วัคซีนโควิด-19 ปมที่ต้องติดตามใกล้ชิด-รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

มงคล วัชรางค์กุล

 

วัคซีนโควิด-19 ปมที่ต้องติดตามใกล้ชิด

 

ในที่สุด “ลุงตู่” ก็ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกของเมืองไทย ด้วยเหตุผลว่า วัคซีน Sinovac จากจีนนั้น ไม่ได้ทดลองสำหรับคนที่อายุเกิน 59 ปี

ทั้งที่เมืองไทยโปรโมตกันว่า Sinovac ให้ผลคุ้มครอง 80%

ดังนั้น วัคซีนเข็มแรกเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จึงฉีดให้ รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ติดตามด้วย รมต.ช่วยสาธารณสุข และ รมต.อีก 2 คน ต่อด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ตามด้วยบรรดาหมอระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโฆษก ศบค.

วันรุ่งขึ้นจึงเริ่มฉีดให้บุคลากรแพทย์แนวหน้าที่ต้องผจญกับเชื้อโควิด-19

Post Today 24 กุมภาพันธ์ 2564 รายงานว่า เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ ผู้อำนวยการองค์การอาหารและยา (FDA) ของฟิลิปปินส์แถลงไม่แนะนำให้ใช้วัคซีน Sinovac กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสกับเชื้อไวรัสจำนวนมาก เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 50.4% เท่านั้น

ฟิลิปปินส์มองคนละมุมกับสาธารณสุขไทยที่ระดมฉีดให้บุคลากรแพทย์

แต่น่าเห็นใจที่เมืองไทยมีแค่วัคซีน Sinovac ตัวเดียว จึงไม่มีทางเลือกอื่นเหมือนฟิลิปปินส์

ถือว่า ดีกว่าไม่มีอะไรเลย

แถมไม่มีอะไรจะเสีย (Nothing to Lose) อีกด้วย

 

ผมเคยเขียนในมติชนสุดสัปดาห์แล้วว่า ผลทดลองของสถาบัน Butantan ใน Sao Paulo, Brazil ร่วมกับ Sinovac ได้ผลคุ้มครอง 50.4% ผ่านเกณฑ์ของ WHO ที่ 50% อย่างฉิวเฉียด (The Wall Street Journal 13 มกราคม 2021)

ก่อนหน้านั้นมีข่าวว่า จีนไม่ฉีดวัคซีนจีนให้ผู้นำระดับสูงและบุคลากรแพทย์แนวหน้า แต่สั่งนำเข้าวัคซีนของ BioNTech จากเยอรมัน (เทคโนโลยีเดียวกับ Pfizer) มาฉีดแทน (Bloomberg 16 ธันวาคม 2020)

แต่ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร คุณภาพแค่ไหน ก็ขอให้ได้ฉีดเถิด

ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีบอกว่า ลุงตู่ยินดีให้เอกชนนำเข้าวัคซีน แต่พอเอาเข้าจริง เอกชน 16 กลุ่มในภูเก็ตและ อบจ.ภูเก็ตจะนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้ผู้ปฏิบัติการแนวหน้าด้านท่องเที่ยว ก็โดนคำสั่งมหาดไทย ด่วนมาก ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ห้ามเอกชนและ อปท. (องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) นำเข้าวัคซีน ต้องให้รัฐเป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว

ต่อมา ลุงตู่ให้สัมภาษณ์ตอนไปรับวัคซีน Sinovac ที่สนามบินสุวรรณภูมิว่า รัฐไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีน (ผู้จัดการ 24 กุมภาพันธ์ 2564)

ทั้งหมดนี้คือคำพูดที่ทำให้ “ดูดี” เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ การปิดกั้นห้ามนำเข้าวัคซีนยังคงอยู่ เพราะยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าของมหาดไทย ทำให้ อปท.นำเข้าไม่ได้

วัคซีนที่ได้จากจีนล็อตแรกแค่สองแสนโดสยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

การปิดกั้นไม่ให้เอกชนนำเข้า เป็นเรื่องน่าวิตกว่าประชาชนจะฉีดวัคซีนได้ไม่ทั่วถึง ทำให้เศรษฐกิจไม่พลิกฟื้น

เพราะในพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว ย่อมสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้นและเศรษฐกิจการค้าขายเริ่มกลับมา ยกตัวอย่างในเขต Berks County ที่เมืองเรดดิ้งสังกัดอยู่ หลังจากฉีดวัคซีนได้จำนวนหนึ่ง น.ส.พ. Reading Eagle 24 กุมภาพันธ์ 2021 รายงานว่า เมื่อวันก่อนตัวเลขคนป่วยเป็นศูนย์ เป็นครั้งแรกในรอบ 52 สัปดาห์

ร้านอาหารในเมืองเรดดิ้งเริ่มอนุญาตให้คนนั่งกินในร้านได้ แต่ให้เปิดพื้นที่แค่ครึ่งเดียวก่อน

อเมริกาคาดว่าการระบาดของโควิด-19 จะยุติลงในช่วงก่อนหน้าร้อนราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพราะถึงตอนนั้นคงฉีดวัคซีนให้คนได้ทั่วถึงแล้ว

ตอนนี้ทีวีมีโฆษณาการท่องเที่ยวทางเรือ Cruise กันแล้ว ความรื่นรมย์ของฤดูกาลท่องเที่ยวกำลังกลับมา

สิ่งนี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทยที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวได้ไหม ถ้าไม่รีบฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งก็มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้ผู้พร้อมจ่าย แต่ต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบของไทยก่อน

 

ส่วนวัคซีนของ AstraZeneca มีรายงานว่า ในฝรั่งเศสมี AstraZeneca อยู่หนึ่งล้านโดส แต่ใช้ไปเพียง 16% เพราะไม่กล้าฉีดให้คนอายุเกิน 65 ปี เนื่องจากไม่มีรายงานผลการทดลองที่อายุขนาดนี้ รวมทั้งฝรั่งเศสมีวัคซีน BioNTech เทคโนโลยีเดียวกับ Pfizer เป็นอีกทางเลือก

ต่อมาฝรั่งเศสประกาศฉีด AstraZeneca ให้คนอายุ 65-74 ปี แต่ยังไม่ฉีดให้คนอายุเกิน 75 ปีขึ้นไป

BBC NEWS 1 มีนาคม 2021 รายงานว่า จากการศึกษาคนป่วยใน 2 Bistro hospitals ค้นพบว่าทั้งวัคซีน Pfizer BioNTech และ Oxford AstraZeneca ช่วยป้องกันการเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลของคนอายุ 80 ปีขึ้นไปได้ 80%

ในรายงานของ BBC ยอมรับว่ามีวัคซีน AstraZeneca คงเหลืออยู่ในยุโรป เพราะหลายประเทศไม่ฉีดให้คนอายุเกิน 65 ปี บางประเทศไม่ฉีดให้คนอายุเกิน 55 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะการขาด data ข้อมูลการทดลอง

เยอรมนียังไม่ฉีด AstraZeneca ให้คนอายุเกิน 65 ปี

ล่าสุด The Epoch Times 7 มีนาคม 2021 อ้างแหล่งข่าวจาก Reuters ส่งจาก Zurich ว่า ออสเตรียโดยสำนักงานกลางเพื่อความปลอดภัยด้านสาธารณสุข (The Federal Office for Safety in Health Care – BASG) ประกาศห้ามฉีดวัคซีน AstraZeneca ที่เหลือทั้งหมดในประเทศ

สาเหตุเพราะมีผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 49 ปี ฉีดวัคซีนแล้วเกิด severe coagulation disorders เกิดจากเกล็ดเลือดตกต่ำ ทำให้เลือดไม่แข็งตัวแล้วตาย เป็นอาการเดียวกับหมอที่ฟลอริดาฉีด Pfizer แล้วตายเมื่อเดือน ธ.ค. 2020

ขณะเดียวกันมีผู้หญิงอีกคนอายุ 35 ปี ฉีดแล้วเกิด pulmonary embolism อาการเลือดแข็งตัวผิดปกติ แล้วกระจายไปติดที่ปอด เป็นอาการตรงกันข้ามกับเคสแรก แต่เธอคนนี้โชคดีไม่ตาย รักษาหายแล้ว

