สามนิ้วในพม่าและไทย | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ | สามนิ้วในพม่าและไทย

ผมเชื่อว่าไม่มีใครทราบแน่หรอกว่า เหตุการณ์ที่พม่าจะจบลงเมื่อไร แต่ทุกคนคงรู้ว่านั่นเป็นเกมยาวแน่ ไม่ต่างจากที่กำลังเกิดในเมืองไทย ยิ่งกว่าไม่ทราบจบเมื่อไร คือไม่มีใครทราบในทั้งสองกรณีว่าจะจบอย่างไร ดังนั้น จึงไม่มีใครแน่ใจว่าเมื่อเหตุการณ์สงบลง มันจบหรือยัง และอะไรได้เปลี่ยนไปแล้วบ้าง

ด้วยความรู้เกี่ยวกับพม่าเท่าหางอึ่ง ผมอดไม่ได้ที่จะสำรวจความคาดไม่ได้นี้ ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างสองประเทศ

บางคนเชื่อว่า ไม่ว่าประชาชนของฝ่ายใด “ชนะ” ก็จะมีผลในทางบวกแก่ฝ่ายที่เหลือ ผมก็เห็นด้วยนะครับ เพียงแต่ว่าจะบวกแค่ไหนอาจไม่เท่ากัน อีกทั้งผมยังออกจะเชื่อว่า จะบวกแค่ไหนก็ไม่ใช่ตัวตัดสินให้ประชาชนของฝ่ายที่เหลือ “ชนะ” ตามไปด้วย

ถ้าประชาชนไทย “ชนะ” เราคงได้รัฐบาลใหม่ที่ไม่มีชะนักติดหลังว่าตนเป็นเผด็จการทหาร และคงแสวงหาหนทางที่จะสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ จึงเป็นไปได้ว่าไทยจะเอนเอียงไปทางเพิ่มแรงกดดันแก่กองทัพพม่า ตามอย่างสิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน ทำให้อาเซียนได้เสียงข้างมากที่เด่นชัดในนโยบายต่อกองทัพพม่า แต่นั่นไม่มีความหมายอะไรเลย เช่น ไม่ทำให้เวียดนามและฟิลิปปินส์เปลี่ยนใจแน่

อาเซียนไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวในเชิงนโยบายต่างประเทศ จึงไม่เคยมีน้ำหนักอะไรมากนักในกิจการระหว่างประเทศ ถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในครั้งนี้ ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดน้ำหนักอะไรเพิ่มขึ้น เช่น จีนคงไม่ยอมปล่อยให้สหประชาชาติใช้มาตรการ R2P เข้าไปแทรกแซงพม่าด้วยกำลังอย่างแน่นอน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าประชาชนพม่า “ชนะ” ย่อมให้กำลังใจแก่ความเคลื่อนไหวในเมืองไทยแน่ แต่คงเพียงเท่านั้น ไม่เป็นผลให้ฝ่ายอำนาจในเมืองไทยอ่อนแอลง เพราะ “อำนาจ” นานาชนิดที่เขาใช้อยู่ในเวลานี้ หาได้มีอะไรสัมพันธ์กับพม่าแม้แต่น้อย เช่น จะทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยหันกลับมาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมและเป็นไปตามกฎหมายหรือ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้อยู่ที่เนปิดอว์นี่ครับ เผด็จการในไทยแทบจะไม่เคยทำให้นานาชาติกระเทือนซางอย่างไร ซางของนานาชาติก็คงยังไม่กระเทือนต่อไป

ผมคิดว่ามีความแตกต่างที่สำคัญระหว่างไทยและพม่าอยู่อย่างน้อย 3 อย่าง ที่ทำให้ผลกระทบของความเคลื่อนไหวทางการเมืองแตกต่างกัน นอกจากหยิบยืมสัญลักษณ์การประท้วงระหว่างกันมาใช้ในการเคลื่อนไหวเท่านั้น

ประการแรก เป้าหมายของการเรียกร้องระหว่างพม่าและไทยนั้นต่างกันไกล เท่าที่เข้าใจได้จากรายงานข่าว ชาวพม่าเรียกร้องให้การรัฐประหารเป็นหมัน กล่าวคือ ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมทั้งผู้ประท้วงที่ถูกจับตัวไปด้วย แล้วกลับไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2008 ต่อไป ผู้ก่อรัฐประหารอาจต้องได้รับโทษ แต่กองทัพก็ยังคุมการเมืองต่อไปด้วย 1 ใน 4 ของสมาชิกสภาสูง, สภาล่าง และสภาเขต เป็นทหารที่กองทัพคัดเลือกส่งมา (ผมไม่ปฏิเสธว่า ถ้าบรรลุผลย่อมมีผลกระทบทางการเมืองอย่างมากในระยะยาว)

