สิ่งแวดล้อม : ลด ‘ขยะอาหาร’ กันเถอะ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

ลด ‘ขยะอาหาร’ กันเถอะ

 

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนป เปิดรายงานดัชนี “ขยะอาหาร” ของปี 2564 พบว่าปริมาณขยะอาหารทั้งโลกไม่ว่าจะมาจากครัวเรือน ร้านค้าหรืออุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งสิ้น 931 ล้านตัน เฉพาะที่มาจากครัวเรือนเกือบๆ 570 ล้านตัน

เฉพาะขยะอาหารที่ทิ้งจากครัวเรือน ภัตตาคารหรือร้านค้า ทิ้งลงถังขยะคิดเป็นสัดส่วน 17 เปอร์เซ็นต์ของอาหารทั้งหมด บางส่วนนั้นชาวไร่ พ่อค้าคัดออกเพราะไม่ได้คุณภาพหรือไม่ก็เขี่ยทิ้งระหว่างขนส่งเนื่องจากเน่าเสีย

เท่ากับว่า 1 ใน 3 เป็นอาหารที่ผลิตออกมาแล้วแต่ชาวโลกไม่ได้กิน

ค่าเฉลี่ยทิ้งขยะอาหารของคนทั้งโลกอยู่ที่ 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

คุณอิงเกอร์ แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการยูเนปบอกว่า ถ้าหากชาวโลกต้องการแก้ปัญหาโลกร้อน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ลดมลพิษอย่างจริงๆ จังๆ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการลดขยะอาหาร

 

ในรายงานดัชนีซึ่งรวบรวมข้อมูลขยะอาหารจากทั่วโลกพร้อมผลวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ พบว่าในประเทศทั้งพัฒนาแล้วหรือประเทศยากจนต่างก็กินทิ้งกินขว้างด้วยกันทั้งสิ้น

ตามข้อมูลพบว่าชาวออสเตรียทิ้งขยะอาหารจากครัวเรือนปีละ 39 กิโลกรัม

ถ้าเทียบกับชาวยุโรปชาติอื่นๆ ออสเตรียกินทิ้งกินขว้างต่ำมาก ดูจากสถิติชาวเดนมาร์ก ทิ้งขยะอาหาร 79 กิโลกรัม/ปี เยอรมัน 75 กิโลกรัม อิตาลี 67 กิโลกรัม ชาวกรีซกินทิ้งกินขว้างมากสุด 142 กิโลกรัม

ชาวอเมริกันทิ้งขยะอาหารปีละ 59 กิโลกรัม ต่ำกว่าชาวแคนาเดียนซึ่งทิ้งขยะอาหาร 79 กิโลกรัม

ฝั่งเอเชีย ชาวจีนให้ความสำคัญกับอาหาร กินอาหารอย่างพอเหมาะพอเจาะกว่าชาติอื่นๆ

ชาวกรุงปักกิ่งทิ้งขยะอาหารเพียงปีละ 26 กิโลกรัม คิดค่าเฉลี่ยทั้งประเทศจีน 26 กิโลกรัม

เทียบชาวจีนกับชาวฮ่องกง ต่างกันมาก เพราะชาวฮ่องกงกินทิ้งกินขว้างปีละ 101 กิโลกรัม

ชาวญี่ปุ่นทิ้งขยะอาหารปีละ 64 กิโลกรัม

ส่วนคนไทย อาหารในครัวเรือนเหลือทิ้งเป็นขยะปีละ 79 กิโลกรัม สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และยังสูงกว่าเพื่อนบ้านมาเลย์ซึ่งทิ้งขยะอาหารปีละ 71 กิโลกรัม

 

ถ้ามองย้อนกลับ ขยะที่มาจากอาหารตั้งแต่ต้นน้ำคือเริ่มจากการถางป่า เกลี่ยดินลงปุ๋ย หว่านเมล็ดพันธุ์ เก็บดอกผล ขนขึ้นรถส่งไปตลาด ร้านค้า ภัตตาคาร นำเข้าครัว แม่ครัวพ่อครัวปรุงเป็นอาหารกินและเหลือกลายเป็นขยะ

จนกระทั่งปลายน้ำคือเอาขยะอาหารไปทิ้งฝังกลบหรือลงหลุม เกิดก๊าซเรือนกระจกตามมา

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า กว่าจะได้เนื้อหมู 1 กิโลกรัม เกษตรกรต้องใช้น้ำเลี้ยงหมู 6,000 ลิตร

ไข่ไก่ 1 ฟองต้องใช้น้ำอย่างน้อยๆ 200 ลิตร

ประมวลได้ว่ากระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8-10 เปอร์เซ็นต์

 

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประเมินว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งในโลกนี้ อาจมีปริมาณเทียบได้เท่ากับ 3,300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี

อย่างที่รู้ๆ กันว่า ก๊าซเรือนกระจกทำให้สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน เกิดฝนตกหนัก พายุถล่ม น้ำท่วม อุณหภูมิพุ่งสูง อากาศร้อนจัด คลื่นความร้อนแผ่ซ่าน ภัยแล้ง ฝนไม่มี หิมะละลาย ธารน้ำแข็งหดหาย น้ำทะเลเพิ่มสูง

ภัยพิบัติเหล่านี้ย้อนกลับมาทำร้ายผู้คน เกษตรกร พืชสวนไร่นา

“ถ้าเราช่วยกันลดขยะอาหาร เท่ากับเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการโค่นป่า ลดการทำลายผืนดิน การใช้น้ำพลังงานนำผลผลิตมาทำอาหารและบริโภคอย่างพอเหมาะพอเจาะ กระจายให้ผู้คนอย่างทั่วถึงจะลดการหิวโหย ช่วยประหยัดเงิน” คุณแอนเดอร์สันชี้แจง

ข้อมูลเมื่อปี 2562 พบว่า ชาวโลก 690 ล้านคนอยู่ในภาวะหิวโหย และอีกราว 3,000 ล้านคนไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้ออาหารถูกสุขลักษณะมาบริโภค

ด้วยข้อมูลดังกล่าว ยูเนปพยายามเรียกร้องให้ผู้บริโภคหยุดกินทิ้งกินขว้าง และผลักดันให้เกษตรกร ร้านค้า ภัตตาคาร ควบคุมผลผลิตป้องกันการเกิดขยะอาหารให้น้อยที่สุด

 

แนวทางที่ลดขยะอาหารให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดคือต้องกินให้พอเหมาะพอเพียงกับความต้องการของร่างกายของครอบครัว

เลิกนิสัยกักตุนอาหารเพราะเป็นหนทางให้เกิดขยะอาหารมากขึ้นเนื่องจากเกิดเน่าเสีย หมดอายุ

เมื่อเลิกกักตุนอาหารจะช่วยให้ชาวไร่ชาวนา พ่อค้าสามารถคำนวณผลผลิตได้ชัดเจนว่าควรจะเพาะปลูกและผลิตในปริมาณเท่าไหร่ เมื่อรู้ปริมาณที่แน่ชัด การไปขยายพื้นที่เพาะปลูกก็จะลดลงหรือถูกจำกัดได้ดีขึ้น

ในอดีต จะเห็นได้ว่า เมื่อผู้บริโภคต้องการผลผลิตเพิ่ม เกษตรกรเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูก นำไปสู่การลักลอบแผ้วถางทำลายผืนป่า พื้นที่ป่าไม้ลดลง

แนวทางที่จะช่วยให้ลดปริมาณขยะอาหาร ชาวโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค นอกจากกินให้พอเพียง ไม่กินทิ้งกินขว้างแล้ว ยังต้องเลือกกินอาหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น กินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพราะพืชที่เพาะปลูกนำไปเป็นอาหารของคนเพียง 55 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์และเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ

การกินอย่างพอเพียงไม่เหลือทิ้ง นอกจากช่วยให้เราประหยัดตังค์ในกระเป๋าแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ด้วย ช่วยกันทำตั้งแต่วันนี้ยังไม่สาย