อนาคตของเมียนมาและอาเซียน-โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

อนาคตของเมียนมาและอาเซียน

 

เป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว ที่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในเมียนมาเกิดขึ้น

แต่ดูท่าทีความขัดแย้งนั้นตรึงเครียดขึ้นจนอาจเปลี่ยนสภาพไป

ประเด็นอยู่ที่ แรงผลักดันจากภายใน ที่มาจากการลุกฮือต่อต้านของคนเมียนมาเอง

ในขณะที่แรงกดดันจากภายนอกก็มีส่วนสร้างความกดดันอย่างสูงต่อผู้นำทหารในเมียนมา

แรงกดดันจากภายนอก

 

แม้ว่าการประชุมฉุกเฉินของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม จะออกมาอย่างไร้ผล อันเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม จากแถลงการณ์ของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ว่า

“…เราเรียกร้องด้วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แสวงหาข้อสรุป ผ่านการเจรจาอย่างสร้างสรรค์…”*

อย่างไรก็ตาม ท่าทีและบทบาทของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนกลับมีผลอย่างสำคัญต่อวิกฤตการณ์การเมืองภายในเมียนมาขณะนี้

เราจะเห็นว่า หากดูจากแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนดารุสซาลาม ที่ว่า

เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง แม้ว่าไม่ได้ระบุอะไรชัดเจนว่า เรียกร้องให้ปล่อยตัวเมื่อไหร่ก็ตาม เราควรตระหนักอย่างยิ่งว่า ประเทศที่อยู่ไกลโพ้นจากพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศเล็กๆ ชาติมุสลิมที่ยังปกครองโดยผู้นำโดยระบบสุลตานอย่างบรูไนดารุสซาลามยังประกาศอย่างตรงไปตรงมา ให้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารปล่อยตัวนักโทษการเมืองเลย

หลายคนอาจเชื่อว่า การเมืองแห่งผลประโยชน์ (Politic of Interest) ย่อมชี้นำและครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ชาติสมาชิกอาเซียนจะเห็นแก่ผลประโยชน์ที่เมียนมาหยิบยื่นให้ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านการลงทุน การค้าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนานาประการ แต่การใช้การเมืองแห่งผลประโยชน์ของเมียนมาครั้งนี้เพื่ออธิบายทุกอย่าง อาจไม่ได้เป็นไปดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยเฉพาะผู้นำทหารที่ก่อการรัฐประหาร

ให้สังเกตว่า นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศที่มีความสำคัญยิ่ง นั่นคือ เขากล่าวว่า

“…การใช้กำลังอาวุธกระทำต่อพลเรือนและผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธ ผมคิดว่ามันไม่อาจยอมรับได้…”

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยังกล่าวอีกว่า “…การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความพินาศแก่นานาชาติเท่านั้น ความพินาศยังมีต่อภายในอีกด้วย…”

ผมวิเคราะห์ว่า ไม่เพียงเป็นคำสัมภาษณ์ที่วิจารณ์ผู้ใช้อาวุธโดยตรงแล้ว นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยังมองเห็นว่า เพราะการใช้อาวุธเข่นฆ่าประชาชนผู้ประท้วงรัฐบาล ได้สร้างความอับอายเสียหายไปทั่วโลกแล้ว

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยังมองออกอย่างกระจ่างว่า การใช้อาวุธสังหารประชาชนที่ปราศจากอาวุธจะย้อนกลับไปสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้อาวุธเอง จนอาจเกิดความพินาศ ล่มสลายภายในประเทศเมียนมาเอง

 

ที่ผมเห็นเช่นนั้นก็เพราะว่า สิงคโปร์ด้านหนึ่งปกครองด้วยพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคเดียว เป็นประเทศที่มีความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายและยังมีประสบการณ์การควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนทั้งของตัวเอง และภาคประชาชนที่เรียกร้องการแสดงออกทางการเมืองจากภายนอกด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ไม่อ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในเมียนมา

ไม่อ่อนไหวว่านี่จะเป็นตัวอย่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในสิงคโปร์อย่างที่เคยเป็น

ที่สำคัญ ท่าทีและการเคลื่อนไหวของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อเมียนมาคราวนี้ ไม่ได้ใช้การเมืองแห่งผลประโยชน์เป็นตัวตั้งและเป็นด้านหลัก

ไม่ใช่สิงคโปร์ไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเมียนมา แต่การลุกฮือของประชาชนเมียนมาอาจเป็นโฉมหน้าใหม่ที่เป็นจริงทางการเมือง ซึ่งสิงคโปร์มองออก

คล้ายๆ กัน หากย้อนกลับไปดูผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในเมียนมา มาเลเซียมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเมียนมามาก เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต กิจการประมงและแปรรูปอาหารทะเล การลงทุนด้านพลังงาน ด้านการบริการ เช่น กิจการโรงแรม กิจการธนาคาร อุตสาหกรรมโทรคมนาคม

อีกทั้งรัฐบาลมาเลเซียก็ใช้การเมืองแห่งผลประโยชน์ ผลักดันนโยบายการทูตของตนในเมียนมามาอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ท่าทีของมาเลเซียกลับเหมือนกับสิงคโปร์และเหมือนกับนานาชาติ

รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย นาย Hishammuddin Hussein แถลงการณ์ของเขาเองวิจารณ์ให้เสนอการแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาคราวนี้คือ

