มาตรา 112 ใบสั่งเชือด จับ-ขังแกนนำราษฎร ม.ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ไว้อาลัยยุติธรรมไทย / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

มาตรา 112 ใบสั่งเชือด

จับ-ขังแกนนำราษฎร

ม.ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ

ไว้อาลัยยุติธรรมไทย

 

เส้นทางแกนนำกลุ่มราษฎร นับตั้งแต่การระดมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง 19-20 กันยายน 2563

ตามด้วยการนัดชุมนุมอีกหลายครั้งโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 3 ข้อเรียกร้อง

เป็นการต่อสู้แบบทุ่มสุดใจ เอาอิสรภาพส่วนตัวเข้าแลก

สุดท้ายสิ่งที่บรรดาแกนนำต้องเผชิญคือการถูกตามเช็กบิลจากฝ่ายอำนาจ

4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ทนายอานนท์ นำภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และหมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีการชุมนุม 19-20 กันยายน 2563 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น

ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ส่งฝากขังเรือนจำเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์

ล่าสุด 8 มีนาคม 3 แกนนำ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถูกอัยการสั่งฟ้องในคดีเดียวกัน ชะตากรรมของไผ่ ไมค์ และรุ้ง จึงไม่ต่างจาก 4 แกนนำชุดแรก คือไม่ได้รับการประกันตัว

ถูกส่งเข้าเรือนจำ สูญสิ้นอิสรภาพ

 

กรณี 4 แกนนำชุดแรก หลังถูกส่งเข้าเรือนจำ

ทนายความทำเรื่องยื่นประกันตัวเป็นระยะ รวมถึงนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. ที่เข้ามาช่วย

ผ่านไปเกือบ 1 เดือน วันที่ 4 มีนาคม มีความพยายามยื่นประกันครั้งที่ 4 แม่เพนกวินŽนำหลักทรัพย์ 1 ล้านบาท ยื่นขอให้ปล่อยตัวลูกชายชั่วคราว แต่ไม่สำเร็จ ศาลพิจารณายืนคำสั่งไม่อนุญาต

การเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มราษฎรยังดำเนินต่อ

13 กุมภาพันธ์ ชุมนุมจัดกิจกรรม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” รวมตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องปล่อยตัว 4 แกนนำ

ตามด้วยไผ่ ดาวดิน พร้อมแนวร่วมกลุ่ม People GO network จัดกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” 247.5 กิโลเมตร จาก จ.นครราชสีมา ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ภายใต้วัตถุประสงค์ 4 ข้อ 1.พล.อ.ประยุทธ์ลาออก 2.แก้รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอประชาชน 3.ยกเลิกมาตรา 112 และ 4.ปล่อยตัวแกนนำราษฎร

ตลอด 20 วันของการเดิน มีเพื่อนพี่น้องอุดมการณ์มาเข้าร่วมสมทบ ในจำนวนนี้รวมถึงนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ที่มาปรากฏตัวร่วมเดินช่วง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ส.ศิวรักษ์แสดงความเห็นถึงการต่อสู้ภาคประชาชน ต้องไม่ใช้ความรุนแรง ประชาชนจะไปสู่ชัยชนะได้ต้องใช้สัจจะอหิงสา ขอให้อดทนด้วยความตั้งใจมั่น ในที่สุดเราจะชนะ

อีกคนคือ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. ที่มาร่วมเมื่อขบวนเดินมาถึงแยก ม.เกษตรฯ

6 มีนาคม กลุ่ม REDEM นัดชุมนุมห้าแยกลาดพร้าว ก่อนเคลื่อนขบวนมาหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “เผาขยะ” เรียกร้องปล่อยตัว (ชั่วคราว) 4 แกนนำจากเรือนจำ

ในที่สุดขบวน “เดินทะลุฟ้า” ก็ถึงจุดหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 7 มีนาคม ไผ่ ดาวดิน ประกาศย้ำ 4 ข้อเรียกร้อง อ่านแถลงการณ์ปิดขบวนเดินทะลุฟ้า V.1 จากนั้นประกาศเข้าสู่ภารกิจใหม่ ขบวนการเดินทะลุฟ้า V.2 ทันทีในเร็วๆ นี้

ยังมีการเชิญแม่ของไผ่ ดาวดิน แม่ของเพนกวิน และแม่ของไมค์ ภาณุพงศ์ ขึ้นมาพูดความในใจเกี่ยวกับการต่อสู้ของลูกชายด้วย

 

24 ชั่วโมงหลังจบภารกิจเดินทะลุฟ้า V.1

ไผ่ ดาวดิน, ไมค์ ภาณุพงศ์ และรุ้ง ปนัสยา พร้อมแนวร่วมกลุ่มราษฎร 18 ราย เข้ารายงานตัวต่ออัยการในคดีชุมนุม 19-20 กันยายน 2563

ข้อหาร่วมกันกระทำผิด มาตรา 116, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, กีดขวางทางสาธารณะฯ, ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ, ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯ, ทำลายโบราณสถานฯ, ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ

โดย 3 แกนนำ ไผ่-ไมค์-รุ้ง ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มเติม

อัยการมีความเห็นส่งฟ้องศาลทั้ง 18 ราย ศาลพิจารณาไม่อนุญาตให้ประกันไผ่-ไมค์-รุ้ง ถูกคุมตัวส่งเข้าเรือนจำทันที ที่เหลือ 15 คนได้รับการประกันตัว วงเงินคนละ 350,000 บาท

หลังมีคำสั่งให้สิ้นอิสรภาพ ครอบครัว 3 แกนนำไม่ว่าแม่ พี่สาว และญาติๆ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนจำนวนหนึ่ง ต่างยืนรอส่งไผ่-ไมค์-รุ้ง ขึ้นรถเข้าเรือนจำ

เมื่อรถเคลื่อนผ่าน แม่และญาติของทั้ง 3 คนต่างชูสามนิ้ว โบกมือ พร้อมน้ำตาหลั่งริน นำมาซึ่งความเศร้าสะเทือนใจของผู้อยู่ในเหตุการณ์

พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่ เปิดใจทั้งน้ำตาว่า น้องสาวไผ่ได้เข้าไปในห้องพิจารณาคดี เพื่อขอคุยกับพี่ชายและกอดเป็นครั้งสุดท้าย แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ควบคุมตัวออกมาทั้งที่ยังไม่ได้ทำเรื่องประกันตัว ทำให้รู้สึกเสียใจ และไม่ได้รับความเป็นธรรม

นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่เพนกวินที่มาร่วมให้กำลังใจ กล่าวว่า

“ทำไมต้องทำกันถึงขนาดนี้ เราไม่ใช่อาชญากร อย่างน้อยควรให้ครอบครัวได้พูดคุย ร่ำลากันก่อน”

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกแถลงการณ์ระบุ

ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน อันนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักศึกษา มธ.ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

มธ.มีความกังวลและความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาของ มธ. ซึ่งควรมีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

จึงออกแถลงการณ์ฉบับนี้ เพื่อแสดงข้อความห่วงกังวลไปยังหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาการดำเนินการตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม สิทธิและเสรีภาพ สวัสดิภาพของผู้ถูกจับกุม

โดยพิจารณาให้ผู้ถูกจับกุมได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างการพิจารณาคดีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งมีสิทธิในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

มธ.ยังขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางความคิดและความขัดแย้งทางการเมืองด้วยสันติวิธีและความอดทนอดกลั้น ตลอดจนร่วมมือกันแก้ปัญหาขัดแย้งอย่างจริงใจและจริงจัง

9 มีนาคม กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดแต่งดำ จุดเทียน ผูกโบบริเวณหน้าประตูศาลอาญา

มีการอ่านแถลงการณ์จากรุ้ง ปนัสยา ที่เจ้าตัวเขียนขึ้นไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ใจความสรุปว่า

