ธุรกิจท่องเที่ยว-สายการบิน เฮฮา ฝันหวาน รัฐผ่อนคลาย… สงกรานต์นี้ เดิมพัน 2 แสนล้าน / เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

ธุรกิจท่องเที่ยว-สายการบิน เฮฮา

ฝันหวาน รัฐผ่อนคลาย…

สงกรานต์นี้ เดิมพัน 2 แสนล้าน

 

อากาศร้อนขึ้นทุกวัน และกำลังย่างเข้าเดือนเมษายน ถือเป็นเดือนแห่งการท่องเที่ยว พักผ่อน และรื่นเริง

ยิ่งเมษายนปีนี้ มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง 9-10 วันในช่วงเทศกาลปีใหม่ และยังเปิดภาคเรียนทั่วประเทศ ประกอบกับประชาชนเริ่มคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

จึงเชื่อว่า วันหยุดยาวที่จะถึงนี้ จะเป็นช่วงพีกของการเดินทางและใช้จ่ายกันอีกครั้ง หลังจากอั้นกันมากกว่าปีเศษ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเองก็ปูพรม เติมเงินในระบบเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ได้แตกแขนงไปในหลายรูปแบบ อาทิ เที่ยววันธรรมดา เที่ยววันหยุดพิเศษ หรือทัวร์เที่ยวไทย

รัฐหวังให้กระสุนไปตกผู้ประกอบการทั่วไปและชุมชน ทำให้เกิดการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น

เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

 

สําหรับภาคธุรกิจ มองว่ายังไม่เพียงพอ ตราบใดที่ยังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่เชื่อมั่นว่าธุรกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร บนตัวแปรเรื่องการแพร่ระบาดโควิดจะเกิดซ้ำใหม่ คนขาดรายได้มานาน บางครอบครัวมีคนถูกลดเงินและเลิกจ้าง แม้จะหยุดยาวก็ยังต้องมัธยัสถ์กับการใช้จ่ายและเดินทาง

ขณะที่ปัญหาค้างคายังมีโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว มองว่ารัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือโดยตรง ทั้งที่เป็นกลุ่มเจอวิกฤตจากโควิดและล็อกดาวน์ก่อนใคร เพราะส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ

ดังนั้น แม้แค่มีกระแสข่าว รัฐอาจเพิ่มผ่อนคลายให้จัดกิจกรรม หรือเพิ่มเวลาธุรกิจให้ค้าขายได้เพิ่มขึ้น ก็สร้างความหวังและตื่นเต้นต่อการลุกขึ้นมาเตรียมความพร้อม พร้อมกับรอความชัดเจน ที่ภาคเอกชนเสนอไว้

อาทิ เสนอให้รัฐบาลฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พนักงานสายการบิน ซึ่งถือเป็นบุคลากรด่านหน้าในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

การเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต ที่จะสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาได้อย่างปลอดภัย

และการเสนอมาตรการและแนวทางสำหรับสายการบิน เพื่อเตรียมตัวในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นั่นคือความหวังระยะกลางถึงยาว ที่อาจเกิดได้หลังเดือนมิถุนายน ที่การฉีดวัคซีนในไทยมียอดจำนวนหนึ่งแล้ว

แต่ความหวังเฉพาะหน้าคือ การท่องเที่ยวภายในประเทศ ดังนั้น แค่รัฐประกาศชัดเจนว่าเราปลอดภัยและผ่อนปรนจัดกิจกรรมตามเทศกาลได้แล้ว ต้องติดตามต่อไปว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายนนี้ ภาครัฐจะออกมาตรการใดกระตุ้นอีก ทุกภาคเอกชนก็จะปล่อยของทันที โหมแคมเปญจูงใจไทยเที่ยวไทย

เชื่อว่าครบสูตร ลด แลก แจก แถม จะดุเดือดเผ็ดร้อนกว่าทุกปี เพื่อชิงการดึงเงินในกระเป๋าลูกค้าก่อนคู่แข่ง

