เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /เปิดหน้ากระดาษใหม่ ในโรงงานกระดาษเก่า

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เปิดหน้ากระดาษใหม่

ในโรงงานกระดาษเก่า

เสาร์ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา มีเสวนาลำลองเรื่องความคืบหน้าของโครงการโรงงานกระดาษเก่าเมืองกาญจน์ มาจัดทำเป็นภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจนบุรี

สถานที่จัดเสวนาคือเวทีถนนคนเดินด้านกำแพงประตูเมือง ถนนปากแพรก ที่เดิม

คือบนเวทีถนนปากแพรกที่กลุ่มคนภูมิเมืองกาญจน์ร่วมเสนอความเห็นเรียกร้องขอคืนโรงงานกระดาษที่กำลังจะหมดสัญญาอายุสัมปทานในปี พ.ศ.2560

ถึงวันนี้ 2564 ใช้เวลาราวสามปีเศษ

จากวันนั้นถึงวันนี้ บนเวทีเดียวกันนี้ มีความคืบหน้าที่พอจะนำมาบอกเล่ากันได้สี่ประการคือ

 

1.สถานภาพโรงงาน เหลือภาระต้องซื้อคืนตัวอาคารและเครื่องจักรบางส่วน ซึ่งทางราชการโดยเฉพาะ อบจ.ตั้งงบฯ ไว้แล้ว กับรอเงินบริจาคเพื่อการมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันของภาคประชาชนโดยเฉพาะคนเมืองกาญจน์เป็นเจ้าของตลอดโครงการด้วย

  1. กำลังจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อบริหารจัดการโครงการเกี่ยวกับโรงงานกระดาษ ซึ่งคุณหมอประเวศ วะสี ปูชนียบุคคลของชาวกาญจน์เห็นชอบให้ชื่อว่า “มูลนิธิภูมิบ้านภูมิเมือง กาญจนบุรี” โดยมีคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ คนท่าม่วง เมืองกาญจน์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงาน รับเป็นประธานมูลนิธิ โดยมีคุณหมอประเวศ วะสี คนเมืองกาญจน์รับเป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นกรรมการมูลนิธิ
  2. แผนแม่บทของโครงการ กำหนดโดยมูลนิธิร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในกรอบบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้โรงงานกระดาษแห่งนี้เป็น “ภูมิบ้านภูมิเมือง” ในลักษณะที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และสถานที่จัดแสดงเรื่องราวของสี่ภูมิเมืองกาญจน์ คือ ภูมิศาสตร์ ภูมิทัศน์ ภูมิประวัติ ภูมิธรรม
  3. แผนพัฒนาให้พื้นที่ตรงนี้เป็น “ภูมิสากล” ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพโลก อันกำหนดโดยความร่วมมือของทั้งภูมิภาคและนานาชาติ ในลักษณะ “สานพลังสามภาคส่วน” คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม

ทั้งสี่ประการนี้กำลังดำเนินไปพร้อมกัน

 

ยกตัวอย่างเช่น ประการที่สี่ แผนพัฒนาเพื่อเป็น “ภูมิสากล” นั้น คุณวิกรม กรมดิษฐ์ คนท่าเรือ เมืองกาญจน์ เจ้าของอาณาจักรอมตะนคร ได้ระดมมืออาชีพนักธุรกิจด้านนี้โดยตรงทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะทายาทของบริษัทผู้สร้างโรงงานกระดาษแห่งนี้เมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาคือบริษัทบีกริม ซึ่งปัจจุบันคือคุณฮาโรลด์ ลิงค์ นักธุรกิจคนสำคัญซึ่งทำธุรกิจอยู่ในไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงวันนี้ ยินดีจะมาช่วยพลิกฟื้นโรงงานที่เสมือนสมบัติของปู่ย่าตาทวดตนให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอวดสายตาชาวโลก

รวมทั้งนักธุรกิจใหญ่ตระกูลเจียรวนนท์ ก็ต้องการมาร่วมเสกสถานที่นี้ให้เป็นสถานแสดงนิทรรศการศิลปะแห่งโลกนั่นเลย

