฐประหารครั้งที่ 2 คมช. หลังจากร้างรัฐประหารนาน 15 ปี จะฝืนกระแสมากขนาดไหน อีกทั้งคู่ขัดแย้งระหว่างระบอบทักษิณ ผู้นำทหารและชนชั้นนำเข้มข้นทั้งกำลังอาวุธ ทุนการเมือง เครือข่ายทางการเมือง พลังมวลชนและกระแสนิยม

รัฐประหารครั้งที่ 3 คสช. คู่ขัดแย้งระหว่างระบอบทักษิณ ผู้นำทหารและชนชั้นนำยิ่งเข้มข้น ระบอบทักษิณที่นำโดยนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ยึดอำนาจรัฐ รัฐสภา องคาพยพราชการ มีเครือข่ายใช้กำลังอาวุธ หากไม่ได้ความรุนแรงทางการเมืองจาก กปปส.และพันธมิตร การรัฐประหารย่อมเกิดไม่ได้

ดังนั้น รสช. คมช. คสช. ล้วนเป็นชื่อการเมืองที่ต้องการทั้งสร้างความชอบธรรมทางการเมืองคือ ไม่ใช่การรัฐประหาร อันหมายถึงโค่นล้มรัฐบาลก่อนหน้านั้น แล้วชื่อเหล่านี้ยังประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อช่วยการปกครองรัฐต่อไปโดยผู้นำทหาร เพราะพวกเขาเข้ามาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อรักษาการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พวกเขาไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งจากนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นิสิต นักศึกษา แรงงาน ศิลปิน นักเรียน เยาวชน แกนหลักของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน

ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง บั่นทอนความชอบธรรมผู้ประท้วงรัฐบาล พร้อมกับโยนความผิดไปที่ผู้ประท้วง ตอนนี้ ผู้นำกองทัพ ตำรวจ พนักงานฝ่ายยุติธรรม เจ้าหน้าที่คุก แม้แต่จังหวัดและเทศกิจก็เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง เรื่องความสะอาด สาธารณสุข การจราจร ชุมนุมสาธารณะ ข้อมูลข่าวสารในคอมพิวเตอร์ อั้งยี่ แต่ไม่ใช่รัฐบาล รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

ประหลาด วิธีคิด ผู้นำความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา ผู้รักษากฎระเบียบ กฎหมาย เป็นฝ่ายถูกต้อง โดยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เป็นวิธีคิดของผู้นำทั้งในเมียนมาและไทย ที่ลอกเลียนแบบกันเพราะไปมาหาสู่และคบกันอยู่นาน การเลียนแบบในเชิงความหมาย ความรุนแรง โดยเฉพาะมองเห็นผู้ประท้วงเป็นศัตรู เป็นผู้สร้างความวุ่นวาย ทำลายความสามัคคีและทำลายชาติ ได้รับการถ่ายทอดออกไปทั่วถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ สลิ่ม พวกคลั่งชาติ คลั่งศาสนา คลั่งชนชั้น ทั้งในไทยและเมียนมา

อย่างไรก็ตาม วิธีคิดทางการเมืองที่ผิวเผินเช่นนี้กลับช่วยสร้างประดิษฐกรรมทางการเมือง ที่สร้างสรรค์อีกมากมายโดยมวลชนต่อต้านรัฐบาลทั้งเมียนมาและไทย