โรงภาพยนตร์สกาลา คุณค่า และแนวทางอนุรักษ์ /ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โรงภาพยนตร์สกาลา

คุณค่า และแนวทางอนุรักษ์

 

นับตั้งแต่โรงภาพยนตร์สกาลาปิดตัวลงอย่างเป็นทางการเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563

ข้อมูลด้านคุณค่าตัวอาคารตลอดจนเรื่องเล่าและความทรงจำมากมายของผู้คนที่มีประสบการณ์ร่วมกับอาคารหลังนี้ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีก็แพร่กระจายไปทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์

และตามมาด้วยกระแสเรียกร้องให้อนุรักษ์โรงภาพยนตร์แห่งนี้เอาไว้

ซึ่งแน่นอน ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้

อย่างไรก็ตาม จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการออกมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของพื้นที่ว่าจะบริหารจัดการพื้นที่นี้ไปในทิศทางใด

นำมาซึ่งความกังวลจากหลายฝ่ายว่าโรงภาพยนตร์แห่งนี้จะถูกรื้อลงเพื่อพัฒนาเป็นโครงการที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลแทน

เพราะเราต้องยอมรับเช่นกันนะครับว่า บริเวณที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ในปัจจุบันเป็นทำเลทองที่มีศักยภาพสูงมากในทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การเก็บโรงภาพยนตร์เอาไว้จึงเป็นทางเลือกที่น่าลำบากใจและน่าเห็นใจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

สกาลาจึงกลายเป็นตัวอย่างล่าสุดของปัญหาทางสองแพร่งระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนา

ประเด็นสำคัญที่จะชี้ขาดในกรณีนี้ก็คือ การนิยามคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสกาลาว่ามีมากน้อยแค่ไหน

และคุณค่าดังกล่าวสอดคล้องกับเพดานความคิดเรื่องคุณค่าทางประวัติศาสตร์กระแสหลักของคนในสังคมไทย (รวมถึงของผู้มีอำนาจตัดสินใจในโครงการนี้) มากน้อยเพียงใด

เรามาเริ่มกันที่ประเด็นแรกกันก่อน

 

ในฐานะคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์ ผมอยากเสนอว่าโรงภาพยนตร์แห่งนี้มีคุณค่าที่สำคัญมากๆ อยู่ 2 ด้าน คือ คุณค่าทางสถาปัตยกรรม คุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคม

ในทางสถาปัตยกรรม สกาลาคือโรงภายนตร์ standalone ที่ออกแบบอย่างสวยงามที่สุดในประเทศไทย

ตัวอาคารออกแบบขึ้นด้วยแนวทาง “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ช่วงปลาย” (Late Modern Architecture) ที่ผสานเข้ากับตกแต่งภายในแบบ Movie Palace ที่เน้นความอลังการหรูหรา ผสมศิลปะจากหลากหลายยุคเพื่อเน้นสร้างความแปลกตาแฟนตาซี (eclectic exoticism)

ซึ่งเราจะเห็นได้จากการออกแบบโถงทางเข้าสกาลาที่เปิดโล่ง มีบันไดขนาดใหญ่ทอดยาวสู่ชั้นสอง ยกฝ้าเพดานสูงโดยฝ้าเพดานมีลักษณะเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กผิวโค้งต่อเนื่องมาจากเสา มีการประดับลายดาวเพดานเหล็กพับสีทอง

ตรงกลางโถงบันไดแขวนโคมไฟระย้าขนาดใหญ่ ผนังภายในประดับด้วยไม้แกะสลักออกแบบด้วยกลิ่นอายแบบ Art Deco คล้ายรูปพิณขนาดใหญ่ สลับกับภาพสําริดนูนต่ำรูปแบบศิลปะไทยผสมตะวันตก

ลักษณะดังกล่าวหาได้ยากมากในสถาปัตยกรรมโรงภาพยนตร์ standalone ในไทย

ที่สำคัญยังเป็นตัวแบบที่เหลืออย่างสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว

 

