เศรษฐกิจ/จากวินด์ฟาร์มถึงสำรวจขุดเจาะ ปัญหาซ้ำซากตีความ กม.ส.ป.ก. จากถูกกลายเป็นผิด ระวังเอกชนม้วนเสื่อ

เศรษฐกิจ

จากวินด์ฟาร์มถึงสำรวจขุดเจาะ

ปัญหาซ้ำซากตีความ กม.ส.ป.ก.

จากถูกกลายเป็นผิด ระวังเอกชนม้วนเสื่อ

สร้างความปวดหัวให้กับเอกชน หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ทำให้ 7 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก. ต้องหยุดกิจการชั่วคราว

7 บริษัท ประกอบด้วย

1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร

2. บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย

3. บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์

4. บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี

5. บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์

6. บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก

และ 7. บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

โดยผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ประเมินความเสียหายเบื้องต้น คือ น้ำมันดิบหายไป 16,000 บาร์เรลต่อวัน

ก๊าซธรรมชาติหายไป 110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ก๊าซธรรมชาติเหลวหายไป 100 บาร์เรลต่อวัน

คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาทต่อวัน

ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กว่า 26 ล้านบาทต่อวัน

และค่าภาคหลวงที่จะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงไปกว่า 3.55 ล้านบาทต่อวัน

นอกจากนี้ การหยุดผลิตดังกล่าวจะกระทบต่อการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ขนส่งน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน

 

เลวร้ายที่สุดคือ กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเพราะแม้การผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวจะมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไม่มาก แต่เมื่อหยุดทำการผลิตก็ทำให้ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ภายในประเทศลดลงส่วนหนึ่ง จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ราคาปัจจุบันที่โลกมีเหตุการณ์ต่างๆ จนราคาน้ำมันมีความผันผวน

จากความเสียหายโดยตรงกับบริษัท จึงมีเอกชนบางรายที่ประกาศจะฟ้องร้องรัฐบาล เพราะมั่นใจว่าตลอดระยะเวลาที่อนุญาตจนถึงขั้นตอนดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้อง และหน่วยงานรัฐก็มีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

คำถามที่ตามมาคือ เหตุใดทางกฎหมายจึงบ่งชี้ว่าเอกชนกำลังทำผิด?

หรือมีขั้นตอนผิดปกติของหน่วยงานในการอำนวยความสะดวกเอกชนจนละเลยความเคร่งครัดทางกฎหมาย?

จากปัญหานี้ นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท. แสดงความเห็นได้น่าสนใจว่า ก่อนที่เอกชนจะลงทุนทุกโครงการล้วนมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว เมื่อวานเป็นนักธุรกิจ แต่วันนี้เป็นผู้ร้าย เหมาะสมหรือไม่ ปัญหาลักษณะนี้เพราะอาจเกิดกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นอีก

“อยากให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนรับความเสียหายเอง ไม่เช่นนั้นนักลงทุนจะไม่มีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย” รองประธาน ส.อ.ท. กล่าว สอดคล้องกับความเห็นของ นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. ที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะการเสนอให้นำเครื่องมือสำคัญอย่าง ม.44 มาใช้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ มีผลต่อระบบกฎหมายของประเทศ

เพราะต้นปีที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาเพิกถอนการอนุญาตให้บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 39 ไร่ โดยวินิจฉัยว่า กิจการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าของบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ไม่เอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าราษฎรในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากกิจการดังกล่าวโดยตรง ทำให้ 16 บริษัท 17 โครงการ เกิดความกังวลว่าจะต้องหยุดกิจการหรือไม่

ครั้งนั้นถือเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความกลัดกลุ้มให้เอกชน โดยต้องลุ้นกับผลตรวจสอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สั่งการให้ ส.ป.ก. ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยนำกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องของบริษัท วินด์ ฟาร์ม ภายใน 45 วัน จนได้ข้อสรุปว่าสามารถดำเนินการได้

จึงโล่งใจไปตามๆ กัน

อย่างไรก็ตาม หลังจาก 7 บริษัทปิโตรเลียมจำต้องหยุดผลิตชั่วคราว ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ออกมาให้ข้อมูลว่า กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่นในพื้นที่ ส.ป.ก. ส่งผลให้โครงการปิโตรเลียมหยุดผลิตนั้น ส.ป.ก. ไม่เคยมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด

เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง จะครอบคลุมเฉพาะที่จะเป็นคำขอทำปิโตรเลียมที่เพิ่งยื่นเข้ามา หรือกำลังจะขอดำเนินการขุดเจาะเท่านั้น

นอกจากนี้ ส.ป.ก. กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังอยู่ระหว่างหารือถึงแนวทางเเก้ไขปัญหาร่วมกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

เบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ

1. เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44

หรือ 2. ให้มีการแก้ไขกฎหมายกรณีเร่งด่วน ตาม พ.ร.บ.ส.ป.ก. มาตรา 19(12) ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีอำนาจแก้ไขกฎระเบียบเพิ่มเติมได้เป็นรายกรณี ในกรณีที่เห็นว่ากิจการที่ทำในพื้นที่ ส.ป.ก. นอกเหนือจากการปฏิรูปที่ดิน เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อาทิ แร่ธาตุ พลังงาน แต่ต้องมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงก็ได้เสนอ 2 ทางออกให้ พล.อ.อนันตพร เลือก คือ

1. ให้รัฐมนตรีพลังงานเสนอรายงานปัญหากับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะดำเนินการในขั้นตอนอย่างไร

2. คณะกรรมการบริหารแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (บยศ.) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วม ซึ่งเน้นแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

โดยแนวทางดังกล่าวขึ้นอยู่กับ พล.อ.อนันตพร จะตัดสินใจดำเนินการ

ส่วนประเด็นการใช้คำสั่ง ม.44 นั้น กรมเชื้อเพลิงระบุว่า จะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะนำมาพิจารณา พร้อมยอมรับว่าคำสั่งศาลไม่ได้ระบุให้กรมสั่งให้ผู้ผลิตปิโตรเลียม 7 รายหยุดผลิต แต่ที่กรมต้องสั่งก็เพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลังเพราะเราไม่มีระเบียบอะไรมารองรับ

แต่ผลกระทบหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความเชื่อมั่น เพราะจากข้อปัญหาเรื่องการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. อาจกระทบต่อการเปิดสำรวจและประมูลปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ที่ส่วนใหญ่การสำรวจจะอยู่ในพื้นที่บนบก ซึ่งการสำรวจแหล่งใหม่นี้น่าจะดำเนินการภายหลัง 2 แหล่งใหญ่ที่อ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุมีความชัดเจน

ขณะนี้ พล.อ.อนันตพร ยังอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ จึงยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าจะตัดสินใจช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไร

แต่ยิ่งตัดสินใจช้า เอกชนก็ต้องรับความเสี่ยง ความเสียหายจากการผลิต ที่ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านอื่นๆ เลวร้ายสุดอาจทำให้เอกชนต่างชาติอยากพับเสื่อกลับบ้านก็เป็นไปได้