ทางออกวิกฤตเมียนมายังมืดมน /สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ทางออกวิกฤตเมียนมายังมืดมน

 

วิกฤตเมียนมาตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ มาถึงวันนี้เข้าสู่สัปดาห์ที่หก

คำถามใหญ่คือ จะมี “ทางออก” อะไรบ้างเพื่อประชาชนผู้ลุกขึ้นมาต่อต้านการยึดอำนาจของทหารครั้งนี้จะไม่ถูกสังหารหรือทำร้ายเพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้

ถึงวันนี้จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกับผู้ถูกจับกุมยังเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ต้นสัปดาห์นี้สหประชาชาติประกาศว่า มีผู้เสียชีวิตในเมียนมาไปแล้วไม่น้อยกว่า 54 ราย และมีผู้ถูกจับกุมไปแล้วกว่า 1,700 ราย ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวจำนวน 29 รายด้วย

แต่ตัวเลขจริงๆ อาจจะสูงกว่านี้เป็นเท่าตัวก็ได้

กระแสต่อต้านภายในประเทศที่กว้างขวางและมุ่งมั่นในเมียนมาอยู่ในระดับที่ไม่กลายปรากฏมาก่อน ประกอบกับแรงกดดันจากนานาชาติรวมถึงสหประชาชาติต่อรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ผู้สร้างวิกฤตครั้งนี้ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต

นั่นคือ จะลุยต่อและเสี่ยงกับการที่ตนเองและพรรคพวกจะไม่มีแผ่นดินอยู่ และถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้สังหารโหดประชาชนของตนเอง

หรือจะยอมเจรจากับออง ซาน ซูจี ตามข้อเรียกร้อจากหลายๆ ฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เพราะทางออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป็นการยอมให้ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย” นั้นย่อมหมายถึงการนำพาประเทศไปสู่ความรุนแรงและหายนะ

แต่ทางออกในรูปแบบการเจรจานั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

 

ณ จุดนี้ผมประเมินว่าโอกาสที่นายพลมินอ่องหล่ายจะยอม “ลงจากหลังเสือ” มีต่ำกว่าร้อยละ 50

จึงเป็นภาพที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

เป็นภาพของเพื่อนบ้านทางตะวันตกของเราประเทศนี้ย้อนกลับไปสู่ “ยุคมืด”

ทำให้ความฝันและความหวังของคนเมียนมารุ่นใหม่แตกสลายไปต่อหน้าต่อตา

เพราะพวกเขาและเธอเพิ่งจะเห็นแสงสว่างแห่งอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ที่ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิหย่อนบัตร ให้ความไว้วางใจออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ของเธออย่างท่วมท้น

และเมื่อถึงคราวจะต้องออกไปใช้สิทธิ์ตามครรลองประชาธิปไตยอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คนเมียนมากว่า 80% ก็แสดงพลังด้วยการลงคะแนนให้กับเธอและพรรคของเธอกลับมาบริหารประเทศอีกสมัยหนึ่ง

แต่กองทัพที่นำโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิน อ่อง ลาย ก็ตัดสินใจ “คว่ำกระดาน” ด้วยการอ้างว่ามีการทุจริตอย่างกว้างขวาง

แทนที่จะหาหลักฐานเพื่อจะดำเนินคดีจัดการกับเรื่องโกงเลือกตั้งเป็นกรณีๆ ไป, มิน อ่อง ลาย กลับอ้างมาตรา 417 ในรัฐธรรมนูญ (ที่ทหารเป็นคนร่างเมื่อปี 2008) เพื่อยึดอำนาจและกำหนดกติกาใหม่ด้วยตนเอง

ทางออกที่ “สันติ, ยิ่งยืน และเป็นธรรม” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ผมมองว่าองค์การสหประชาชาติโดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องเป็นหัวหอกในกรณีนี้

อีกทั้งอาเซียนที่ไทยเราเป็นสมาชิกที่แข็งขันจะต้องเสริมบทบาทในฐานะเป็น facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) และ honest broker (คนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน) เพื่อดับไฟเมียนมาที่อาจจะลามมาถึงไทยและภูมิภาคหากไม่มีการระงับยับยั้งความบ้าระห่ำของทหารติดอาวุธที่ไล่สังหารประชาชนอย่างที่เห็นอยู่ขณะที่ผมเขียนคอลัมน์วันนี้

สอดคล้องกับที่ผมเห็นข่าวว่าผู้แทนพิเศษสหประชาชาติได้ออกมาเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นเรียกประชุม “เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ” เพื่อหามาตรที่จะนำประชาธิปไตยกลับสู่เมียนมา

คริสทีน ชราเนอร์ ในตำแหน่ง “ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาตินด้านกิจการเมียนมา” ได้นำเสนอเป็นเอกสารเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคง หรือ UN Security Council รีบ “ดำเนินการอย่างแข็งขัน” เพื่อกดดันให้กองทัพยุติการใช้ความรุนแรง และฟื้นฟูสถาบันประชาธิปไตยในเมียนมา