ในทางประวัติศาสตร์สังคม สกาลาถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2512 ภายใต้บรรยากาศ “สงครามเย็น” (สงครามทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีที่มีอเมริกาเป็นแกนนำกับโลกคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตและจีนเป็นแกนนำ) ที่เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนถึงราวกลางทศวรรษ 2520

ซึ่งภายใต้การต่อสู้ทางอุดมการณ์ดังกล่าว ภาพยนตร์คือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย

ภาพยนตร์อเมริกันที่แฝงอุดมการณ์แบบโลกเสรีถูกสร้างขึ้นและถูกนำเข้ามาฉายในประเทศไทยเพื่อปลูกฝังค่านิยมในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และยกย่องคุณค่าแบบอเมริกัน

ภาพยนตร์ไทยมากมายก็ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดเดียวกัน เช่น อินทรีทอง และ อินทรีแดง เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า การเฟื่องฟูขึ้นของธุรกิจภาพยนตร์และการสร้างโรงภาพยนตร์ standalone มากมายที่กระจายไปทั่วประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นแยกไม่ได้เลยจากเศรษฐกิจและการเมืองในบริบทสงครามเย็น

(หากสนใจ อ่านเพิ่มในงานของ Rachel V. Harrison เรื่อง The Man with the Golden Gauntlets : Mit Chaibancha’s Insi thorng and the Hybridization of Red and Yellow Perils in Thai Cold War Action Cinema และหนังสือของ Philip Jablon เรื่อง Thailand’s Movie Theatres : Relics, Ruins and the Romance of Escape)

ซึ่งไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สกาลาคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชุดนี้

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ฉายในรอบปฐมทัศน์วันเปิดสกาลาก็คือเรื่อง “สองสิงห์ตะลุยศึก” (undefeated) ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันเช่นเดียวกัน

 

ดังนั้น ในทัศนะผม การสูญหายไปของสกาลา (ที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า) จึงไม่ใช่เพียงการสูญหายไปของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สวยงามเท่านั้น

แต่คือการสูญหายไปของหลักฐานทางประวัติศาสตร์สังคมชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของไทยที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์สงครามเย็นผ่านสถาปัตยกรรมโรงภาพยนตร์

ประเด็นที่ต้องขบคิดต่อมาคือ คุณค่าที่ผมอธิบายนั้น ในสังคมไทยมองเห็นมันว่ามีความสำคัญหรือไม่

แน่นอนว่าคำตอบคือ ไม่

เพดานความคิดเรื่องการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในสังคมไทย ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสนใจและมองเห็น มีเพียงกลุ่มนักวิชาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

แม้แต่กรมศิลปากรเองก็ยังมองว่างานสถาปัตยกรรมในยุคสมัยนี้ไม่มีคุณค่าเพียงพอต่อการอนุรักษ์

 

ส่วนคุณค่าในมิติของประวัติศาสตร์สังคม ก็ไม่ต่างกัน

เพดานความคิดของสังคมไทยนั้น เรื่องราวที่จะถือว่ามีคุณค่ามีเพียงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์และวีรบุรุษสงครามมากกว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของผู้คนและสังคม

สถาปัตยกรรมใดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และวีรบุรุษสงคราม เช่น วัด วัง ป้อม กำแพงเมือง คือสิ่งที่ได้รับการตีคุณค่าสูงควรแก่การอนุรักษ์

แต่ถ้าเป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สังคมและคนธรรมดา เช่น บ้าน ตลาด และโรงภาพยนตร์ ก็มักจะถูกมองว่ามีคุณค่าน้อยหรือไม่มีเลย และไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้

ด้วยเหตุนี้ สกาลาซึ่งมีคุณค่าสูงในมิติของประวัติศาสตร์ สังคมและคนสามัญจึงไม่แปลกที่จะถูกประเมินว่ามีคุณค่าไม่มากเพียงพอที่จะอนุรักษ์ไว้

