2503 สงครามลับ สงครามลาว (20) / บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (20)

 

วีรกรรมที่เมืองงาด

“เดือนมิถุนายน พ.ศ.2504 บก. 333 ได้ประกอบกำลังชุดปฏิบัติการขึ้นโดยใช้ชื่อเรียกว่า “ทีมเอ็น” ซึ่งประกอบด้วยตำรวจพลร่มทั้งหมด 7 นาย

ได้แก่ พารู เจิดจำรัส จิตการุณราษฎร์ เป็นหัวหน้าทีม พารู ประเสริฐ เดชดวงจันทร์ เป็นรองหัวหน้าทีม พารู ธีรพล คำภา พารู สนวน เอมรัช พารู สุชาติ หมั่นพูน ทั้ง 3 นายเป็นพลปืนเล็ก พารู ประเสริฐ พูนสวัสดิ์ เป็นพลพยาบาล และพารู สุภาพ สัญญาโน เป็นพนักงานวิทยุ RS-1

ทั้งหมดได้รับภารกิจทำหน้าที่เป็นครูฝึกการรบแบบกองโจรและเป็นที่ปรึกษาทางทหารให้กับประชาชนทหารบ้านเพื่อให้เป็นหน่วยทหาร SGU (SPECIAL GUERRILLA UNIT) ในลำดับต่อไป

พื้นที่ปฏิบัติการของทีมเอ็น คือ “เมืองงาด” ซึ่งเป็นค่ายทหารของนายพลวังเปาที่ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนเวียดนามเหนือเพียง 9 กิโลเมตร จึงเป็นฐานปฏิบัติการที่เป็นด่านหน้าในการสกัดกั้นการรุกของคอมมิวนิสต์ทางตอนเหนือ

ฐานปฏิบัติการเมืองงาดที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ทัศนวิสัยรอบๆ ฐานเป็นที่โล่งจึงสามารถตรวจการณ์ได้รอบฐานในระยะ 200 ถึง 400 เมตร

การปฏิบัติการของทีมเอ็นสามารถฝึกทหารบ้านจนสามารถประกอบกำลังได้ 3 กองร้อย

ทันทีที่สำเร็จการฝึกก็ได้รับการแจกจ่ายอาวุธพร้อมกระสุน ประกอบด้วยปืนเล็กยาว 88 (ปลยบ.88) และปืนคาร์บิน 87 (ปสบ.87) ซึ่ง SKY (ซีไอเอ) เป็นผู้สนับสนุน”

 

ทหารเวียดนามเหนือบุก

“ในเวลาต่อมาทหารเวียดนามยกกำลัง 3 กองพันในชุดสีกากีสวมหมวกดาวแดงเข้าโอบล้อมและโจมตีฐานปฏิบัติการ

การรบเป็นไปอย่างดุเดือด ข้าศึกอาศัยกำลังที่มากกว่าหลายเท่าเข้าโอบล้อมฐานปฏิบัติการไว้ทุกด้าน

หน่วยพารูและกองกำลังที่ได้รับการฝึกการรบมาแล้วก็พยายามยิงตอบโต้ด้วยปืนกล .50 ปืน ค. 4.2 และระเบิดขว้าง

การรบดำเนินไปด้วยความดุเดือด ฝ่ายข้าศึกถึงแม้จะมีกำลังมากกว่า แต่เสียเปรียบด้านชัยภูมิ จึงต้องสูญเสียกำลังไปมากกว่า 100 นาย ซึ่งในจำนวนนี้มีรองผู้บังคับกองพันด้วย 1 นาย แต่ก็ยังไม่สามารถเข้ายึดฐานปฏิบัติการของฝ่ายเราได้

จึงหันมาใช้วิธีการโอบล้อมและส่งกำลังหน่วยย่อยเล็กๆ เข้ามาโจมตีและยิงรบกวนเครื่องบินที่จะมาส่งกำลังบำรุงอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้เริ่มขาดแคลนเสบียงอาหาร

เมื่อสถานการณ์เริ่มวิกฤต หน่วยพารูจึงได้หารือกับ ร.ท.ยัววารี หัวหน้ากองกำลังฝ่ายทหารบ้าน วางแผนการถอนตัวด้วยการตีฝ่าวงล้อมของข้าศึกออกมาจนสำเร็จ

