หนามยอกเอาหนามบ่ง : ยาต้านโควิด-19 จากผู้ติดเชื้อ / ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

หนามยอกเอาหนามบ่ง

: ยาต้านโควิด-19 จากผู้ติดเชื้อ

 

เลือดผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้วหรือกำลังฟื้นตัวจะสามารถต่อต้านการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ได้

ภูมิคุ้มกันในเลือดผู้ป่วยฟื้นตัวที่เรียกว่าแอนติบอดี้จึงมีฤทธิ์ที่อาจจะนำมาใช้เป็นยาชีววัตถุ (biologic) เพื่อบำบัดผู้ป่วยติดเชื้อได้

ในตอนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ติดเชื้อโควิด-19 สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ หนึ่งในยาหลายขนานที่ถูกประเคนให้ท่านประธานาธิบดีก็คือแอนติบอดี้ค็อกเทล (anitibody cocktail) ของบริษัทรีเจเนรอน ฟาร์มาซูติคัลส์ (Regeneron Pharmaceuticals)

แอนติบอดี้ค็อกเทลนี้เองที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนลงความเห็นว่าน่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประธานาธิบดีทรัมป์กลับมาหายเป็นปกติได้ในเวลาอันสั้น

อย่างที่รู้กันว่าคนไข้ที่หายโรคแล้วมักจะมีภูมิต้านโรคไปด้วย

ภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่ก็จะมาจากการสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมายึดจับและบล๊อกไวรัสเอาไว้ไม่ให้แพร่เชื้อต่อไปได้

ดังนั้น ถ้าเราสกัดแอนติบอดี้ต้านไวรัสออกมาจากเลือดของผู้ป่วยได้ เราก็จะได้ยาชีววัตถุชั้นดีเพื่อจัดการการติดเชื้อ

โครงสร้างสามมิติของโปรตีนหนาม (สีฟ้า) จับกับแอนติบอดี้แบมลานิวิแมบ ของลิลี่ (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ LY-CoV555)

แอนติบอดี้ค็อกเทลของรีเจเนรอนประกอบไปด้วยแอนติบอดี้สองชนิด คาซิริวิแมบ (casirivimab, REGN10933) และอิมเดวิแมบ (imdevimab, REGN10987) ที่จะเข้าจับบริเวณต่างๆ ที่แตกต่างกันบนโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 และยับยั้งไม่ให้ไวรัสติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ได้

จากการทดสอบ ผู้ป่วยที่ได้รับยาแอนติบอดี้ดูโอของรีเจเนรอนจะมีปริมาณไวรัสในสารคัดหลั่ง (viral load) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และไม่พบอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ

ทำให้ยาชีววัตถุทั้งสองตัวนี้ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (United States Food and Drug Administration, U.S. FDA) ให้สามารถเอามาใช้ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (emergency use authorization) กับผู้ป่วยเสี่ยงสูงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020

รีเจเนรอนถือเป็นหนึ่งผู้นำในสนามแห่งการพัฒนาแอนติบอดี้ต้านโรค

เขาคือผู้พัฒนาอินมาเซบ (Inmazeb) หรือ REGN-EB3 ที่ช่วยลดอัตราการตายจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) ลงไปแบบมหาศาล

เรียกว่าให้ผลเหนือชั้นกว่าทั้งยาต้านอีโบลาชื่อดัง ZMapp และยายับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)

จนทำให้อินมาเซบกลายเป็นยาต้านอีโบลาตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา

 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา คู่แข่งของรีเจเนรอนอีกสองบริษัทก็ประกาศความสำเร็จในการใช้ยาชีววัตถุ ที่สร้างจากแอนติบอดี้ต้านไวรัสในการรักษาคนไข้ติดเชื้อโควิด-19

บริษัทแรก ยักษ์ใหญ่แห่งวงการยาและเวชภัณฑ์ อิไล ลิลี่ (Eli Lily) ได้ส่งสูตรยาแอนติบอดี้ค็อกเทล ที่ประกอบไปด้วยแอนติบอดี้อยู่สองชนิด แบมลานิวิแมบ (Bamlanivimab) และเอเทซเซวิแมบ (Etesevimab) ไอเดียเดียวกันเลยกับของรีเจเนรอนเข้าร่วมประกวด

แอนติบอดี้ดูโอของลิลี่สามารถประคองอาการโรคโควิด-19 ไม่ให้เปลี่ยนจากเบาเป็นหนักได้ถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากจนแพทย์และนักวิทยาศาสตร์หลายคนเริ่มที่จะตื่นเต้น อยากเอามาทดลองใช้

