ชัยชนะ ‘เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล’ บทเรียนบริหารคลื่นความถี่ กสทช.ต้องไม่พลาดอีก!! / บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ชัยชนะ ‘เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล’

บทเรียนบริหารคลื่นความถี่

กสทช.ต้องไม่พลาดอีก!!

ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หัวเรือใหญ่ในการทำหน้าที่บริหารทรัพยากรคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ภายหลังศาลปกครองมีคำพิพากษาสูงสุดให้ กสทช.คืนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แก่บริษัทไทยทีวี ของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล หรือพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริหารบริษัท

สาระสำคัญของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คือ

1. ศาลสั่งให้ กสทช.คืนเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่ 1 ให้กับบริษัท บริษัทได้รับประโยชน์การใช้งานตามใบอนุญาตที่ประมูล จำนวน 15 ปี ทางบริษัทได้มีการชำระเงินงวดที่ 1 จำนวน 365.51 ล้านบาท แต่บริษัทได้มีการออกอากาศไปเพียง 1 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นการชำระเงินเกินกว่าที่ระยะเวลาออกอากาศไป ศาลจึงสั่งให้คืนเงิน จำนวน 151.73 ล้านบาท

2. ให้ทางสำนักงาน กสทช.คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำนวน 16 ฉบับ ที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด วางเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ของงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 6 จำนวน 1,750 ล้านบาท ถ้าคืนเป็นหนังสือค้ำประกันไม่ได้ ก็ให้คืนเป็นเงินสด

ซึ่งทางสำนักงาน กสทช.ได้บังคับเอาเงินสดจากธนาคารในฐานะผู้ค้ำประกัน เพื่อชำระเงินค่าประมูลในงวด 2 และ 3 เป็นจำนวน 672.81 ล้านบาท ส่วนหนังสือค้ำประกันที่เหลือสามารถส่งคืนได้

อย่างไรก็ตาม เงินสดบังคับเอาจากธนาคารนั้น ถูกนำจ่ายไปยังกระทรวงการคลังเข้าเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว

 

ส่วนกระบวนการคืนเงินจะดำเนินการภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทางสำนักงาน กสทช.ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.ไปแล้วบางส่วน เมื่อทางสำนักงาน กสทช.หาเงินมาคืนได้แล้ว ก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช.ให้มีการอนุมัติเงินคืนต่อไป ซึ่งการหาเงินมาคืน จะแบ่งได้ 2 กรณี คือ

1. เงินประมูลในงวดที่ 1 จำนวน 151.73 ล้านบาท ตามกฎหมายในขณะนั้น ต้องนำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) หรือ USO ทำให้ต้องนำเงินคืนจากกองทุน กทปส.

2. เงินประมูลในงวดที่ 2 และ 3 จำนวน 672.81 ล้านบาท ที่ได้นำส่งให้กระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน ทางสำนักงาน กสทช.จะมีการทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้กระทรวงได้ส่งเงินคืนจำนวนนี้มาให้ทางสำนักงาน กสทช.

เพื่อที่จะดำเนินการคืนกับธนาคารต่อไป

 

ประเด็นนี้ “นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กรรมการ กสทช.ให้ความเห็นว่า การที่ กสทช.ผิดสัญญาทางปกครอง เพราะการประมูลคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ผู้ประมูลจะต้องเช่าโครงข่ายจากผู้ให้บริการโครงข่ายในระบบดิจิตอล (MUX) แต่ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ สร้างโครงข่ายไม่ทันตามกำหนด ที่จะต้องครอบคลุมพื้นที่กี่เปอร์เซ็นต์ ภายในกี่ปี ซึ่งมีความต่างกับการประมูลคลื่นโทรคมนาคม ที่ผู้ประมูลต้องมีการลงทุนสร้างโครงข่ายเอง

ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีกรณีการผิดสัญญาทางปกครองได้อีก

ยกตัวอย่างเช่น การประมูลวงโคจรดาวเทียมล่วงหน้า ก่อนที่ดาวเทียมไทยคมจะหมดสัมปทาน ต้องมาคาดการณ์ว่าวงโคจรบางชุดจะเลิกใช้เมื่อไหร่ กรณีที่หมดสัญญาสัมปทาน มีการระบุวันที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่บางวงโคจรอย่างดาวเทียมไทยคม 4 มีอายุวิศวกรรมเหลืออยู่ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะนำไปให้บริการต่อในอีก 2-3 ปี ถ้ามีการประมูลวงโคจร จะเริ่มให้ใบอนุญาตหลังจากที่ดาวเทียมไทยคม 4 หมดอายุ แล้วถ้าบังเอิญไม่หมดอายุ จะมีผลกระทบต่อวันเปิดให้บริการกับผู้ที่ได้รับการประมูลใหม่ไป

