ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มีนาคม 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
สมชัย ศรีสุทธิยากร
ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต
ประชามติ : แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์?
คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้แต่ต้องไปทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่ามีความประสงค์จะให้ดำเนินการหรือไม่ ทำให้คำว่า “ประชามติ” กลายเป็นความหวังและเครื่องมือสำคัญในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ในขณะที่ฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ปรีดาปราโมทย์ในคำวินิจฉัย ด้วยเหตุที่สามารถใช้เหตุผลดังกล่าวหยุดยั้งกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เตะถ่วงเนิ่นช้ามาเป็นปีแล้วให้กลับไปนับหนึ่งใหม่ ด้วยเหตุผลว่าต้องทำประชามติก่อนจึงจะเริ่มต้นจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้
แล้ว “ประชามติ” จะเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายในกรณีนี้กันแน่
ไม่มีทางหลีกพ้นการทำประชามติ
ในปีนี้ อย่างไรประเทศไทยก็หลีกไม่พ้นการทำประชามติอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เนื่องด้วยความขัดแย้งที่มีอยู่ในบ้านเมืองอันสืบเนื่องจากความไม่พอใจในการออกแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่นำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมือง น่าจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการจบด้วยการประชามติเพื่อถามคนทั้งประเทศว่าคิดเห็นไปในทางใด
เป็นประชามติเพื่อหาข้อยุติของความขัดแย้ง ซึ่งหมายความว่าทุกฝ่ายต้องยอมรับผลของการลงประชามติ ไม่ว่าผลจะออกมาในทิศทางใด และเชื่อว่าจะเป็นการทำประชามติที่ดุเดือดเข้มข้น มีการรณรงค์ให้ข้อมูลและความคิดเห็นอย่างมากมายที่สุดในประวัติศาสตร์
ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขที่ระบุในกฎหมาย พ.ร.บ.ประชามติ ที่เรียกว่าเสียงข้างมากสองรอบ (Double majority) คือ จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง และประเด็นที่ได้ข้อยุติต้องเป็นประเด็นที่ได้รับเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
เพียงเงื่อนไขดังกล่าวก็ลุกเป็นไฟ เพราะทุกฝ่ายย่อมหวังผลในการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงเพื่อสนับสนุนในแนวทางที่ตนสนับสนุน
ยิ่งสื่อทางสังคมต่างๆ ที่มีในรูปแบบต่างๆ มากมาย เวทีการอภิปรายถกเถียงแบบคลับเฮาส์อาจเกิดขึ้นทุกค่ำคืน
การถกเถียงแลกเปลี่ยนร้อยเวทีพันเวทีจะเกิดขึ้นก่อนหน้าวันลงประชามติ
ถามหาบรรยากาศที่เสรี เสมอภาค
ปัญหาของการทำประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2557 ที่อยู่ใต้บรรยากาศการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีคำสั่งของหัวหน้า คสช.ในการควบคุมการชุมนุมทางเมือง คือ เป็นการทำประชามติที่ขาดเสรี ไร้ความเสมอภาคเท่าเทียม โดยฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐสามารถใช้กลไกในการจัดการกับผู้เห็นต่าง จึงทำให้หลายฝ่ายมิอาจยอมรับได้ว่าเป็นการทำประชามติที่ดีได้
ดังนั้น การออกแบบในการทำประชามติครั้งใหม่ จึงต้องยึดหลักการที่สำคัญ คือ ให้การลงประชามตินั้นเป็นการลงประชามติที่เสรีเป็นธรรม ปราศจากการชี้นำบังคับข่มขู่ ให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างมีโอกาสในการในนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะอย่างมีเหตุผล เป็นจริง ด้วยความเท่าเทียมกัน
กติกาดังกล่าวนอกจากจะบัญญัติไว้ในกฎหมายประชามติแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติ ยังต้องคอยกำกับดูแลมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กลไกของตนที่มีอยู่เพื่อสร้างความได้เปรียบให้แก่ฝ่ายตนเอง ซึ่งที่ผ่านมามักปรากฏว่า ฝ่ายรัฐเองมักจะเป็นฝ่ายใช้กลไกอำนาจรัฐต่างๆ เอาเปรียบฝ่ายตรงข้าม
จึงเป็นเรื่อง ที่ กกต.ต้องทันสถานการณ์ และมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะจัดการกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ถามหาการให้ข้อมูล
ข้อเท็จจริงที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ
การกำหนดให้การออกเสียงประชามติ ต้องมีขึ้นในช่วงไม่น้อยกว่า 90 วันและไม่เกิน 120 วันนับแต่วันที่เหตุให้ลงประชามติ ด้านหนึ่งเพื่อเป็นกรอบเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีเวลาในการเตรียมการในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดพิมพ์บัตร การจัดเตรียมอุปกรณ์ การจัดการลงคะแนนทั้งในและนอกราชอาณาจักร
แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการให้มีเงื่อนเวลาที่เพียงพอสำหรับการให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนแก่ประชาชน และเปิดโอกาสให้มีการถกแถลงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนด้วยเหตุและผลต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ดังนั้น สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการ คือ การเผยแพร่เอกสารข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่จะออกเสียงประชามติถึงผู้มีสิทธิในการออกเสียงอย่างน้อยทุกครัวเรือนไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันลงคะแนนเสียง
และอาจมีการเผยแพร่ทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยพิจารณาถึงความสามารถในการเข้าถึงผู้มีสิทธิออกเสียงโดยสะดวก
สื่อมวลชน สถาบันการศึกษาควรเป็นตัวช่วยในการสรุปข้อมูลให้ง่ายต่อความเข้าใจ โดยอาจใช้ infographic หรือคลิปวิดีโอ เพื่อการสื่อสารที่ง่ายต่อความเข้าใจ การจัดเวทีอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็น เวทีดีเบตเพื่อให้ฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่เห็นต่างๆ ได้มีโอกาสมาประชันแนวคิดควรมีทั่วไปและดำเนินการด้วยความเป็นกลางอย่างเท่าเทียม
การลงประชามติของประชาชนจึงจะเป็นการลงประชามติที่มีคุณภาพบนพื้นฐานของความรู้จริง มิใช่พวกมากลากไป
ถามหาความจริงใจของผู้มีอำนาจ
ในอดีตที่ผ่านมา ประชามติถูกใช้เป็นเครื่องมือรับรองความชอบธรรมของผู้มีอำนาจบนพื้นฐานความไม่รู้หรือไม่มีทางเลือกของประชาชน อย่างเช่น ประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 อยู่บนเงื่อนไขการข่มขู่แบบกลายๆ ว่า หากไม่รับก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง หากไม่รับ หัวหน้า คสช.ก็มีอำนาจไปหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งในอดีตมาใช้ตามใจชอบ
เงื่อนไขแบบนี้ ทำให้คนจำนวนหนึ่งอาจเห็นคล้อยไปในทางให้ความเห็นชอบ เพราะไม่เหลือทางเลือกอะไร และเห็นว่าการลงประชามติรับไปก่อนยังอาจดีกว่าข้อข่มขู่ของผู้มีอำนาจในขณะนั้น
แต่พอประชาชนลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ ก็เอาตัวเลข 16 ล้านเสียงมาเป็นข้ออ้างตลอดว่า รัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากประชาชนโดยผ่านกระบวนการประชามติมาแล้ว
ดังนั้น หากจะมีประชามติใหม่ ฝ่ายผู้มีอำนาจควรวางใจเป็นกลางและให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสินอนาคตของเขาไม่ใช้อำนาจที่มีเพื่อข่มขู่ บิดเบือน ให้ร้าย หรือโน้มน้าวจูงใจให้ประชาชนคล้อยตาม รวมถึงต้องยอมรับผลของการทำประชามติไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใดนั่นคือเจตนาที่แท้ของประชาชนและยอมปฏิบัติตาม
ประชามติจึงจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการลดความขัดแย้ง ความเห็นต่างของคนในสังคม เพื่อหาคำตอบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นมุ่งหวังหรือประสงค์ให้รัฐดำเนินการไปในทิศทางใด
แต่หากประชามติเป็นเพียงเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจมุ่งใช้เพียงเพื่อรับรองความชอบธรรมในอำนาจ และพยายามบิดเบือนหาวิธีการให้ประชาชนคล้อยตามในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามประชามติที่ยากต่อความเข้าใจ มีลักษณะทั้งกำกวม ทั้งเป็นคำถามนำ จำกัดกระบวนการส่งข่าวสารข้อมูลถึงประชาชน กีดกันการแสดงความเห็นของผู้เห็นต่าง และใช้อำนาจรัฐที่ตนมีในการข่มขู่คุกคามทั้งผู้รณรงค์และผู้ออกเสียงประชามติ ประชามติก็ไม่แตกต่างอะไรกับพิธีกรรมที่มีค่าใช้จ่ายอันแพงลิ่วเพื่อเป็นตรายางประทับความชอบธรรมให้แก่ผู้ฉ้อฉลเท่านั้น
สิ่งที่เห็นเป็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ จึงอาจไม่ใช่ทางออก แต่คงเป็นเพียงภาพลวงตาเพื่อหลอกเข้าไปติดกับดักที่เลวร้ายอีกครั้งหนึ่งก็ได้