นาทีชีวิตกับการหนีภัย /สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

นาทีชีวิตกับการหนีภัย

 

คนเราเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ต้องตัดสินใจอย่างมีสติที่จะหลีกหนีไปหาที่หลบภัยและป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากภัยนั้น

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนและมีผู้สูญหายรวมกว่า 22,000 คน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 แม้เวลาจะล่วงเลยมาครบ 10 ปีแล้วก็ตาม แต่นักวิจัยสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยา อุบัติภัยต่างๆ ก็ยังไม่ลดละการพยายามทำความเข้าใจในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนที่เผชิญกับเหตุการณ์ครั้งเลวร้ายในวันนั้น

ขณะเกิดแผ่นดินไหว ผู้คนแถบจังหวัดมิยางิ จังหวัดที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวนอกชายฝั่ง รับรู้แรงสั่นสะเทือนระดับ 7 ริกเตอร์ ภายหลังแรงสั่นสะเทือน เกิดคลื่นสูง 20 – 30 ซ.ม. ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด แต่ภายหลังจากนั้นไม่ถึง 30 นาที ก็เริ่มเกิดคลื่นสูงหลายเมตร จนสูงเกินกว่า 13 เมตร ในเขตแนวชายฝั่งจังหวัด มิยางิ ฟุคุชิมะ และอิวาเตะ ส่วนจังหวัดอื่นๆใกล้เคียงก็เกิดคลื่นขนาดลดต่ำลงมา ภายในเวลาอันสั้นนี้แต่ละคนตัดสินใจทำอย่างไรเพื่อเอาชีวิตรอด

มาคิโน นักวิจัยของสถาบันวิจัยฟุจิทสึ ทำการวิจัยโดยการสอบถามผู้รอดชีวิต 1,200 คน ในจังหวัดมิยางิ เมืองอิชิโนะมาคิ เขตมินามิฮามะ ว่าในขณะที่เกิดแผ่นดินไหวและตามด้วยคลื่นยักษ์ ในนาทีของความเป็นความตาย ทำอย่างไรจึงรอดชีวิตมาได้ เขาตัดสินใจหนีภัยอย่างไร รวมถึงเส้นทางการหนีภัยด้วย

ผลที่ได้ น่าแปลกใจ ทุกคนที่มีบ้านอยู่บริเวณใกล้กับโรงเรียนประถมคาโดะโนะวาคิ(門脇小学校) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานหลบภัยตามที่ชาวเมืองรู้กันดี ต่างพากันมาที่ลานหน้าโรงเรียนเนื่องจากห่วงความปลอดภัยของลูกหลานตัวเล็กๆก่อน รวมทั้งมีชาวเมืองที่ไม่ได้มีลูกหลานเรียนที่นี่

นิชิดะ (นามสมมุติ หญิงวัย 40 ปี) บอกว่า เมื่อมาถึงโรงเรียนประถม ผู้คนต่างมารวมกันเต็มไปหมด เธอได้ยินเสียงจากคนรู้จักร้องตะโกนว่า “รีบหนีขึ้นที่สูง เร็วๆ” ขณะนั้นเธอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องหนีขึ้น

ที่สูงอีก มารวมกันที่หลบภัยก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่เธอก็ทำตามเสียงบอกนั้น เดินตามคนอื่นๆไปยังภูเขาสูงกว่า 60 เมตรที่อยู่ด้านหลังของโรงเรียน เธอรอดชีวิตมาได้…

หลังจากนั้นเมื่อเหตุการณ์สงบลง เธอเห็นภาพของลานหน้าโรงเรียนที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังที่ถูกคลื่นยักษ์กวาดมากองทับถมกัน อาคารเรียนเสียหายจากไฟไหม้ มีผู้เสียชีวิตบริเวณนั้นกว่า 500 คน ก็นึกขอบคุณเสียงของผู้หญิงคนนั้น และการตัดสินใจของเธอเองที่ไม่รีรอด้วย

แต่แท้ที่จริงแล้ว ในวันนั้น เกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 14.46 น. อาจารย์ใหญ่โยโกะ ซูซูกิ

เป็นผู้นำการตัดสินใจที่สำคัญ โดยการนำเด็กประถม 240 คน เดินแถวขึ้นไปบนภูเขาหลังโรงเรียนภายในเวลา 15 นาทีหลังเกิดการสั่นสะเทือน ณ เวลา 15.04 น. เด็กๆ ผู้ปกครองและชาวบ้านประมาณ 1,200 คน ทยอยขึ้นไปอยู่บนภูเขาแล้ว หลังจากนั้นอีกราว 15 นาทีเท่านั้น คลื่นยักษ์ก็ถาโถมเข้ามาในพื้นที่อย่างน่าหวาดกลัว

เมื่อสอบถามคนที่ตามขึ้นมาบนภูเขาว่า ขณะที่เดินขึ้นมา เขาตั้งใจหนีภัยจากคลื่นสึนามิหรือไม่ เกินกว่าครึ่งหนึ่งตอบว่า ไม่ได้คิดเลย แต่ดีใจที่ตัดสินใจตามคนอื่นๆมาทำให้รอดชีวิต

หากวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้คนในเหตุการณ์ครั้งนี้ พบว่า “ผู้นำการหนีภัย(率先避難)” เป็นกุญแจสำคัญ กล่าวคือ “ผู้นำการหนีภัย ทำหน้าที่สร้างบรรยากาศให้คนรอบข้างที่กำลังสับสน ละล้าละลังว่าจะทำอย่างไรดี ให้ตัดสินใจได้ในทันที” อาจารย์ใหญ่ซูซูกิได้ทำหน้าที่นี้ในวันนั้นได้อย่างดีเยี่ยม

นักวิจัยด้านพฤติกรรมมนุษย์ ยังสนใจว่าทำอย่างไรจึงสื่อสารกับผู้คนจำนวนมากในเวลาวิกฤตินั้นได้อย่างทันท่วงที โดยสรุปเป็นแบบจำลองในวันนั้น อาจารย์ใหญ่และครูรวบรวมนักเรียนเป็นกลุ่มแล้ว มีครูอีกจำนวนหนึ่งตั้งแถวกระจายอยู่ในกลุ่มผู้ปกครอง ร้องตะโกนบอกให้ขึ้นที่สูง คนที่ได้ยินยังไม่เข้าใจ แต่เมื่อเห็นคนอื่นทำตามนั้น ก็ทำตามและบอกต่อๆกันไปเรื่อยๆเป็นลูกโซ่ จึงกลายเป็น “การสื่อสารให้หนีภัยที่ไหลตามกันไปแบบน้ำตก(避難のカスケード)” แต่ละคนไม่รู้จักกัน แต่การกระทำของคนหนึ่งมีอิทธิพลกระตุ้นให้คนใกล้เคียงทำตามได้อย่างคาดไม่ถึง

จากบทเรียนนี้เอง มาคิโนกับทีมงาน จึงพัฒนาแอปพลิเคชั่นช่วยการหนีภัยพิบัติ กล่าวคือ บนแอปพลิเคชั่นจะแสดงจำนวนคนที่ไปรวมตัวกันยังสถานที่หลบภัยแบบเรียลไทม์ โดยกล้อง AI จะช่วยนับจำนวนคนที่ผ่านเข้ามา คนที่เปิดดูจะเห็นว่า “ทุกคนกำลังหนีภัย” จึงถูกกระตุ้นว่า “ฉันต้องหนีแล้ว…” และเร่งให้ตามไปด้วย ไม่ใช่เกิดการตกใจและละล้าละลังบนเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตาย

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสียชีวิตจำนวนเกือบ 40% เป็นผู้ทำธุระอยู่นอกบ้าน หรือ เป็นผู้ประกอบการร้านค้า ตัวอย่างคือชายคนหนึ่งกำลังขับรถอยู่ ขณะเกิดแผ่นดินไหว สิ่งแรกที่เขาคิดคือ ต้องกลับบ้านไปหาครอบครัว แทนการคิดหลบภัยก่อน เมื่อไปถึงพบว่าไม่มีใครอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังพะวงกับการหาเสื้อกันหนาว ชั่วขณะนั้นเขาเห็นคลื่นกำลังโถมเข้ามา เขารีบขับรถด้วยความเร็วสูงสุด และรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด แต่…ไม่ใช่ทุกกรณีจะโชคดีอย่างนี้

อีกกรณีคือ ผู้ประกอบการร้านค้า แม้รู้ว่าต้องหนีภัย แต่ก็ต้องจัดการกับลูกค้าที่อยู่ในร้าน

ทำให้ต้องเสียเวลา และหนีช้าไปอย่างน่าเสียดาย

ภัยพิบัติในครั้งนั้นเป็นบทเรียนที่สำคัญของคนญี่ปุ่นและชาวโลกจะต้องไม่ประมาทในการรับมือกับภัยต่างๆอีกในอนาคต ไม่ว่าภัยธรรมชาติหรืออุบัติเหตุจากมนุษย์เอง

ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อคิดว่า ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อเกิดภัย แม้รู้ว่าจะต้องหนีจากภัย แต่มักอยู่ในสภาพละล้าละลัง ห่วงหน้าพะวงหลังนานเกินไป ไม่ใช่เลือกที่จะไม่หนี แต่ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวไม่ได้ จึงสายเกินไป

ฉะนั้นการมี สติ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในช่วงเวลานาทีชีวิตนั่นเอง…