ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มีนาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อัญเจียแขฺมร์ |
เผยแพร่ |
อัญเจียแขฺมร์
อภิญญา ตะวันออก
อันล่วงละเมิดมิได้
“อ่อนไหวในวันพ่ายแพ้” คือประโยคแรกๆ ที่สะท้อนความรู้สึกของฝ่ายประชาธิปไตยในวันที่พวกเขาสูญเสีย และหมดกำลังใจ หลังแกนนำจำนวนมากถูกรวบตัวเข้าตะราง ไม่มีโอกาสต่อสู้ทางกฎหมายอย่างเป็นธรรม และมันเป็นความรู้สึกของคนจำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้น ณ กรุงเทพฯ
อีกฟากหนึ่งข้ามเขาตะนาวศรี ชาวพม่าลุกฮือประท้วงกันค่อนประเทศ นับแต่วันแรกที่รู้ว่าสูญเสียประชาธิปไตยให้แก่ฝ่ายกองทัพที่ทำรัฐประหาร อย่างไม่อาจอดทนได้ สำหรับปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตะลึงต่อชาวโลก พลันการชู 3 นิ้วของชาวพม่าก็ตอกย้ำกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กระสุนปืนและความตายไม่อาจสกัดกั้นและพรากไป
การแสดงออกของพลเมืองพม่าทุกฝ่าย ประชาชนทุกระแหง หนุ่ม-สาว นักแสดง นักข่าวจำนวนมากที่บาดเจ็บล้มตายจากการสังหารซึ่งหน้าและจับกุมทำร้าย แต่ความรุนแรงไม่เคยหยุดการเรียกร้องพวกเขาได้
นั่นล่ะ ที่ทำให้ฉันตั้งคำถามถึงภาวะอันเฉื่อยเนือยของกัมพูชา
ทันทีนั้น ฉันก็พบว่า พลวัตการเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายที่นั่น คือเหตุการณ์ที่นักกิจกรรมทางสังคมคนหนึ่งถึงแก่ชีวิตขณะกำลังดื่มกาแฟ และนับแต่นั้น ชาวเขมรก็ยังอ่อนล้ามาจนบัดนี้
แต่นี่ไม่ใช่กงเรื่องเดียวกัน สำหรับพลวัตคนรุ่นใหม่และกระบวนความเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในไทย ที่นักข่าวเขมรทั่วไป ทั้งนักข่าวนอกกระแส-อิสระและภายใต้รัฐอำนาจ และให้ความสนใจอย่างจำกัดโดยเฉพาะกูรูออนไลน์ที่มีศักยภาพสำหรับมุมมองการต่อต้านระบอบกษัตริย์ แต่ในที่สุดพวกเขาก็ถูกกำจัด
เอาเข้าใจ ฉันเชื่อว่า อำนาจรัฐแขมร์มีความกังวลต่อกระแสคนรุ่นใหม่ในไทยอย่างมาก และให้คำตอบข้อนี้มีอยู่ในหัวข้อ “ปฏิวัติสี” หรือกระบวนการปฏิวัติวัฒนธรรมที่สมเด็จฮุน เซน ได้ป้องปรามอย่างเด็ดขาดชนิดที่ทำให้นักเคลื่อนไหวในเขมรซึ่งเดิมทีมีน้อยและไม่เข้มแข็งด้านอุดมการณ์อยู่แล้ว
ยิ่งลดน้อยถอยลงไปอีก โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “สังหารหมู่” ทุกฝ่ายที่ผ่านมา
กระทั่งการมาถึงและลุกฮือของชาวภูเมีย/มยันม่า (ตามสำเนียงเขมรเรียกพม่า) ฉันพบว่า นี่คือ การปลุกขึ้นทางอ้อมของฝ่ายประชาธิปไตยในกัมพูชาซึ่งถูกสะกดวิญญาณด้วยสารเสพติดความกลัวเผด็จการมานานแล้ว
หรือไม่ก็ให้ตระหนักว่า การเปิดรับระบอบประชาธิปไตยมาก่อนที่ผ่านมา ได้ทำลายความเป็นศักยภาพและความเป็นทรัพยากรมนุษย์ของกัมพูชา ภายใต้ระบอบการเลือกตั้งที่นำไปสู่ฉันทามติแห่งเผด็จการรัฐสภา
มันคือ ครั้งสุดท้ายจริงๆ หรือไม่? ที่การลุกฮือเสรีภาพและประชาธิปไตยของที่นั่นครั้งสุดท้าย 10 กรกฎาคม พ.ศ.2559 คือวันสุดท้ายของ ดร.แกม เล็ย (45)
อดีตนายแพทย์ที่เปลี่ยนผันมาทำงานเอ็นจีโอและเคลื่อนไหวทางสังคม นักวิจัยผู้ชื่นชมบทบาทนักวิชาการไทย ตามครรลองนั้น ดูเหมือนแกม เล็ย ไม่น่าจะมีข้อใดที่เสี่ยงอันตราย นอกเสียจากบทวิพากษ์การเมืองที่ตรงไปตรงมา การตีแผ่ธาตุแท้นักการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย พรรคของสมเด็จฮุน เซน และสงเคราะห์ชาติ (CNRP) โดยเฉพาะนายสัม รังสี
