หลังเลนส์ในดงลึก : ‘งานเลี้ยง’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวาง - กวางสายตาไม่ดีนัก แต่ประสาทสัมผัสการรับกลิ่นดี และพวกมันเชื่อจมูกมากกว่าสายตา

 

‘งานเลี้ยง’

 

“ช่วงเทศกาลนี่แหละครับ งานลาดตระเวนเราต้องเข้มข้นมากขึ้น” เป็นความจริงที่คนทำงานในป่าพูดกันบ่อยๆ

นอกจากจะไม่ได้หยุดงาน ไปเที่ยว หรือกลับบ้านแล้ว งานพวกเขากลับต้องเพิ่มมากขึ้น

เทศกาลแห่งความสุข ทุกหนแห่งเต็มไปด้วยงานเลี้ยง งานรื่นเริง

แต่คล้ายกับว่า เป็นเวลาที่สัตว์ป่าหลายตัวชีวิตสิ้นสุดลง

 

คนจำนวนหนึ่งมุ่งหน้าเข้าป่าพร้อมอาวุธในมือ

กวาง, เก้ง, หมูป่า รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมซึ่งหากินและใช้ชีวิตอยู่บนเรือนยอดไม้ อย่างชะนี, ค่าง, กระรอก, กระแต และอีกหลากหลายชนิด

สิ่งที่สัตว์เหล่านี้เหมือนกันคือ พวกมันถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของสัตว์ป่าที่เป็นอาหาร

พวกมันคือวัตถุดิบที่ดีในการนำมาปรุงอาหารสำหรับงานเลี้ยง

มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า เนื้อสัตว์ป่านำมาประกอบอาหารได้เอร็ดอร่อยกว่าเนื้อสัตว์เลี้ยง

สัตว์ป่าถูกฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาจำหน่าย

“รถขายกับข้าวตามเมืองใกล้ๆ ป่า บางทีมีเนื้อเก้ง เนื้อกวางขายนะครับ” คนทำงานในป่าเล่า

“อาทิตย์ก่อนผมพบคนเข้าป่า ค้นพบของกลางเป็นซากค่าง 6 ตัว” องอาจเล่าต่อ

“6 ตัวนี่น้อยครับ ตอนก่อนปีใหม่ จับผู้ต้องหาได้ 3 คน ซากค่าง 18 ตัวเลยครับ”

ซากค่าง 18 ตัว นั่นหมายถึง พวกมันถูกฆ่ายกฝูง อุปนิสัยค่างที่รีบหนีทันทีที่เห็นคน กระโดดไปตามกิ่งไม้เสียงโครมคราม แต่ถ้าจวนตัว ค่างจะนั่งแอบนิ่งๆ ค่อยๆ ชะโงกหน้าดู แต่หางยาวๆ ไม่ได้ซ่อน คนสังเกตเห็นได้ การเลือกยิงทีละตัวจึงไม่ใช่เรื่องยาก

“เลือดค่างเอามาผสมเหล้ากินแล้วมีกำลังดีครับ”

ลุงทอน ชาวบ้านท่าวังไทรเชิงเขาใหญ่ฝั่งตะวันออกเคยบอกผมครั้งหนึ่ง

นี่เป็นความเชื่อกันทั่วไป หรือแม้แต่ข้อความที่ว่า มาเมืองใกล้ป่า ต้องกินอาหารเมนูสัตว์ป่า

และมันทำให้ในป่าไม่เคยสิ้นเสียงปืน

 

บ่ายกลางฤดูแล้งของปีหนึ่ง ผ่านเทศกาลสงกรานต์มาแล้วสองวัน

ท้องฟ้าสีครามเข้มตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง เหนือบริเวณทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ที่มีแนวเขาโอบล้อม เริ่มเปลี่ยนแปลง

เมฆดำครึ้มเข้าบดบังแสงอาทิตย์ แสงแดดหายไป จึงดูเหมือนเป็นเวลาของแมลงที่เข้ารุมตอมเรา จนอยู่นิ่งๆ ไม่ไหว นอกจากผึ้งที่จะปล่อยเหล็กไนทันทีถ้าเผลอไปโดนตัวมัน ยังมีแมลงหวี่ แมลงวัน ตัวริ้น รวมทั้งยุงเข้ามาผสมโรง

