ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 มีนาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ท่าอากาศยานต่างความคิด |
เผยแพร่ |
ท่าอากาศยานต่างความคิด
In Books We Trust (3)
“ผมเริ่มต้นขุดดินราวเมษายน 2556 พอปลายปี 2556 ร้านก็เสร็จพอดี”
“ทำไมถึงมีรูปทรงแบบนี้หรือครับ ลูกสาวของผม เวยา ชอบเทพนิยายกริมม์มากโดยเฉพาะเรื่องของเจ้าหญิงผมยาวที่มีผมสีทองหรือเรื่องราพันเซล เขาบอกผมว่า ‘พ่อ หนูอยากมีปราสาทเป็นของตัวเอง’ ผมบอกว่าไม่ได้หรอกลูก จะสร้างปราสาทพ่อคงต้องมีเงิน ต้องรวยกว่านี้ แต่คิดไปคิดมา เราก็เป็นนักเขียน ทำไมเราไม่หาสัญลักษณ์เกี่ยวกับการเขียน เกี่ยวกับหนังสือบางอย่างใส่ลงไปกับหน้าตาของร้าน ก็เลยพบกันครึ่งทาง มองไกลๆ ยอดแหลมสูงมันก็เหมือนปลายดินสอ แต่มองอีกทีก็เหมือนปราสาท ปราสาทที่เป็นเทพนิยายแห่งร้านหนังสือ”
บทสัมภาษณ์วิทยากร โสวัตร เจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ในวันที่ 8 มีนาคม 2564
หลังการเกิดขึ้นของแท่นพิมพ์จากความคิดของโยฮันน์ กูเตนเบิร์ก หนังสือจำนวนมากถูกจัดพิมพ์ขึ้นอย่างรวดเร็วและถูกแพร่หลายผ่านทางการค้าทั้งแบบทางตรงและทางอ้อม
ทางตรงคือใครบางคนไปรอซื้อหนังสือเล่มใหม่ที่โรงพิมพ์ทุกวัน
ทางอ้อมคือหนังสือถูกส่งผ่านไปทางผู้ขาย บางยุคมันถูกนำใส่ตะกร้าและถูกนำออกตระเวนขายรอบเมือง
บางยุคมันถูกวางริมทางรอผู้ผ่านไปมา แต่ไม่ว่าจะเป็นยุคใด โลกของหนังสือคือโลกของผู้ที่ต้องการส่งสารผ่านกระดาษและตัวอักษรไปถึงยังผู้ที่กระหายจะได้ลิ้มลองตัวอักษณซึ่งประกอบเป็นเรื่องราวแตกต่างกันไปเหล่านั้น
ในยุคที่การพิมพ์เริ่มต้นได้ไม่นานนัก นักเขียนที่โด่งดังและเป็นที่นิยมอ่านกันอย่างแพร่หลายไม่มีใครพ้นจากวิลเลียม เช็กสเปียร์ ไปได้
นวนิยายหรือเรื่องเล่าจากฝีมือการเขียนของเขาเป็นที่นิยม ถ้อยคำในนวนิยายของเขากลายเป็นสิ่งที่ผู้คนท่องจำได้อย่างขึ้นใจ โรเมโอและจูเลียต แม็กเบธ พ่อค้าแห่งเวนิส โอเทลโล และเรื่องอื่นๆ
แต่แม้ว่ากระนั้นในยุคดังกล่าว ก็มีคนล่วงรู้ประวัติหรือความเป็นไปของเช็กสเปียร์น้อยเต็มที จนแม้แต่ในปัจจุบันเรื่องราวหลายเรื่องในชีวิตของเขาก็หาได้กระจ่างแจ้งไปทุกเรื่องไม่
นักเขียนอาจเป็นตัวละครที่สำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า “หนังสือ” เขาอาจเป็นใครสักคนที่อยู่ในป่าเขาที่ห่างไกล ลึกลับเกินการดั้นด้นไปถึง อาจเป็นเพียงตำนานดัง “เล่าจื๊อ” ผู้เขียน “วิถีแห่งเต๋า” หรือ “เต๋าเต้อจิง” เรื่องราวของผู้อาวุโสที่เดินทางหายลับไป ไม่มีใครล่วงรู้ว่าเขามีอายุมากน้อยเพียงใดเมื่อเขาจากไป ไม่มีหลุมศพให้ระลึกถึง ไม่มีแม้รูปภาพที่ชัดเจน