ล้วนอยู่ในวิสัยที่เป็นได้อย่างยิ่งทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้เท่ากับเป็นการ “เปิดหน้ากระดาษใหม่ในโรงงานกระดาษเก่า” นั่นเอง ล้วนแต่ละหน้ามีความสำคัญทั้งสิ้น เช่น

 

หน้าแรก มีเรื่องภูมิศาสตร์โดยจำลองให้เห็นลักษณะความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินที่มีทั้งแนวชายแดน ป่าใหญ่ เขาใหญ่ น้ำใหญ่ อาจจำลองป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มรดกโลกมาไว้ที่นี่ด้วยได้เลย

กระดาษแผ่นสอง มีเรื่องภูมิทัศน์ธรรมชาติที่เมืองกาญจน์มีอยู่อย่างสร้อยเพลงเขมรไทรโยคที่ว่า “น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น..” นี่แหละอันซีนไทยแลนด์ขนานแท้ดั้งเดิม

หน้ากระดาษแผ่นสาม เล่าภูมิประวัติเมืองกาญจน์ตั้งแต่ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์บ้านเก่าสี่พันปี จนถึงสะพานข้ามแควสิ้นสงครามโลก มายังโรงงานกระดาษอันเป็นสัญลักษณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรสู่อุตสาหกรรมของประเทศไทย อันมีโรงงานกระดาษนี่แหละเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมันอย่างมีนัยยะสำคัญ

กระดาษแผ่นสี่ นอกจากบอกเล่าภูมิธรรมที่เมืองกาญจน์มีอยู่ทั้งแหล่งนานาวัฒนธรรมและอารยธรรม รวมถึงศาสนธรรมสำคัญแล้ว ยังจะเป็นสถานจัดแสดงงานศิลปะ ซึ่งนอกจากเล่าเรื่องทั้งสี่ภูมิผ่านงานศิลปกรรมแล้ว จะยังมีศิลปะร่วมสมัยจากทั้งไทยและนานาชาติ

เป็นศูนย์ศิลป์สากลสม “ภูมิสากล” ดังกล่าวอีกด้วย

 

พันธกิจเฉพาะหน้าขณะนี้คือเรื่องโรงงานกระดาษ ที่จะกลายเป็น “ภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจน์” อยู่นี้เริ่มต้นจากชาวเมืองกาญจน์ที่เริ่มจากร่วมขบวนทวงคืน จนถึงเข้าชื่อกันถึงเจ็ดหมื่นรายชื่อ และเป็นหนึ่งในพลังสามภาคส่วนคือ ภาคประชาสังคม ร่วมกับอีกสองภาคคือราชการและเอกชน

มาถึงวันนี้ได้ ภารกิจต่อไปคือ นอกจากร่วมรับรู้แล้วสมควรร่วมเป็นเจ้าของโรงงานและโครงการทั้งหมดนี้ด้วยการบริจาคเป็นทุนร่วมกันผ่านมูลนิธิภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจนบุรี ตามกำลังที่จะทำให้เราชาวเมืองกาญจน์ได้เป็นเจ้าของ “ภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจนบุรี”

ร่วมภูมิใจไปด้วยกัน

 

ภูมิเมืองกาญจน์

 

เปิดหน้ากระดาษใหม่

ในโรงงานกระดาษเก่า

บันทึก จารึกเล่า

สี่ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์

 

ภูมิหนึ่ง ภูมิศาสตร์

ทิพยธาตุแห่งภูมิสถาน

ขุนน้ำ พนมพนานต์

แลทุ่งใหญ่นเรศวร

 

ภูมิสอง ภูมิทัศน์

ธรรมชาติประมาณประมวล

ไทรโยค ยังเย้ายวน

“…น้องเอย…เจ้า ไม่เคยเห็น”

 

ภูมิสาม ภูมิประวัติ

ประวัติศาสตร์สำแดงเด่น

บ้านเก่า กระทั่งเป็น

แดนเมืองด่านผ่านศึกสมัย

 

ภูมิสี่ คือ ภูมิธรรม

อารยวิถีธำรงไทย

สี่ภูมิ ความภูมิใจ

จารึกเรื่อง ภูมิเมืองกาญจน์ ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์