วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.WordPress.com/ธุรกิจใหญ่ : ชีพจร และความเป็นไป

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

ธุรกิจใหญ่ : ชีพจร และความเป็นไป

 

ถึงวาระสำคัญ เพื่อการสำรวจ ตรวจสอบ ความเป็นไป แรงเสียดทาน และผลพวงจากวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่

วาระที่ว่า เป็นช่วงเวลาเร้าใจ เมื่อมีการเปิดเผยรายงานผลประกอบการประจำปี 2563 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอย่างที่รู้ อย่างน้อยในช่วง 9 เดือนของปีที่แล้ว อยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาด COVID-19 ซึ่งสั่นสะเทือนทั่วโลก

โดยเฉพาะสำรวจตรวจสอบความเป็นไปของธุรกิจใหญ่ ตามฐานความเชื่อว่าด้วยน้ำหนัก จับต้องได้ และมีความเชื่อมโยงกัน อย่างที่ใครๆ มักจะว่ากันว่าสังคมไทยยุคปัจจุบันมีสภาวะเกื้อกูลต่อธุรกิจรายใหญ่มากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ เป็นไปอย่างเป็นการเฉพาะ กับเครือข่ายธุรกิจซึ่งเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉงในห้วงเวลาเกี่ยวเนื่องนั้นด้วย

มองกันว่า เป็นความเคลื่อนไหวด้วยความมั่นใจและเชื่อมั่นโครงสร้างสังคมไทย จับจังหวะและโอกาสที่ดี เป็นไปตามกระแสคลื่น ต่อเนื่องมาจนถึงปรากฏการณ์สำคัญช่วงปลายปี 2562 เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยพาเหรดกันเข้าตลาดหุ้น ไม่ว่ากรณีเครือข่ายธุรกิจยุคสมัยใหม่ขยายอาณาจักรอย่างไม่หยุดหย่อน

อย่างกลุ่มทีซีซี หรือธุรกิจรากฐานดั้งเดิมอย่างบุญรอดบริวเวอรี่

 

ปี2557 ในช่วงคาบเกี่ยวเวลาฉลองครบรอบ 8 ทศวรรษบุญรอดบริวเวอรี่นั้น ภาพกว้างสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง (22 พฤษภาคม 2557) ยังถือว่าเป็นครั้งล่าสุด ได้มาซึ่งผู้บริหารประเทศที่อาจเรียกว่า “รัฐบาลทหาร”

จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อาจสะท้อนถึงความมั่นใจหรือจังหวะเวลาที่ควรหรือไม่ก็ตาม บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นตามแผนการ “เป็นการขยายธุรกิจเข้าไปสู่ด้านอสังหาริมทรัพย์” นับเป็นแผนการเชิงรุกอย่างกระชั้นทีเดียว ในช่วงปลายปี 2557 ปีเดียวกันนั้นได้เข้าซื้อกิจการแห่งหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในแผนการที่วางไว้ เรียกกันว่าเข้าตลาดหุ้นทางลัด หรือ Backdoor Listing

ปรากฏการณ์สิงห์ เอสเตท ทำให้มุมมองเกี่ยวกับกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่เปลี่ยนไปจากเดิม

ในช่วง 5 ปีต่อจากนั้น สิงห์ เอสเตท ดำเนินแผนการลงทุนซื้อกิจการเพื่อขยายสินทรัพย์และเครือข่ายอย่างรวดเร็ว พิจารณาเฉพาะสินทรัพย์เติบโตกว่า 5 เท่าในช่วง 5 ปีนั้น (2557-2561) จากระดับ 11,288 ล้านบาท เป็น 58,930 ล้านบาท ถือกันว่าสิงห์ เอสเตท กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายใหม่

“สิงห์ เอสเตท เป็นมหากาพย์ใหม่ของบุญรอดบริวเวอรี่ ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรีอย่างเต็มที่ เป็นธุรกิจซึ่งอ่อนไหวกับสถานการณ์อย่างมากด้วย” ผมเองเคยว่าไว้ในช่วงนั้น

 

ขณะเดียวกัน กลุ่มทีซีซีมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักต่อเนื่อง ว่าไปแล้วมีโมเดลธุรกิจส่วนสำคัญคล้ายๆ กับบุญรอดบริวเวอรี่ ในฐานะคู่แข่งในธุรกิจหลัก ธุรกิจเบียร์ ซึ่งมีฐานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ที่จริงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทีซีซี มีความสำคัญอย่างมาก มีมูลค่ามากกว่าที่สิงห์ เอสเตทมีหลายเท่า อันมีที่มาเป็นที่รู้กันว่า เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นนักล่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ จนกลายเป็นผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง มาตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูในทศวรรษ 2530

กรณีหนึ่งในนั้น ธุรกิจในนามบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ก่อตั้งขึ้นตามแผนการปรับโครงสร้างบางส่วนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเครือข่ายโรงแรมเปิดดำเนินการแล้วมากกว่า 10 แห่ง และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์รูปแบบต่างๆ หลากหลายอีกนับ 10 โครงการ

AWC เดินหน้าอย่างรวดเร็ว เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปลายปี 2562 (ตุลาคม) เป็นกรณีที่ตื่นเต้น ในฐานะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์ไทยเท่าที่เคยมีมา

ปรากฏการณ์ข้างต้น ถูกตั้งคำถามว่ามีความสัมพันธ์ตั้งใจกับการเลือกตั้งทั่วไป (24 มีนาคม 2562) ตามมาด้วยมีรัฐบาลใหม่ซึ่งเค้าโครงอำนาจต่อเนื่องกัน (10 กรกฎาคม 2562) หรือไม่

ตามมาอย่างกระชั้นชิด บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ก่อตั้งขึ้นตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างแข่งขันเช่นกัน เพื่อเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงต่อเนื่อง เป็นไปตามกระแส และตามหลัง AWC เพียงเดือนเดียว (พฤศจิกายน 2562)

SHR “ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ดำเนินธุรกิจโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ” ลักษณะธุรกิจซึ่งระบุไว้ เท่าที่พิจารณาข้อมูลที่ปรากฏ ธุรกิจโรงแรมที่ว่า มีจุดโฟกัสในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีความแตกต่างจาก AWC ที่ให้ความสำคัญด้วยมีเครือข่ายในต่างประเทศมากเป็นพิเศษ

เป็นที่รู้กันว่า SHR คือกิจการซึ่งขยายตัวอย่างคึกคักในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้า มีที่มาต่อเนื่องและแยกตัวมาจากบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ธุรกิจที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเพียง 5 ปี (2557)

 

แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดได้อุบัติขึ้น วิกฤตการณ์ใหญ่ระดับโลก ส่งผลกระทบจากทุกทิศทางและกว้างขวางกว่าครั้งใดๆ ในยุคใกล้ เป็นปรากฏการณ์อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ว่าอำนาจเครือข่ายธุรกิจทรงอิทธิพล หรืออำนาจรัฐ โดยเฉพาะกับธุรกิจ Hospitality และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่หัวขบวนรับแรงปะทะ ดังกรณีตั้งใจนำเสนอข้างต้น

ข้อมูลปรากฏ (ดู “ข้อมูลจำเพาะ” ประกอบด้วย) ย่อมให้ภาพและดัชนีบางอย่าง บางมิติสะท้อนความผันแปรและเปราะบาง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา (ราคาหุ้นสูง/ต่ำในรอบ 52 สัปดาห์) ขณะผลประกอบการที่เป็นจริงเป็นไปอย่างน่าใจหาย (พิจารณาจากรายได้และผลขาดทุน) อย่างไรก็ตาม มุมมองเชิงบวก บรรดาเจ้าของธุรกิจใหญ่ (พิจารณาจาก “คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ”) ก็ยังปรากฏอยู่

มิติ “จุลภาค” ข้างต้น จะตามมาด้วยภาพ “มหภาค” ในไม่ช้า