สองฉากทัศน์ รัฐล้วนกินรวบ / บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

สองฉากทัศน์ รัฐล้วนกินรวบ

 

ในมุมของการคาดการณ์อนาคตทางการเมือง มักปรากฏคำว่า “ฉากทัศน์” (Scenario) หรือภาพการคาดการณ์ที่มีโอกาสเป็นไปได้ 2 ลักษณะ

คือ ภาพที่ดีที่สุด (Best case scenario) ที่มองสถานการณ์ในแง่ดีประกอบด้วยปัจจัยบวกต่างๆ ที่เกื้อกูลสนับสนุนไปสู่ความสำเร็จ

กับภาพที่เลวร้ายที่สุด (Worst case scenario) ที่ประเมินสถานการณ์ในลักษณะเลวร้ายสุดซึ่งประกอบด้วยอุปสรรคนานับประการที่ขวางกั้น

ภาพของการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างขึ้นมา “เพื่อเรา” ก็ไม่พ้นกฎเกณฑ์ดังกล่าว มีทั้งเส้นทางที่เป็นฉากทัศน์ดีเลิศและเส้นทางที่เป็นฉากทัศน์แห่งสถานการณ์เลวร้าย

แต่ทั้งสองฉากทัศน์ ดูเหมือนรัฐหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่ผูกโยงกลไกต่างๆ เชื่อมโยงไว้รอบคอบล้วนแล้วแต่เป็นผู้ได้ประโยชน์

 

แม้ภาพที่ดีที่สุด การเปลี่ยนแปลงยังยาวไกล

ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด คือความไหลลื่นผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระสามของรัฐสภา มีการออกเสียงประชามติและมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อย

แต่กลไกกับดักต่างๆ ที่ออกแบบไว้ล่วงหน้ากลับไม่เป็นหลักประกันที่ดีได้ว่า รัฐธรรมนูญจะถูกร่างบนพื้นฐานประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

การแปรญัตติในวาระที่สองของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เปลี่ยนวิธีการได้มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนโดยกำหนดให้แบ่งประเทศเป็น 200 เขตแต่ละเขตเลือก ส.ส.ร.ได้ 1 คน

โดยรูปแบบดังกล่าวเป็นการพลิกกลับในช่วงก่อนลงมติในวาระสองอย่างกะทันหันจากรูปแบบที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิใช่ข่าวที่น่ายินดีว่า จะทำให้ ส.ส.ร.มีความเป็นตัวแทนของประชาชน มีความใกล้ชิดกับประชาชนในแต่ละเขตมากขึ้น

แต่กลับเป็นรูปแบบที่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่สามารถผลักดันคนของตัวเองเข้ามาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

ใครอยากชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.อาจต้องไปอิงแอบขอการสนับสนุนจากนักการเมืองในพื้นที่

ญาติ พี่น้อง สามี ภรรยา ของนักการเมืองคงลงสมัคร ส.ส.ร. เป็นจำนวนไม่น้อย

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเกินกว่าครึ่งของ ส.ส.ร.อาจมีความยึดโยงกับฝ่ายการเมือง

การร่างรัฐธรรมนูญที่หวังว่าจะเป็นของประชาชนเพื่อประชาชน จึงอาจเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างเพื่อรักษาประโยชน์ของฝ่ายการเมืองหรือเป็นรัฐธรรมนูญที่ประนีประนอมผลประโยชน์ ไม่อาจเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดจากการร่างโดยประชาชนได้

ยิ่งมองในด้านกรอบเวลาการทำงานและขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญ ขนาดไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ กว่ารัฐธรรมนูญจะร่างเสร็จอาจเป็นปลายปี 2565 คาบเกี่ยวต้นปี 2566 ซึ่งเข้าใกล้การครบวาระสี่ปีของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน

ความหวังว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงน่าจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ อาทิ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. หรือ พ.ร.ป.เกี่ยวกับองค์กรอิสระต่างๆ ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 4-8 เดือนจึงจะร่างเสร็จ

ดังนั้น หากผู้มีอำนาจไม่ประสงค์ให้การเลือกตั้งใหม่เป็นตามตามกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากเห็นว่า กติกาเก่านั้นเอื้อประโยชน์แก่ตน เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยหนึ่งเสียงมากมายที่พร้อมรอการกวาดต้อนมาร่วมเป็นเสียงสนับสนุนรัฐบาล การดึงเวลาเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ได้สิ่งที่พึงประสงค์ได้

