เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท/กลับเข้าห้องฟัง (2)

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

กลับเข้าห้องฟัง (2)

 

มากลับเข้าห้องฟังกันต่อนะครับ

กลับเข้ามาเพื่อดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เสียงเพลง เสียงดนตรี ที่เคยไพเราะเสนาะโสตในทุกครั้งที่ฟัง กลับฟังดูแล้วเหมือนไร้ซึ่งสุนทรียรสไม่เหมือนเดิม

ซึ่งเที่ยวก่อนได้พูดถึงเรื่องห้องฟังไปแล้ว ว่าองค์ประกอบต่างๆ ที่หลอมรวมกันเข้ามาอยู่ในห้อง ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับตกแต่งห้อง ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งลักษณะโครงสร้างโดยรวมของห้องเองด้วยนั้น ล้วนมีผลต่อคุณลักษณะของเสียงที่เกิดขึ้นในห้องนั้นๆ ทั้งสิ้น

ภาพรวมทั้งหมดที่ว่าก็คือสิ่งที่เรียกว่าสภาพ Acoustics ของห้อง ที่มีผลต่อเสียงอย่างเป็นสำคัญนั่นเอง

ซึ่งแรกจัดซิสเต็มใหม่ๆ ปรับแต่งลักษณะทางด้านอะคูสติกของห้องได้ลงตัว แต่ฟังไปนานๆ อาจจะมีบรรดาสัมพารกเข้ามาสุมรวมในห้องมากขึ้น หรือในทำนองกลับกันอาจจะโยกย้ายนานาอุปกรณ์ ข้าวของประดามี ออกไปทำให้ห้องโล่งมากขึ้น ทั้งสองกรณีที่ว่าล้วนส่งผลทำให้เสียงเปลี่ยนไปทำให้ฟังแล้วรู้สึกไม่เหมือนเดิมได้

จากเรื่องของห้องและแนวทางปรับปรุงแก้ไขที่ได้พูดคุยไปแล้ว เที่ยวนี้มาว่ากันต่ออีกหนึ่งเรื่องสำคัญในลำดับต้นๆ ที่มีผลต่อคุณภาพเสียงอย่างมากเช่นกัน

นั่นก็คือเรื่องของตำแหน่งวางลำโพงครับ

 

เพราะกับการฟังแบบเอาจริงเอาจังแล้ว กับเครื่องเสียงชุดเดิม ตำแหน่งนั่งฟังที่เดิม หากตำแหน่งวางลำโพงมีการขยับเขยื้อนไปจากที่เดิมที่เคยตั้งวาง เสียงที่ให้ออกมาได้ยินมันก็เปลี่ยนไปจากที่เคยคุ้นชินแล้วล่ะครับ

ลำโพงทุกคู่จะให้เสียงออกมาได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อวางอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมของห้อง

และตำแหน่งอันเหมาะสมที่ว่านั้น ก็หาได้มีสูตรสำเร็จตายตัวในการจัดวางแต่อย่างใดไม่

อย่างไรก็ตาม ลำโพงแต่ละคู่ต่างก็ถูกออกแบบมาตามแนวทาง และแนวคิดของผู้ออกแบบ ที่ต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งอาจละม้ายคล้ายหรือแตกต่างกันด้วยหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะในแง่ความชอบของเสียงดนตรีที่เป็นส่วนตัวของวิศวกรผู้ออกแบบแต่ละคน

แต่สิ่งหนึ่งที่คนออกแบบลำโพงมักจะคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเหมือนๆ กันก็คือ ความถูกต้องตามธรรมชาติอย่างสมจริงของเสียงดนตรีนั่นเอง

แม้ว่าตำแหน่งวางลำโพงในห้องจะไม่มีข้อกำหนดตายตัว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากในการค้นหาตำแหน่งที่ว่านั้นให้พบ ขอเพียงมีความอดทนและใช้เวลาในการลองให้มากพอ แล้วผลที่ได้มันจะคุ้มค่ามาก

