ท่วงท่าลีลาจีน-มะกัน ต่อรัฐประหารพม่า /สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ท่วงท่าลีลาจีน-มะกัน

ต่อรัฐประหารพม่า

 

จีนกับอเมริกามีท่าทีแตกต่างกันอย่างไรต่อกรณีรัฐประหารในเมียนมา…เป็นคำถามที่น่าใคร่ครวญและวิเคราะห์ให้รอบด้านเป็นอย่างยิ่ง

เพราะหากได้คำตอบที่สะท้อนความเป็นจริงแห่งยุคสมัยได้ เราอาจจะเห็นทางออกสำหรับเมียนมาที่ตอบโจทย์อันยุ่งยากสลับซับซ้อนได้

จุดยืนของอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ค่อนข้างจะชัดเจนว่าต้องการให้ฝ่ายทหารที่นำโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ปล่อยตัวออง ซาน ซูจี และผู้นำการเมืองของพรรค NLD และให้เคารพผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หากฝ่ายทหารไม่ยอมทำตาม อเมริกาก็จะจับมือกับสหภาพยุโรปและสี่ประเทศกลุ่มสมาชิก Quad (สหรัฐ, อินเดีย, ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย) ร่วมกันออกมาตรการคว่ำบาตรเป็นชุดๆ เพื่อกดดันให้ทหารพม่าต้องยอมถอย

หากเป็นสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ในกรณีเกาหลีเหนือ อเมริกาก็จะบอกว่าจีนจะต้องช่วยกดดันและหว่านล้อมคิม จอง อึน ให้ยอมลดละความพยายามที่จะเผชิญหน้ากับอเมริกา…ด้วยการยอมยกเลิกโครงการนิวเคลียร์

แต่ในยุคสมัยนั้น แม้ทรัมป์จะอ้างว่าสนิทสนมกับสีจิ้นผิง แต่ก็ไม่สามารถทำให้จีนไปกดดันเกาหลีเหนือได้แต่อย่างใด

อาจจะเป็นเพราะทรัมป์เล่นเกมการเมืองโดยตรงกับคิมจนผู้นำเกาหลีเหนือไม่จำเป็นต้องปรึกษาหารือปักกิ่ง

ท้ายที่สุดอเมริกาก็ไม่สามารถทำให้เกาหลีเหนือยอมตามเงื่อนไขของตัวเองได้

ส่วนสีจิ้นผิงได้พยายามกดดันคิม จอง อึน มากน้อยเพียงใดก็ไม่มีใครสามารถประเมินได้

ทั้งๆ ที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าการที่เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาศักยภาพทางอาวุธนิวเคลียร์นั้นก็มิใช่สิ่งอันพึงประสงค์สำหรับจีนเท่าไหร่นัก

กรณีทหารยึดอำนาจที่เมียนมาก็เช่นกัน…จีนก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสบายใจที่มินอ่องหล่ายตัดสินใจ “คว่ำกระดาน” และโค่นอำนาจของออง ซาน ซูจี

เพราะในยุคออง ซาน ซูจี เป็นผู้บริหารประเทศหลังการเลือกตั้งปี 2015 นั้น จีนได้ทุ่มทุนในพม่าอย่างมาก

พอเกิดเรื่องวุ่นวายที่สร้างความไม่แน่นอนที่อาจจะมีผลกระทบทางลบต่อการลงทุนของตนในเมียนมาก็ย่อมทำให้ผู้นำจีนต้องคิดหนักไม่น้อย

เป็นที่มาของคำให้สัมภาษณ์ของเอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา “เฉินไห่” ที่บอกว่า

“สิ่งที่เกิดในเมียนมาวันนี้มิใช่สิ่งที่จีนอยากจะเห็น…”

และยืนยันว่าจีนไม่ได้รับรู้ล่วงหน้าว่าทหารจะก่อการรัฐประหาร

เป็นการตอบโต้คำกล่าวหาจากผู้ประท้วงบางกลุ่มว่าจีนมีส่วนรู้เห็นกับรัฐประหารครั้งนี้

มีการกล่าวหาว่าจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมาช่วยกองทัพเมียนมาสร้างไฟร์วอลล์เพื่อสกัดไม่ให้คนพม่าเข้าใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการระดมพลต่อต้านการยึดอำนาจ

ปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ด้วยการบอกว่า “ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด” เช่นว่านี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ท่าทีของจีนหลังการยึดอำนาจในเมียนมาจึงเป็นการแสดงออกถึงท่วงท่าที่ระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

แต่หลายลีลาของปักกิ่งก็แตกต่างไปจากจุดยืนยุคก่อนเก่าที่เคยกระโดดมาอยู่ข้างกองทัพพม่ามาตลอด

นักการทูตอาเซียนคนหนึ่งบอกว่า “มีสัญญาณหลายอย่างที่บ่งบอกว่าจีนไม่ค่อยจะสบายใจนักกับการรัฐประหารของพม่า เพราะปักกิ่งรู้ว่าความยุ่งยากในเมียนมาจะมีผลกระทบทางลบต่อเงินที่ลงทุนในโครงการต่างๆ ในประเทศนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

การลงทุนของจีนในการสร้างท่อน้ำมันจากจีนผ่านพม่าเพื่อลงสู่มหาสมุทรอินเดียนั้นเกิดขึ้นจากการเจรจาในสมัยของออง ซาน ซูจี

และพม่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย One Belt One Road ที่จะทำให้จีนมีทางออกมากกว่าเดิมหลายด้าน

จีนวันนี้ไม่ใช่จีนยุคก่อนที่มีนโยบายหลักคือความมั่นคงและอุดมการณ์ทางการเมือง

วันนี้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถูกวางในระดับต้นๆ เลยทีเดียว