อีกบริษัทหนึ่งที่เป็นที่น่าจับตามอง ก็คือคู่หูพาร์ตเนอร์ระหว่างไวอาร์ ไบโอเทคโนโลยี (Vir Biotechnology) และแกลโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) ที่นำเสนอ VIR-7831 แอนติบอดี้ต้านไวรัสที่แยกออกมาได้จากเลือดของคนไข้ที่หายป่วยจากโรคซาร์ส (severe acute respiratory syndrome, SARS) ตั้งแต่ปี 2003 ที่ดันแจ๊พ็อต สามารถเข้ายึดจับโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ได้

อย่างที่รู้กันดีว่าไวรัส SARS-CoV-2 จะเข้าเซลล์ผ่านการจับกันของโปรตีนหนามของพวกมันกับโปรตีนตัวรับ ACE-2 บนผิวของเซลล์มนุษย์

VIR-7831 จะเข้าจับกับบริเวณที่แทบจะไม่กลายพันธุ์ไปเลยบนโปรตีนหนาม และกีดขวางทำให้โปรตีนหนามไปจับ ACE-2 ไม่ได้ ทำให้เกิดการสกัดกั้นการติดเชื้อ

VIR-7831 ทรงประสิทธิภาพมากเรียกว่าเอาอยู่ตั้งแต่ไวรัส SARS-CoV-1ไปจนถึงไวรัส SARS-CoV-2 เวอร์ชั่นอู่ฮั่น หรือแม้แต่สายพันธุ์กลายที่กระจายไปทั่วจนเป็นที่น่ากังวลอยู่อย่างสายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 ก็ยังเอาอยู่

VIR-7831 สามารถลดโอกาสในการเสียชีวิตและการเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้มากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ เทียบชั้นกับของรีเจเนรอน และลิลี่ได้อย่างสบายๆ และนั่นทำให้ราคาหุ้นไวอาร์ไบโอเทคถีบตัวพุ่งสูงขึ้นไปอีก 41 เปอร์เซ็นต์

 

ชัดเจนว่ายาชีววัตถุจากแอนติบอดี้นั้นได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองในกลุ่มนักลงทุนไปแล้ว

ความสามารถในการลดความรุนแรงของโรคได้อย่างชะงัด แถมยังมีตัวอย่างที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้จริงแล้วในชั้นคลินิก นวัตกรรมนี้จึงล่อตาล่อใจ แน่นอนว่าผู้เล่นจึงไม่ได้มีแค่รีเจเนรอน ไวอาร์ และลิลี่ แต่ยังมีบริษัทไบโอเทคน้อยใหญ่อีกอย่างน้อยนับสิบเจ้าที่กระโดดลงมาแข่งขันกันในสนามแห่งการพัฒนายาชีววัตถุต้านโควิด-19 จากแอนติบอดี้นี้

ทว่าแพทย์และผู้ป่วยจำนวนมากก็ยังไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นคำตอบที่จะพาพวกเราให้รอดออกจากวิกฤตโรคระบาดได้

เพราะถึงแม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุแนวๆ นี้หลายตัวผ่านการอนุมัติขององค์การอาหารและยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในชั้นคลินิกออกมาในวารสารทางวิชาการที่ได้รับยอมรับในรูปแบบของบทความที่ผ่านการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer reviewed article) นั้นยังไม่เห็น

ซึ่งนั่นก็ทำให้ความเชื่อมั่นของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ลดลงไปเยอะพอสมควร

คำถามที่โดนถามอยู่ตลอดเวลาก็คือ ถ้ายานี้ถูกออกแบบมาให้ลดความรุนแรงของโรคและทำให้ผู้ติดเชื้ออาการไม่ทรุดหนัก ผู้ป่วยบางส่วนต่อให้ไม่ใช้ยา ก็ไม่ได้แสดงอาการอะไรอยู่แล้ว จึงต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าที่จริงแล้วที่คนไข้อาการไม่ทรุดและหายป่วยได้นั้นเป็นผลมาจากตัวยาจริงๆ ไม่ได้หายเอง

ซึ่งข้อนี้แก้ไม่ยาก เพราะเท่าที่แต่ละบริษัทแถลงมา ผลก็ดูค่อนข้างน่าเชื่อถือ คงแค่ต้องรอเผยแพร่ผลงานตีพิมพ์ออกมาให้เป็นมาตรฐาน ข้อกังขานี้ก็จะตกไปแบบไม่มีใครแย้งได้

แต่ประเด็นในเรื่องวิชาการไม่ใช่อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด ปัญหาที่แท้จริงของเทคโนโลยีนี้ ก็คือ “ราคา”

 

ต้นทุนทั้งในการพัฒนาและการผลิตยาชีววัตถุนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล

ยิ่งถ้าเทียบกับยาที่มาจากการสังเคราะห์ทางเคมีแล้ว เรียกว่าราคานี่เทียบไม่ติด

ยาชีววัตถุที่ใช้กันอยู่ เจอได้ในท้องตลาดในปัจจุบัน มักจะเป็นยาต้านมะเร็ง ซึ่งมีราคาสูงลิบลิ่ว เรียกว่าถ้าไม่มีประกัน แล้วโดนเข้าไปนี่คือกระเป๋าฉีก

ถึงขนาดล้มละลายกันเลยทีเดียว

อีกทั้งปริมาณยาที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาก็ถือว่าเยอะมากๆ เมื่อเทียบกับยาอื่นๆ อย่างตอนที่รักษาประธานาธิบดีทรัมป์ ถ้ามองในมุมของปริมาณ ยาแอนติบอดี้คู่ของรีเจเนรอนที่ใช้ไปก็เรียกว่าแทบจะเอามาถมแม่น้ำได้เลย

ด้วยราคาและปริมาณที่ต้องใช้ ยานี้จึงจะเหมาะเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงที่พลาดไปติดเชื้อมาแล้วแต่ยังอาการไม่ค่อยหนักมาก

และที่สำคัญต้องมีทุนทรัพย์แน่นๆ ถึงจะจ่ายไหว!

 

ในประเทศไทย มีหลายทีมวิจัยทั้งในสถาบันวิจัยระดับชาติ และในหลายมหาวิทยาลัย ที่เริ่มเบนเข็มมาทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตยาชีววัตถุเพื่อการรักษาโรคกันบ้างแล้ว

โดยมีโจทย์สำคัญคือ ราคาต้องจับต้องได้ เพื่อที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีโอกาสในการเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ

“แม้จะใช้แทนวัคซีนไม่ได้ แต่ยาชีววัตถุก็เปรียบเหมือนแผนสำรอง” เจนส์ ลุนด์เกรน (Jens Lundgren) แพทย์โรคติดเชื้อจากโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) ให้ความเห็น

“ในสถานการณ์ที่วัคซีนยังไม่สามารถกระจายได้อย่างเพียงพอกับทุกคน ยาชีววัตถุอาจจะเป็นหนึ่งในทางออกที่น่าจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้ว”

แม้ว่าจะมีราคาที่สูงลิ่ว แต่การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยียาชีววัตถุ ผนวกกับความต้องการในตลาดที่มีอย่างมากมายมหาศาลอาจจะทำให้ราคาในการผลิตตกลงมาจนถึงขั้นที่คนทั่วไปจับต้องได้ก็เป็นได้

ยิ่งถ้ามีการผลิตแบบเป็นล็อตใหญ่ในระดับอุตสาหกรรมได้ในประเทศ ราคาก็จะยิ่งถูกลงไปได้อีก

แล้วยิ่งมีการเริ่มๆ ทำแล้วในประเทศก็ยิ่งน่าสนใจใหญ่

 

แน่นอนว่าการพยายามวางแผนสร้างโรงงานวัคซีนเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรริเริ่มทำกันแบบจริงจัง แต่การลงทุนเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานงานวิจัยในประเทศพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยยาชีววัตถุก็อาจจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรหันมามองเพราะหนทางนี้อาจจะเป็นหนึ่งในทางออกอาจจะนำพาประเทศให้หลุดจากวิกฤตครั้งนี้ได้ก็เป็นได้

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นหนึ่งในรอยแผลที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่มันก็ได้นำพาพวกเราออกจากคอมฟอร์ตโซน ทำให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย หากเราใช้โอกาสนี้เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับบทเรียนเจ็บๆ ที่โควิด-19 ได้ฝากเอาไว้แล้วเริ่มมองไปข้างหน้า เราอาจจะเห็นอะไรที่น่าสนใจ

โควิด-19 จะจากไปเมื่อไรยังไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้ก็คือ ไม่ว่าจะทำอย่างไร เราก็คงจะหลีกเลี่ยงที่เผชิญกับโรคอุบัติใหม่ที่จะดาหน้าเข้ามาในอนาคตไม่ได้ การยึดติดและทุ่มหมดหน้าตักไปกับเทคโนโลยีแบบเดียวอาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ชาญฉลาด ในสถานการณ์ที่เสี่ยง ความหลากหลายคือหนทางแห่งการอยู่รอด

ไม่แน่นะ ยาชีววัตถุที่ดูเหมือนเป็นตัวสำรองนี้อาจจะกลายเป็นหนึ่งในคำตอบที่จะพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสในการควบคุมการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคตก็เป็นได้ ใครจะรู้