วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน / วิกฤติศตวรรษที่21

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (16)

 

การปฏิรูปและการปรับโฉมของทุนนิยม

 

ระบบทุนนิยมที่ต้องการหลุดพ้นจากวิกฤติรุมเร้าหลายด้านในทศวรรษ 1970 ได้สร้างทฤษฎีเศรษฐกิจขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่าเสรีนิยมใหม่ เป็นการสร้างสรรค์ใหญ่ครั้งหนึ่ง ซึ่งมีหลักปฏิบัติสำคัญได้แก่

ก) การเพิ่มเสรีของเงินทุน ในการลงทุนและการค้า เกิดกระบวนโลกาภิวัตน์ ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ลดอำนาจของแรงงานลง

ข) การเพิ่มอำนาจของเงินทุน ด้วยการแปรทุกอย่างให้กลายเป็นการเงิน

ทำให้การเงินขึ้นมาครอบงำเศรษฐกิจที่เป็นจริง เกิดเศรษฐกิจเก็งกำไร ทำให้สินทรัพย์ทางการเงินแยกตัวออกจากเศรษฐกิจที่เป็นจริง เช่น ขณะที่การค้าโลกหดตัว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐพุ่งสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการ

ทฤษฎีนี้ใช้ได้ผลในการแก้ไขวิกฤติ แต่มีผลด้านลบหลายอย่าง

เมื่อถึงทศวรรษ 1990 ลัทธิเสรีนิยมใหม่ถูกโจมตีอย่างหนัก ในด้านสิ่งแวดล้อม การขยายช่องว่างทั้งภายในและระหว่างประเทศ

ดังนั้น ระบบทุนนิยมจำต้องเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งว่า สามารถที่จะเข้าร่วมขบวนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นได้

โดยมีการเสนอแนวคิด 2 ชุดด้วยกัน

ชุดแรกได้แก่ ทุนนิยมธรรมชาติ

ชุดที่สองได้แก่ เศรษฐกิจโดนัท

โดยจะกล่าวเป็นลำดับไป

 

1)ทุนนิยมธรรมชาติ นำเสนออย่างเป็นระบบในปี 1999 ในหนังสือชื่อ “ทุนนิยมธรรมชาติ : สร้างการปฏิวัติอุตสาหกรรมแบบใหม่” โดยคณะที่มีส่วนประสมลงตัว ได้แก่ พอล ฮอว์เกน (เกิด 1946) เป็นนักลงทุน อมอรี โลวินส์ (เกิด 1947) เป็นนักฟิสิกส์ และฮันเตอร์ โลวินส์ (เกิด 1950) นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม

ทฤษฎีนี้ชี้ว่า เศรษฐกิจโลกขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและบริการของระบบนิเวศในธรรมชาติ กับทั้งระบบสังคมและวัฒนธรรมหรือทุนมนุษย์ ไม่ได้มีเพียงแต่ทุนทางการเงิน หรือทุนโรงงานเครื่องจักรเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ถึงเวลาที่จะต้องสร้างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่โดยการคำนึงถึงทุนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะทุนธรรมชาติ ซึ่งจะก่อผลดีแก่การอุตสาหกรรมในทุกประเทศ ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กำไรมากขึ้น พร้อมกับรักษาสิ่งแวดล้อมและการจ้างงาน ทฤษฎีนี้ได้สร้างกระแสความตื่นตัว และความหวังใหม่ในระบบทุนนิยมอย่างกว้างขวาง แม้ว่าจะดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริงก็ตาม

ทฤษฎีทุนนิยมธรรมชาติ เกิดขึ้นในท่ามกลางการสร้างแนวคิดใหม่จำนวนมากในระบบทุนนิยม เช่น

ก) โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (1883-1950) นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐ บิดาแห่งนวัตกรรมและผู้ประกอบการ เขาเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า “ทุนธรรมชาติ” ขึ้น

ข) คาร์ล ลาสัน กับหนังสือที่โด่งดังของเธอชื่อ “ฤดูไบไม้ผลิที่เงียบงัน” (1966)

ค) งานวิจัยของสโมสรกรุงโรม ชื่อ “ความจำกัดของความเติบโต” (เผยแพร่ปี 1971) และ

ง) การทดลอง “ไบโอสเฟียร์ 2” ที่โด่งดังปี 1991-1993 ซึ่งต้องการพิสูจน์การอยู่อย่างยั่งยืนในโลกนี้ อวกาศ และโลกอื่นเป็นไปได้ (การทดลองนี้ล้มเหลว โลกจำลองใบที่สองตายลง แต่ถือว่ากล้ามาก)

ขั้นตอนหรือโรดแม็ปของทุนนิยมธรรมชาติมีอยู่ 4 ขั้น ได้แก่

ก) เพิ่มผลิตภาพของทรัพยากรธรรมชาติ ของเสียเป็นศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน น้ำ วัสดุ และอื่นๆ โดยการออกแบบอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่แก้ไขทีละส่วน การใช้เทคโนโลยีใหม่

ข) ใช้รูปแบบการผลิตที่เลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งมีของเสียน้อย กระทั่งไม่มีเลย เนื่องจากมีระบบในการขจัดของเสียในตัว

ค) เปลี่ยนตัวแบบทางเศรษฐกิจใหม่ จากการเน้นการขายสินค้า เป็นการเน้นการขายบริการ ซึ่งจะสนองความต้องการและความพึงพอใจอย่างมีคุณภาพ

ง) การคืนทุนให้แก่ธรรมชาติ (ดูบทความของ Amory B. Lovins และคณะ ชื่อ A Road Map for Natural Capitalism ใน hbr.org กรกฎาคม-สิงหาคม 2007)