แกม เล็ย ช่างตรงไปตรงมาที่เขาตีแสกหน้า ผ่าปมปัญหาเขมรโดยปราศจากความชังหรือรักใคร่ต่อนักการเมืองฝ่ายใด
และนั่นอาจจะเป็นครั้งแรกๆ ก็ได้ที่ทำให้คนกัมพูชารุ่นหลังมิได้ภักดีต่ออำนาจและนักการเมืองอย่างเข้ากระดูกก็ว่า แกม เล็ย เหมาะเป็นศัตรูของทุกฝ่าย เว้นแต่ประชาชนคนรากหญ้าเท่านั้นที่การเข้าถึงของเขาได้สร้างเครือข่ายทางมวลชน และนั่น มันคือหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า…
“อันล่วงละเมิดมิได้”
แกม เล็ย เหมือนจะรู้ตัวหรือไม่ เขากล่าวถึงความไม่ประมาทนั้น แต่ไม่เชื่อว่าเขาอยู่ในข่ายของใบสั่ง มิฉะนั้น ภรรยาและลูกๆ 5 คนของเขาคงลี้ภัยไปต่างประเทศ มันยังเป็นการสังหารที่ทำให้จิตวิญญาณของฝ่ายประชาธิปไตย-สั่นคลอนและตั้งตัวไม่ได้จนมาถึงบัดนี้
คุณเชื่อมั้ยแค่ 4 ปี 8 เดือนเท่านั้น! มันคือการเปลี่ยนแปลงที่เกินกว่าจะเชื่อได้
เนื่องจากการเกิดขึ้นของบุคคลในแบบแกม เล็ย ได้ไม่มีบ่อยนักในเขมร
แม้ครั้งหนึ่งพวกเขาจะเคยมีผู้นำสหภาพแรงงาน-เจีย วิเจีย (2547) ชุด วุดที-นักสิ่งแวดล้อม (2555) แต่แกม เล็ย เป็นทั้งนักวิจัยและนักวิพากษ์ ความมีตัวตนของเขาทำให้สปอตไลต์ไม่เคยส่องไปถึงนักการเมืองเลยด้วยซ้ำ
อะไรเล่าที่ทำให้เขากลายเป็นลิสต์ใน “ใบสั่ง”?
ช่างเหลือเชื่อกระไรนั่น? ที่เราใคร่กล่าวว่า ความลึกลับที่ทำให้แกม เล็ย กลายเหยื่อแห่งคำพิพากษาที่ร้ายแรงนี้ มาจากที่เขาไปแตะต้องบางอย่าง “อันล่วงละเมิดมิได้” ของที่นั่น
ที่ซับซ้อนมากกว่าระบอบเผด็จการทหารในพม่า หรือมาตรา 112 ของไทย สำหรับกรณีกัมพูชา โดยอาจไม่เชื่อว่า นี่คือกรณีอันล่วงละเมิดหรือแตะต้องปัญหามิได้นั่นคือ “พรมแดนเวียดนาม-กัมพูชา”
ก่อนอื่นขอยืนยันว่า นี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอยและไร้หลักฐานต่อการเฝ้ามองความเป็นไปในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่ากรณีชนกลุ่มน้อยและชาวบ้านตามแนวชายแดนที่ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ นักสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงนักการเมือง
ประเด็นเดียวที่พวกเขาจะแตะต้องและกล่าวหามิได้ในทันทีนั้น ซึ่งจะทำให้ถูกลงทัณฑ์โดยข้อกล่าวหาเป็นภัยต่อความมั่นคง และนั่นเท่ากับว่าเป็นโทษอาญาอันร้ายแรง
และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราเชื่อว่า นี่คือกฎอันล่วงละเมิดมิได้ของระบอบฮุน เซน ที่ส่งผลต่อใครบ้าง? ไม่ว่าจะเป็นชะตากรรมของแกม เล็ย, กึม สกขา, สัม รังสี, เป็ญ มอม, รอง ชุน, กิม สก และอีกจำนวนมากรายที่อยู่ในข่ายพัวพันกับประเด็นเดียวกันทั้งตรงและอ้อม
อึม สัม อัน อดีตสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติเป็นกรณีตัวอย่างแรกๆ ของบุคคนที่เผยแพร่เอกสารทางเฟซบุ๊ก แม้จะเป็น ส.ว.และถือ 2 สัญชาติ แต่ไม่มีผลในการสู้คดีซึ่งมีทีท่าจะยืดเยื้อจนเมื่อหัวหน้าพรรคออกนอกประเทศ และ 1 ในนั้นถูกจองจำ จู่ๆ เขาก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษแบบกึ่งเนรเทศ
นับแต่นั้นมาเรื่องราวของสัม อัน ก็ไม่ต่างจากคนสาบสูญ ประวัติทั้งหมดของเขาที่เคยมีมากมาย ถูกลบหายไปจากโลกออนไลน์ในคราเดียว
และนี่คือ ปัญหาของกรณีอันล่วงละเมิดมิได้หรือไม่?