สิ่งแรกที่ต้องทำหลังแกะลำโพงออกมาจากกล่องก็คือ หยิบคู่มือการใช้งานออกมาดูว่าผู้ผลิตมีคำแนะนำในรื่องนี้อย่างไร

เป็นต้นว่า ควรวางลำโพงทั้งสองห่างกันเท่าไร ลำโพงแต่ละตัวควรห่างจากผนังด้านหลังสักกี่มากน้อย มีคำแนะนำในเรื่องระยะห่างของลำโพงกับผนังห้องด้านข้างด้วยไหม รวมทั้งหากเป็นลำโพงแบบวางหิ้ง ที่ต้องประกอบเข้าหรือตั้งวางบนขาตั้ง มีคำแนะนำในเรื่องความสูงของชุดขาตั้งลำโพงด้วยไหม, อะไรทำนองนี้

จากนั้นก็ให้เริ่มวางลำโพงลงตามคำแนะนำที่ว่านั้น

 

หลังจากตั้งวางลำโพงตามคำแนะนำในคู่มือเป็นที่เรียบร้อย ก็ให้ลองฟังเสียงจากเพลงที่มีความคุ้นมากๆ ยิ่งมีเพลงที่ชอบหลายๆ แนว ยิ่งดี เพราะความหลากหลายของแนวดนตรีจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันและกัน ให้ฟังจนกระทั่งเกิดความคุ้นชินและจดจำลักษณะเสียงที่ตำแหน่งวางนั้นได้อย่างขึ้นใจแล้ว

จากนั้นก็ให้ลองขยับเลื่อนตำแหน่งวางไปจากเดิมเล็กน้อย อาจจะเลื่อนเข้าไปให้ใกล้ผนังด้านหลังมากขึ้น

หากแรกที่ฟังจนคุ้นชินแล้วรู้สึกว่าเบสมันน้อยไปหน่อย หรืออาจจะขยับลำโพงทั้งสองห่างออกจากกันอีกเล็กน้อย หากฟังตอนแรกแล้วรู้สึกว่าเสียงทุกอย่างมันค่อนข้างมากองอยู่ตรงกึ่งกลาง เหมือนไม่มีเวทีเสียง หรือฟังได้ว่าเวทีเสียงมันแคบ และทำนองกลับกันคือหากฟังแล้วรู้สึกเสียงมันโหว่กลาง แบบเวทีเสียงมันกว้างกระจาย นั้นเป็นเพราะลำโพงทั้งสองวางห่างกันมากไป ก็ให้ลองขยับลำโพงทั้งคู่เข้ามาหากัน

ทั้งหมดที่กล่าวในการขยับตำแหน่งที่ว่านั้น สามารถทำได้ทั้งเลื่อนถอยไปด้านหลัง ขยับเข้ามาด้านหน้าใกล้ตำแหน่งฟังมากขึ้น เลื่อนเข้าไปใกล้หรือห่างผนังห้องด้านข้าง คือทำได้ทั้งสี่ทิศทาง

แต่ที่สำคัญก็คือ เมื่อเลื่อนไปแล้วต้องบอกได้ว่าเสียงมันเปลี่ยนไปอย่างไร และที่ได้ยินนั้น ชอบหรือไม่ชอบเมื่อเทียบกับตำแหน่งเดิม

รวมทั้งควรตอบตัวเองได้ว่าเป็นความชอบที่ตรงไหน หรือไม่ชอบเสียงที่เปลี่ยนไปนั้นอย่างไร

 

ค่อยๆ เลื่อน ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ จินตนาการเปรียบเทียบโดยเอาความชอบเป็นหลัก ไม่ต้องรีบร้อนเลื่อนหรือเปลี่ยนตำแหน่งวางลำโพงจนกว่าจะสามารถบอกตัวเองได้ ว่าเสียง ณ ตำแหน่งนั้นๆ เป็นอย่างไร

อาจจะใช้เวลามากหน่อย แต่เชื่อเถอะครับว่ามันคุ้มค่าแน่ๆ เมื่อคุณค้นพบตำแหน่งวางที่ดีที่สุดของลำโพงคู่นั้นในห้องของคุณ

และเมื่อค้นพบคุณลักษณะเสียงที่ชอบ ณ ตำแหน่งวางสุดท้ายแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าขาดความชัดเจนของตำแหน่งเสียง หรือ Focus ขาดความกระชับ ให้ลองขยับตู้แบบเอียงหน้าลำโพงเข้าหากันอย่างที่เรียกว่า Toe-In ทีละน้อย ก็อาจช่วยให้ได้มิติเสียงที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีลำโพงไม่น้อยที่ผู้ผลิตบอกว่าไม่ต้องการการทำ Toe-In

ขณะที่มีลำโพงบางรุ่น บางยี่ห้อ เหมือนกันครับ ที่ผู้ผลิตได้ปาดหน้าลำโพงแบบให้เฉียงที่เป็นการเอียงแผงหน้าเข้าหากันในความหมายของ Toe-In มาให้เสร็จสรรพ คือหากมองจากด้านบนลงมาจะเห็นว่าตู้ลำโพงมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ไม่ใช่สี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนลำโพงส่วนใหญ่ทั่วๆ ไป

แต่บางครั้ง กับลำโพงบางคู่ การได้มาซึ่งตำแหน่งของชิ้นเครื่องดนตรีที่มีความชัดเจน กระชับ อาจต้องแลกกับเวทีเสียง หรือ Soundstage ที่แคบลง

เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้จำต้องนำความชอบมาใช้ในการประนีประนอม คือฟังดูแล้วบอกตัวเองให้ได้ว่าชอบแบบไหนมากกว่ากัน ก็ให้วางลำโพงเอาไว้ในลักษณะที่ชอบเป็นสำคัญ

 

สําหรับลำโพงใหม่แกะกล่องหลังจากวางตามคำแนะนำของคู่มือการใช้งานแล้ว ควรให้เวลามันทำงานปลดปล่อยตัวเองสักพัก แบบที่คนเล่นเครื่องเสียงเรียกว่า Burn-In นั่นแหละครับ เพราะลำโพงใหม่จำต้องใช้เวลาทำงานเบื้องต้นสักระยะ อาจจะสัก 50-100 ชั่วโมง หรือบางคู่อาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น เพื่อให้มันพร้อมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่มักจะระบุเรื่องนี้เอาไว้ให้ทราบในคู่มือการใช้งาน

และหลังจากพบว่าลำโพงใหม่คู่นั้นทำงานเข้าที่แล้ว จึงค่อยขยับเลื่อนหาตำแหน่งวางที่เหมาะสมดังที่ได้บอกไว้ข้างต้นต่อไป

เมื่อได้ตำแหน่งวางที่เหมาะสม ซึ่งให้เสียงดนตรีออกมาเป็นที่พอใจมากที่สุดแล้ว ก็ควรทำเครื่องหมายกำกับเอาไว้ ส่วนใหญ่มักจะใช้เทปกาวแปะตำแหน่งมุมทั้งสี่ของตู้ลำโพง หรือฐานรองขาตั้ง เอาไว้กับพื้น เมื่อจำต้องเคลื่อนลำโพงในบางคราว อาทิ ทำความสะอาดห้อง ก็สามารถนำกลับมาตั้งวาง ณ ตำแหน่งเดิมได้อย่างถูกต้อง

ขอเรียนย้ำอีกครั้ง ว่าตำแหน่งวางลำโพงที่ดี หรือที่เหมาะสมในห้องแต่ละห้องนั้น ไม่มีกฎหรือข้อบัญญัติใดเป็นสูตรสำเร็จตายตัว มีแต่ต้องลองวาง ขยับเลื่อน แล้วก็ฟัง และฟังเท่านั้น ฟังจนกว่าจะพบตำแหน่งที่ถูกใจหรือเป็นที่พอใจกับเสียงที่ได้ยินมากที่สุด

แล้วที่จุดนั้นแหละจึงเป็นตำแหน่งวางที่ถูกต้อง หรือเหมาะสมแล้วของลำโพงคู่นั้นกับห้องนั้น