การปฏิบัติการครั้งนี้ฝ่ายเราได้รับความสูญเสียคือทหาร SGU จำนวน 6 นาย และตำรวจพลร่ม 3 นาย ได้แก่ พารู สุภาพ สัญญาโน และพารู สนวน เอมรัช เสียชีวิตในระหว่างยิงต่อสู้อยู่ในฐานปฏิบัติการ

ส่วนพารู ประเสริฐ เดชดวงจันทร์ เสียชีวิตในระหว่างตีฝ่าวงล้อมเพื่อหลบหนี

พารู เจิดจำรัส จิตการุณราษฎร์ ถูกสะเก็ดระเบิดริมฝีปากฉีก ฟันหน้าหัก 1 ซี่ในระหว่างยิงต่อสู้อยู่ในฐานปฏิบัติการ ส่วนพารู สุชาติ หมั่นพูน และพารู ประเสริฐ พูนสวัสดิ์ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย คงมีเพียงพารู ธีรพล คำภา เท่านั้นที่อยู่รอดปลอดภัยไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ

นับว่าเป็นการปฏิบัติการแรกที่มีตำรวจพลร่มเสียชีวิตจากการสู้รบในประเทศลาว”

 

เสือดำ NEVER DIE

เหตุการณ์เดียวกันนี้ พล.ต.ต.นคร ศรีวณิช ได้บันทึกขยายความจากการให้สัมภาษณ์ของพารู เจิดจำรัส จิตการุณราษฎร์ ไว้โดยละเอียดดังนี้…

“วันหนึ่ง ประมาณ 6 โมงเช้า เจิดฯ กินกาแฟเสร็จแล้วออกมาล้างหน้า ขณะที่น้ำเปียกหน้าได้ยินเสียงปืนถี่ยิบ พร้อมกับทหารแม้วที่เป็นยามตะโกน ‘เอ็นนิมี้…เอ็นนิมี้… (ENEMY)’ และวิ่งหนีจากจุดสังเกตการณ์ขึ้นมาบนยอดดอย ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของกําลังฝ่ายเรา ทหารแม้วคนนั้นวิ่งขึ้นมาจนอยู่ห่างตัวเจิดฯ ประมาณสิบกว่าวาก็ถูกกระสุนของข้าศึกล้มลงขาดใจตาย…”

ที่ตั้งของเราอยู่บนยอดเขาสูงของ “เมืองงาด” ห่างจากเขตแดนเวียดนาม 9 กิโลเมตร เดิมเป็นป้อมของทหารฝรั่งเศสที่สร้างไว้ต่อสู้กับพวกเวียดกง ทุกด้านรอบๆ ตัดต้นไม้จนเตียนโล่งเพื่อให้เห็นข้าศึกได้แต่ไกล เมื่อทหารฝรั่งเศสทิ้งป้อมไปแล้ว “นายพลวังเปา” หัวหน้าชนเผ่าแม้ว เข้ายึดใช้เป็นฐานสําหรับป้องกันข้าศึกรุกราน บนยอดสูงสุดของป้อมเป็นที่ตั้งของฐาน มีอาคารไม้หลังคาแฝกกับบางส่วนมุงสังกะสี รอบๆ ที่พักขุดคูเตรียมต่อสู้ นับว่าเป็นทําเลที่ได้เปรียบข้าศึกมาก

วันนั้น ข้าศึกใช้กําลังประมาณ 2 กองพัน ฝ่ายเรามีทหารแม้วกับทหารข่าไม่เกิน 51 คน เป็นการต่อสู้ระหว่าง 51 คนกับ 2 กองพัน สถานการณ์ไม่เลวร้ายนัก เพราะฝ่ายการข่าวรายงานเตือนไว้ก่อนแล้วว่าอาจจะถูกข้าศึกโจมตี จึงอพยพครอบครัวของทหารแม้วและทหารข่าออกไปจากฐาน ยังเหลือแต่ผู้ได้รับการฝึกที่ขวัญดี

