จอดป้าย / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จอดป้าย

 

ตอนนี้ดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

นั่นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560

มีสิทธิ “จอดป้าย” แน่

ส่วนจะเป็นป้ายไหน

จอดที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งนัดฟังคำวินิจฉัยที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ขอให้รัฐสภามีมติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่ขัดกับข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 11 มีนาคม

หรือจะจอดป้ายรัฐสภา ที่คาดหมายว่าจะมีการลงมติในวาระที่ 3 วันที่ 17-18 มีนาคมนี้

ถามว่า ในฝั่งฝ่ายของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะรัฐบาลต้องการให้จอดป้ายที่ใด

 

ประเมินแล้ว รัฐบาลคงอยากให้จอดป้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย

ด้วยจะเป็นคำอธิบายง่ายสุดว่านี่คือ คำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ทุกคนต้องเคารพ

รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปแบกภาระอธิบาย

สามารถลอยตัวจากกรณีนี้อย่างสบายๆ

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าแก้ได้

นั่นแหละ เผือกร้อนจะตกมาอยู่ในมือของรัฐบาลซึ่งกุมเสียงข้างมากและกุมเสียง 250 วุฒิสมาชิกทันที

นั่นคือ รัฐบาลจะมีมติให้ผ่านหรือเปล่า

 

ต้องไม่ลืมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น

แล้วหากมา “ล้ม” เสียเอง จะอธิบายกับสังคมอย่างไร

นี่จึงจะเป็นความประดักประเดิดที่เกิดขึ้น

แต่ถามว่า รัฐบาลต้องการให้ผ่านหรือไม่

คำตอบก็คือไม่

ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้ก็คือ ฟรีโหวต

ปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจเอง

ซึ่งก็มีแนวโน้มว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา อาจจะลงมติให้ผ่าน

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส.ส.ส่วนหนึ่งอาจจะโหวตให้ผ่าน

เพื่อจะใช้เป็นข้ออ้างไปอธิบายกับชาวบ้านว่าพรรคได้ทำตามที่สัญญาแล้ว คือ หนุนแก้รัฐธรรมนูญ

แต่กระนั้น พรรคพลังประชารัฐทราบดีว่า แม้พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะร่วมกันโหวตให้ผ่าน

กระนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ก็มิอาจสำเร็จจากเสียง ส.ส.ได้

จุดชี้ขาดอยู่ที่ 250 ส.ว.จะตัดสินใจต่างหาก

 

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนผูกมัดไว้ว่า

“การลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 จะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 เสียง”

ทั้งนี้ ฟังเสียง ของนายสมชาย แสวงการ ในฐานะผู้ร่วมยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ประกาศชัดว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3

เพราะมีประเด็น 38 มาตรา ซึ่งเกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ถูกบัญญัติไว้

“ผมไม่ทราบว่า ส.ว.จะพิจารณาอย่างไรต่อประเด็นนี้ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ ส่วนผมนั้นไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และยิ่งประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ถูกบัญญัติไว้ ทำให้เกิดความกังวลต่อการไร้กรอบการทำเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทแก้ไข เปลี่ยนมาตราที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ ที่บัญญัติไว้นอกจากหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” นายสมชายระบุ

และท่าทีเช่นนี้เอง น่าจะเป็นแนวโน้มว่า อาจจะมี ส.ว.ไม่ถึง 84 เสียงโหวตสนับสนุน

ขณะเดียวกัน มีการคาดหมายว่า ผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็อาจส่งสัญญาณ หรือกระซิบให้ ส.ว.ลงมติไม่ผ่านวาระที่ 3 ด้วย

อันจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“จอดป้าย” ที่รัฐสภา ในที่สุด

 

แนวโน้มเช่นนี้เอง ทำให้พรรคฝ่ายค้านมีมติร่วมกัน เรียกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้เสนอญัตติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพื่อเป็นทางออกของประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

เพราะผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ มีทั้งภาคประชาชน ฝ่ายค้าน และฟากรัฐบาล ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหา จำเป็นที่จะต้องแก้ไข

ทั้งนี้ เพื่อให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

แต่กระนั้นก็คงเป็นอย่างที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับเพิ่มเติม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ในฐานะฝ่ายค้าน ยอมรับว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เราอาจพบกับความผิดหวัง

“ความหวังดูจะริบหรี่ เพราะความพยายามที่ผ่านมาทั้งหมด ต้องตกอยู่ในกำมือของกลุ่มผู้มีอำนาจพิเศษ ที่ประชาชนไม่ได้เลือกมา ถ้าพวกคุณยังมีสติสักนิด ยังมีความสามารถในการมองการณ์ไกลสักหน่อย เลิกการแทรกแซงแบบนี้เถิดครับ อดีตที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าการใช้อำนาจของพวกคุณไม่ได้ทำให้ประเทศนี้หลุดพ้นบ่วงกรรมได้เลย”

แต่เสียงเรียกร้องนี้ ไม่ทราบว่าจะ “เข้าหู” ส.ว.หรือไม่

เพราะดูเหมือนธงจะถูกชักไว้แล้ว ว่าจะคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทำให้พรรคฝ่ายค้านได้เตรียมการที่จะขอแก้ไขเป็นรายมาตราต่อไป

แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกนาน และไม่สามารถสะสางสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญลงได้

 

ด้วยเหตุนี้ ภาคีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย โดยนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีรัฐธรรมนูญฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา และ ส.ว. ให้ผ่านญัตติในวาระ 3

พร้อมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนมุ่งมั่น ส่งเสริม สนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นจุดรวมความคิดของประชาชน ให้รัฐธรรมนูญเป็นแกนหลักของนิติรัฐ และนิติธรรม

“ถ้าไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ก็จะประชุมหารือเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป เราจะทำทุกทางเพื่อที่บ้านเมืองนี้จะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เราไม่ยอมแพ้ แม้จะมีการใช้อำนาจอะไรก็ตาม เพราะเราจะสถาปนารัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นใหญ่” นายอนุสรณ์ระบุ

ซึ่งนั่นทำให้มีการคาดหมายว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้อง “จอดป้าย” ลง ไม่ว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือรัฐสภา

การเคลื่อนไหวนอกสภา คงจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น

และอาจจะเป็น “ระเบิดการเมือง” ครั้งใหญ่อีกครั้งที่อาจเกิดขึ้น

ดังที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง “เมื่อดาวพฤหัสขยับตัว แรงสั่นสะเทือนทางการเมืองก็เกิดขึ้น” โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก

ซึ่งแม้จะเป็นความเห็นที่แลผ่านแว่นโหราศาสตร์

แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเหมือนการประเมินสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้น

หากมีการคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ก็เหมือนเราจะพากันเดินสู่ดงระเบิดอีกครั้ง

 

โดยนายวันชัยระบุว่า

“ระยะนี้เป็นการขยับตัวของดาวพฤหัสฯ เราจะเห็นแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ มักจะมีแรงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นทางการเมืองเสมอมา”

“เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง คนได้เปรียบก็ไม่อยากแก้ คนเสียเปรียบก็อยากแก้ เป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย ต่างฝ่ายต่างก็อ้างเหตุผลกันร้อยแปดพันประการ เพื่อความมั่นคงบ้าง เพื่อประชาธิปไตยบ้าง เพื่อประชาชนบ้าง”

“แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจกันทั้งนั้น โดยเอารัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างสนับสนุน”

“ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต่างกับยุคก่อนๆ ตัวละครอาจเปลี่ยนข้างเปลี่ยนมุม เปลี่ยนจุดยืน แต่ยังเล่นกันบทเดิม”

“ทุกครั้งที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ความเร่าร้อนและความรุนแรงก็มักจะเกิดขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง”

“สังเกตให้ดีจะเริ่มเห็นเค้าลางและได้กลิ่นตั้งแต่วันพิจารณารัฐธรรมนูญในวาระ 2 ที่ผ่านมา กลิ่นแห่งการเปลี่ยนแปลงยิ่งแรงกระพือโหมมากขึ้น ช่างเหมาะกับการที่ดาวพฤหัสฯ จะขยับตัวแยกจากดาวเสาร์เข้าสู่ราศีกุมภ์ สร้างความสั่นสะเทือนของดวงดาว ฟาดหัวฟาดหางทั้งในสภาและนอกสภา เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้ามา”

“ในช่วงนี้ถึงปลายเดือนมีนาคม อาจจะเกิดเหตุปรับ ครม.ใหญ่ก็ได้ หรือปรับพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ หรือนายกฯ ลาออก เปลี่ยนคนใหม่ก็ได้ หรือขยับทางไหนไม่ได้อาจจะยุบสภาก็ได้ ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญพลอยตกไปด้วย ถ้าเลือกตั้งใหม่ก็ใช้กติกาเดิม”

“นั่นคือแนวทางของการเปลี่ยนแปลงซึ่งดวงดาวชี้ชัดไม่ได้ แต่บอกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใหญ่แน่ ซึ่งถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้แล้วก็น่าจะจริง อาจเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจเปรี้ยงขึ้นมา ถ้าไม่เปรี้ยงปร้างก็อาจจะมาเป็นระเบิดอีกตูมใหญ่ในรัฐสภาวาระ 3 วันที่ 17 มีนาคมก็ได้ ระเบิดแต่ละลูกสร้างแรงสั่นสะเทือนได้ทั้งนั้น พิจารณาจากดวงดาวและเค้าลางที่เห็นต่อหน้าแล้วบอกได้เลยว่ามีเรื่องแห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่แบบคาดไม่ถึงแน่”

 

นั่นคือ การมองผ่านดวงดาวของนายวันชัย

ซึ่งก็ไม่น่าแตกต่างจากการประเมินของหลายฝ่าย ที่ประเมินว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญจอดป้ายลง

โอกาสที่จะเกิดวิกฤตทางการเมือง มีค่อนข้างสูง

และเมื่อร่วมกับเงื่อนไขต่างๆ ทั้งในสภาและนอกสภาตอนนี้

ก็เหมือนกับการจุดชนวนระเบิดไดนาไมต์การเมืองดีๆ นี่เอง!