คุยกับทูต : อาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด – วันปากีสถาน มิตรภาพ ความร่วมมือ (ตอน 1) “วิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก”

ในโอกาส “วันปากีสถาน” ของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ซึ่งตรงกับวันที่ 23 มีนาคม 2564

นายอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด (H.E. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ประจำประเทศไทย ได้มาพูดคุยถึงความสำคัญของวันปากีสถาน ตลอดจนเรื่องราวที่น่าสนใจ

เพื่อเป็นการเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

รวมทั้งการส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างประชาชนของสองประเทศอีกด้วย

 

เมื่อกล่าวถึงวันชาติ ประเทศส่วนใหญ่จะมีวันชาติเพียงวันเดียวในหนึ่งปี แต่สำหรับปากีสถาน มีวันชาติมากกว่าหนึ่งวัน

“ผมขอแจ้งให้เพื่อนสนิทมิตรสหายชาวไทยของเราได้เข้าใจว่า ชาวปากีสถานเฉลิมฉลองวันชาติสองวัน คือวันที่ 23 มีนาคม เป็นวันปากีสถาน (Pakistan Day) และวันที่ 14 สิงหาคม เป็นวันประกาศอิสรภาพ (Independence Day)”

“หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ วันที่ทั้งสองนี้มีความเชื่อมโยงในการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช เพราะในที่สุดวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1947 ปากีสถานได้ปรากฏบนแผนที่โลกในฐานะรัฐเอกราชอธิปไตย เป็นผลมาจากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพอันยาวนานหลายทศวรรษจากการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ ด้วยเหตุนี้วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1940 จึงถือเป็นวันสำคัญ”

“ในวันนั้น ที่เมืองลาฮอร์ สันนิบาตมุสลิมอินเดียทั้งหมดได้มีมติครั้งประวัติศาสตร์เรียกร้องให้มีการแยกบ้านเกิดของชาวมุสลิมในอนุทวีปอินเดีย อันเป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์สำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพที่ได้รับแรงผลักดันภายใต้การนำของโมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (Quaid-e-Azam Muhammad Ali Jinnah) บิดาผู้ก่อตั้งปากีสถาน และบังเกิดเป็นความจริงในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 7 ปี”

การยืนหยัดอย่างเด็ดเดี่ยวอันมีจุดเริ่มจากเมืองลาฮอร์ในปี ค.ศ.1940 ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ของพี่น้องชาวมุสลิมแห่งอนุทวีป ได้ยุติคืนวันแห่งอาณานิคมอันยาวนานจนปากีสถานได้รับเอกราช

“นับเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งและเป็นความสำเร็จที่ไม่เหมือนใครในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ควรแก่การระลึกถึงคือ นายจินนาห์ ซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทั้งทางการเมือง สันติ ประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ เราภาคภูมิใจที่ต้นกำเนิดของปากีสถานมีรากฐานมาจากการเลือกแบบประชาธิปไตยและการตัดสินใจด้วยตนเอง ชาวปากีสถานทั้งในและต่างประเทศร่วมใจกันเฉลิมฉลองวันชาติด้วยจิตวิญญาณ”

ด้านนโยบาย “วิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก” (Vision East Asia) ของปากีสถาน เกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทางภูมิศาสตร์มีผลกระทบต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนความเชื่อมโยงและโอกาส เป็นอย่างไร

“เมื่อเทียบกับ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ปากีสถานจะให้ความสำคัญที่ ‘ภูมิเศรษฐศาสตร์’ ดังนั้น วิสัยทัศน์ของรัฐบาลจึงได้รับการชี้นำไปในการประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยส่งเสริมการพัฒนาไปในการเชื่อมโยงและสภาพแวดล้อมที่สงบสุข ปากีสถานพยายามใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงนี้และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าและการขนส่ง โดยเรากำลังเสนอฐานทางเศรษฐกิจอันเป็นกลยุทธ์ด้านหนึ่งในการพัฒนาของเรา”

เนื่องจากปากีสถานมีนโยบาย Vision East Asia เพื่อเพิ่มบทบาทในเอเชียและกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก และไทยมีนโยบาย Look West ปากีสถานและไทยจึงมีความร่วมมือกันในทุกมิติ ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี

ขณะที่การเติบโตของเอเชีย นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจของโลกที่ปฏิเสธไม่ได้ เมื่อศักยภาพของเอเชียมุ่งพร้อมสู่การเป็นอนาคตใหม่ของเศรษฐกิจโลก

“การเจริญเติบโตของเอเชียทำให้ทุกคนหันมาสนใจเอเชียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในมุมมองของผม หากจะบรรลุศักยภาพสูงสุด จำเป็นต้องปรับปรุงความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่กระตุ้นการพัฒนา”

“ดังที่คุณทราบ ไทยและปากีสถานเป็นผู้สนับสนุนความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างเข้มแข็ง และในบริบทดังกล่าว นโยบายวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออกของปากีสถานและนโยบายมุ่งตะวันตกของไทยต่างเสริมซึ่งกันและกัน ด้วยความเป็นมิตร พึ่งพาอาศัย และเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน” ทูตอาซิม อาหมัด ชี้แจง

“เนื่องจากสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยและปากีสถาน ทำให้เราถูกมองว่า เป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เอเชียกลางและตะวันออกกลาง ตามลำดับ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการเข้าถึงและการเชื่อมโยงข้ามภูมิภาค และเราก็มีความคล้ายคลึงกันมากในแง่ลำดับความสำคัญทั้งสองด้าน เนื่องจากปากีสถานดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน และเช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่ดำเนินการตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจเขตภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งโครงการอื่นๆ”

“ความร่วมมือด้านการพัฒนามีความสำคัญที่สุดสำหรับประเทศของเราทั้งสอง และด้วยประชากรปากีสถานกว่า 207 ล้านคนซึ่งเป็นชนชั้นกลาง การพัฒนาเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต การมีโครงสร้างพื้นฐานและตลาดขนาดใหญ่ รวมทั้งสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่น่าสนใจ”

“ทั้งปากีสถานและไทยมีเป้าหมายร่วมกัน คือการแจ้งให้ภาครัฐและเอกชนของเราทราบถึงโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ ทั้งในการแปรรูปอาหาร การประมง สิ่งทอ การค้าปลีก ยานยนต์ และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโอกาสทางการลงทุนที่ดีเยี่ยมสำหรับกลุ่มธุรกิจไทย”

“ตามนโยบายวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก เรามุ่งมั่นที่จะรักษาการติดต่อทางการเมืองระดับสูงกับประเทศไทยและปรารถนาที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ระดับยุทธศาสตร์มากขึ้นโดยพิจารณาจากเศรษฐกิจ ความมั่นคง ไปจนถึงความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อประชาชน”

 

ความสัมพันธ์ อาเซียน-ปากีสถาน

“ปากีสถานให้ความสำคัญกับอาเซียนมาก เรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรกับสมาชิกอาเซียนทุกชาติ และมองว่าเราเป็นหุ้นส่วนโดยธรรมชาติของอาเซียน ปากีสถานเป็นพันธมิตรคู่เจรจารายสาขาของอาเซียนตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 และเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งสำหรับหุ้นส่วนการเจรจาอย่างเต็มรูปแบบ ปากีสถานยังมีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) และความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF)”

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการประชุมหารือความร่วมมือระดับทวิภาคีด้านวัฒนธรรมผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของไทย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างสองประเทศ

ท่านทูตอาซิม อาหมัด ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วย เล่าถึงผลของการประชุมว่า

“มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีประสิทธิผลมาก วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศ มีการกล่าวถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่วางแผนไว้ในบริบทของการเฉลิมฉลอง 70 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและปากีสถานในปีนี้ และการตกลงที่จะพัฒนาโครงการใหม่ของกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมในอีกห้าปีข้างหน้าด้วย”

“ความร่วมมือทางวัฒนธรรมเป็นมิติที่สำคัญมากของความสัมพันธ์ทวิภาคี อย่างที่ทราบกันดีว่าวัฒนธรรมเป็นวิธีที่ดีในการส่งเสริมการติดต่อระหว่างคนสู่คน ศิลปะ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ แฟชั่นดนตรี ภาพยนตร์ และอาหาร สามารถเชื่อมโยงผู้คนได้ทันทีซึ่งเราต้องการเน้นด้านเหล่านี้”