“…เรียกร้องให้ทำทันทีและปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขต่อนักโทษการเมือง รวมทั้งนางออง ซาน ซูจี และ U Win Myint และสมัครพรรคพวกของเขา และหนุนให้ใช้การเจรจาโดยฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง…”

 

ส่วนฟิลิปปินส์ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ไกลและห่างจากเมียนมาเช่นกัน ฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเมียนมาไม่มาก

ฟิลิปปินส์ไม่คุ้นเคยกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้งประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจ อันที่จริงคล้ายๆ กับสิงคโปร์และมาเลเซียด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียเกี่ยวพันหลากหลายกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในแง่แหล่งลงทุนเมื่อประเทศเหล่านี้เปิดประเทศอีกครั้งหนึ่งหลังการสิ้นสุดสงครามเย็น

แต่เมื่อเกิดรัฐประหารในเมียนมา เกิดการปราบปรามประชาชนโดยผู้นำทหาร รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ Teodoro Locsin กลับเชิดชูบทบาทของผู้นำพลเรือน โดยเฉพาะนางออง ซาน ซูจี

Teodoro Locsin ยอมรับการรวมชาติของนางออง ซาน ซูจี ทั้งในอดีตและในอนาคตของประเทศเมียนมา อีกทั้งเรียกร้องรัฐบาลเมียนมาให้ฟื้นฟูและกลับคืนไปอยู่แบบเดิมก่อนหน้านั้น ซึ่งก็คือ ก่อนการรัฐประหารนั่นเอง

 

เราควรนำเสนอทิ้งท้าย บทบาท ท่าทีและคำพูดของนักการทูตอินโดนีเซีย ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้รัฐมนตรีต่างประเทศและทูตเพื่อนบ้านในอาเซียนอื่นๆ รัฐมนตรีต่างประเทศหญิงอินโดนีเซีย Retno Marsudi เธอใช้การทูตที่เธอเรียกว่า Shuttle Diplomacy เดินทาง พูดคุย ล้อมวงเจรจาในหลายๆ ประเทศ และในหลายๆ ระดับทั้งในอาเซียนและชาติมหาอำนาจอื่นๆ

แน่นอนนี่เป็นงานประชาสัมพันธ์ในทางหนึ่ง แต่ย่อมแสดงบทบาทอันแพรวพราวของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียด้วย

เรายังจำได้ว่า เธอเดินทางมาไทย ภาพเธอปรากฏในวงสนทนาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศไทยและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา แน่นอน ภาพเธอไปปรากฏในสื่อทั้งออนไลน์และสื่อกระแสหลัก ยังย้ำเอาไว้ด้วย เอกสารย่อ (Briefing) การเดินทางเยือนที่นั่นที่นี่ เช่น การเดินทางเยือนไทยและการพูดคุยที่ดอนเมืองด้วย เธอเสนอว่า

“…ความปรารถนาและหวังดีของอาเซียนเพื่อช่วย จะไม่สามารถช่วยเมียนมา ถ้าเมียนมาไม่เปิดประตู (ต่างๆ) ของตัวเองต่ออาเซียน…”

เห็นไหม ทั้งขู่ทั้งปลอบ หลอกล่อ ชั้นเชิงการทูต เล่นเอาใครต่อใคร รวมทั้งผู้นำทหารเมียนมาต้องรับฟังและปรับเกมทางการทูตในเวทีนานาชาติและในอาเซียนเลยทีเดียว

เฟกนิวส์ เพื่อนบ้านที่ดีและคำลวง

 

อยากทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ไทยและอาเซียนล้วนอยู่ท่านกลางเฟกนิวส์ อันหมายถึง ข่าวปล่อย ข่าวลวงเพื่อสร้างภาพ สร้างมายาคติ และเพื่อให้ได้แต้มต่อทางการเมืองทั้งสิ้น

ในบริบทภายในเฟกนิวส์มีแน่นอน ในระดับชาติ ภูมิภาคและนานาชาติก็มีไม่แพ้กัน

ข่าว ข้อมูลและกระแสการรักษากฎหมายของรัฐและเจ้าหน้าที่ในเมียนมาปล่อยออกมาลวงและล่อหลอกใครๆ ไปทั่ว เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการรัฐประหารและการเข่นฆ่าประชาชนพลเรือน

แต่อีกด้านหนึ่ง ข่าว ข้อมูลและภาพการกวาดล้างพลเรือนก็โผล่ออกมาค้านข้อมูลลวงของรัฐ

โปรดระวัง เพื่อนบ้านที่ดี ผู้นำทหารเมียนมาโปรยคำหวาน เพื่อนบ้านที่ดี ที่เขาอยากได้ อยากมี คืออะไรหรือครับ เพื่อนบ้านที่เงียบ เงียบและยินยอม อนุญาตให้ฆ่า (License to Kill) ใครก็ได้ อะไรที่ผู้นำเมียนมาอยากได้จากเพื่อนบ้านที่ดีๆ ที่ใกล้เขาและคุ้นเคยกันดี น่าจะเป็นไทยนี่เอง

น่าสนใจ ช่างเข้ากับบุคลิกของพี่ไทยที่ชื่นชอบผลประโยชน์ที่เขายื่นให้มาตลอด

ขอเตือน อันตรายมาก

*Sebastian Strangio, “ASEAN Foreign Ministers meet to discuss Myanmar crisis” The Diplomate 3 (March 2021)