ซึ่งจะผิดสัญญาทางปกครองได้อีก

 

โดยภายในสิ้นปีนี้จะมีการประมูลวงโคจรดาวเทียมแล้ว ทางสำนักงาน กสทช.จะมีการระบุว่าได้ใบอนุญาตวันที่เท่าไหร่และให้ไปชำระเงินค่าประมูลก่อน 30-60 วัน ก่อนจะได้รับใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ดาวเทียมไทยคม 4 จะมีการยืดอายุการใช้งานด้วย แต่ว่าผู้ที่ชนะการประมูลวงโคจรดาวเทียมจะได้รับสิทธิใช้ประโยชน์ด้วยการยืดระยะเวลาใบอนุญาตออกไป จนกว่าดาวเทียมไทยคม 4 จะหมดอายุการใช้งาน

ดังนั้น การเขียนสัญญาหลังจากนี้ จะเขียนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ให้ทางผู้ที่ได้รับการประมูลเสียสิทธิ

อย่างการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่ผ่านมาได้มีการระบุไว้ว่าจะเริ่มให้ใบอนุญาตได้ เมื่อมีการย้ายช่องทีวีดิจิตอลที่ใช้คลื่นย่านนี้ไปไว้คลื่นย่านอื่นก่อน เพิ่งย้ายเสร็จไปเมื่อ 15 มกราคม 2564 แต่มีการระบุเวลาชัดเจนในสัญญา ว่าจะเริ่มใช้คลื่นได้หลังจากที่ปรับคลื่นทีวีดิจิตอลแล้วเสร็จ ถ้าไม่แล้วเสร็จก็จะมีการออกประกาศขยับเวลาออกไป

เงื่อนไขสำคัญเลยคือ ถ้าผู้ได้รับประมูลยังไม่ได้เริ่มใช้คลื่นความถี่ ก็ยังไม่ต้องชำระเงินให้กับทางสำนักงาน กสทช.

ไม่เหมือนกับกรณีประมูลทีวีดิจิตอลที่เมื่อประมูลเสร็จแล้ว ต้องชำระเงินการประมูลโดยทันที โดยที่ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ยังสร้างโครงข่ายไม่ทั่วถึง

 

เนื้อหาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีบางส่วนที่อ้างอิงกับคำสั่ง ม.44 ที่ให้ทีวีดิจิตอลคืนช่องได้ และได้เงินคืนซึ่งเป็นการอ้างกฎหมายที่เป็นคุณกับช่องของเจ๊ติ๋ม แต่ในอนาคตไม่ได้มี ม.44 แล้ว ก็ไม่ได้ยืนยันว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจะเป็นแบบเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ถ้าไม่มีคำสั่ง ม.44 ฉบับนี้ ศาลปกครองสูงสุดอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ แต่เนื่องจากมี ม.44 ที่ได้ให้ประโยชน์รายอื่นไปแล้ว แล้วถ้าเจ๊ติ๋มไม่ได้ประโยชน์ด้วย ก็จะดูไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม อาจจะเกิดกรณีซ้ำได้ในอนาคต หากมีการประมูลวิทยุดิจิตอล แล้วเกิดต้องเช่าโครงข่ายกับผู้ให้บริการโครงข่ายฯ อีก ต้องบอกให้ชัดว่าผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะเปิดบริการได้ตอนไหน มีพื้นที่ครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน แล้วไม่ต้องรีบให้ชำระเงินค่าประมูล ในอนาคตก็จะมีการเขียนระยะเวลาการชำระเงิน ระยะเวลาการเปิดให้บริการ ที่สอดคล้องกับการขยายโครงข่ายให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการผิดสัญญาทางปกครองได้อีก

“ส่วนเรื่องการคืนเงินให้เจ๊ติ๋มทีวีพูล ก็ไม่น่าจะติดขัดอะไร เพราะศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งออกมาแล้ว ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นเรือนจำด้านหน้ารอท่านอยู่” นพ.ประวิทย์ทิ้งท้าย

เชื่อว่าในอนาคต สัญญาที่รัฐทำกับเอกชน อาจต้องมีมาตรการเยียวยาระบุไว้ด้วย เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงฉับพลัน หรือที่เรียกว่าการดิสรัปต์ ซึ่งเกิดจากการกระทำของรัฐ และผลของการกระทำนั้นย้อนกลับมาหา!!