เหตุผลของความล่าช้า วัคซีนโควิด-19 ในเอเชีย-บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ -รอยเตอร์ส

บทความต่างประเทศ

 

เหตุผลของความล่าช้า

วัคซีนโควิด-19 ในเอเชีย

 

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเดินหน้าการแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ประชาชนของตัวเอง ณ ตอนนี้ มีผู้ได้รับวัคซีนหลากหลายยี่ห้อกันไปแล้วเกือบ 200 ล้านโดส

แต่เป็นที่สังเกตว่า การแจกจ่ายวัคซีนส่วนใหญ่ที่มีความคืบหน้าไปอย่างมาก จะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และยุโรป

บีบีซีได้ตั้งข้อสังเกตดังกล่าวเอาไว้ และว่า ในภูมิภาคเอเชีย การแจกจ่ายวัคซีนที่ดูจะมีความคืบหน้าอย่างจริงจัง ก็น่าจะเป็นประเทศอินเดีย ที่มีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วราว 14 ล้านโดส นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย การแจกจ่ายวัคซีนยังเพิ่งเริ่มต้น หรือยังอยู่ในระยะแรกๆ เท่านั้น ซึ่งแต่ละประเทศก็มีเหตุผลในความล่าช้าที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่คำเตือนต่างๆ

ไปจนถึงความกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน

 

อย่างในกรณีของประเทศฟิลิปปินส์ บีบีซีมองว่า ยังมีความหวาดกลัวเกี่ยวกับตัววัคซีน เนื่องจากเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก “เดงวาเซีย” ที่ออกมาเมื่อปี 2016 แต่สองปีให้หลังกลับต้องประกาศระงับการใช้ชั่วคราว เนื่องจากหวาดกลัวในเรื่อง “ผลข้างเคียง” ที่เกิดขึ้นกับเด็กบางคนที่รับวัคซีนเข้าไปแล้วถึงกับ “เสียชีวิต”

เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงสร้างความหวาดกลัว “ฝังลึก” ในความคิดของชาวฟิลิปปินส์ ให้หวาดกลัววัคซีนจนถึงทุกวันนี้ โดยผลการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ให้เห็นว่า มีชาวฟิลิปปินส์เพียงแค่ 19 เปอร์เซ็นต์ ที่ประสงค์จะรับการฉีดวัคซีนโควิด-19

กระนั้นก็ตาม บรรดาวัคซีนโควิด-19 ต่างทยอยส่งถึงฟิลิปปินส์แล้ว โดยของซิโนแวค ถึงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่วนของแอสตร้าเซนเนก้า เพิ่งถึงเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

 

มาดูในส่วนของปากีสถาน พบว่า ประชาชนมีความ “หวาดกลัว” วัคซีนกันอย่างมาก แต่ที่ปากีสถาน เกิดขึ้นจากการรับข้อมูลที่ผิดพลาด และบางส่วนเกิดจากคลิปวิดีโอที่เป็นไวรัล หนึ่งในคลิปดังกล่าว ปรากฏเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นภาพของครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ที่กำลังตะโกนอย่างคลุ้มคลั่งต่อหน้ากลุ่มเด็กชายที่นอนหมดสติ ซึ่งครูระบุว่า เป็นผลจากการฉีดวัคซีนโปลิโอ ที่เจ้าหน้าที่บังคับให้ฉีด

ผลจากคลิปดังกล่าว ทำให้มีกลุ่มม็อบตามไปเผาคลินิกแห่งนั้น นอกจากนี้ คลิปดังกล่าวและอีกหลายๆ คลิป ยังส่งผลให้อัตราส่วนของผู้เข้ารับวัคซีนโปลิโอในปากีสถานลดน้อยลง แม้ว่าจะมีการถอดคลิปเหล่านั้นออกจากโลกออนไลน์แล้วก็ตาม

และยังคงเป็นผลพวงตามมาถึงการให้วัคซีนโควิด-19 ด้วย เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง และจะต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อน ก็ยังเลี่ยงที่จะขอรับวัคซีน

 

บีบีซีระบุว่า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งโครงการวัคซีนเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น บรรดาทางการและผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เป็นความ “ระมัดระวัง” มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความ “ช้า”

อย่างกรณีของประเทศออสเตรเลีย แคเธอรีน เบนเนตต์ นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยดีกิน ของออสเตรเลีย ได้บอกให้ประชาชน “รอก่อน”

ซึ่งบีบีซีระบุว่า ประเทศเหล่านี้สามารถที่จะรอข้อมูลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการรับวัคซีนในประเทศอื่น และผลกระทบที่จะมีต่อสตรีตั้งครรภ์ โดยไม่ทำให้ประชากรของตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยงจากการรับวัคซีน เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยไม่ได้สูงมากนัก

อย่างกรณีเกาหลีใต้ นายชุง เซ คยอน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ได้ย้ำว่า ต้องดูให้รอบคอบว่าการให้วัคซีนในประเทศอื่นๆ นั้นเป็นอย่างไร

ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างสิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม ทางการเองต่างก็มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ที่เห็นความสำคัญของการ “รอ” ดูผลของวัคซีนในประเทศอื่นๆ

 

แม้จะ “ล่าช้า” แต่หลายๆ ประเทศก็หวังว่าจะเริ่มการให้วัคซีนแก่ประชาชนให้ได้เร็วที่สุด อย่างเกาหลีใต้ก็จะเริ่มราวๆ ช่วงฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศไทยก็เริ่มแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่สิงคโปร์ได้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วราว 250,000 คน แม้ว่าวัคซีนที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 5.6 ล้านคนแล้วก็ตาม และคาดว่าจะสามารถฉีดให้ครบทุกคนได้ภายในสิ้นสุดเดือนเมษายนนี้

ที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความ “เชื่อมั่น” ต่อวัคซีน ที่น้อยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

ดร.ริโกะ มุรานากะ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์เกียวโต เปิดเผยว่า ในญี่ปุ่นขาดซึ่งกลยุทธ์ในการอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของวัคซีนต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่นเอง ก็ดูไม่ได้ร้ายแรงหนักหนาเหมือนกับบางประเทศ ทำให้ประชาชนไม่ค่อยเข้าใจถึงความสำคัญในการรับวัคซีน

ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้การปล่อยวัคซีนให้ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย ดูจะน้อยกว่าทวีปอื่นๆ

แต่กระนั้นก็ตาม จนถึงจุดนี้ หลายประเทศในเอเชียก็ยอมรับถึงความจำเป็นการของรับวัคซีน เพื่อที่เราจะได้ก้าวเดินไปข้างหน้ากันต่อไปอย่างมั่นใจว่า จะไม่มี “โควิด-19” กระจายไปที่ไหนได้อีก