ข้อเสนอของเธอสอดคล้องกับที่หลายประเทศและองค์กรได้เรียกร้องมาก่อนหน้านี้

นั่นคือ เมื่อยุติการใช้อาวุธสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้วสิ่งที่จะต้องตามมาก็คือการปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ในฐานะเป็นหัวหน้าพรรค NLD

อีกทั้งต้องปล่อยตัวประธานาธิบดีวิน มินต์ และนักการเมืองที่ถูกจับไปด้วยข้อหาต่างๆ ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร

 

การต่อสู้ระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” ของเมียนมาครั้งนี้มี “สมรภูมิ” อยู่ในทุกเวที

ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น, ระดับจังหวัด, ระดับประเทศ, ระดับภูมิภาคและระดับโลก

ขณะที่กองทัพที่ยึดอำนาจประกาศตั้ง “สภาบริหารแห่งรัฐ” หรือ State Administration Council (SAC) โดยอ้างรัฏฐาธิปัตย์

แต่กลุ่มนักการเมืองที่ประชาชนเลือกมาด้วยคะแนนท่วมท้นในคราวนี้ก็ประกาศตั้ง Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) เป็นผู้มีความชอบธรรมของรัฐสภา

กลายเป็นประเด็นใหญ่ว่าที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) จะรับรองฝ่ายไหนเป็นตัวแทนที่ “ชอบธรรม ” (legitimate) ของประเทศเมียนมา

นั่นอาจจะหมายถึงการที่สมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศอาจจะต้องลงมติเพื่อตัดสินเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของการเมืองโลกก็ได้

เพราะเมื่อทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ “จอโมตุน” ประกาศกลางที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (พร้อมชู 3 นิ้ว) ว่าเขาขอประณามการยึดอำนาจครั้งนี้ ก็เท่ากับผู้แทนเมียนมาในยูเอ็นแห่งนี้ประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลจากรัฐประหาร

และเมื่อกองทัพประกาศตั้งอุปทูตขึ้นมารักษาการแทน เขาก็ประกาศลาออก ไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ

ไม่แต่เท่านั้น CRPH ก็ยังประกาศว่าได้แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 4 คนที่ “ถูกต้องตามกฎหมาย”

อีกทั้งยังเรียกรัฐบาลทหารที่ไล่ล่าประชาชนด้วยอาวุธร้ายแรงว่าเข้าข่ายเป็น “กลุ่มก่อการร้าย”

 

การต่อสู้ว่าด้วย “ความชอบธรรม” ทั้งภายในประเทศและในเวทีสากลกำลังจะกลายเป็นประเทศร้อนแรงที่ท้าทายหลักการสากลที่เคยมีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างน่าสนใจยิ่ง

อีกด้านหนึ่ง แรงกดดันจากนานาชาติต่อผู้นำทหารเมียนมาคือการ “ตัดท่อน้ำเลี้ยง” ที่กองทัพสามารถใช้เพื่อจะค้ำอำนาจทางการเมืองของตนต่อไป

นั่นคือเส้นทางการเงินที่ประชาคมโลกเห็นว่าต้องสกัดเพื่อไม่ให้นายพลพม่าทั้งหลายสามารถใช้ในการปราบปรามประชาชนต่อไป

หนึ่งในมาตรการชุดนี้เกิดขึ้นเมื่อมีข่าวยืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐได้สั่งอายัดและสกัดรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ให้ถอนเงิน 1 พันล้านดอลลาร์จากบัญชีธนาคารกลางในนิวยอร์ก

เหตุเกิดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ หลังวันยึดอำนาจเพียง 3 วัน

ข่าวบอกว่ารัฐบาลทหารเมียนมาพยายามเคลื่อนย้ายเงินฝากมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ออกจากธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์ก

ธนาคารกลางสหรัฐใช้วิธีอายัดเงินก้อนนี้ไว้ เพื่อรอให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามออก “คำสั่งฝ่ายบริหาร” ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ระงับธุรกรรมนี้ไม่มีกำหนดเวลา

นายพลเมียนมานึกว่าตนเคลื่อนไหวรวดเร็วแล้วที่จะหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรที่เกี่ยวกับเงินก้อนใหญ่ในสหรัฐ

หลังจากแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่และสั่งขังเจ้าหน้าที่ที่ให้การสนับสนุนการปฏิรูปหลังยึดอำนาจ ก็เริ่มลุยแผนการเคลื่อนย้ายเงินก้อนนี้ทันทีครั้งนี้

แต่ช้ากว่าฝั่งสหรัฐที่จ้องจะลงโทษนายพลที่เตรียมคว้าเงินก้อนใหญ่เพื่อสนับสนุนการดำรงไว้ซึ่งอำนาจของตนเอง

คำสั่งของโจ ไบเดน ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้นายพลกองทัพเมียนมาทั้งหลาย “เข้าถึง” เงินกองทุนรัฐบาลเมียนมามูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ “อย่างไม่เหมาะสม”

สำหรับเผด็จการทหารแล้ว “อำนาจ” กับ “เงิน” ต้องมาด้วยกัน…แต่ครั้งนี้ทั้งสองอย่างนี้จะแพ้กระแสต่อต้านของ “คนรุ่นใหม่” อย่างมุ่งมั่น, แข็งขันและอุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์บวกจินตนาการแน่นอน