“ประเด็นของการประชุมครั้งนี้อ้างอิงถึงมรดกทางพุทธศาสนาของปากีสถานที่เชื่อมโยงดินแดนและชนชาติของเราในอดีตย้อนกลับไปกว่า 2,000 ปีสู่อารยธรรมคันธาระในช่วงที่พระพุทธศาสนาและการเรียนรู้ทางพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในตักศิลา เปชวาร์ ชาร์ซัดดา สวัต และพื้นที่โดยรอบ เรามีความภาคภูมิใจอย่างมากในมรดกร่วมกันนี้ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ด้วยความเอาใจใส่สูงสุด เราจึงอยากเห็นเพื่อนคนไทยไปเที่ยวปากีสถานกันให้มากขึ้น”

“นอกจากนี้ มีการวางแผนที่จะจัดนิทรรศการคันธาระที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในปีนี้ด้วย”

ในความสัมพันธ์หลายมิติ

“การเฉลิมฉลอง 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ปากีสถานในปีนี้ เป็นเรื่องราวของมิตรภาพและความร่วมมือที่มีมานานหลายทศวรรษ จากความร่วมมือใน SEATO ในยุดแรกๆ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราได้ค่อยๆ พัฒนาไปสู่การเป็นหุ้นส่วนหลายมิติที่ครอบคลุมทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง การพัฒนา และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า”

“เราต่างมีมุมมองและผลประโยชน์ร่วมกันในหลายประเด็นที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก เราทำงานกันอย่างใกล้ชิดในหน่วยงานพหุภาคีรวมทั้งสหประชาชาติ เราทั้งสองประเทศเชื่อมั่นในหลักการของความสัมพันธ์ฉันมิตรบนพื้นฐานของการไม่แทรกแซง มีความเคารพและความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์เหล่านี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

“รัฐบาลและประชาชนปากีสถานให้ความเคารพและชื่นชมพระราชวงศ์เป็นอย่างมาก ผมขอถือโอกาสนี้แสดงความปรารถนาดีและคำอธิษฐาน โปรดอภิบาลประทานพรให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง”

“ในความเป็นจริง การเสด็จเยือนปากีสถานครั้งสำคัญของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปี ค.ศ.1962 เป็นการวางรากฐานของความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างประชาชนและประเทศของเราทั้งสอง”

“นอกจากนี้ เรายังได้รับเกียรติจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จเยือนปากีสถานถึง 3 ครั้งในปี ค.ศ. 1991, 1998 และ 2006 เมื่อยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนปากีสถาน เมื่อปี ค.ศ.2012”

“ความพยายามของเรา เพื่อไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกด้าน นับตั้งแต่การเมือง การป้องกัน และความมั่นคง ไปจนถึงการค้าและการลงทุน ความร่วมมือทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

“เรากำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย ซึ่งจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนทวิภาคี และเพิ่งลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างกัน เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางทหาร”

“เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการติดต่อระหว่างคนสู่คน โดยผ่านโครงการทางด้านวัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมกำลังเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับชุมชนนักธุรกิจ นักวิชาการ มหาวิทยาลัย และคลังสมองทั้งหลาย ด้วยข้อความแห่งมิตรภาพและความร่วมมือนี้”

 

สําหรับงานฉลองครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ปากีสถาน ท่านทูตเล่าว่า

“ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1951 ดังนั้น ปีนี้เราจึงเฉลิมฉลอง 70 ปีแห่งมิตรภาพด้วย เทศกาลอาหาร ศิลปะการแสดง และนิทรรศการต่างๆ นอกเหนือจากการสนทนา การสัมมนาเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคี จุดเด่นของการเฉลิมฉลองนี้ คือการจัดนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์คันธาระในกรุงเทพฯ ซึ่งเรามั่นใจว่าจะเป็นที่สนใจของคนไทยและคนจากภูมิภาคอาเซียน”

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการเดินทางจะดีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถจัดโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมโดยเฉพาะงานฉลอง 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ปากีสถาน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการรับรู้ เกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างประชาชนของประเทศไทยและปากีสถานให้มากยิ่งขึ้น”