เรารู้ว่าการต่อสู้อาจจะเพลี่ยงพล้ำ จึงเตรียมจุดนัดพบและศึกษาเส้นทางหนีพร้อมกับสังเกตดวงดาวไว้เพื่อสะดวกในการเดินทางกลางคืน

 

กระสุนนัดแรกของข้าศึกดังขึ้นประมาณ 06.30 น. …

ทันทีที่เริ่มเสียงปืน “สนวน” เข้าคู่กับ “เจิดฯ” ตามที่ซักซ้อมไว้ “ประเสริฐ เดชดวงจันทร์” ประกบ “สุภาพ สัญญาโน” และ “ธีรพล คําภา” อยู่กับ “สุชาติ” (จํานามสกุลไม่ได้) ที่แยกกันอย่างนั้นเพื่อคอยแนะนําช่วยเหลือและปลุกใจทหารแม้ว-ทหารข่าให้ทําการต่อสู้

ตอนเริ่มยิงมีแต่เสียงปืน แต่พอประมาณ 07.30 น. นอกจากเสียงปืนยังมีเสียงร้อง…เฮ้…เฮ้…เฮ้…ข่มขวัญ เหมือนการเข้าตีของอินเดียนแดงในหนังฝรั่ง ข้าศึกวิ่งขึ้นมาตามเนินโล่งชัน เราอยู่ในที่สูงจึงเลือกยิงเอาได้ตามใจชอบ พร้อมๆ กับกระสุนลั่นเปรี้ยงแล้วข้าศึกล้มลง

สนวนตะโกนรายงานเจิดฯ อย่างสนุกสนาน “หนึ่งครับ…หนึ่งครับ…และอีกหนึ่งแล้วครับ…อีกหนึ่ง…อีกหนึ่ง….” เฉพาะที่สนวนยิงล้มลงไปเห็นๆ อย่างน้อย 20 คน

เจิดฯ ใช้ปืนการ์แลน เคยยิงคน 300 หลาไม่พลาด ที่ตายโดยฝีมือเจิดฯ ครั้งนั้นไม่ต่ำกว่า 30 คน

การต่อสู้ติดต่อกันตลอดโดยไม่หยุดพัก…

 

ขณะที่เจิดฯ หมอบอยู่ทางซ้ายของทหารข่า มองข้ามไปทางขวาเห็นทหารแม้วคนหนึ่งถูกยิงไหล่ซ้ายแหลกละเอียดก็จะไปช่วย พอข้ามพ้นตัวทหารข่าได้ยินวื้ดๆ วื้ดๆ…เข้ามาใกล้ รู้ว่าเป็นเสียงกระสุนปืน รีบฟุบลงทางขวาทหารข่า พอดีเสียงระเบิดเปรี้ยงดังยิ่งกว่าฟ้าผ่า ตัวเจิดฯ กระดอนขึ้นจากดินเกือบศอก เมื่อตกลงถึงพื้นมีเศษหินดินกับตัวของทหารข่าคนนั้นทับอยู่ทางซีกซ้ายของลําตัว เจิดฯ ตาพร่าหูอื้อไม่ได้ยินอะไรเลย สิ้นสติไปพักหนึ่ง เมื่อฟื้นขึ้นก็ขยับร่างที่ทับอยู่บนตัวให้เลื่อนลงจากตัว ปรากฏว่าทหารข่าคนนั้นตายสนิท มองดูบริเวณกระสุนตกเกือบจะเป็นจุดเดียวกับที่เจิดฯ นอนอยู่ก่อนข้ามทหารข่าไปดูทหารแม้ว

นั่นเป็นการรอดตายครั้งแรก…

“ยุวะลี” นายทหารแม้ว ตัวแทนของนายพลวังเปาคุมทหารทั้งหมดอยู่ที่นั่น เป็นหนุ่มนักสู้ ยิงสู้ข้าศึกอยู่ใกล้ๆ เจิดฯ อยู่ตลอดเวลา เห็นเจิดฯ ได้รับบาดเจ็บมาก ก็จับแขนพากระโดดเข้าไปในป้อม จังหวะเดียวกับระเบิดอีกลูกหนึ่งลอยมาระเบิดขึ้นตรงที่ที่เคยยืน

รอดตายครั้งที่สอง…