สุมไฟรัฐธรรมนูญ! : สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หลังจากรัฐบาลรัฐประหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามที่อยู่ในอำนาจทางการเมืองต่อไปหลังจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในต้นปี 2562 นั้น ทุกคนที่ติดตามการเมืองไทยตระหนักดีว่า ส่วนหนึ่งที่สำคัญของความพยายามเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้จริง ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญจะต้องถูกร่างด้วยการมีเนื้อหาสาระที่เอื้อให้รัฐบาลทหารได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่า สาระของรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นสากล และสาระนี้จะค้านต่อความรู้สึกของผู้คนในสังคมหรือไม่ก็ตาม
คงต้องยอมรับความจริงในทางการเมืองว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อเปิดโอกาสให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสามารถขับเคลื่อนได้ในการเมืองไทย แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ

1) เพื่อให้รัฐบาลทหารสามารถอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นช่องทางที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ได้ภายใต้เงื่อนไขการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงออกแบบเพื่อให้เกิดหลักประกันแก่ผู้นำทหารว่า พวกเขาจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งอย่างแน่นอน และผู้นำรัฐบาลทหารจะก้าวมาเป็นผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

2) รัฐธรรมนูญนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการโฆษณาทางการเมือง เพื่อเป็นหนทางในการลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นทั้งในเวทีสากล และในเวทีภายในประเทศ เพราะรัฐบาลทหารที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งแล้ว จะมีความชอบธรรมในตัวเองอย่างมาก โดยเฉพาะผู้นำรัฐประหารที่สืบทอดอำนาจสามารถกล่าวอ้างว่า รัฐบาลทหารแบบใหม่เป็น “รัฐบาลเลือกตั้ง” ทั้งที่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเปลี่ยนภาพลักษณ์จากรัฐบาลทหารเต็มรูป มาเป็นรัฐบาลทหารแบบพันทาง คือเป็น “ระบอบกึ่งทหาร” โดยมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ

3) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านชนะ และที่สำคัญคือ ไม่เปิดช่องทางให้ฝ่ายค้านสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นอันขาด หรือเป็นการออกแบบเพื่อให้ผู้นำรัฐประหารดำรงความได้เปรียบทางการเมืองไว้ได้ในทุกกรณี และในทุกด้าน จนครั้งหนึ่ง นักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลกล้าที่จะประกาศอย่างชัดเจนว่า “รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบเพื่อเรา”

ฉะนั้นหากจะเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยสำนวนโครงการประชานิยมของรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้ว ก็คงจะต้องเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ “เราชนะ” … เราในความหมายว่า “รัฐบาลชนะ!” เหมือนเช่นที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศอย่างชัดเจนมาแล้ว

การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้รัฐบาลรัฐประหาร เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นรัฐบาลเลือกตั้งด้วยชัยชนะในกระบวนการที่ “ดูเสมือน” เป็นประชาธิปไตยนั้น สถาปนิกทางการเมืองจึงต้องออกแบบให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทนทานต่อแรงกดดันของฝ่ายค้านและคนในสังคม ที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า จะต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไขอย่างแน่นอน เสียงเรียกร้องไม่ต้องการเห็นรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของการผูกขาดอำนาจของผู้นำรัฐประหาร 2557 เพราะภายใต้กติการัฐธรรมนูญฉบับ “เราชนะ” เช่นนี้ ฝ่ายค้านแทบไม่มีโอกาสที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เลย และเสียงของคนในสังคมก็ถูกทำให้หมดความหมายไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีการสร้างให้เกิดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งองค์กรควรจะมีบทบาทในการช่วยผลักดันการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย กลับแสดงบทบาทเป็น “องครักษ์พิทักษ์รัฐบาล” มากกว่า องค์กรเหล่านี้ไม่เคยที่จะแสดงบทบาทเป็น “ผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย” เลย จนอาจกล่าวได้ว่า องค์กรเหล่านี้ไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นในทางการเมืองและกฎหมาย หากแต่จากที่ผ่านมา พวกเขามักจะมีหน้าที่หลักสองประการคือ 1) อุ้มชูและค้ำจุนรัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้ง และ 2) ทำให้คำร้องและการคัดค้านของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่มีผลทางกฎหมาย หรือฝ่ายค้านจะร้องอย่างไรก็ไม่มีทางชนะ

สภาวะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า องค์กรอิสระเหล่านี้ทำหน้าที่หลักในการกระบวนการสร้างความเป็น “สองมาตราฐาน” ในทางกฎหมายและการเมือง จนทำให้บรรดานักกฎหมายที่ทำหน้าที่เป็น “บริกร” รับใช้รัฐบาลอย่างไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการทางกฎหมายนั้น เป็นเสมือน “ผู้วิเศษ” ที่จะสามารถสร้างความเป็น “อภินิหารทางกฎหมาย” ได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งผลที่ตามมาจากสภาวะเช่นนี้ก็คือ การทำให้เกิด “เผด็จการรัฐธรรมนูญ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเป็น “เผด็จการรัฐธรรมนูญ” คือ การทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการดำรงอำนาจของรัฐบาล และขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือที่จะบังคับให้ฝ่ายค้านต้องแพ้ในทุกครั้งที่เกิดปัญหาและ/หรือมีข้อเรียกร้อง อีกทั้งการชี้ขาดด้วยคำตัดสินทางกฎหมายที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่มีพลังที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ได้เลย และขณะเดียวกันก็จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้ มิฉะนั้นแล้ว ผู้นำทหารที่มีอำนาจด้วยกระบวนการเลือกตั้งอาจเป็นฝ่ายที่ต้องพ่ายแพ้ในการต่อสู้และแข่งขันในทางการเมืองได้

แต่รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ถูกเสียงเรียกร้องบนถนนกดดันอย่างมากให้ต้องยอมที่จะหยิบยกเอาประเด็นเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” มาเป็นวาระสำคัญ แต่ทุกคนทราบดีว่า รัฐบาลและกลไกในรัฐสภาของฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา หรือพรรครัฐบาล ไม่มีความต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะการแก้ไขนี้จะเป็นการ “ลดทอนความได้เปรียบ” ทางการเมืองที่รัฐบาลมีอยู่โดยตรง และทั้งการแก้ไขจะทำให้ “อำนาจผูกขาดที่เป็นเผด็จการ” ของรัฐบาลนี้ในรัฐธรรมนูญอาจต้องสิ้นสุดลง ซึ่งย่อมหมายถึงความพ่ายแพ้ของรัฐบาลนั่นเอง

ในอีกด้านทุกคนทราบดีว่า ข้อเรียกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมที่บานปลายเป็นวิกฤตได้ตลอดเวลา และวิกฤตนี้จะเกิดจากการถ่วงเวลาของรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยการอาศัยกลไกขององค์กรอิสระให้มีคำตัดสินที่เป็นการเหนี่ยวรั้งกระบวนการทางรัฐสภา และในอีกด้านก็อาศัยอำนาจของวุฒิสภาเพื่อเป็นการคานอำนาจกับฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่อาจจะยอมรับว่า การกระทำเช่นนี้กำลังก่อให้เกิด “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” ในการเมืองไทยได้ไม่ยากนัก

ในสถานการณ์เช่นนี้ คำตัดสินขององค์กรอิสระแทนที่จะช่วยให้การเมืองไทยเดินไปสู่อนาคตในแบบที่เป็นประชาธิปไตย แต่คำตัดสินดังกล่าวมีความ “กำกวม” ในตัวเองอย่างมาก จนอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” ทั้งที่หลายๆ ฝ่ายในสังคมมีความเห็นร่วมกันที่ต้องการแก้ไข เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็น “กฎหมายแม่บทที่เป็นมาตรฐาน” และสร้างให้เกิดความเป็นธรรมในการต่อสู้แข่งขันทางการเมือง ไม่ใช่การสร้าง “เผด็จการรัฐธรรมนูญ” ที่รัฐบาลจะเป็นผู้ชนะเสมอ

คำตัดสินขององค์กรอิสระเช่นนี้จึงเป็นเสมือน “การสุมไฟ” ให้วิกฤตรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้น มีความร้อนแรงขึ้นในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือว่า วันนี้ท่านที่มี “ฆ้อนเป็นอำนาจ” กำลังทำตัวเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ช่วยโหมไฟในการเมืองไทยให้ลุกโชน เพื่อชวนให้คนออกมาบนถนนให้มากขึ้น!