แต่ทว่า “เต๋าเต้อจิง” กลับเป็นหนังสือที่มีผู้คนอ่านและซาบซึ้งในตัวอักษรของมันไม่น้อยหน้ากว่าหนังสืออันโด่งดังเล่มใดในโลก
หนังสือเป็นสิ่งที่น่าสนใจในฐานะของผลงานสร้างสรรค์ ไม่ต่างจากงานจิตรกรรม ประติมากรรม หรือสถาปัตยกรรม
ผู้รังสรรค์หรือสร้างมันขึ้นมาอาจจากโลกนี้ไปแล้วแต่สิ่งที่เขาสร้างนั้นยังคงอยู่ให้เราได้ชม ได้ใช้หรือได้อ่าน
ในด้านหนึ่งนักเขียนจึงเป็นดังศิลปินที่พร้อมจะปล่อยวางสิ่งที่เขาสร้างมันขึ้นมาสู่สาธารณชน สู่บุคคลอื่น
เมื่อต้นฉบับงานเขียนสำเร็จลง นักเขียนบอกลามัน เขากล่าวลามันอย่างเงียบๆ ก่อนจะเริ่มต้นผูกสัมพันธ์กับผลงานใหม่ของเขาอีกครา
และที่ใดเล่า ที่ผลงานเหล่านั้นถูกรวบรวม ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ภาพวาดจากจิตรกรที่แตกต่างกันทั้งอายุ เพศ เชื้อชาติ และภาษา ถูกนำมารวบรวมติดตั้งเคียงข้างกัน ผู้ชมสามารถเลือกชมภาพเขียนเหล่านั้นได้ตามความสมัครใจ เรื่องราว สุนทรียะในภาพเหล่านั้นสร้างความสุขหรือความโศก สร้างความพิศวงหรือความแปลกแยกไม่เข้าใจ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา
ภาพเขียนเพียงหนึ่งภาพไม่อาจให้รสชาติหรือกระตุ้นอารมณ์ทุกรูปแบบให้กับผู้ชมได้ ผู้ชมสามารถเลือกเสพงานดังกล่าวได้ตามความพึงพอใจของตน บางคนอาจหลงใหลในสีสันแห่งผลงานศิลปะช่วงอิมเพรสชั่นนิสต์ บางคนอาจหลงใหลผลงานนามธรรมที่ชวนให้ขบคิด ทุกคนที่เดินเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ศิลปะล้วนมีเหตุผลแตกต่างกัน
บางคนมาชมภาพเขียนภาพเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่สนใจภาพอื่นเลย บางคนชมภาพเขียนทุกภาพจนครบถ้วนก่อนจะตัดสินใจด้วยตนเองว่าเขาชอบภาพใดภาพหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่
และบางคนหลังจากเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เขาก็ไม่เคยกลับมาอีกเลย
ร้านหนังสือก็เช่นกัน
ร้านหนังสือในด้านหนึ่งแทบไม่ต่างจากอารามอันศักดิ์สิทธิ์ที่เก็บรวมสิ่งของเฉพาะด้านสำหรับผู้ใฝ่ใจ
และสำหรับร้านหนังสือแล้ว ผู้ใฝ่ใจที่ปรารถนาการเหยียบย่างเข้ามา มีศาสนาเพียงเหนึ่งเดียวคือศาสนาแห่ง “การอ่าน”
เขาตรงเข้ามาพร้อมด้วยหัวใจพองโต หิวกระหายที่จะได้พบกับทางสว่าง หนังสือเล่มที่เขาไม่เคยพบเห็นถูกนำลงจากชั้น พลิกอ่านอย่างตื่นเต้น
หากเป็นหนังสือใหม่เขาจะสูดกลิ่นกระดาษที่ถูกเจียนขอบอย่างประณีต
หากเป็นหนังสือเก่าเขาจะใช้นิ้วมือพลิกหน้ากระดาษอันแห้งกรอบเหล่านั้นอย่างทะนุถนอม แต่ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแบบใดเขาก็ไม่อาจละสายตาจากข้อความที่ถูกบันทึกในนั้น เขาอ่านมันจนอ่อนเพลียก่อนจะละสายตาเหลียวมองไปทางเจ้าของร้านหนังสือที่อดชื่นใจเสียมิได้ที่ได้พบผู้นับถือในศาสนาเดียวกัน
