คุกหยุดการต่อสู้ได้หรือ / ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

คุกหยุดการต่อสู้ได้หรือ

 

บรรยากาศการต่อสู้ในสังคมไทย ภายใต้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ได้มาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกช่วงหนึ่ง เมื่อแกนนำต้องทยอยเข้าสู่ห้องขังในเรือนจำกันถ้วนหน้า โดยไม่สามารถประกันตัวได้ ทั้งที่เป็นขั้นตอนของการสั่งฟ้อง ยังไม่ได้เริ่มพิจารณาคดี ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสิน

วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่าเป็นเพราะอะไร เพื่ออะไร

มองในด้านฝ่ายรัฐ คงคาดหวังว่า ถ้าต้องนอนคุกกันเยอะๆ เช่นนี้ คงจะเริ่มเข็ดหลาบ หวาดกลัวกันทั่ว ม็อบคงจะแผ่วแน่ๆ ต่อจากนี้

แต่มองในทางกลับกัน ก็เชื่อกันว่า ภายใต้การเคลื่อนไหวแบบทุกคนเป็นแกนนำ สื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดีย การชุมนุมต่อสู้ก็ยังเคลื่อนไหวต่อไปได้ไม่ยากนัก

สถานการณ์ที่เป็นจริงถัดจากนี้ คงจะเป็นคำตอบได้ว่า ม็อบแผ่วลงไป หรือยิ่งร้อนแรงด้วยความเดือดแค้น

เพราะบรรยากาศที่ปรากฏ บ่งบอกให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐไม่มีการถอย ไม่มีการประนีประนอม หวังใช้อำนาจ ใช้ความหวาดกลัว มากดให้คนรุ่นใหม่ยอมสยบ

แต่ในขณะเดียวกัน ในทุกครั้งที่มีแกนนำต้องเดินเข้าสู่เรือนจำ สูญสิ้นอิสรภาพ สิ่งที่ตามมาคือเสียงร่ำไห้ของผู้เป็นแม่ ของเพื่อนมิตร

เป็นความโศกสลด ที่จะทำให้สิ้นหวัง ยอมยุติการเคลื่อนไหวต่อสู้

หรือเป็นน้ำตาที่จะเร่งเร้าการต่อสู้ เป็นแรงผลักดันให้ยิ่งเดินหน้าอย่างดุเดือดมากขึ้น!

ดังที่มักกล่าวกันว่า คุกขังได้เพียงกายแต่ไม่สามารถขังหัวใจและอุดมการณ์ได้

ซึ่งอันที่จริง หากย้อนดูประวัติศาสตร์นักเคลื่อนไหวทางการเมืองนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตยในบ้านเรานั้น

การถูกจับกุมคุมขัง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว เกิดขึ้นมาตลอด แต่สุดท้ายก็เข้าทำนอง ขังได้ตัวตัว ไม่อาจหยุดยั้งความคิดการต่อสู้ได้

ในท่ามกลางบรรยากาศคนผู้ต่อสู้ต้องเข้าคุกกันมากมายในวันนี้ จึงยิ่งมีการกล่าวขวัญถึง ผู้เป็นแบบอย่างในอดีต เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ และเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เป็นฮีโร่ของปัญญาชนในทุกยุคทุกสมัย ถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์ ในช่วงปี 2501 และแต่งเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ที่ยังคงร้องกันกึกก้องในทุกวันนี้

โดยเป็นเพลงที่เขียนขึ้นในเรือนจำลาดยาวเมื่อ 60 ปีที่แล้ว สะท้อนภาพสายตาที่มองผ่านหน้าต่างกรงขัง แล้วยังเห็นแสงดาวสองสว่างในค่ำคืนอันมืดมิด

กลายเป็นเพลงที่สร้างพลังใจปลุกปลอบผู้คนในท่ามกลางการต่อสู้อันยากลำบากมาจนถึงปัจจุบัน

 

หลังพ้นออกจากเรือนจำ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เดินทางเข้าป่าในช่วงปี 2508 ร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์บนภูพาน ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐสังหารในปี 2509 แต่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า คุกไม่สามารถขังอุดมการณ์การต่อสู้ได้

เรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ จึงเป็นเสมือนแสงดาวแห่งศรัทธา สำหรับนักต่อสู้ที่ต้องสูญสิ้นอิสรภาพ เพื่อให้มีพลังต่อไป พร้อมจะออกมาต่อสู้อย่างแหลมคมยิ่งกว่าเดิม

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าห้องขังไม่สามารถหยุดยั้งความคิดอุดมการณ์ได้ จึงไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ

จึงเชื่อกันว่า ที่ถูกกุมขังในเวลานี้ มีแต่จะเพิ่มความแข็งแกร่งในจิตใจให้คนเหล่านี้มากขึ้น

ส่วนคนที่ยังมีอิสรภาพ ก็จะยิ่งขับเคลื่อนขบวน เพื่อให้การต่อสู้รุดหน้าต่อไป และทวงถามความยุติธรรม ให้มีการปลดปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังออกมาโดยเร็วที่สุด

สิ่งที่น่าคิดมากกว่าก็คือ ยิ่งฝ่ายรัฐเพิ่มมาตรการเพื่อจัดการกับฝ่ายม็อบคนรุ่นใหม่ ไม่มีทีท่าจะพูดคุยเจรจาหาทางออก ไม่ใช้การเมืองแก้การเมือง แต่ใช้กฎหมาย ใช้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าปะทะรุนแรงมากขึ้น

จะกลายเป็นการยกระดับความขัดแย้งให้พัฒนาไปสู่การแตกหักในที่สุดหรือไม่!?