หากได้รับสารนี้ ตัวรุ้งและเพื่อนๆ คงอยู่ในเรือนจำ ด้วยกระบวนการอยุติธรรมที่ปิดปากผู้เห็นต่าง เราถูกผลักไสให้กลายเป็นศัตรูโดยรัฐ ถูกคุกคาม ปราบปราม จับกุม คุมขังด้วยเหตุเพียงว่า พวกเราฝันใฝ่ในสิทธิเสรีภาพและสังคมที่ดีกว่า

แถลงการณ์ของรุ้ง ย้ำเป้าหมาย 3 ข้อเรียกร้องเดิมในการต่อสู้ที่ยังต้องดำเนินต่อไป เป็นการต่อสู้ระยะทางยาวไกลมาก คือการเดินทางไกล เป้าหมายอยู่ข้างหน้า และเราจะได้รับชัยชนะ

แต่การจะเดินไปถึงเป้าหมายนั้น ย่อมต้องพึ่งความมีวินัยและความเป็นเอกภาพ ต้องสู้ด้วยความอดทน อดกลั้นต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม

การต่อสู้ครั้งนี้จำเป็นต้องยึดมั่นการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมากกว่าครั้งใด พวกเราจะไม่เป็นผู้เริ่มก่อน ไม่เป็นผู้ใช้ความรุนแรง เพราะหากเราขาดสติและตอบโต้ด้วยความรุนแรง รัฐบาลศักดินาย่อมใช้เป็นโอกาสย้อนกลับมาทำร้ายเรา

และการที่รัฐเป็นผู้กระทำเราก่อน หมายถึงการทำลายภาพอันดูศักดิ์สิทธิ์และชอบธรรม ที่ไม่ใช่แค่รัฐบาลเผด็จการ แต่หมายถึงการลดทอนผู้อยู่เบื้องหลัง

ในการต่อสู้เราต้องทำอย่างมีแบบแผน มีวินัย มีเอกภาพ ต้องมีทั้งสามสิ่งนี้กว่าครั้งไหนๆ

การมุ่งสู่เป้าหมายได้ต้องพึ่งพลัง มานะและความอดทนของเพื่อนพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสันติวิธี ยึดมั่นถึงสังคมที่เท่าเทียม และรัฐสวัสดิการที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ

“หวังว่าพวกเราจะเดินไปถึงเส้นชัยด้วยกัน หรือถ้าไปถึงเส้นชัยแล้วไม่เจอหนู หรือเพื่อนคนไหน ฝากทุกคนคิดถึงพวกเราเผื่อด้วย หนูจะรอวันที่ได้ออกมาสู้กับทุกคนอีกครั้ง”

 

ทั้งหมดคือเส้นทางสั้นๆ ช่วงหนึ่งในการต่อสู้ของกลุ่มราษฎร ที่แกนนำต้องเผชิญกับคดีความ ม. 112 และกฎหมายอื่นๆ มากมาย

เท่าที่ฝ่ายอำนาจจะนึกออก และงัดขึ้นมาเล่นงาน โดยเพิกเฉยต่อหลักสิทธิเสรีภาพสากล และข้อเท็จจริงที่ว่า ตราบใดยังไม่ตัดสินคดี ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ สมควรได้รับการประกันปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี

สำหรับแกนนำสำคัญระดับรองลงไป อาทิ ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ก็ยังมีคดี ม.112 จ่อรออยู่เช่นกัน จากการจัดชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี

วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา คณะจุฬาฯ ร่วมกับองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ จัดกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยความยุติธรรมไทย มอบดอกไม้ให้กำลังใจแม่ของเพื่อนๆ แกนนำที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ณ ลานจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ล่าสุดเพจกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า V.2” ประกาศนัดหมาย 14.00 น. วันเสาร์ 13 มีนาคม เดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยระบุให้เตรียมอุปกรณ์สำหรับผู้ต้องการค้างคืน

ฝ่ายอำนาจเปิดปฏิบัติการกวาดจับแกนนำ ส่งเข้าเรือนจำ ไม่ให้ประกันตัว ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นไร้แกนนำ

สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป แรงขึ้น หรือเบาลง

ต้องติดตาม