แมลงเหล่านี้ ส่วนใหญ่เกาะอยู่ตามตัวกระทิง แม้ฝูงกระทิงจะเคลื่อนที่ไปแล้ว แต่กลิ่นพวกมันยังคละคลุ้งทั่วบริเวณ

 

ผมเดินตามชัยพร, ชูศักดิ์ และบุญจันทร์

เราเดินตามร่องรอยกระทิงฝูงใหญ่ รอยกระทิงพาเราตัดกลางทุ่งจนถึงชายป่า แม้จะเป็นทุ่งกว้างโล่ง แต่ดูเหมือนพวกมันจะเดินเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ

“ฝนทำท่าจะตกแบบนี้ กระทิงคงหลบอยู่ในป่าทึบ จะออกมาในทุ่งคงเย็นๆ โน่นแหละครับ” บุญจันทร์ให้ความเห็น ฝนตกกลางฤดูแล้งในป่าทุ่งใหญ่ คือเรื่องปกติ

เรานั่งพักในดงไม้เล็กๆ แมลงผละไปบ้างเมื่อบุญจันทร์จุดยาเส้นที่มวนด้วยใบกระโดนแห้ง

“เราอยู่ใต้ลมครับ” ชัยพรบอก เขายอมให้ลูกทีมสูบยาเส้น เพราะกระแสลมไม่ได้พัดไปทางทิศที่กระทิงอยู่

ชัยพรพูดพลางทรุดตัวลงนั่ง เมื่อเห็นรอยตีนเสือโคร่งย่ำทับรอยตีนกระทิง เขาวัดความกว้างรอย ถ่ายรูป และบันทึกพิกัด

“ตัวผู้ครับ อุ้ง 9 เซนติเมตรแน่ะ”

ชัยพรจริงจังกับงาน เขาเคยไปฝึกงานเรื่องเสือโคร่งที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยเมื่อทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งมาตั้งกล้องดักถ่าย เพื่อทำงานในป่าทุ่งใหญ่

 

กลิ่นสาบๆ ของซากสัตว์ลอยมากระทบจมูก เราได้กลิ่นจางๆ

“น่าจะมีซากอะไรแถวนี้ ลองหาดูกันครับ” ชัยพรพูด

จากที่นั่งพัก เราเดินตามกลิ่นมาทางทิศตะวันออกราว 500 เมตร ก็พบซากกวางตัวเมียโตเต็มวัย ตายมาแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์

“เสือมั้ง” บุญจันทร์พูด

“ไม่ใช่หรอก” ชูศักดิ์พูดพลางชูปลอกกระสุนปืนลูกซอง

“ตรงนี้อีกปลอก” ชัยพรก้มเก็บ

ผมยืนมองซากกวาง ไม่กี่วันนี้ ขณะกำลังเพลินอยู่กับหญ้าระบัด มันถูกฆ่าโดยไม่รู้ตัว

 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเห็นซากสัตว์

หลายครั้งผมได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมเหตุการณ์ ในช่วงเวลาที่สัตว์ผู้ล่าทำงานด้วย

เสียงร้องโหยหวน เสียงเนื้อถูกฉีกขาด เห็นความตายเกิดขึ้นต่อหน้า

นั่นไม่ใช่นาทีแห่งความโศกเศร้า เมื่อสัตว์กินพืชตัวหนึ่งตายลงเพราะคมเขี้ยว

ไม่เพียงสัตว์ผู้ล่าจะทำงานสำเร็จอีกหนึ่งครั้ง แต่เป็นเวลาเริ่มต้น “งานเลี้ยง”

กลิ่นสาบซากโชย กวางตัวนี้ตายด้วยคมกระสุน เนื้อบางส่วนของมันถูกนำออกไป อาจเป็นหนึ่งในเมนูอาหารงานเลี้ยงรื่นเริง

“งานเลี้ยง” ที่กลิ่นสาบซากโชยมาไม่ถึง