BASG จึงทำการสอบสวนและออกคำสั่งห้ามฉีด AstraZeneca ที่เหลือทั้งหมด

MGR ONLINE 7 มีนาคม 2564 อ้างแหล่งข่าวจากรัสเซียทูเดย์ว่า เกาหลีใต้จบสัปดาห์แรกของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชน 296,000 คน หรือ 0.6% ของประชากร มีคนที่ฉีดแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ 2,800 ราย มี 24 รายที่อาการรุนแรง ในจำนวนนี้ 7 รายเสียชีวิต

วัคซีนส่วนใหญ่ที่ฉีดในเกาหลีเป็นของ AstraZeneca ผลิตในเกาหลี ส่วนของ Pfizer BioNTech เพิ่งฉีดไปได้เพียง 5,000 ราย เพราะสั่งไปแล้วเพิ่งได้เข้ามาจำนวนหนึ่ง ต้องรอล็อตใหญ่หลายล้านโดสปลายมีนาคมนี้ ไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากวัคซีน Pfizer

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (The Korea Disease Control and Prevention Agency – KDCA) บอกว่ากำลังสืบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น

วัคซีน AstraZeneca ที่เข้ามาเมืองไทยวันเดียวกับ Sinovac นั้นเป็นวัคซีนจากเกาหลีจำนวน 117,600 โดส ขนส่งมาโดย Korean Air ผลิตในเกาหลีจากโรงงาน SK bioscience ในเครือของ SK Chemicals

โดยรวม อาการข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีน AstraZeneca ถือว่าน่าเป็นห่วง

เมืองไทย “แทงม้าตัวเดียว” รอวัคซีน AstraZeneca ที่จะผลิตออกมาเดือนมิถุนายนนี้ ผลจะเป็นอย่างไร

 

ราคาวัคซีน Sinovac 50.4% คำนวณจากอินวอยซ์บวกภาษีแล้วตกโดสละ 18.36 เหรียญ

ราคาที่ Pfizer 95% ขายให้รัฐบาลกลางอเมริกันตกโดสละ 19.5 เหรียญ

เปรียบเทียบแล้ว ถือว่าวัคซีน Sinovac แพงมากเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ให้มา

อุปทูตจีนกล่าวในงานต้อนรับวัคซีนที่สนามบินว่า นี่เป็นวัคซีนที่จีนส่งให้ไทยในเชิง “พาณิชย์” เป็นประเทศแรกในอาเซียน

จีนค้าขายไม่มีราคามิตรภาพประเภท “กากี่นั้ง” มีแต่ราคา “ตีหัว” อย่างเดียว

เปรียบเทียบกับราคาวัคซีน Covishield ของอินเดีย เทคโนโลยีจาก AstraZeneca กับ Oxford U ของอังกฤษ ส่งออกไปแคนาดา เม็กซิโก อาร์เจนตินา บราซิล เซาธ์แอฟริกา บาห์เรน ซาอุฯ โมร็อกโก

ล็อตแรกของ Covax องค์การจ่ายวัคซีนให้ประเทศยากจนของ WHO ส่ง Covishield ให้ประเทศกานา

Covishield ราคาขายในอินเดีย 2 โดส (2 เข็ม) 5 เหรียญ ราคาขายต่างประเทศ 2 โดส 8-10 เหรียญ (CNN ธันวาคม 2020)

สำหรับมิตรประเทศในเอเชีย ลดราคาให้ครึ่งหนึ่ง อย่างที่ขายให้พม่า (พม่าสั่งซื้อ 1.5 ล้านโดส คิดเงิน 7.5 แสนโดส อีก 7.5 แสนโดสให้เป็นของขวัญ Vaccine Politics)

วัคซีน Covishield ของอินเดียถึงจะเป็นของดี ราคาถูก ใกล้บ้านอย่างไร

เมืองไทยก็ไม่มีวันนำเข้ามา

เพราะ Covishield ใช้เทคโนโลยีของ AstraZeneca ตัวเดียวกับวัคซีนไทยที่จะออกมาเดือนมิถุนายนนี้

ขืนเอาของคุณภาพเดียวกันราคาถูกกว่าเข้ามา จะเป็นการตัดราคาวัคซีนไทยหมดกันพอดี

เป็นเรื่องที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง