ยานยนต์ : ทดสอบ ‘ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ก’ ขับสนุกเกินคาด-ช่วงล่างหนึบแน่น

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

ทดสอบ ‘ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ก’

ขับสนุกเกินคาด-ช่วงล่างหนึบแน่น

 

กวาดยอดขายได้ระเบิดระเบ้อพอสมควรกับ “ซิตี้ ซีรีส์” อีโคคาร์จากค่ายฮอนด้า

เพราะรุ่น 4 ประตูที่ออกมาก่อนหน้าเป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาสาวกเหลือเกิน เพราะรูปทรงสวยงาม แถมด้วยเครื่องยนต์ใหม่ 1.0 ลิตรเทอร์โบ ที่แรงระเบิดระเบ้อเกินตัวอย่างยิ่ง

จากนั้นไม่นานฮอนด้าก็ส่งคู่พี่น้องออกมาอีก 2 รุ่นคือ “ซิตี้ e:HEV” รถยนต์พลังงานทางเลือก และ “ซิตี้ แฮทช์แบ็ก” 5 ประตู

แม้ผมจะเคยทดลองขับซิตี้ 4 ประตู มาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อมีรุ่นแฮทช์แบ็กออกมา ก็อดไม่ได้ที่จะขอทดลองอีกครา เนื่องจากได้ยินได้ฟังว่าอารมณ์การขับขี่นั้นน่าสนใจกว่ารุ่น 4 ประตู

ได้รุ่น “RS” ตัวท็อปมาให้ลองขับขี่

ด้านหน้าแทบไม่ต่างจากซิตี้ 4 ประตูกระจังหน้าแบบ Gloss Black และสัญลักษณ์ RS มาพร้อมกันชนหน้าและกระจังหน้าสไตล์สปอร์ต

ไฟหน้าแบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED ไฟตัดหมอกแบบ LED ติดตั้งอยู่ด้านล่าง

กระจกมองข้างสีดำแบบสปอร์ตปรับและพับไฟฟ้าพร้อมไฟเลี้ยวในตัว

ด้านท้ายออกแบบมาได้ลงตัวดูโค้งมนอย่างมาก สปอยเลอร์หลังตกแต่งสีดำแบบสปอร์ต พร้อมสัญลักษณ์ RS ไฟท้ายแบบแอลอีดีเช่นกัน ส่องสว่างเป็นเส้นสวยงาม แต่ไฟท้ายอันนี้ไม่ได้เป็นไฟเบรกด้วย เพราะมีไฟเบรกต่างหากเป็นเส้นขีดเล็กๆ อยู่ด้านบน

แต่ไม่ต้องกังวลว่าคันตามหลังจะมองไม่เห็นเพราะบนสปอยเลอร์ มีไฟเบรกมาให้ด้วย

ติดดิฟฟิวเซอร์ หรือตัวรีดอากาศด้านหลัง ล้ออัลลอยดีไซน์สปอร์ตสีดำขนาด 16 นิ้ว

ภาพรวมหากเทียบเก๋ง 5 ประตูของค่ายอย่าง “ฮอนด้า แจ๊ซ” ซิตี้ แฮทช์แบ็ก จะกว้างและยาวกว่า ขณะที่ความสูงต่ำกว่าเล็กน้อย

ทำให้ดูได้อารมณ์สปอร์ตมากกว่าแจ๊ซ

 

ภายในแทบจะยกของซิตี้ 4 ประตูมาทั้งยวง พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นพร้อมระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ พร้อมมาตรวัดเรืองแสง

ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และระบบสั่งการด้วยเสียง SIRI และมีเทคโนโลยีเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่และรถยนต์ ฮอนด้า คอนเน็กต์ (Honda CONNECT)

ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ

คอนโซลหน้าแบบ Piano Black มือจับเปิดประตูด้านในตกแต่งโครเมียม

มีที่เสียบยูเอสบี 2 ช่อง และเพาเวอร์เอาต์เล็ต 1 ช่อง

เบาะนั่งมีแถบสีแดงด้านขวาง และเดินด้ายแดง

โดย “สีแดง” เป็นเอกลักษณ์ของรุ่นนี้ เพิ่มเพิ่มความสปอร์ต เห็นได้จากไฟที่เรือนไมล์ และปุ่มปรับอากาศมีวงไฟสีแดงเพิ่มเข้ามา

เบาะหลังถือเป็นไฮไลต์ เพราะปรับพับได้หลากหลายรูปแบบ

ประกอบด้วย Utility Mode : เบาะด้านหลังทั้ง 2 ด้านปรับพับเรียบ เพิ่มพื้นที่เก็บของด้านหลัง

Long Mode : เบาะด้านหน้าและด้านหลังปรับพับ เพิ่มพื้นที่เก็บของในแนวยาว

Tall Mode : เบาะด้านหลังพับขึ้น เพิ่มพื้นที่เก็บของในแนวสูง โดยใส่ของได้สูงถึง 1.2 เมตร

Refresh Mode : เบาะด้านหน้าพับเชื่อมต่อกับเบาะด้านหลัง

ที่ว่างด้านหลังกว้างและลึกพอประมาณ ใส่กระเป๋าเดินทางได้สบาย

 