ความไร้เสถียรภาพในประเทศเพื่อนบ้านคนจีนมี “เดิมพัน” ทางด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจึงเป็นเรื่องอันไม่พึงปรารถนาสำหรับผู้นำปักกิ่งแน่นอน

 

ก่อนหน้ารัฐประหารเพียงสองสัปดาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนหวังอี้มาเยือนเมียนมา และมีการออกข่าวในสื่อต่างๆ ของการพบปะกับออง ซาน ซูจี และผู้นำทางทหารอย่างกว้างขวาง

เป็นการส่งสัญญาณว่าจีนต้องการเพื่อนบ้านทางใต้ประเทศนี้พัฒนาต่อเนื่องไปอย่างเป็นระบบ

เพราะหากพม่าเฟื่องฟู จีนก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยอย่างแน่นอน

หวังอี้พบกับออง ซาน ซูจี คราวล่าสุดนี้เพื่อจะลงนามในข้อตกลงที่มีความสำคัญต่อทั้งสองประเทศอย่างยิ่งคือ “ระเบียบเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” หรือ China-Mynmar Economic Corridor

จังหวะที่มาเยือนเพื่อลงนามในสัญญาที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า $100,000 ล้าน (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท) นั้นน่าสนใจมาก

เพราะจีนไม่รอให้มีการเลือกตั้งที่กำหนดไว้วันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

อาจจะเชื่อว่า อย่างไรเสียพรรค NLD ของออง ซาน ซูจี คงจะชนะอีกรอบและได้บริหารประเทศสมัยที่สอง

โครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” นี้จะเชื่อมมณฑลยูนนานทางใต้ของจีนกับชายฝั่งเมียนมาทางอ่าวเบงกอลซึ่งจะเปิดทางให้จีนมีทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

โครงการมโหฬารนี้แตกย่อยเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดถึง 38 โครงการ

 

ท่าทีของจีนต่อรัฐประหารเมียนมาครั้งนี้วัดได้จากแถลงการณ์ของหวังอี้และทูตเมียนมาประจำพม่า

แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่านั้นคือบทบาทของจีนในคณะมนตรีความมั่นคงในสหประชาชาติ

และแถลงการณ์ร่วมแสดงจุดยืนของคณะมนตรีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

จีนเป็นสมาชิกสำคัญของทั้งสององค์กร

หากเป็นยุคก่อน ตัวแทนของจีนจะออกมาปกป้องรัฐบาลทหารของเมียนมาอย่างแข็งกร้าว

แต่คราวนี้จีนกลับพยายามไกล่เกลี่ยต่อรองให้ให้ภาษาที่ประนีประนอมเพื่อประคองทั้งฝ่ายของออง ซาน ซูจี และนายพลมิน อ่อง ลาย

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ในกรณีร่างแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงนั้น จีน (กับรัสเซีย) ไม่ได้ตีตกไปทันที แต่ขอเวลาศึกษาร่างที่ตัวแทนอังกฤษ (ประธานปีนี้) เสนอขึ้นมา

จีนอาจจะขอไม่ใช้คำว่า “ประณาม” หรือถ้อยคำรุนแรงในระดับนั้น แต่ปักกิ่งและมอสโกยอมยกมือให้ออกแถลงการณ์ที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาเคารพในหลักการประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน และนิติธรรม

ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่าจีนได้ก้าวถอยห่างออกจากฝ่ายรัฐประหารเมียนมาอย่างชัดเจน

 

ในกรณีร่างแถลงการณ์ของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนนั้น จุดยืนของจีนก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เพราะแต่ไหนแต่ไรมา จีนจะคัดค้านร่างแถลงการณ์ใดๆ เกี่ยวกับเมียนมาที่มีผลกระทบต่อกองทัพของเมียนมา

แต่ครั้งนี้ตัวแทนจีนตัดสินใจ “งดออกเสียง”

เมื่อจีนงดออกเสียงแทนการคัดค้านก็เปิดทางให้สมาชิกที่เหลือสามารถลงมติผ่านร่างแถลงการณ์ประณามกองทัพพม่าและเรียกร้องให้ปล่อยออง ซาน ซูจี ได้ด้วยเสียงเป็น “เอกฉันท์”

นี่เป็นวิธีที่แยบยลของปักกิ่งที่จะส่งสัญญาณไปให้ผู้นำทหารเมียนมาว่าจีน “ไม่สบายใจ” กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาวันนี้

จุดยืนของจีนวันนี้ต่อกรณีเมียนมามีปัจจัยแห่งเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เพราะตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจีนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาผ่านรัฐบาลพลเรือนที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นอย่างมาก

 

วันนี้จีนเป็นคู่ค้าหมายเลข 1 และเป็นผู้ให้กู้อันดับแรกของเมียนมา

อีกทั้งจีนยังเป็นประเทศที่ลงทุนในเมียนมาหนึ่งในสามอันดับต้นๆ อีกเช่นกัน

ประกอบกับสหรัฐภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับเอเชียอาคเนย์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

จึงยิ่งทำให้จีนกับรัฐบาลเมียนมาภายใต้ออง ซาน ซูจี มีความสนิทแนบแน่นกันมากขึ้นมาหลายๆ ด้าน

ถึงขนาดมีนักการทูตบางคนเคยได้ยินนายพลเมียนมาระดับสูงบ่นดังๆ ว่า

“ออง ซาน ซูจี สนิทกับจีนมากไปแล้ว…”

ทั้งๆ ที่ในอดีตฝ่ายพลเรือนต่างหากที่มองว่ากองทัพเมียนมาพึ่งพาจีนมากเกินไปหรือไม่