แต่ก็เฉกเช่นสถานที่อื่น ร้านหนังสือในบางคราก็ต้องต้อนรับบุคคลที่พลัดหลงทางมา พวกเขาเดินเข้าร้านหนังสือด้วยท่าทีกล้าๆ กลัวๆ จะหยิบจับหนังสือเล่มใดก็ดูไม่เข้าท่าเข้าทางไปเสียสิ้น
มือของเขาเก้ๆ กังๆ อยู่ที่หนังสือบางเล่ม ปกนั้นสวยถูกใจเข้าที แต่ครั้งลองอ่านมันก็หาได้เข้าใจข้อความใดเลย เนื้อหาในหนังสือก็กลับเล่าถึงสิ่งที่ไม่คุ้นเคยจนเขานึกขยาด
แต่ก็ไม่ควรเสียใจ เขามาที่นี่เพราะติดตามใครบางคนเข้ามา หากเป็นโดยลำพังแล้ว เขาก็คงไม่คิดที่จะย่างเท้าเข้ามาในสถานที่แบบนี้เลย
ผมถามเจี๊ยบ วิทยากร โสวัตร ถึงบุคคลที่มาเยือนร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย บุคคลแบบใดกันเล่าที่เขาพบเห็นมากที่สุดและบุคคลแบบใดกันเล่าที่เขาไม่คิดว่าจะได้พบเจอ
“คนซื้อหนังสือ” เขาตอบ “เป็นกลุ่มคนที่พบมากที่สุด”
แต่กระนั้นในคำตอบก็มีการขยายความ “บางคนตรงมาซื้อหนังสือเล่มที่มีคนพูดถึง บางคนตรงมาหาหนังสือที่เขาเคยอ่านในวัยเด็ก บุคคลกลุ่มนี้จะเดินดูหนังสือไปตามชั้นอย่างเงียบๆ พวกนี้เราแทบไม่ต้องแนะนำอะไรเขา สายตาของพวกเขาจะบอกว่าพวกเขากำลังค้นหาอะไร”
และบุคคลแบบใดที่เขาไม่คิดว่าจะได้พบเจอ
“คนที่ไม่คิดจะอ่านหนังสือ ไม่คิดจะรักหนังสือ แต่แล้วกลับเป็นคนที่มาร้านหนังสือแห่งนี้บ่อยครั้งที่สุด”
วิทยากร โสวัตร เล่าถึงมหาบัณฑิตหนุ่มผู้หนึ่งที่เวียนเข้าเวียนออกกับวิทยานิพนธ์และการศึกษารอบแล้วรอบเล่า ถูกให้ออก สอบเข้าใหม่ เสนอหัวข้อวิจัยผ่าน เลิกล้มกลางคัน ถูกให้ออก สอบเข้าใหม่ และหมดไฟที่จะเรียนในที่สุด เพื่อนของเขาเป็นคนรักหนังสือที่พาเขาเข้ามาที่ร้าน คงตั้งใจให้ผ่อนคลายเสียบ้างจากการเรียน
แต่บรรยากาศของร้านที่อบอุ่นและเป็นมิตรกลับให้อะไรกับเขามากกว่านั้น
ทุกวันชายหนุ่มคนนี้จะมาที่ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ควบขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่ล้อบิดเบี้ยวจนไม่น่าเชื่อว่ามันจะเคลื่อนตนเองได้จนถึงจุดหมาย
หลังจากนั้น เขาจะสั่งกาแฟหนึ่งแก้ว ก่อนจะตรงไปที่เปลนอกร้าน ทิ้งตัวลงบนเปล จุดบุหรี่ขึ้นสูบ นอนมองท้องฟ้าสลับกับการดื่มกาแฟ แก้วแล้วแก้วเล่า บุหรี่ตัวแล้วตัวเล่า ทำเช่นนั้นจนหมดวัน ก่อนจะกลับสู่ที่พักเมื่อร้านปิดลง
“นานวันเข้าผมก็อดไม่ไหว ต้องถามว่าเป็นอะไร พอรู้ว่าเขาท้อใจกับการเรียน ก็เรียกเขามานั่งคุย โชคดีที่ผมเคยเรียนคณะเดียวกับเขาเลยแนะนำให้เขาลองไปคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งดู ปรากฏว่าการแก้ปัญหาของเขาลุล่วงด้วยดี เขากลับมาทำวิทยานิพนธ์แต่ก็ยังคงมาที่ร้านทุกวัน ชีวิตของเขามีความสดใสขึ้น ผมแนะนำให้เขาอ่านหนังสือหลายเล่ม วรรณกรรมที่ให้แรงบันดาลใจ หนังสือทางความคิดที่ปลุกปลอบคน จนในที่สุดเขากลายเป็นดังน้องรักคนหนึ่ง เวลาผมไปธุระก็ฝากร้านให้เขาดูแล ใบไม้ร่วงเขาก็กวาด รดน้ำต้นไม้ ดูแลทุกอย่าง”