กดปุ่มสตาร์ต เสียงเครื่องยนต์คำรามเข้ามาเบาๆ

ขุมพลังขนาด 1.0 ลิตร DOHC VTEC TURBO 3 สูบ 12 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000-4,500 รอบต่อนาที ระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง (CVT)

กดคันเร่งพุ่งพรวดออกไปทันที เร่งความเร็วไล่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ช่วงต้น-กลางมาเร็วทันใจดีเหลือเกิน

ระดับ 140-150 กิโลเมตร/ชั่วโมง มาในครู่เดียวเท่านั้น

แต่เสียงลมอื้ออึงพอสมควร แต่ถ้าต่ำกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ค่อยเท่าไหร่นัก

จะมีเสียงล้อบดกับถนนดังเข้ามาในห้องโดยสารบ้าง

เบาะนั่งโอบกระชับกับแผ่นหลังและลำตัวได้ดี

ปุ่มควบคุมต่างๆ อยู่ใกล้มือ ด้านหน้ามีช่องวางแก้วไว้ 2 ช่อง

ส่วนเกียร์ทรงสวยจับกระชับมือ เช่นเดียวกับพวงมาลัยจับแล้วดูหนักแน่นกำลังเหมาะ

ข้างๆ คันเกียร์ด้านซ้ายมีปุ่มปิดระบบการตัดเครื่องยนต์เวลารถหยุดนิ่ง แน่นอนว่าสำหรับผมแล้วกดปิดทันทีด้วยความเคยชิน

ด้านปุ่มด้านขวาเป็นปุ่ม “ECON” เพื่อความประหยัด แน่นอนอีกเช่นกันว่าตลอดทริปผมแทบไม่ได้ใช้เลย เพราะจริงๆ แล้วรถเครื่องยนต์ขนาด 1.0 ลิตร หากไม่ตะบี้ตะบันเหยียบประหยัดระดับ 18-20 กิโลเมตร/ลิตร สบายๆ อยู่แล้ว

แถมรองรับน้ำมัน E20 ประหยัดเพิ่มขึ้นอีกหน่อย

 

สิ่งที่แตกต่างอย่างหนึ่งกับซิตี้ 4 ประตู คือความนุ่มนวลของช่วงล่างที่ซิตี้ แฮทช์แบ็ก จะสปอร์ตมากกว่า ขณะที่รุ่น 4 ประตูนุ่มนวลกว่า

แต่มีข้อดีเวลาสาดเข้าโค้ง แม้จะแรงไปหน่อย แต่ซิตี้ แฮทช์แบ็ก รับมือได้สบายและมั่นใจกว่ารุ่น 4 ประตู

บวกกับมีตัวช่วยการขับขี่อย่างระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (Vehicle Stability Assist – VSA) ทำให้เข้าโค้งได้สนุกขึ้น

ส่วนตัวช่วยอื่นๆ อาทิ ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Start Assist – HSA) และกล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมองได้ 3 ระดับ (Multi-angle Rearview Camera)

พวงมาลัยน้ำหนักกำลังดี และคมพอตัว

ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (Vehicle Stability Assist – VSA) ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Start Assist – HSA) และกล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมองได้ 3 ระดับ (Multi-angle Rearview Camera)

ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) พร้อมระบบกระจายแรงเบรก (EBD) และพุ่งลม 6 ตำแหน่ง

ส่วนเทคโนโลยี Honda CONNECT เชื่อมต่อสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่และรถยนต์ผ่านแอพพลิเคชั่น ตั้งแต่ข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ แจ้งเตือนสถานะ เมื่อเกิดความผิดปกติของรถยนต์ สั่งสตาร์ต พร้อมเปิดแอร์ เปิดไฟหน้าได้จากสมาร์ตโฟน หากรถยนต์ถูกโจรกรรม ยังสามารถใช้แอพพลิเคชั่น Find My Car ตรวจสอบพิกัดบนแผนที่ล่าสุด ฯลฯ

 

รุ่นนี้มีระบบเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัยด้วย ตอบสนองได้รวดเร็ว โดยเฉพาะจังหวะเร่งแซงที่ต้องการกำลังมาแบบฉับพลัน ลงเกียร์ลงแล้วกระแทกคันเร่งพุ่งปรู๊ดดังใจ

หรือจะกดลง 1-2 เกียร์เพื่อใช้เอ็นจิ้นเบรก ก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าเล่นบ่อยเพราะเกียร์อายุจะสั้นลง

โดยภาพรวมถือว่าเป็นรถที่ขับสนุกกว่ารุ่น 4 ประตู หรือรุ่นพี่อย่างแจ๊ซ เรียกว่าเหมาะกับวัยรุ่น ส่วนผู้ใหญ่หากจะขับก็ไม่ได้สั่นสะเทือนจนเว่อร์เกินไป

ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ก มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย

S+ ราคา 599,000 บาท

SV ราคา 675,000 บาท

และ RS ที่ลองขับในครั้งนี้ ราคา 749,000 บาท