ในภาพทัศน์ที่ดีที่สุด จึงยังไม่ใช่ภาพที่ชัดเจนว่า การเมืองไทยหรือประเทศไทยจะดีขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า

 

ภาพทัศน์ที่เลวร้าย

จะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง

ใน Worst case scenario การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.อาจตกไปทั้งในขั้นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มีนาคม 2564 หรือในขั้นการลงมติวาระที่สามของรัฐสภาในวันที่ 17-18 มีนาคม 2564

ทั้งสองกรณี เท่ากับว่าความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งตัดส่วนเกินเงื่อนไขการมี ส.ว.หนึ่งในสามที่ต้องมีส่วนร่วมในการลงคะแนนในวาระที่หนึ่งและสามและเพิ่มหมวดที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไปทั้งฉบับ สิ่งที่ได้ดำเนินการและถูกเตะถ่วงด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาฯ ถึง 2 ชุด ใช้เวลาไปกว่าปีเท่ากับสูญเปล่า

หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องเริ่มต้นขึ้นใหม่ด้วยการเสนอจากทางใดทางหนึ่งคือ จาก คณะรัฐมนตรี จาก ส.ส.จำนวนหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือจาก ส.ส.รวมกับ ส.ว.จำนวน หนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกรัฐสภา หรือ จากการรวบรวมชื่อของประชาชนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นชื่อ

กระบวนการแก้ไขต่างๆ ไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ซึ่งจะแก้ได้หรือแก้ไม่ได้เป็นเรื่องของอนาคต โดยเงื่อนไขการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังผูกติดกับวิธีการที่เขียนบัญญัติไว้ในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ผู้มีอำนาจที่คุมเสียง ส.ว.ได้และมีเสียงสนับสนุนเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แม้คิดจะแก้ไขเพิ่มเติมในรายมาตรา สิ่งที่คิดว่าจะทำได้โดยง่ายก็อาจติดขัดเงื่อนไขของบทบัญญัติใน (6) ของมาตรา 256 ว่า การลงมติในวาระที่สามนอกจากจะต้องมี ส.ว.ร่วมเห็นชอบอย่างน้อยหนึ่งในสาม หรือ ราว 84 คนแล้ว ยังต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบด้วย

คำนวณจำนวนคร่าวๆ เอาเสียงของพรรคฝ่ายค้านรวมกับเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่มีตำแหน่ง ประมาณ 250 คน ร้อยละยี่สิบ คือ 50 คน หากฝ่ายค้านผนึกกันเหนียวแน่น โอกาสผ่านด่านดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

สิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจอยากแก้ไขก็ไม่มีทางแก้สำเร็จ แม้จะเป็นการแก้รายมาตราเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

ทุกฝ่ายก็ต้องจมปลัก อดทนไปกับความเน่าเหม็นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันไป

แล้วสังคมคิดอย่างไร

 

รัฐธรรมนูญอาจกินไม่ได้ ป้องกันโรคระบาดร้ายไม่ได้ หากประชาชนยังอยู่ดีกินดี ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมอยากเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญคงยังไม่เกิดขึ้น แต่หากประชาชนเริ่มรู้สึกว่าชีวิตวันนี้ย่ำแย่ ชีวิตข้างหน้าไปต่อลำบาก ประชาชนจะย้อนกลับมาคิดแล้วว่า เพราะรัฐธรรมนูญหรือกติกาเช่นนี้ใช่ไหมที่ทำให้เราได้รัฐบาลที่ไร้ความสามารถเอาแต่ประโยชน์ของพวกพ้องมาบริหารประเทศ

เมื่อความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ทวีมากขึ้น คำกล่าวอ้างเพื่อปฏิรูปประเทศเป็นเพียงลมปากที่ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงจริง ยุทธศาสตร์ชาติกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจที่ควรเดินหน้าก็ต้องหยุดชะงัก เมื่อนั้น เสียงเรียกร้องถึงกติกาบ้านเมืองใหม่ที่ดีงามและทุกคนมีส่วนร่วมในการร่างจะดังขึ้น

ผู้ปกครองที่มีอำนาจ แม้อยากโอบกอดรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นมาเพื่อความได้เปรียบของฝ่ายตนคงต้องเริ่มคิดใหม่ว่าจะยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยกระบวนการรัฐสภาอย่างจริงใจ หรือจะรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยประชาชนบนท้องถนน

คงต้องคิดเองตัดสินใจเองและต้องคิดให้เร็วด้วยครับ