 

หันมาส่องอุตสาหกรรมการบินและธุรกิจท่องเที่ยว แม้อยู่ในช่วงพักฟื้นและฟื้นฟูกิจการ แต่การดำเนินธุรกิจต้องเดินหน้า ดูได้จากภาครัฐ เอกชน ต่างงัดไม้เด็ดและแผนที่สวยหรูออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่จะเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่นั้น ต้องติดตามต่อไป

เสมือนการบินแห่งชาติ อย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงวันนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่เหมือนปัญหาจะยังไม่จบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา การบินไทยได้ส่งแผนฟื้นฟูบริษัท หลังจากเลื่อนขอยื่นแผนมา 2 ครั้ง เนื่องจากแนวทางการทำแผนของทีมผู้ทำแผนเริ่มไปคนละทางหนักขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ไม่สามารถทำแผนส่งศาลล้มละลายกลางได้ตามกำหนดเวลา

จากนี้ก็รอลุ้นการประชุมเจ้าหนี้ กำหนดไว้วันที่ 12 พฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการที่บินไทยยื่นต่อกรมบังคับคดีอีกครั้ง

ถ้าเจ้าหนี้เห็นด้วยกับแผนที่เสนอไป ก็เดินหน้าฟื้นกิจการต่อได้ ถ้าไม่ต้องกลับไปทำข้อมูลใหม่จนกว่าเจ้าหนี้จะเห็นชอบ

ซึ่งการบินไทยแจ้งต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ว่ามีมูลหนี้รวม 4.1 แสนล้านบาท แต่เป็นมูลหนี้ที่แท้จริงตามแผนฟื้นฟู 1.8-1.9 แสนล้านบาท จึงต้องรอให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ตรวจสอบมูลหนี้ที่แท้จริงก่อนอีกครั้ง ในแผนฟื้นฟูทำไว้ถึง 303 หน้านั้น แผนการชำระหนี้เดิมกำหนดให้ลดทุนและแฮร์คัตหนี้ 70% เพื่อให้ชำระหนี้ได้หมดตามแผนฟื้นฟูกิจการใน 5-7 ปี แต่ถูกคัดค้านจากเจ้าหนี้ จึงทำให้แผนฟื้นฟูกิจการที่ยื่นต่อกรมบังคับคดีได้ตัดประเด็นการลดทุนและการแฮร์คัตตามลักษณะเจ้าหนี้เฉลี่ย 30-50% ซึ่งทำให้การบินไทยอาจใช้เวลาในการชำระหนี้ 10 ปี

ขณะที่การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับการอนุมัติแล้วสามารถขอแก้ไขแผนฟื้นฟูได้ แต่ต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อจัดประชุมเจ้าหนี้ให้ความเห็นชอบ การบินไทยจะลดทุน เพิ่มทุน แฮร์คัตหนี้ได้ไหม ก็ขึ้นกับเจ้าหนี้ของการบินไทยเห็นพ้องหรือเสียงแตก 12 พฤษภาคมนี้ก็จะชัดเจน

การบินไทยแม้จะไม่ได้ทำการบินในประเทศแล้ว แต่บริษัทลูกของการบินไทย อย่างบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ยังเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กร และเปิดทำการบินอยู่ในประเทศอยู่

โดยสายการบินไทยสมายล์มีโปรโมชั่นบัตรโดยสารราคาพิเศษ 7 เส้นทางในประเทศ ได้แก่ น่าน อุบลราชธานี เลย นครพนม สุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่ ราคาเริ่มต้นที่เหมาทั้งหมดจ่าย 900 บาท/คน/เที่ยว

พร้อมบริการแบบฟูลเซอร์วิส อาทิ บริการอาหาร-เครื่องดื่ม ฟรีน้ำหนักกระเป๋าเริ่มต้น 20 กิโลกรัม บริการจองที่นั่งล่วงหน้า สำรองที่นั่งและเดินทางได้ตั้งแต่วันนี้-31 พฤษภาคม 2564

