เทรนด์ธุรกิจ ‘กัญชาไทย’ ร้อนแรง อาหาร-เครื่องดื่ม แห่ต่อยอดทางการค้า / บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

เทรนด์ธุรกิจ ‘กัญชาไทย’ ร้อนแรง

อาหาร-เครื่องดื่ม แห่ต่อยอดทางการค้า

 

ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์และส่งเสริมให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

ก่อนจะออกประกาศให้ใบ-ราก-ลำต้นกัญชา ไม่ใช่สารเสพติดประเภทที่ 5 อีกต่อไป ส่งผลให้สามารถนำผลิตผลบางส่วนของกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ถือประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รัฐบาลสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การปลดล็อกให้ใช้กัญชาและกัญชงถือเป็นก้าวแรกของการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มตลาดกัญชาและกัญชงจะมีมูลค่าสูงกว่า 1.03 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2024 (2567)

โดยปัจจุบันตลาดหลักคือ สหภาพยุโรป มูลค่า 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ สหรัฐ 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเอเชีย 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ข้อมูลจาก Cannabit Addict ระบุว่า ปัจจุบันมีประเทศที่ปลดล็อกกัญชาทั้งหมดและปลดล็อกบางส่วนรวม 69 ประเทศ จาก 193 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็นสัดส่วน 36% ของทั้งหมด และนั่นคือมูลค่าโอกาสของกัญชาไทยในตลาดโลก

ขณะที่ยุทธศาสตร์หลักของผู้ประกอบการจากนี้ จะเป็นการเตรียมนำ “กัญชา-กัญชง” มาต่อยอดทางธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ทำให้ภาคเอกชนทั้งเล็ก-ใหญ่ต่างเดินเครื่องวิจัยพัฒนาสินค้าเพื่อรองรับกระแส

“ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ทิปโก้ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พัฒนาสายพันธุ์กัญชง กัญชา มาตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งได้ศึกษาความเป็นไปได้และคุณประโยชน์ต่างๆ ของผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง ที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่ทิปโก้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ขณะนี้กำลังพัฒนาสูตรและผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมขอใบอนุญาตและขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยา( อย.) คาดว่าพร้อมวางจำหน่ายกลางปีนี้ และมีแผนจะนำไปวางจำหน่ายในช่องทางจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

“มารุต ชุ่มขุนทด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาสคอฟฟี่ จำกัด เจ้าของร้านกาแฟคลาสคาเฟ่ ที่ปัจจุบันกระโดดเข้ามาในธุรกิจกัญชาแล้ว แสดงทัศนะเรื่องนี้ว่า ตอนนี้กระแสของกัญชากำลังเป็นที่น่าสนใจของผู้บริโภค หากสังเกตจะเห็นว่า เริ่มมีหลายๆ ธุรกิจกระโดดเข้ามาในตลาดนี้ต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโอกาสนำมาต่อยอดพัฒนาโปรดักต์ในอนาคต

เช่นเดียวกับคลาสคาเฟ่ ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำงานวิจัยทางกัญชาออกสู่สาธารณะ ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ Khaoyai Calm เพื่อจำหน่ายเครื่องดื่มชา กาแฟ จากกัญชา ซึ่งกระบวนการอยู่ในการควบคุมของ อย. ทั้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และการใช้งานต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จำหน่ายให้ลูกค้าอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และไม่เป็นสตรีมีครรภ์ ไม่มีปัญหาโรคตับและโรคไต และเตรียมต่อยอดนำไปใช้ในส่วนของกลุ่มน้ำผลไม้และกาแฟพร้อมดื่ม

“ตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีแผนจะผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาตอบสนองพฤติกรรมและเทรนด์ใหม่ๆ ของผู้บริโภค

อาทิ การนำกัญชงมาต่อยอดในธุรกิจเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันได้มีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิต (ที่มิใช่การปลูก) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้รับการอนุญาตในเร็ววันนี้

เพื่อที่ว่าเมื่อกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ อิชิตันจะมีความพร้อมในทุกด้านในการเข้าทำตลาดเครื่องดื่ม CBD ทันที

 

ขณะที่ “ปิยจิต รักอริยพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการศึกษาการนำสารสกัดจากกัญชงเพื่อนำมาผสมในเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว เพื่อสร้างสีสันใหม่ให้กับตลาดอาหารและเครื่องดื่มตลาดใหม่-อนาคตสดใส

“สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เป็นอีกรายที่ไม่ยอมตกขบวน โดยระบุว่า บริษัทไลฟ์สตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ สนใจและศึกษางานวิจัยกัญชงแปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้เตรียมความพร้อม โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำศึกษาและคิดค้นสูตรเพื่อนำกัญชงมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ทั้งในส่วนของสกินแคร์ เครื่องดื่ม อาหารเสริม รวมถึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ โรงสกัด และผู้ผลิตไว้เรียบร้อยแล้ว

