‘สุขุม นวลสกุล’ ‘ม็อบต้านรัฐบาล’ จะถึงล้านคน ถ้า… / เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘สุขุม นวลสกุล’

‘ม็อบต้านรัฐบาล’ จะถึงล้านคน

ถ้า…

 

24 กุมภาพันธ์ 2564 ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ไปพุดคุยกับ “อาจารย์สุขุม นวลสกุล” อดีตอธิการบดี และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในหลายๆ ประเด็น

หนึ่งในประเด็นที่สนทนากันอย่างออกรส ก็คือเรื่องสถานะและอนาคตของ “ม็อบคนรุ่นใหม่” ในปี 2564

แม้ในสายตา “คนกลางๆ” แรงกดดันที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ (เช่น คณะราษฎร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มเยาวชนปลดแอก เป็นต้น) ส่งไปถึงรัฐบาล ตลอดจนผู้ถือครองอำนาจรัฐ จะแลดูมีพลังลดน้อยถดถอยลงไปเมื่อเริ่มต้นปีใหม่

แต่อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงชี้ว่า เชื้อมูลที่จะปลุกพลังม็อบคนรุ่นใหม่ให้พลิกฟื้นขึ้นมานั้นยังคงดำรงอยู่

นั่นคือ ตราบใดที่ความต้องการ-ข้อเสนอของม็อบยังไม่ได้รับการตอบสนอง การชุมนุมก็จะไม่ระเหยหายไปไหน

ยิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับพวกเขาน้อยลง พวกเขาก็ยิ่งจะต้องออกมาแสดงพลังเพื่อเน้นย้ำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง (และข้อเรียกร้อง) เพื่อกดดันรัฐบาลหนักขึ้น

และเมื่อใดก็ตามที่เกิดกระแสความไม่พอใจต่อ “รัฐบาลประยุทธ์” จากกลุ่มฝ่ายอื่นๆ ในสังคมเพิ่มเสริมเข้ามา

พลังของม็อบที่นำโดยคนรุ่นใหม่ก็จะพุ่งสูงอีกครั้ง

 

อาจารย์สุขุมกล่าวเตือนผู้มีอำนาจว่า อย่านึกว่าโอกาสที่ประชาชนจะออกมาชุมนุมกันบนท้องถนนนับล้านคนจะเกิดขึ้นไม่ได้ในยุคปัจจุบัน

“เป็นไปได้ที่จะถึง (ล้านคน) ถ้าเกิดว่ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่เข้าท่า”

นอกจากรอโอกาสที่รัฐบาลอาจก่อความพลาดพลั้งครั้งสำคัญแล้ว นักรัฐศาสตร์อาวุโสและนักพูดมากประสบการณ์ยังเห็นว่าม็อบคนรุ่นใหม่จะต้องทำงานหนักอย่างไม่หยุดหย่อน ในการสื่อสารกับสังคม

เพราะที่ผ่านมา บรรดาผู้ออกมาเคลื่อนไหวกับประชาชนทั่วไปอาจยังมี “ระยะห่าง” กันอยู่พอสมควร

“เมื่อปักธงไปข้างหน้า ก็ไม่อยากถอยหลังกลับมาอีก ไม่อยากจะรอแล้ว คุณตามเราไม่ทัน เราก็จะไปแล้ว” อาจารย์สุขุมกล่าวถึง “ความก้าวหน้า” ของคนรุ่นหลัง

ก่อนจะแสดงความเป็นห่วงว่า เมื่อม็อบ “ก้าว” ไป “ไกล” กว่าผู้คน ผู้สนับสนุนหลายๆ คนเลยต้องหยุดชะงักลงชั่วครู่ เพื่อครุ่นคิดว่าพวกเขาควรจะร่วมเดินทางไปกับเหล่าคนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นทางการเมืองดีหรือไม่?

“เพราะผมนี่ ผมกินข้าววันละสามมื้อนะ แต่คุณบอกจะกินมื้อเดียวทีเดียวเลย ผมไปไม่ทันคุณ”

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การเมืองอาวุโสยังมองเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นบางประการ หากประเมินจากความรู้ความเข้าใจซึ่งหลายคนในสังคมมีต่อ “บางข้อเรียกร้อง” ของม็อบ

“มันถูกตีข้อหาว่า พูด ‘ปฏิรูป’ คนบอกไม่ใช่ (มันคือ) ‘ล้มเลิก’ อย่างนี้เรียก ‘ล้มเลิก’ พูดถึงนิดเดียวก็ ‘ล้มเลิก’ แล้ว บางคนถึงขั้นยกว่านี่ทำลายระบอบการปกครอง”

อาจารย์สุขุมเล่าย้อนไปในช่วงแรกๆ ที่ “ข้อเสนอหลัก” ของคณะราษฎรและเครือข่ายเพิ่งถูกโยนเข้าสู่สังคม ก่อนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

“แต่วันนี้ พอเขาพูดซ้ำๆ เข้า คนเริ่มเข้าใจว่าคำว่า ‘ปฏิรูป’ กับคำว่า ‘ล้มเลิก’ คนละเรื่อง จะเริ่มเข้าใจมากขึ้น”

 

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง วัย 78 ปี เปิดใจว่า ตนเองไม่ได้เข้าไปร่วมม็อบคนรุ่นใหม่ เพราะ “หมดเวลาสำหรับผมแล้ว” ก่อนจะอธิบายรายละเอียด

“คนรุ่นผมหยุดๆ ซะบ้าง ให้ความคิด ให้อะไรต่างๆ ก็โอเคไป อย่าไปเที่ยวเคลื่อนไหว พอแล้ว คุณเคลื่อนมาจนอายุป่านนี้ บ้านเมืองมาได้ขนาดนี้ ปล่อยเป็นหน้าที่คนรุ่นหลัง คุณจะสนับสนุน ให้กำลังใจยังไง ก็โอเค แต่อย่าออกหน้า”

“คนเราอย่าผูกขาดการรักชาติ ให้คนรุ่นหลังเขารักชาติบ้าง”

นี่คือข้อคิดปิดท้ายจาก “สุขุม นวลสกุล”