เช่นกัน การลอบสังหารแกม เล็ย ในสื่อนอกกระแสทั้งหมดที่เคยมากมายค่อยๆ หายไป
ส่งผลให้เพียง 4 ปีเท่านั้น ชื่อของแกม เล็ย ก็เริ่มเลือนรางจากสังคมกัมพูชาและคนหนุ่ม-สาวรุ่นหลัง
โดยสำหรับแกม เล็ย นั้น ความสนใจในประเด็น “อันล่วงละเมิดมิได้” นี้ มีการเก็บข้อมูลเป็นงานวิจัยภาคสนามตามจังหวัดติดพรมแดนเวียดนาม (รัตนคีรี มณฑลคีรี กระแจะ) และยังเปิดเผยอย่างท้าทายบ่อยครั้งว่า เขามองเห็นความไม่ปกติของระบอบฮุน เซน ที่ทำให้เกิดประเด็นนี้
แต่เมื่อสิ้นแกม เล็ย แล้ว หลักฐานอันล่วงละเมิดมิได้นั้น ก็พลันสูญหายไปด้วย
หรือนี่คือระบบคู่ขนานระหว่างการกำจัดผู้เกี่ยวข้องกรณี “อันล่วงละเมิดมิได้” นั้น ในเวลาเดียวกันก็ยังสะกดปราบขบวนการเบ่งบานของฝ่ายประชาธิปไตยไปด้วย และนั่น
เมล็ดพันธุ์แกม เล็ย จำนวนหนึ่งที่กำลังเติบโตก็แห้งตาย ขณะที่บางรายเช่นกรณีเยาวชนกง ไร ที่แค่ชื่นชมอุดมการณ์ของเล็ยกลับเป็นตัวอย่างของการถูกทางการลงทัณฑ์อย่างรุนแรง
เขาถูกตั้งข้อหาร้ายแรงคือเผยแพร่ลัทธิ “ปฏิวัติสี” (ปฏิวัติวัฒนธรรม) แนวคิดล้มล้างระบอบการปกครองของรัฐในเฟซบุ๊ก
อย่าว่าแต่กง ไรยา ที่ตกตะลึงต่อข้อกล่าวหานั้น แม้แต่ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” วาทกรรมที่เขาและเพื่อนแทบไม่เคยได้ยินมาก่อนนี้ แต่นี่คือผลพวงของเกม “อันล่วงละเมิดมิได้” ที่เขาจะถูกกวาดล้างไปด้วย
ผลก็คือ เขาสูญเสียอิสรภาพในเรือนจำโดยทันทีหนึ่งปีครึ่ง
หลังจากมีอิสรภาพได้ 3 ปี เขาก็ถูกจับและอาจติดคุกถึง 2 ปี จากความผิดที่ตนทำเสื้อยืดสกรีนรูปแกม เล็ย จำหน่ายและสวมเอง
กง ไรยา ติดคุกอยู่ 4 เดือนครึ่ง และยังถูกติดตามจากตำรวจนอกเครื่องแบบเป็นชีวิตประจำวัน
ตรองดูเถิดว่า ทางการเขมรนั้นกลัวแม้กระทั่งวิญญาณของแกม เล็ย ที่อาจตามมาหลอนในรูปอุดมการณ์คนรุ่นใหม่
แต่ในที่สุด กง ไรยา ก็ยอมจำนน เมื่อบัดนี้เขาไม่ใช่เยาวชนคนตัวเปล่า แต่มีครอบครัวที่เขาต้องปกป้อง โดยในที่สุดแล้ว อุดมการณ์ของแกม เล็ย ในเขมร ในที่สุดก็กลายเป็นสิ่ง “อันล่วงละเมิดมิได้”
และกง ไรยา กับสหายนั่นเองที่เผชิญกับการกระทำอันลงโทษต่อเขาตลอดมา
จากอำนาจอันลึกลับฝ่ายใดกัน? ที่เพียบพร้อมไปด้วยองค์กรปฏิบัติ ของกองทัพ กรมตำรวจ หน่วยงานข่าวกรอง เพื่อรักษาไว้ซึ่งในสิ่ง “อันทัชอะเบิล”
คือระบอบฮุน เซน ที่ไม่อาจก้าวล่วงได้