ในอดีตยุคปี 2500 เป็นช่วงที่รัฐกวาดล้างคนคิดต่างทางการเมืองด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมาก

รวมทั้งบางส่วนโดนมาตรการอุ้มฆ่า หรือการลอบสังหาร

แต่สุดท้ายไฟการต่อสู้ก็ไม่เคยมอดลงไป

ด้านหนึ่งการต่อสู้ด้วยอาวุธในป่าของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ยิ่งขยายตัวมากขึ้น เมื่อคนที่ออกจากคุกเดินทางเข้าป่า หรือเมื่อกวาดล้างเข่นฆ่าเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ก็ทำให้ปัญญาชนแห่กันเข้าป่าอีกหลายพันคน

อีกด้านการลุกขึ้นมาต่อสู้ชุมนุมประท้วงใหญ่ เช่น การประท้วง 14 ตุลาคม 2516 ไปจนถึงการประท้วงใหญ่เมื่อพฤษภาคม 2535 ก็ยังปรากฏ ส่งผลให้รัฐบาลทหารพ่ายแด้ไปทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว

ตราบใดที่รัฐไทย ยังคงมีอำนาจนอกระบบ มีอำนาจกองทัพ แทรกแซงครอบงำ ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่เสรีจริง การเมืองยังไม่ดีจริง เศรษฐกิจปากท้องประชาชนก็ไม่ดีไปด้วย

ไม่ว่าจะปราบปรามนองเลือดกี่ครั้ง ไม่ว่าจะจับกุมคุมขังกันไปเท่าไหร่

ความจริงก็ปรากฏชัดว่า การต่อสู้ของประชาชน ของปัญญาชน นักเรียน นักศึกษา ไม่เคยลดน้อยลงไป!

 

ในสภาพที่แกนนำม็อบคนรุ่นใหม่ต้องเดินเข้าสู่ห้องขังมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ถึงขั้นที่เริ่มพูดจากันถึงการตั้งเรือนจำเฉพาะคดีการเมืองขึ้นมาต่างหาก เหมือนในอดีตที่เคยมีเรือนจำสันติบาล สำหรับคุมขังนักโทษความคิดอุดมการณ์โดยเฉพาะ

มองในด้านดีคือ เป็นการแยกผู้ต้องคดีทางการเมือง ซึ่งแตกต่างไปจากผู้ต้องคดีอาชญากรรมรุนแรงทั่วไป เพื่อให้การปฏิบัติต่อผู้คิดต่างจากรัฐ ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมขึ้น มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมขึ้น

แต่อีกด้าน แปลว่า ประเทศไทยกลับมาสู่ยุคอำนาจรัฐเผด็จการเหมือนในอดีต ที่มีการกวาดจับคนคิดต่างอย่างมากมาย จนวันนี้ต้องมาเตรียมการเพิ่มคุกการเมืองขึ้นมาต่างหากแล้ว

ยิ่งเป็นการป่าวประจานให้เห็นบรรยากาศเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย ว่าตกต่ำถดถอยในยุคนี้เช่นไร

จะว่าไปแล้ว รัฐควรยอมรับว่าผู้ต้องคดีทางความคิดทางการเมืองนั้น ควรได้รับการปฏิบัติที่ต่างจากคดีอาชญากรรมร้ายแรง ปล้นฆ่า ค้ายาเสพติด ซึ่งจะหมายถึงทุกขั้นตอนการปฏิบัติ ตั้งแต่ขั้นตอนคิดจะดำเนินคดี ขั้นตอนการจับกุม มีความต่างจากจับโจรผู้ร้ายทั่วไป

ทุกวันนี้ เราได้เห็นแกนนำม็อบ ต้องร้องตะโกนในนาทีที่ถูกล้อมจับว่า ผมผิดขนาดไหน ผมฆ่าคนตาย ผมค้ายาหรือเปล่า ผมแต่ไล่ประยุทธ์เท่านั้นนะ ทำไมตำรวจต้องมาล้อมจับราวกับเป็นโจรเช่นนี้

ซึ่งเป็นคำถามที่สอดรับกับภาพในการปฏิบัติขณะเข้าจับกุม อันทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลไทยในเวลานี้ ติดลบในความเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก

ดังปรากฏในรายงานสถานการณ์เสรีภาพโลกประจำปี 2021 ซึ่งฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า ประเทศไทยถูกลดสถานะจากประเทศที่ “มีเสรีภาพบางส่วน” เป็น “ไม่มีเสรีภาพ” ได้คะแนน 30 จาก 100 คะแนนเต็ม ลดลงจากคะแนนปี 2020 ไป 2 คะแนน โดยเชื่อมโยงกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนเพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร

รายงานชิ้นนี้ ก็น่าจะสอดคล้องกับสายตาคนทั่วโลกที่มองผ่านข่าวสาร ที่เผยแพร่ไปทั่ว

เพราะตลอด 5 เดือนของปลายปีที่แล้ว เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวของม็อบคนรุ่นใหม่ และการสลายม็อบ โดยไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยเจรจา จนมาต้นปีนี้การชุมนุมก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง ตามด้วยบรรยากาศการจับกุมคุมขังแกนนำ

เหล่านี้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลย หากจะมองว่า แนวโน้มของสถานการณ์การต่อสู้ คงไม่แผ่วลงไม่หยุดลง เพราะมาตรการเอาคนเข้าคุกอย่างแน่นอน!