ทั้งสามคนมีลักษณะร่วมกันคือ

ก) เป็นผู้เชื่อมั่นในธุรกิจหรือเศรษฐกิจสีเขียว ว่าจะเป็นอนาคตใหม่ของทุนนิยม เชื่อว่าพลเมือง ชุมชน และบริษัททั้งหลาย ที่ทำงานร่วมกันภายใต้ระบบตลาด จะเป็นพลังที่มีพลวัตที่สุดในการแก้ปัญหาที่ดำรงอยู่ในโลกนี้

ข) ทั้งสามเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเขียน การพูด การเคลื่อนไหว เป็นที่ปรึกษา และการบริหาร อมอรี โลวินส์ และฮันเตอร์ โลวินส์ ได้ร่วมกันจัดตั้งสถาบันร็อกกี้ เมาเทนในปี 1985 ทำการวิจัยด้านพลังงานทางเลือก และสิ่งแวดล้อม หลังจากที่แยกทางและหย่ากันแล้ว ฮันเตอร์ โลวินส์ ได้ตั้งสถาบัน “ทางออกทุนนิยมธรรมชาติ” ในปี 2002 สำหรับฮอว์เกนได้ตั้งบริษัทหลายแห่ง รวมทั้ง “สถาบันทุนธรรมชาติ” (ปี 1998) ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรมทางสังคม

ค) ทั้งสามประสบความสำเร็จได้รับการเชิดชูเกียรติอย่างสูงจากสื่อกระแสหลัก กลุ่มทุนวอลล์สตรีต ได้รับรางวัลเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลและบรรษัทใหญ่ระดับโลกจำนวนมาก

ทฤษฎีทุนนิยมธรรมชาติ นับว่าประสบความสำเร็จสูง กระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว เทคโนโลยีสีเขียว นโยบายพลังงานที่อ่อนละมุน ใช้พลังงานหมุนเวียนจากพลังลมและแสงแดด แทนที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่แข็งกระด้าง

แต่วิกฤติ 2008 ในสหรัฐและตะวันตกได้ชี้ว่า มันยังมีพลังน้อยเกินไป จึงมีการเสนอตัวแบบเศรษฐกิจใหม่ เรียกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy เสนอเป็นระบบในปี 2013) ที่เป็นแกนได้แก่มูลนิธิเอลเลน แม็กอาร์เธอร์ (ก่อตั้งปี 2009) และบริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจแม็กเคซี เน้นการหมุนเวียนขยะของเสียมาใช้ใหม่

 

2)เศรษฐกิจโดนัท นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอแนวคิดนี้ได้แก่ Kate Raworth เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ปี 2012 เขียนหนังสือขยายความในปี 2017 แต่เจริญรุ่งเรืองเมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด ที่ต้องการตั้งต้นใหม่หลังการซบเซาใหญ่ เศรษฐกิจโดนัทประสานรากฐานทางสังคมกับเพดานทางนิเวศเข้าด้วยกัน เมื่อประกอบเป็นภาพคล้ายรูปโดนัท จึงเรียกว่าเศรษฐกิจโดนัท มีสามส่วนด้วยกันคือ

ก) รากฐานทางสังคมเป็นความต้องการพื้นฐานที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างดี มีอยู่ 12 ด้าน เหมือนรูตรงกลางของโดนัท

ข) ส่วนเพดานทางนิเวศ อยู่นอกตัวโดนัทเป็นที่ว่างของบริบท มีอยู่ 9 ด้าน ที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ค) ส่วนที่เป็นเนื้อโดนัท เป็นตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบโดนัท เป็นจุดหอมหวาน (sweet spot) หรือพื้นที่ที่มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ผู้คนอยู่ดีกินดี เศรษฐกิจงอกงาม (Thrive) คล้ายกับการงอกงามของต้นไม้ ไม่ใช่การเติบโต (Growth) อย่างไม่จำกัด และสิ่งแวดล้อมดีไม่เกินเพดานของมัน เป็นเศรษฐกิจที่ฟื้นฟูตัวเองและกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม

การนำไปใช้ ที่สำคัญอยู่ในเมือง นักเศรษฐศาสตร์โดนัทจะเป็นนักออกแบบเมืองที่ดี ที่เป็นข่าวใหญ่ ได้แก่ เมืองอัมสเตอร์ดัมที่ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของระบบทุนนิยม มีการค้าหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 1602 ผู้บริหารนคร มุ่งมั่นที่จะฝ่าวิกฤติโควิด-19 จะไม่ให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยการประยุกต์ใช้เศรษฐศาสตร์โดนัท ตัวอย่างการปฏิบัติ เช่น การคิดราคาตามความเป็นจริง ราคาของแตงนอกจากมีราคาเดิมแล้ว ยังเพิ่มราคา 6 เซนต์ต่อกิโลกรัม ให้เป็นรอยเท้า คาร์บอน 5 เซนต์สำหรับการเพาะปลูกในไร่ และ 4 เซนต์สำหรับคนงาน

เศรษฐศาสตร์โดนัทมีความซับซ้อนนอกเหนือจากเรื่องการกำหนดราคาอีกมาก กล่าวคือ ยังมีแผนปฏิบัติด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน และนโยบายใหม่ของรัฐบาลในการจัดซื้อจัดจ้าง (ดูบทความของ Ciara Nugent ชื่อ Amsterdam is embracing a radical new economic theory to help save the planet. Could it also replace capitalism? ใน times.com 22/01/2021) แม้จะมีรายละเอียดมากเพียงใด บางทีเราอาจไม่ต้องการวิกฤติใหญ่นักเพื่อพิสูจน์ว่าเศรษฐกิจโดนัทก็มีพลังไม่เพียงพอเช่นกัน

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงวิกฤตินิเวศกับระบบสังคมซับซ้อน