“จนในที่สุดเขาก็จบการศึกษาแต่ความสัมพันธ์เราไม่เคยจบ เขายังมาที่นี่จนบัดนี้และดูเหมือนจะตลอดไป”
คนที่มาแล้วไม่สนใจหนังสือในตอนแรกมีไหม ผมถามเขาต่อ
“มี บางคนตามคนรักมา ไม่ชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่นัก ซึ่งก็พอดูออก พวกนี้ก็จะใช้เวลากับการเล่นกับแมวบ้าง นั่งเงียบๆ เล่นมือถือบ้าง แต่หลังๆ ก็น้อยเต็มที เหมือนกับว่าหนังสือในร้านมีแรงดึงดูด อย่างน้อยพลิกสักหน้าสองหน้าหรืออย่างน้อยในร้านที่มีหนังสือมากขนาดนี้ก็ต้องมีบางเล่มที่เขาสนใจ”
และมีบุคคลใดบ้างที่มาร้านหนังสือและคุณจำได้หรือเป็นกลุ่มคนที่คุณมีความสุขในฐานะเจ้าของร้านหนังสือ
“ถ้าให้ตอบตอนนี้ก็ต้องเป็นเยาวชน ไม่น่าเชื่อว่าช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนเข้าร้านหนังสือของผมเพื่อมาซื้อหนังสืออายุน้อยลงเรื่อยๆ บางคนอยู่เพียงแค่มอต้น มอสองหรือมอสามประมาณนั้น แต่กลับมาตามหาหนังสือทางสังคมหรือหนังสือทางการเมืองที่หนักๆ หนังสือประวัติศาสตร์ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง เป็นหนังสือที่มีคนถามหามากที่สุดในปีที่ผ่านมา และพวกเขาอ่านกันอย่างจริงจังด้วย ผมได้ยินที่พวกเขาคุยกัน ถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ ปรากฏการณ์แบบนี้ทำให้ผมมีความหวังกับสังคมไทยมาก”
“แต่มีอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีที่แปลก มีคนโอนเงินมาให้ผม บอกว่าถ้ามีเด็กหรือใครที่อยากอ่านหนังสือเล่มใดแล้วเงินไม่พอ ให้ใช้เงินจากยอดที่โอนมาสมทบให้เขาซื้อหนังสือที่อยากได้ได้เลย หรือมีเด็กนักเรียนอยากอ่านหนังสือในงบฯ เท่านั้นเท่านี้ ให้ใช้เงินจากยอดดังกล่าวได้ พอเจอเรื่องแบบนี้ ผมก็จะประกาศในสื่อโซเชียลของตนเอง แจ้งข่าวออกไป พอแจ้งข่าวเสร็จ ผมก็อดคิดไม่ได้ว่าร้านของผมทำไมถึงมีเรื่องราวแบบนี้”
“นี่มันร้านหนังสือแบบไหนกัน”
เรื่องเล่าเรื่องนี้ของวิทยากร โสวัตร ทำให้ผมนึกถึงสารคดีเรื่อง “Coffee for All” ที่เล่าถึงประเพณีหนึ่งในร้านกาแฟที่เมืองเนเปิล ประเทศอิตาลี ที่มีผู้คนจะจ่ายค่ากาแฟเป็นจำนวนสองแก้วแต่ดื่มเพียงหนึ่งแก้ว หลงเหลืออีกแก้วไว้สำหรับคนที่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อกาแฟแต่ปรารถนาการดื่มกาแฟ คนเร่ร่อน คนตกงาน จะรับแก้วกาแฟแก้วนั้นไปพร้อมทั้งรับรู้ได้ถึงการส่งผ่านความสุขและความอบอุ่นจากบุคคลแปลกหน้า
ร้านกาแฟแบบนั้นที่ใครสักคนที่สิ้นหวังและปรารถนาการดื่มกาแฟแม้ว่าเขาจะไม่มีเงินติดตัวเลยจะเดินเข้าไป
ร้านกาแฟที่มีกาแฟสำหรับทุกคนและไม่เคยปฏิเสธใครเลย