ที่สำคัญคือ ไม่มากพอที่จะแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เพดานความคิดข้างต้น ผมคิดว่าเรายังพอมีทางออกอยู่บ้าง นั่นก็คือการเลือกที่จะรักษาสกาลาภายใต้แนวทาง Adaptive Reuse ซึ่งเป็นการเก็บรักษาอาคารเก่าโดยยอมให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของอาคารให้สามารถเอื้อต่อการใช้งานทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ

ภายใต้ทิศทางนี้ ผมอยากทดลองเสนอว่า สกาลาควรทำการอนุรักษ์พื้นที่บริเวณโถงทางเข้าอาคารให้คงลักษณะเดิมเอาไว้ (หากเป็นไปได้ควรนำของตกแต่งทั้งหมดกลับมาติดตั้งในแบบเดิม)

พร้อมทั้งเก็บรักษาพื้นที่สำหรับดูภาพยนตร์เอาไว้ เพราะสองส่วนนี้คือเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สุด

ส่วนพื้นที่อื่นควรปรับเป็นอย่างอื่นที่สามารถหารายได้ เช่น co-working space, ร้านกาแฟ, ร้านอาหาร หรือช้อบปิ้งมอลล์ขนาดเล็ก ฯลฯ

พื้นที่ดูภาพยนตร์ ควรเน้นฉายภาพยนตร์ทางเลือกหรือทำเป็นพื้นที่จัดแสดงละครเวทีเพื่อสร้างจุดขายที่ต่างออกไป

อย่างไรก็ตาม ควรเปิดพื้นที่ให้เช่าใช้สำหรับการจัดสัมมนาหรือบรรยาย ตลอดจนพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดแสดงสินค้าหรือจัดเลี้ยงได้ด้วย

การจะทำแบบนั้นได้จะต้องรื้อส่วนพื้นที่นั่งดูภาพยนตร์ที่ปัจจุบันเป็นลักษณะสเต็ปขั้นบันไดถาวรลงและทำเป็นพื้นราบแทน โดยออกแบบสแตนด์ดูหนังที่สามารถเลื่อนออกมาเมื่อต้องฉายภาพยนตร์ และเลื่อนเก็บไปไว้ด้านหลังได้ในกรณีที่เปิดพื้นที่เช่าสำหรับจัดแสดงสินค้าหรือจัดเลี้ยง

ส่วนพื้นที่โถง สามารถรับจัดเลี้ยงและจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่มีลักษณะจุดขายแบบย้อนยุค (Retro) กลับไปหายุค 60 หรือ 70 ได้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพยนตร์ จัดงานแต่ง หรือจัดงานสังสรรค์ย้อนยุค ฯลฯ

 

ที่เสนอมาเป็นเพียงหนึ่งความคิดเท่านั้นนะครับ ผมเชื่อว่ายังมีแนวทาง Adaptive Reuse อีกมากมายที่สามารถจะนำมาใช้กับสกาลาได้โดยที่ยังสามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจไปพร้อมกัน

แต่แน่นอน ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ได้จากแนวทาง Adaptive Reuse อาจไม่มากมายเท่ากับการรื้อสร้างอาคารใหม่

แต่หากลองคิดถึงผลประโยชน์ระยะยาว ผมคิดว่าคุ้มค่ามหาศาล เพราะอาคารเก่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวยิ่งอายุมากเท่าไรยิ่งทวีคุณค่ามากขึ้นเท่านั้น

สกาลาที่อายุ 50 ปียังมีคนเป็นจำนวนมากเสียดายขนาดนี้ ถ้าเป็นสกาลาที่อายุ 100 ปีจะมีคุณค่าขนาดไหน

และสกาลาเมื่ออายุ 150 ปี หรือ 200 ปี อาจกลายเป็นโรงภาพยนตร์ standalone ที่เหลืออยู่เพียงหลังเดียวของประเทศไทยก็เป็นได้

ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจริง สกาลาจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจุฬาลงกรณ์ชนิดที่ประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้เลย

คนจุฬาลงกรณ์ในวันนี้จะไม่เก็บมรดกที่มีคุณค่ามหาศาลชิ้นนี้ไว้ให้คนจุฬาลงกรณ์ในวันหน้าจริงหรือ?