เหยี่ยวและพิราบในการเมืองไทย! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สถานการณ์การเมืองในไทยดูจะมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย และเป็นความท้าทายที่สะท้อนถึงทิศทางการพาประเทศออกจาก “วงจรความขัดแย้ง” ที่กำลังมีความรุนแรงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งหากการพาประเทศออกจากวงจรเช่นนี้ไม่ได้แล้ว ไทยจะไม่ใช่แค่ “คนป่วยแห่งเอเชีย” แต่ไทยอาจเป็น “คนทุพลภาพแห่งเอเชีย” ที่การเมืองและสังคมจมปลักอยู่กับความขัดแย้งอย่างไม่อาจถอนตัวได้เลย

ในสภาพเช่นนี้ กลุ่มชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำการเมืองปีกขวาจัด อาจจะมั่นใจอย่างมากว่า พวกเขาสามารถจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองได้ด้วย “มาตรการปราบปราม” และเชื่อมั่นว่า การปราบปรามประชาชนจะเป็นหนทางหลักของการดำรงอยู่ในอำนาจได้ต่อไป อีกทั้งเชื่อว่า “จักรกลของการปราบปราม” นั้น อยู่ในมือของพวกเขา หรือเป็นสำนวนเก่าที่ว่า ชนชั้นปกครองควบคุมเครื่องมือหลัก 4 ประการคือ “ศาล-ทหาร-ตำรวจ-คุก”

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มผู้มีอำนาจจะเชื่อว่า มาตรการปราบปรามพร้อมกับการใช้เครื่องมือสี่ประการนี้ จะทำให้การเคลื่อนไหวของผู้เห็นต่างจากรัฐ “ถูกสยบ” และในที่สุดแล้วจะทำให้รัฐเป็นฝ่ายชนะ และฝ่ายต่อต้านจะเป็นผู้แพ้ ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ชุดความคิดในการต่อสู้กับผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วยการปราบปรามเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ฝ่ายรัฐจึงมักจะมั่นใจกับความเหนือกว่าของ “กำลังอำนาจ” ที่รัฐมีเสมอ และเชื่อว่าความเหนือกว่าเช่นนี้คือ “ปัจจัยแห่งชัยชนะ”

ในทางการเมืองนั้น ผู้ที่สมาทานกับชุดความคิดเช่นนี้มักจะถูกเรียกว่าเป็น “สายเหยี่ยว” (The Hawk) ที่วางนำ้หนักทางความคิดไว้กับการใช้กำลัง และไม่เชื่อในเรื่องของการประนีประนอม อีกทั้งมีทัศนะว่า การประนีประนอมคือ ความพ่ายแพ้ จึงไม่ควรนำมาใช้เป็นหนทางของการปฎิบัติ … หน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายต่อต้านคือ การกวาดล้างด้วยกำลัง

แต่หากคิดในอีกมุมหนึ่ง การต่อสู้ทางการเมืองมีสองแนวคิด … สองแนวทางเสมอ เพราะการต่อสู้ทางการเมืองมีลักษณะของความเป็น “สงครามการเมือง” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคำถามของนักคิดในอีกด้านหนึ่งที่เห็นแย้งจากสายเหยี่ยวก็คือ สงครามการเมืองชนะด้วยอำนาจกำลังที่เหนือกว่าจริงหรือไม่?
คำตอบของผู้เห็นแย้งในทางยุทธศาสตร์ที่ถูกเรียกว่า “สายพิราบ” (The Dove) นั้น แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ชัยชนะด้วยกำลังเป็นเพียง “ชัยชนะทางยุทธวิธี” ที่อาจจะส่งผลได้ในระยะสั้น แต่หากพิจารณาถึงผลในระยะยาวแล้ว ชัยชนะทางยุทธวิธีอาจจะไม่นำไปสู่ “ชัยชนะทางยุทธศาสตร์” และผลตอบแทนที่ได้ในระยะสั้นนั้น อาจจะไม่มีคุณค่าในทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวแต่อย่างใด

ในอีกด้านหนึ่งนั้น อาจจะต้องตระหนักว่า ผู้ที่ชนะทางยุทธวิธีอาจจะไม่ใช่ผู้ชนะในสงครามการเมือง และในบริบทของสงครามอาจจะพบกับความน่าฉงนว่า ผู้ที่กุมชัยชนะทางยุทธวิธีกลับจบลงด้วยความเป็นผู้แพ้สงคราม ซึ่งทฤษฎีการสงครามและผลของสงครามการเมืองเช่นนี้อาจจะแตกต่างจากความรับรู้ของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และผู้มีอำนาจในกลุ่มการเมืองปีกขวาจัดทั้งหลายในไทย ที่คิดได้แค่เพียงมิติการใช้กำลังในสองรูปแบบหลักคือ การ “กวาดล้างและจับกุม” และเชื่อว่าสองมาตรการพื้นฐานเช่นนี้คือปัจจัยของชัยชนะ