ด้าน “มหาคุณ เทพสุทิน” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตำรับไทย สมุนไพร จำกัด เจ้าของแบรนด์ “ร้านตำรับไทย สมุนไพรไทย” สะท้อนภาพตลาดสมุนไพรไทยภายหลังการเข้ามาของกัญชาว่า ปีนี้หากภาครัฐประกาศปลดล็อกกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ได้

จะทำให้ปีนี้เป็นปีทองของตลาดสมุนไพร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรที่เติบโตแบบก้าวกระโดด เฉลี่ยราว 11% ต่อปี และมูลค่าจะสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท จะกลายเป็นอีกหนึ่งตลาดที่เป็นกลุ่มสินค้าดาวรุ่งตลอดช่วง 2 ปีนับจากนี้ (ปี 2564-2564) โดยเฉพาะกระแสของกัญชามาแรงสุดในตลาดสมุนไพรของไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน

“มี SME ที่ขอนำผลิตภัณฑ์จากกัญชา-กัญชง เข้ามาขอติดต่อวางจำหน่ายในร้านกว่า 60 รายแล้วในปัจจุบัน และมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ยื่นความจำนงเข้ามา แต่ต้องรอข้อกำหนดของกฎหมายเรื่องปริมาณ และข้อจำกัดทางการค้าออกประกาศก่อน”

 

สําหรับกระบวนการต่อยอดกัญชา-กัญชงไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต้องใช้เวลาอีกราวอีก 3-4 ปี ตามคำบอกเล่าของ “จุลภาส (ทอม) เครือโสภณ” ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชง ในนามบริษัท โกลเด้น ไตร แองเกิล เฮลธ์ จำกัด หรือ GTH

จึงต้องจับตามองว่าหลังรัฐประกาศเสรีเชิงพาณิชย์แล้ว กระแสกัญชง-กัญชาฟีเวอร์ในไทยทิศทางจะเป็นอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ ผู้ประกอบการในระดับ SME รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกต่างเตรียมบุกตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เห็นได้ชัดเจนจากความสำเร็จของการจัดงาน “กัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” มหกรรมกัญชา-กัญชงยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศบริเวณสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ที่ผ่านมา ที่ประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งขอให้จัดงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ในระดับท้องถิ่น สะท้อนภาพกัญชาฟีเวอร์ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันนอกจากเครื่องดื่มแล้วยังมีผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ก็นำกัญชง-กัญชามาต่อยอดรับเทรนด์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น “อภัยภูเบศร เดย์ สปา” โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ที่นำร่อง 4 เมนูเด็ด รื่นเริงบันเทิงยำ : เติมเต็มทุกคำ สุขล้ำทุกเวลา, เล้งแซบซดเพลิน : ช่วยเจริญอาหาร, ข้าวกะเพราสุขใจ : กินมื้อไหนก็ไม่เบื่อ, ขนมปังคิกคัก : กินเสริมเวลาพัก

“บ้านตุลย์” อ.เมือง จ.ระยอง เปิดให้ลองชิมเมนูจากกัญชา จากเดิมที่ร้านเปิดขายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ทั้งไข่เจียวใบกัญชา แกงไก่บ้านใบกัญชา กะเพราใบกัญชา ข้าวเนื้อตุ๋นใบกัญชา ฯลฯ โดยกัญชาที่ใช้เป็นกัญชาออร์แกนิกส์ มีใบอนุญาตจากแหล่งที่ได้รับการอนุญาตให้ปลูกกัญชาถูกต้อง

 

ไม่เพียงปลดล็อกกัญชา-กัญชง ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น สธ.ยังวางโรดแม็ปและเตรียมขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง เวชสำอาง อาหารเสริม เป็นต้น

โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดยังมีการเตรียมพร้อมขยายไปยังธุรกิจแฟรนไชส์กัญชา-กัญชง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท โกลเด้น ไตร แองเกิล เฮลธ์ จำกัด หรือ GTH ภายใต้การดำเนินงานของจุลภาส (ทอม) เครือโสภณ ที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์ อาทิ เดนทิสเต้ สมูทอี ดิวานา ศรีราชา พัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชง อาทิ น้ำมันอโรมากัญชง ซอสพริกจากกัญชง สเปรย์ดับกลิ่นปากจากกัญชง เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนจาก อย.

พร้อมกับเตรียมเปิดแฟรนไชส์ร้าน Hemp House ร้านจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับกัญชงด้วย

ต้องจับตาว่า พืชเศรษฐกิจใหม่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผลักดันผลิตภัณฑ์จากกัญชง-กัญชาของไทยไปได้ไกลเหมือนกับที่หลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่