เรื่องราวของเลดี้เพอร์เบ็ก (The Lady Purbeck’s business) และการต่อสู้ของฟรานเซส โค้ก / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์

 

เรื่องราวของเลดี้เพอร์เบ็ก

(The Lady Purbeck’s business)

และการต่อสู้ของฟรานเซส โค้ก

 

การเป็นผู้หญิงที่เกิดมาในตระกูลร่ำรวยไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันเสมอไปว่าจะต้องมีเส้นทางชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ

บางคนอาจมีชีวิตตรงกันข้ามอย่างคาดไม่ถึง

ซึ่งฟรานเซส โค้ก (Frances Coke) หญิงสาวตระกูลสูงของอังกฤษเป็นหนึ่งในตัวอย่างดังกล่าว

เธอถูกบังคับให้แต่งงานกับชายวิกลจริต ลอบรักกับชายชู้จนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล ก่อนจะจบชีวิตด้วยความยากไร้อย่างถึงที่สุด

กระนั้น ท่ามกลางปัญหาที่ถาโถมและโดดเดี่ยวจากทั้งราชสำนัก หญิงสาวเลือกที่จะสู้กับตระกูลที่ทรงอิทธิพลสูงสุดตระกูลหนึ่งของอังกฤษและอำนาจของสังคมชายเป็นใหญ่ที่อยู่เหนือตัวเธอ

ฉากหลังของการแต่งงานและสัมพันธ์สามี-ภรรยาของประเทศอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 คือ การแสวงหาภรรยาที่มาพร้อมกับทรัพย์สิน

อีกนัยหนึ่ง ยอดสุดที่ชายในสมัยนั้นมองหาจากหญิงสาวที่จะมาร่วมเรียงเคียงหมอนจึงไม่ใช่ความสวยงามมากเท่ากับว่าในการตกลงทำสัญญาแต่งงาน

ฝ่ายหญิงหอบหิ้วทรัพย์สินและสินทรัพย์ (dowry) ติดตัวมาเป็นสินสอดมากเพียงใด ความสำคัญของความมั่งคั่งที่ได้จากการแต่งงาน ในหลายครั้งจึงนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างครอบครัวอันเนื่องมาจากสินสอดของฝ่ายหญิงอย่างช่วยไม่ได้

ภาพฟรานเซส โค้ก ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Frances_Coke,_Viscountess_Purbeck.jpg

The Lady Purbeck’s business หรือเรื่องราวของเลดี้เพอร์เบ็ก เป็นคดีความอื้อฉาวของประเทศอังกฤษราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

ลำพังการฟ้องร้องในชั้นศาลที่เกี่ยวเนื่องกับชู้สาวและสมบัติพัสถานก็เรียกความสนใจจากคนในสังคมมากพออยู่แล้ว

แต่กรณีของเลดี้เพอร์เบ็ก หรือฟรานเซส โค้ก และตระกูลวิลเลียร์มีความน่าสนใจมากกว่านั้น

เพราะฝ่ายชายเป็นถึงพี่ชายของคนสนิทพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ฝ่ายฟรานเซส โค้ก เป็นบุตรสาวของเซอร์เอ็ดเวิร์ด โค้ก (Sir Edward Cok) นักกฎหมายชื่อดัง และเลดี้เอลิซาเบธ แฮตตัน (Lady Elizabeth Hatton)

ฟรานเซสเกิดในปี 1602 เมื่ออายุราว 14 ปี เธอถูกวางตัวให้แต่งงานกับเซอร์จอห์น วิลเลียร์ (John Villiers) ตระกูลที่มีอำนาจและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เพราะน้องชายของจอห์นคือ จอร์จ วิลเลียร์ (George Villiers) เป็นคู่รักของกษัตริย์ และดำรงตำแหน่ง Duke of Buckingham ที่ว่ากันว่าเป็นตำแหน่งทรงอำนาจมากที่สุดรองจากกษัตริย์ (ทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันฉันคนรัก และเป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วทั้งราชสำนัก)

เซอร์โค้ก บิดาของฟรานเซสเล็งเห็นการณ์ไกลของการไต่เต้าตำแหน่งของตนผ่านลูกสาว ในขณะที่มารดาของฝ่ายชายก็ยินดีเช่นกันที่จะอ้าแขนรับลูกสะใภ้ที่มาพร้อมเงินจำนวนหมื่นปอนด์ (ค่าเงินในตอนนั้น) และที่ดินสินทรัพย์นับไม่ถ้วน

ถึงกระนั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นการจับคู่ที่เหมาะสมนัก

 

แม้ว่าจอห์นจะยังอยู่ในวัยหนุ่ม คือประมาณ 26 ปี และฟรานเซสก็อยู่ในวัยกำลังแรกแย้มที่ 14 ปี คุณสมบัติของเจ้าบ่าวกลับเป็นที่กังขา

จอห์นป่วยเป็นโรคจิตเภท (หลักฐานบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าน่าจะเป็น bipolar disorder) นี่เองที่ทำให้ฟรานเซสและเลดี้แฮตตันผู้เป็นมารดายากจะทำใจที่หญิงสาวต้องร่วมหอลงโลงกับชายหนุ่ม

เลดี้แฮตตันจึงพยายามจับคู่ใหม่ให้กับฟรานเซส โดยชายหนุ่มที่วางตัวไว้ให้คือ เฮนรี่ เอิร์ล แห่งออกซ์ฟอร์ด (Earl of Oxford) ก่อนส่งตัวบุตรสาวไปพำนักกับญาติที่ชนบทเป็นการชั่วคราวเพื่อเลี่ยงการจับคู่ที่ไม่พึงปรารถนา

ดูเหมือนโชคชะตาจะไม่เข้าข้าง เซอร์โค้กผู้เป็นบิดาตามหาตัวหญิงสาวจนเจอและนำตัวกลับลอนดอน เมื่อทราบข่าว เลดี้แฮตตันไม่พอใจ ทำให้เกิดเป็นคดีความแย่งชิงตัวบุตรสาวขึ้น

เรื่องไปถึงราชสำนัก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระเจ้าเจมส์ตัดสินเข้าข้างเซอร์โค้กและดุ๊กแห่งบักกิ้งแฮม น้องชายของว่าที่เจ้าบ่าว ข้าราชสำนักคนโปรด

พร้อมกับสั่งกักตัวเลดี้แฮตตันไว้ที่บ้านของตนเองโทษฐานลักลอบนำตัวฟรานเซสหลบหนีจากการแต่งงาน

ระหว่างนั้นหญิงสาวถูกผู้เป็นบิดากักตัวเอาไว้ ฟรานเซสถูกมัดไว้ที่เตียงและเฆี่ยนเพื่อให้ยินยอมปลงใจเข้าพิธีแต่งงาน ก่อนจะถูกบังคับให้เขียนจดหมายให้ผู้เป็นมารดา ความว่า เธอตกลงที่จะแต่งงานกับเซอร์จอห์น ทั้งยังกล่าวโทษตนเองว่าทำตัวเป็นเด็กไม่รู้จักโตจนทำให้เกิดความวุ่นวายต่างๆ นานาระหว่างมารดาและบิดา

ในจดหมายของเธอยังเขียนเอาไว้ด้วยว่าเธอสมัครใจเอง ไม่ได้ถูกบังคับทั้งจากทางคำพูดและการกระทำ

 

ในที่สุดจอห์น วิลเลียร์ และฟรานเซส โค้ก เข้าพิธีแต่งงานในวันที่ 29 กันยายน 1617 โดยมีกษัตริย์และราชินีเป็นองค์ประธานและผู้ส่งตัวเจ้าสาว ท่ามกลางเสียงซุบซิบของผู้ร่วมงานถึงน้ำตาของเจ้าสาวระหว่างการทำพิธี

การแต่งงานของทั้งคู่ไม่ใช่จุดจบความวุ่นวาย

ตรงกันข้าม นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการดิ้นรนแสวงหาอิสรภาพและทางเลือกในชีวิตของฟรานเซสที่สืบเนื่องนับสิบปี

คนที่ใช่มักจะมาเวลาที่ผิดเสมอ ฟรานเซสพบกับเซอร์โรเบิร์ต ฮาวเวิร์ด (Robert Howard) ที่มีอายุมากกว่าเธอถึงสิบปี

ทั้งคู่ลักลอบมีความสัมพันธ์และเรื่องนี้ก็ไม่ได้เก็บงำไว้แต่อย่างใด

เรื่องราวไปถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล และถ้าหากจะพูดกันตามตรง ทั้งคู่มีสิทธิที่จะไปใช้ชีวิตร่วมกันได้ ในเมื่อสามีของฟรานเซสป่วยเป็นจิตเภททำให้ต้องแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 1621 และไม่มีสมรรถภาพทางเพศมากพอที่จะผลิตทายาท (การขาดสมรรถภาพทางเพศที่จะไม่มีทายาทเป็นเรื่องร้ายแรงของศาสนาคริสต์ยุคนั้น)

หากเรื่องกลับไม่จบลงอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากจอร์จ วิลเลียร์ น้องสามี ไม่ยอมที่จะให้ทรัพย์สินที่ติดตัวมากับฟรานเซสกระเด็นออกไปจากตระกูล ขณะที่อาการป่วยของจอห์นทวีความรุนแรงขึ้น จอร์จฉวยโอกาสจัดการดำเนินเรื่องเป็นผู้จัดการทรัพย์สินและเงินทั้งหมดของผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งหมายความว่าสินสอดทั้งหมดถูกอายัดเอาไว้ไม่ให้ฟรานเซสผู้เป็นภรรยาได้ใช้

ณ จุดนี้ แม้แต่พระเจ้าเจมส์ยังเห็นว่าจอห์จทำเกินไปกับฟรานเซส จึงผ่อนปรนให้เงินรายปีกับหญิงสาวภายใต้เงื่อนไขว่าฟรานเซสต้องกลับไปอยู่กับสามี

เมื่อทางเลือกดูจะมีไม่มากนักและความยากไร้ดูจะไม่ใช่คำตอบ หญิงสาวไม่มีทางเลือกนอกจากยอมจำนน

 

ไม่นาน ฟรานเซสคลอดบุตรนอกสมรส แม้จะยืนกรานหนักแน่นว่าเป็นบุตรที่เกิดจากสามีอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่ฝ่ายครอบครัวของจอห์นดำเนินการฟ้องร้องฐานคบชู้เนื่องจากไม่เชื่อว่าจอห์นที่ป่วยอยู่จะสามารถผลิตทายาทได้ตามที่ฟรานเซสกล่าวอ้าง

ฟรานเซสและโรเบิร์ตชู้รักต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่นานหลายปี ก่อนที่จะถูกตัดสินว่าผิดจริง ฟรานเซสถูกสั่งให้จ่ายค่าปรับที่เธอไม่มีปัญญาหามาจ่ายเนื่องจากเงินส่วนตัวที่เป็นสินสมรสยังถูกอายัดอยู่จากครอบครัวของสามีและถูกประจานในที่สาธารณะจากความผิดทางศีลธรรม

ทั้งนี้ การประจานตนเองในที่สาธารณะหมายถึงการเดินเท้าเปล่าและแต่งตัวในชุดขาวยืนหน้าโบสถ์ให้ผู้คนผ่านไป-มาได้เห็นทุกวันอาทิตย์

หลังจากการยอมประจานตัวเองสักพัก ฟรานเซสตัดสินใจหนีไปฝรั่งเศสเพราะทนความอับอายไม่ไหว

 

หลายปีผ่านไป ฟรานเซสและโรเบิร์ตกลับสู่อังกฤษอีกครั้งเพราะคาดว่าโทษหมดอายุความและเนื่องจากญาติทางฝั่งสามีเสียชีวิตหมดแล้ว จึงไม่น่าจะมีอุปสรรคอื่นใดอีก

แต่การณ์กลับไม่เป็นดังคาด เธอถูกจำคุกอีกครั้งจากหมายเรียกศาลครั้งก่อนหน้า

หลังจากถูกจำคุกไม่นาน เธอลอบหนีกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้งเพื่อไปพำนักในอารามนางชีและตัดสินใจออกมาเนื่องจากทนอยู่ไม่ได้

เธอต้องใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสด้วยสภาวะยากจนข้นแค้นและเดินทางกลับสู่อังกฤษอีกครั้ง

ครั้งนี้ ฟรานเซสตัดสินใจยื่นฎีกาต่อศาลขอทรัพย์สินที่ถูกยึดไปของตัวเองคืนและแทบล้มทั้งยืนเมื่อพบกับความจริงว่าทรัพย์สินทั้งหมดนั้นถูกรัฐบาลอายัดไว้

ในเดือนมิถุนายน 1645 ฟรานเซสล้มป่วยและเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นานเมื่ออายุเพียง 42 ปี

สำหรับโรเบิร์ต ชายผู้ควรจะได้รับการชื่นชมในรักแท้ที่อยู่กับฟรานเซสในฐานะชายชู้มาหลายปี ตัดสินใจลงหลักปักฐานแต่งงานในวัย 58 ปีหลังจากฟรานเซสผู้อยู่ในฐานะชู้รักของเขามานับสิบปีจากไป

 

ชีวิตรักของฟรานเซส โค้ก นับว่าโลดโผนและโจษจันอย่างมากในสังคมอังกฤษตอนนั้น เรียกว่าช่วงเวลาตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นเวลาของเธอก็ว่าได้ คงมีผู้หญิงไม่มากนักที่ประสบกับความขมขื่นของชีวิตมากเท่าที่เธอได้เผชิญ

แม้ว่าเรื่องราวอื้อฉาวระหว่างฟรานเซสและตระกูลวิลเลียร์จะกินเวลายาวนานและดังกระฉ่อนเกาะอังกฤษ รายละเอียดส่วนมากเกี่ยวกับชีวิตของเธอสูญหายไปกับกาลเวลา

ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็ก มีเพียงเรื่องราวที่นับเริ่มตั้งแต่การแต่งงานเท่านั้นที่ถูกจดจำและโจษจัน

จดหมายส่วนตัวของฟรานเซสหลงเหลืออยู่เพียงจำกัด แทบไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจและพิจารณาความรู้สึกนึกคิดของหญิงสาวได้มากไปกว่านี้

ส่วนเสี้ยวที่เหลือของเธอส่วนใหญ่เป็นบันทึกของศาลและจดหมายของข้าราชสำนักชายที่รับรู้เรื่องราวและบอกเล่ากระจายข่าวให้ญาติหรือครอบครัวที่อยู่นอกลอนดอนรับรู้เท่านั้น

เรียกได้ว่าชีวิตของฟรานเซสที่เราพอจะปะติดปะต่อได้มาจากสายตาของผู้ชายทั้งสิ้น

 

ถึงกระนั้น การต่อสู้ของฟรานเซสต่ออำนาจของครอบครัวสามีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดครอบครัวหนึ่งในอังกฤษที่ได้รับการหนุนหลังจากกษัตริย์อาจไม่จำเป็นต้องอาศัยการตีความอื่นใดให้ลึกซึ้ง

การกระทำของหญิงสาวที่ต้องการเลือกชีวิตอันพึงปรารถนาให้กับตนเองอาจไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ของสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ให้การยอมรับ บุตรสาวมีหน้าที่เชื่อฟังคำบัญชาของบิดา-มารดาจนกว่าจะออกเรือน เมื่อแต่งงานแล้ว สามีจะเป็นผู้รับสืบทอดการคุ้มครองและการตัดสินใจทั้งหมดเองในดุลพินิจของตน ดังนั้น การตัดสินใจของฟรานเซส โค้ก จึงควรนับเป็นความเด็ดเดี่ยวและเข้มแข็งของผู้หญิงที่เติบโตมาจากตระกูลสูงที่ปฏิเสธเส้นทางสวยหรูของการนับเนื่องเข้าเป็นสมาชิกครอบครัวที่ทรงอิทธิพลของราชสำนักอังกฤษ และเลือกทำตามหัวใจของตนเอง

เธอปฏิเสธที่จะอยู่ในความสัมพันธ์กับสามีที่วิกลจริต เรียกร้องต่อศาลในทรัพย์สินที่ควรจะเป็นของเธอคืนและจบลงด้วยการการร่อนเร่ออกจากบ้านเกิดของตนเองสู่ฝรั่งเศส ก่อนเดินทางกลับอังกฤษอีกครั้งด้วยสภาพไม่ต่างกับยาจก

42 ปีแห่งชีวิตของฟรานเซส โค้ก จึงควรค่าต่อการระลึกถึงในฐานะของการต่อสู้ของหญิงสาวต่ออำนาจของผู้ชายทั้งหลายที่อยู่ในฐานะบิดา สามี และอำนาจของรัฐ ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจของความเป็นชายที่กดทับโชคชะตาของผู้หญิงจนยากจะสลัดพ้น

ดูเพิ่มเติม Fraser, Antonia, The Weaker Vessel. Woman’s Lot in Seventeenth-Century England, (London, 2002).