ผู้ประท้วงไทยเรียกร้องถึงขั้น “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ซึ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ รวมทั้งสถานะและบทบาทของสถาบันและองค์กรต่างๆ ซึ่งควบคุมการเมืองไทยโดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชนมาไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ หากผู้ประท้วงประสบความสำเร็จ จะพลิกเมืองไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่เฉพาะแต่การเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงสังคม, วัฒนธรรม และเศรษฐกิจด้วย จึงเป็นธรรมดาที่ข้อเรียกร้องเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดความหวาดหวั่นและไม่พอใจแก่คนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผูกพันปัจจุบันและอนาคตของตนเองไว้กับระบบเดิม

จะหวังให้การประท้วงของไทยมีคนมาร่วมเต็มถนนในเมืองใหญ่ทุกเมืองอย่างพม่าจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะข้อเรียกร้องไม่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา โดยไม่มีความซับซ้อนใดๆ เช่น การกลับไปสู่รัฐธรรมนูญอุบาทว์ และยอมรับผลการเลือกตั้งเท่านั้น

ประการที่สอง กองทัพพม่าได้ตัดสินใจมาตั้งแต่ 2008 เมื่อผ่านรัฐธรรมนูญแล้วว่า กองทัพจะปล่อยการบริหารประเภทวันต่อวันไปให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่แนวนโยบายหลักจะยังอยู่ในมือของกองทัพตลอดไป ในสภาทุกประเภทที่กองทัพคุมอยู่ 1 ใน 4 ย่อมเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ตราบเท่าที่พรรคการเมืองไม่ได้รับเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้นจนมีเสียงเป็นปึกแผ่นเกินไป ถึงรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจพรรคการเมืองในการตัดสินใจอย่างอิสระ แต่เสียงที่เป็นปึกแผ่นของพรรคการเมือง ย่อมเพิ่มอำนาจต่อรองเป็นอย่างน้อย

อำนาจต่อรองที่เพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองเป็นอันตรายต่อกองทัพในระยะยาว เพราะพรรคการเมืองอาจใช้ความชอบธรรมอันแข็งแกร่งของตนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของกองทัพได้ อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญ 2008 ยังอยู่ คะแนนเสียงของประชาชนเพียงอย่างเดียวย่อมไม่พอจะเปิดให้พรรคการเมืองเข้ามาก้าวก่ายแนวนโยบายหลักได้

ผมใช้คำว่ากองทัพพม่าแทนนายพลคนนั้นคนนี้ เพราะกองทัพพม่าเป็นองค์กรทางการเมืองที่มีอิสระในตัวเอง แตกต่างจากกองทัพไทย ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองซึ่งทำงานทางการเมืองได้ด้วยความร่วมมือกับองค์กรทางการเมืองอื่นเสมอ เช่น นักการเมืองพลเรือน, ระบบราชการพลเรือน, นายทุนนักธุรกิจขนาดใหญ่และองค์กรของพวกเขา, สถาบันกษัตริย์, องค์กรศาสนา, องค์กรทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่พรรคการเมือง รวมทั้งองค์กรวิชาชีพ และองค์กรมหาชนที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มวิชาชีพ เช่น แพทย์, วิศวกร, ทนายความ, นักการเงิน ฯลฯ (แต่ไม่มีองค์กรภาคประชาชนรวมอยู่ด้วย ที่ใกล้ “ประชาชน” ที่สุดคือองค์กรเอ็นจีโอที่รับเงิน สสส.)