แต่เงื่อนไขของสงครามการเมืองแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ชัยชนะไม่ใช่ “อำนาจของกำลัง” แต่เป็น “อำนาจของความคิด” เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ต่อสู้ด้วยอำนาจทางความคิด ซึ่งอำนาจเช่นนี้คือจักรกลในสมองที่จะตอบว่า มนุษย์จะดำเนินการต่อสู้หรือไม่ และเมื่อการต่อสู้ถูกยกระดับขึ้นแล้ว คนที่เข้าร่วมการต่อสู้มักจะไม่กลัวการปราบปราม … คนจะไม่กลัวอาวุธ แต่คนจะต่อสู้ด้วยความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้รับ และมีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นร่วมกัน

ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจต่อสู้เพื่อ “กวาดล้างอธรรม” ให้หมดไป เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต แต่สำหรับชนชั้นนำและบรรดาปีกขวาจัดทั้งหลายนั้น พวกเขาต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบัน และต่อสู้เพื่อปกป้องอภิสิทธิ์และผลประโยชน์ที่มีอยู่เฉพาะหน้า ด้วยความพยายามในการดำรง “สถานะเดิมทางสังคม” เพื่อไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะกระทบต่อสถานะของพวกเขา

นักคิดทางยุทธศาสตร์ตอบได้ดีว่า สภาวะเช่นนี้คือ จุดเริ่มต้นของ “การก่อความไม่สงบ” ที่คนในสังคมส่วนหนึ่งเริ่มเกิดอาการ “ชิงชัง” รัฐ เพราะรัฐเป็นตัวแทนของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม และหากการต่อสู้ถูกยกระดับขึ้นถึงจุดสำคัญแล้ว ก็อาจนำไปสู่ “การต่อต้านรัฐด้วยความรุนแรง” หรือในระดับสูงสุดคือ “การต่อต้านรัฐด้วยกำลังอาวุธ” อันเป็นพื้นฐานที่จะปูทางไปสู่สภาวะของ “สงครามกลางเมือง” ในตัวเอง ฉะนั้นคงไม่ผิดนักที่ชัยชนะของสายเหยี่ยวที่ใช้กำลังในการปราบปรามผู้เห็นต่างจะมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วย “จุดไฟสงคราม” ในบ้านให้ลุกลามขึ้น เพราะยิ่งปราบปรามมากเท่าใด ความแตกแยกทางการเมืองก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

สงครามคอมมิวนิสต์ทั้งในอินโดจีน และในบ้านของไทยเอง ยังคงเป็นข้อเตือนใจในทางยุทธศาสตร์เสมอ เว้นแต่ผู้ปกครองยุคหลังจะ “เหลิงอำนาจ” จนไม่มีบทเรียนการสงครามเหลือให้คิด และพาประเทศหวนคืนสู่วงจรความขัดแย้งใหญ่อีกครั้งในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์

สภาวะเช่นนี้ อาจกล่าวเป็นข้อสังเกตในทางยุทธศาสตร์ได้ว่า “สงครามการเมือง” ที่ไม่มีจุดจบคือ จุดเริ่มต้นของ “สงครามกลางเมือง” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออย่างน้อยคงต้องยอมรับว่า การปราบปรามทางการเมืองเป็นเงื่อนไขที่ดีของ “การกบฎ” หรือที่นักการทหารในสงครามนอกแบบเรียกอีกปัญหาเช่นนี้ว่า “การก่อความไม่สงบ” ที่มักจะมีลักษณะเป็น “สงครามยืดเยื้อ” และปฏิเสธไม่ได้ว่า สงครามเช่นนี้จะเป็นปัจจัยโดยตรงของการบั่นทอนพลังของสังคม

ชัยชนะของสายเหยี่ยวในการเมืองวันนี้ อาจจะทำให้ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำปีกขวาจัดในการเมืองไทยมีความมั่นใจอย่างมากว่า การปิดล้อมจับกุมผู้เห็นต่างกำลังพาพวกเขาเดินไปสู่ชัยชนะ แต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ตระหนักในด้านกลับว่า ชัยชนะเช่นนี้กำลังนำไปสู่สาวะของสงครามการเมืองที่ยืดเยื้อ และพาประเทศเข้าไปติด “กับดักความขัดแย้ง” ที่สุดท้ายแล้ว ไทยจะกลายเป็น “ผู้ทุพลภาพแห่งเอเชีย” ที่อนาคตของประเทศมีแต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รออยู่เบื้องหน้า

สายชนวนของ “การก่อความไม่สงบ” กำลังถูกจุดขึ้นแล้วในสังคมไทยด้วยชัยชนะของ “สายเหยี่ยว” ที่รอเวลาปะทุเป็นความขัดแย้งใหญ่!