 

ไทยแอร์เอเชียออกโปรโมชั่นมากระตุ้นยอดขายเต็มที่ โดยหลังจากเปิดขายตั๋วบินบุฟเฟ่ต์ภายใต้โปรโมชั่น “ตั๋วบินรัวๆ ทั่วไทย” ราคา 3,599 บาทต่อคน ผ่านแพลตฟอร์มของแอร์เอเชียทั้งเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา สำหรับสมาชิกแอร์เอเชียที่ถือตั๋วบินบุฟเฟ่ต์เดิม และเปิดให้จองรอบทั่วไป จำกัดเพียง 80,000 สิทธิ์ตลอดโครงการ ซึ่งขายหมดภายใน 2 วัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าตั๋วบินบุฟเฟ่ต์เดิม 35% และลูกค้าใหม่ 65%

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไทยแอร์เอเชีย แสดงความมั่นใจว่า ถ้าการบินภายในประเทศกลับมาดี ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คาดว่าช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ จะมียอดการเดินทางเทียบเท่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับเป้าหมายธุรกิจของไทยแอร์เอเชียปี 2564 ตั้งเป้ามีจำนวนผู้โดยสารรวม 9.4 ล้านคน เท่ากับปีที่แล้ว

แต่รายได้จะมากกว่าปี 2564 เล็กน้อย เพราะสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ตั้งเป้าลดต้นทุนให้ได้ 18-20% จากการปรับลดฝูงบินที่มีอยู่ 62 ลำ ให้เหลือ 54 ลำ ณ สิ้นปีนี้ เพื่อให้สอดรับกับดีมานด์การเดินทางจริง

 

วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ ระบุว่า ขณะที่นกแอร์เตรียมยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ที่มีกำหนดวันที่ 15 มีนาคมนี้ และอยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ด้านต่างๆ โดยมั่นใจว่าตลอดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูช่วง 3-5 ปี นกแอร์จะไม่มีปัญหาขาดกระแสเงินสดที่จะใช้ในการบริหารธุรกิจ เพราะได้เจรจากับผู้ถือหุ้นเรื่องการสนับสนุนวงเงินกู้ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่หยุดดำเนินการและจัดโปรโมชั่นกระตุ้นเดินทางสงกรานต์นี้ไม่น้อยหน้าสายบินอื่น

เรียกได้ว่าทุกสายการบิน วอร์มเครื่อง หวังโกยเงินจากช่วงเทศกาลสงกรานต์กันแล้ว ไม่เพียงแต่สายการบินเองธุรกิจการท่องเที่ยวต่างก็เฝ้ารอ เพราะเขานับแล้ววันหยุดในเดือนเมษายนปีนี้ รวมๆ แล้วมีกว่า 16 วัน จึงหวังว่าในเดือนเมษายนนี้จะเป็นเดือนที่มีจำนวนคนท่องเที่ยวและย่อมใช้จ่ายมากสุดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา นับจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด

ซึ่งจากการประเมินของเอกชนทุกธุรกิจประสานเสียงว่าสงกรานต์ปีนี้ บรรยากาศใช้จ่าย เดินทาง พบปะ สังสรรค์ นอกบ้านจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ยิ่งดีหากรัฐผ่อนคลายเรื่องเวลาในการจัดกิจกรรม และขยายเวลาการนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล และเปิดกว้างต่อการจัดงานบันเทิงได้ตามปกติ

โดยที่ทุกคนต้องไม่ลืม “ห้ามการ์ดตก” เพราะหากเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ซ้ำรอยปี 2563 ที่ไทยต้องงดจัดกิจกรรม และหลายพื้นที่ถูกล็อกดาวน์รอบ 3 เงินสะพัดใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีมูลค่ากว่า 1.3-2.5 แสนล้านบาท จะสูญหายไปทันที