การที่รัฐประหารในประเทศไทยกลายเป็นกลไกส่วนหนึ่งอันขาดไม่ได้ของระบอบปกครอง มิได้เกิดขึ้นจากกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ต่อรองขององค์กรทางการเมืองหลากหลายประเภท กองทัพไทยไม่เคยตัดสินใจทางการเมืองอย่างเป็นอิสระ อำนาจทางการเมืองของกองทัพไม่ได้อยู่ในกองทัพ แต่มาจากการประสานกันระหว่างอำนาจ, ผลประโยชน์, กำไร, ความมั่นคง ฯลฯ ขององค์กรทางการเมืองต่างๆ เหล่านั้น

และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากคาดเดาว่า การประท้วงในพม่าจะประสบชัยชนะได้ ก็ต่อเมื่อกองทัพพม่าเปลี่ยนใจ เพราะเห็นว่าได้ไม่คุ้มเสีย อย่างน้อยจีนน่าจะเห็นแล้วว่า การเมืองแบบเดิมให้ความมั่นคงปลอดภัยแก่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของตนในพม่าได้ดีอยู่แล้ว มติของคณะมนตรีความมั่นคงจึงออกมา “ประณาม” การใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงในพม่าได้

หากการประท้วงยังดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ กองทัพอาจตัดสินใจได้เองด้วยการปลดผู้นำกองทัพในช่วงนี้ออก (แล้วเอาไปเก็บไว้ในคฤหาสน์ของตนเองเพื่อรอวันตาย) ใช้รัฐธรรมนูญ 2008 เต็มรูปแบบ ปล่อยนักโทษการเมือง แล้วทหารก็คุมแนวนโยบายหลักกับส่วนหนึ่งของผลกำไรทางธุรกิจต่อไป

“กบฏในระบบ” ของพม่า หมายถึงนายทหารอีกกลุ่มหนึ่งร่วมมือกันปลดคณะผู้นำชุดเดิมออก แล้วขึ้นมาเป็นผู้นำเอง สร้างทางเลือกใหม่ไปสู่ความสงบ

ตรงกันข้ามกับพม่า กองทัพไทยตัดสินใจเองไม่ได้หรอกว่าจะยุติระบอบรัฐประหารเมื่อไร และอย่างไร เพราะกลุ่มที่ถืออำนาจร่วมกับกองทัพมีหลากหลาย แม้แต่ ผบ.เหล่าทัพ หรือแม่ทัพภาคจะทำรัฐประหารซ้อน ก็ยังตัดสินใจเองฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องแน่ใจด้วยว่าองค์กรทางการเมืองภายนอกกองทัพอีกหลายองค์กรด้วยกันให้การสนับสนุน ซ้ำผลประโยชน์ขององค์กรนอกกองทัพไม่ได้ผูกพันอยู่กับกองทัพล้วนๆ (ดังเช่นพม่าหรือเมืองไทยสมัยสฤษดิ์) ว่าที่จริงผูกอยู่กับระบบเฟะฟอนที่ขอใช้ศัพท์โบราณว่าระบบ “คนกินคน” มากกว่า กองทัพเป็นเพียง “เครื่องมือ” อันหนึ่งที่ช่วยผดุงระบบนี้เอาไว้เท่านั้น

ผมขอยกตัวอย่างรูปธรรมดังนี้ เมื่อผู้ชุมนุมเหน็ดเหนื่อย พากันเข้าร้านสะดวกซื้อซึ่งมีทั่วทุกหัวระแหงเพื่อซื้อน้ำดื่ม หรือหิวโหยก็ซื้อไก่ทอดข้างทางกินพร้อมทั้งชูสามนิ้ว เจ้าสัวย่อมมอง “เด็กๆ” พวกนี้ด้วยความเอ็นดู ไม่มีเหตุใดที่จะออกมาปกป้องกองทัพ หรือซ้ำเติมกองทัพ แม้ตนจะตักตวงประโยชน์จากการรัฐประหารไปเต็มเป๋าก็ตาม

นี่แหละครับ เพื่อ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” จึงหมายถึงเกมที่ยาวมาก แม้กระนั้น เกมนี้ก็ได้เริ่มไปแล้ว และได้เปลี่ยนประเทศไทยอย่างไม่มีทางหวนกลับมาเหมือนเดิมได้อีก ไม่ใช่กองทัพเท่านั้นที่รู้ แต่องค์กรทางการเมืองนอกกองทัพทั้งหลายก็รู้ ไม่มี “ทางลง” ง่ายๆ อีกแล้ว เพียงแค่ทำรัฐประหารซ้อน (ด้วยกำลังทหารหรือกำลังกฎหมายก็ตาม) ไม่แก้ปัญหา ประยุทธ์อาจเป็นปัญหาหลักของ ม.รังสิต แต่เป็นปัญหาระดับขี้ผงของประเทศไทย

ประการสุดท้าย คนชั้นกลางพม่าและไทย ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญของการประท้วงก็แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลางพม่าเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2008 และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ทั้ง USDP และ NLD) เพิ่งมีรายได้จาก “ตลาด” อย่างมั่นคงขึ้น ไม่ถึงกับตั้งตัวได้แล้ว แต่หากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองเช่นนี้ยังดำเนินต่อไป ก็จะค่อยๆ สะสมทุนจนน่าจะมีฐานะมั่นคงขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า คนชั้นกลางพม่ายังมีความหลากหลาย (diversified) ไม่สู้มากนัก แม้แต่ในกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งได้รายได้สูงกว่าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ แต่ก็ยังไม่อาจมีวิถีชีวิตที่ต่างจากคนชั้นกลางอื่นไปไกลนัก

การยึดอำนาจของกองทัพทำให้อนาคตที่คนชั้นกลางบากบั่นสร้างขึ้นในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องไม่แน่นอน ซ้ำยังอาจถอยกลับไปมืดมนเหมือนเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนอีกด้วย พม่าไม่มีสลิ่มครับ แม้แต่จะป่วนผู้ชุมนุม กองทัพยังต้องปล่อยนักโทษในคุกออกมาเป็นกำลัง

ตรงกันข้ามเลยทีเดียว ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลางไทยและครอบครัวของเขา งอกออกมาจากนโยบายพัฒนาของระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว แม้ว่าส่วนใหญ่ลืมความยากจนข้นแค้นของปู่หรือทวดของเขาไปแล้ว แต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวได้มา ก็ดูเหมือนจะดำรงอยู่สืบไปได้ภายใต้ระบอบ “คนกินคน” จึงมีเฉพาะคนหนุ่มสาวและคนชั้นกลางอีกไม่มากนักที่มองเห็นว่า ถึงแม้อนาคตคงไม่ถึงกับอดอยาก แต่จะหาความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปได้ยาก ไม่เฉพาะแต่เพียงเพราะต้องอยู่กับรัฐบาลที่ไร้ความสามารถเท่านั้น แต่อะไรอีกหลายอย่างที่มันไม่ “จบที่รุ่นเรา” นั้นแหละ จะนำเอาการบริหารที่เฟะฟอนเช่นนี้กลับมาได้อีกไม่สิ้นสุด

คนชั้นกลางไทยมีความหลากหลายมาก ไม่เฉพาะแต่รายได้ที่แตกต่างกันมากเท่านั้น ยังรวมถึงวิถีชีวิต, ความคาดหวังต่ออนาคต, โลกทัศน์, ชีวทัศน์ ทุกอย่างที่ทำให้ทัศนะและความคาดหวังทางการเมืองต่างกัน

จึงไม่พึงหวังว่า คนชั้นกลางไทยจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นพม่า

มองจากความแตกต่างหลักๆ ทั้งสามด้านแล้ว น่าเป็นไปได้ที่สุดว่า การประท้วงในพม่าน่าจะถึงจุดจบก่อนไทย แต่จะจบอย่างไรนั้นคาดเดาไม่ถูก ในทางตรงกันข้าม เงื่อนไขต่างๆ ในประเทศไทยที่ได้กล่าวข้างต้นชี้ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพิ่งเริ่มต้นขึ้น

ไม่ว่าจะจบอย่างไรในทั้งสองประเทศ การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในพม่าและไทยในครั้งนี้ แตกต่างจากการเคลื่อนไหวซึ่งเคยเกิดมาก่อนในทั้งสองประเทศ ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นไปแล้วจากความเคลื่อนไหวนั้นเอง

ในประเทศไทย กองทัพมีประสิทธิภาพในการกำกับแทรกแซงทางการเมืองน้อยลง ไม่มีสถาบันอะไรเหลืออยู่สำหรับการให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารอีกต่อไป ในพม่า เป็นครั้งแรกที่พิสูจน์ว่าเอกภาพของสหภาพไม่จำเป็นต้องอาศัยเพียงกองทัพอย่างเดียวเพื่อธำรงไว้ การเคารพสิทธิเสมอภาคของชนกลุ่มน้อยก็อาจให้ผลดีเช่นกัน โดยไม่ต้องมีใครเสียเลือดเนื้อด้วย