40 ปีรัฐประหาร 26 มีนาคม (จบ) อิสรภาพและรัฐประหารของยังเติร์ก

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“วันนี้ปฏิวัติ ไม่มีวินัยหรอก”

พ.ท.จำลอง ศรีเมือง

 

คำตอบโต้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ในรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520

ในขณะที่ชีวิตของผู้ถูกคุมขังทั้งกลุ่ม 6 ตุลาฯ และกลุ่ม 26 มีนาฯ ดำเนินไปตามวิถีของชาวบางขวางนั้น

การเมืองภายนอกดูจะร้อนแรงมากขึ้น

แน่นอนว่าการตัดสินใจประหารชีวิตพลเอกฉลาดเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของความพลิกผันของการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ

แต่ว่าที่จริงแล้วรัฐประหาร 26 มีนาคม 2520 ก็คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งในหมู่ผู้นำทหารที่แม้จะมีการช่วงชิงการยึดอำนาจได้สำเร็จในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

แต่รัฐประหารวันนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นหนทางที่จะจัดการปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพและในหมู่ชนชั้นนำได้

ในท่ามกลางความแตกแยกของสังคมไทยจากปี 2516-2519 นั้น กลุ่มทหารและผู้มีอำนาจในสังคมไทยก็แตกแยกในอีกแบบหนึ่ง

และในสภาพของความแตกแยกเช่นนี้ ได้กลายเป็นดัง “ช่องว่าง” ทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้นายทหารระดับคุมกำลังหรือที่อาจจะเรียกได้ว่า “นายทหารระดับกลาง” ในระดับของผู้บังคับกองพัน และผู้บังคับการกรมเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองโดยตรง

กล่าวคือ ช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการล่มสลายของรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมที่เคยเป็นดัง “ระเบียบเก่า” ในการควบคุมและจัดสรรอำนาจในกองทัพนั้นได้ถูกทำลายลง

และเป็นประตูที่เปิดให้นายทหารในระดับกลางได้ก้าวเข้ามาในช่องว่างที่เกิดขึ้น

และจากอำนาจปืนที่พวกเขามี ได้พัฒนาจนกลายเป็นอำนาจการเมืองภายใต้พัฒนาการและปัญหาการเมืองไทยตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง 6 ตุลาคม 2519

รัฐประหาร มิถุนายน 2520

หลังจากรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐประหาร 26 มีนาคม 2520

แม้รัฐประหารครั้งแรกหลังปี 2519 จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่ก็ทิ้งมรดกของความขัดแย้งไว้ในหมู่ผู้นำทหารอย่างนึกไม่ถึง

และมรดกชุดนี้ดูจะกลายเป็นปัญหาที่ไม่อาจจะจบลงด้วยวิธีการปกติ

ซึ่งเป็นเพราะระบบการเมืองยังอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของผู้นำทหารเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ได้อำนาจจากโครงสร้างเก่า ซึ่งก็ได้แก่บรรดาผู้นำทหารในระดับสูงที่ยังอยู่ในอำนาจ ในฐานะของการเป็น “ทหารการเมือง”

นายทหารชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้แสดงบทบาทด้วยการเป็นผู้ควบคุมอำนาจทางการเมือง จนแทบไม่แตกต่างกับนักการเมือง เป็นแต่เพียงพวกเขายังอยู่ในเครื่องแบบและมีฐานสนับสนุนจากกองทัพ จึงทำให้มีอำนาจมากกว่านักการเมือง

ดูเหมือนว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในขณะนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทหารระดับสูงตลอดรวมถึงผู้นำรัฐบาลเองดูจะไม่เข้าใจถึง “พลวัตใหม่” ที่ช่องว่างทางการเมืองหลังจากปี 2516 นั้นได้เปิดต้อนรับ “สมาชิกใหม่” ที่ไม่ใช่บรรดานายพลทั้งหลาย

ในขณะนั้นสมาชิกในเวทีการเมืองกลายเป็นนายทหารระดับพันตรี พันโท เท่านั้นเอง…

ปรากฏการณ์ของสมาชิกใหม่ในเวทีแห่งอำนาจ เป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองไทยที่นายทหารระดับเช่นนี้จะก้าวเข้ามาเป็น “ผู้ท้าทาย” ทางการเมือง

ดังจะเห็นได้ว่า นอกจากการกำเนิดของกลุ่มทหารระดับกลางในสายของพลเอกฉลาดแล้ว

ก็ยังมีกลุ่มของพันโทมนูญและคณะนายทหารรุ่น 7 เป็นตัวอย่างอีกด้วย

การกำเนิดของกลุ่มทหารระดับกลางของรุ่น 7 หรือที่เรียกกันต่อมาว่ากลุ่ม “ยังเติร์ก” นั้น น่าสนใจอย่างมากในบริบทของ “สังคมวิทยาทหาร” เพราะเป็นการก้าวเข้าสู่เวทีการต่อสู้ทางการเมืองที่แต่เดิมถูกผูกขาดอยู่กับนายทหารระดับสูงเท่านั้น

พวกเขามาพร้อมกับชุดความคิดใหม่

ไม่ได้มาเพราะอยากได้อำนาจด้วยคำอธิบายอย่างหยาบๆ เท่านั้น

หากแต่พวกเขาพยายามที่จะผลิตชุดความคิดทางการเมืองของกลุ่มตัวเองขึ้น

และอาจจะไม่แตกต่างกับนายทหารผู้ต้องการความเปลี่ยนแปลงในรุ่นก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นยุค ร.ศ.130 หรือในยุค 2475 ก็ตาม

น่าแปลกใจที่นายทหารระดับกลางเหล่านี้กล้าคิดแบบ “ทวนกระแส” ที่ไม่ยอมจำนนอยู่กับคำสั่งและอำนาจการบังคับบัญชาของนายทหารระดับสูง

และไม่ยอมรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในหมู่นายทหารระดับสูงเหล่านั้น

นายทหารระดับกลางเหล่านี้มองว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็น “ทหารการเมือง” นั้น แสวงหาประโยชน์จากการใช้อำนาจทหารเป็นพื้นฐานมากเกินไป

จนพวกเขาต้องแสดงบทบาทในการปกป้องสถาบันกองทัพด้วยการ “คานอำนาจ” กับทหารผู้ใหญ่เหล่านั้น

ปรากฏการณ์นี้อาจจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกในสังคมการเมืองไทย

เพราะทหารในยุคหลังไม่มีชุดความคิดทางการเมือง

มีแต่ความเชื่อและวาทกรรมอย่างหยาบๆ และขณะเดียวกันก็ไม่มีจิตใจที่จะแสวงหาความรู้และความเข้าใจทางการเมืองเท่าที่ควร

การคิดแบบ “ทวนกระแส” เช่นนี้ทำให้พวกเขาเริ่มมองรัฐบาลธานินทร์ตลอดรวมถึงนายทหารระดับสูงที่อยู่ใน “วงจรอำนาจ” ของรัฐประหาร 2519 ด้วยความไม่เชื่อมั่น

แล้วปัญหาก็ถูกตอบด้วยปฏิบัติการทางทหารในคืนวันที่ 3 มิถุนายน 2520

จากคำบอกเล่าของพันโทรณชัยก็คือ “เกมรุกเปิดด้วยกำลังชุดรบของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มาจากต่างจังหวัดหน่วยหนึ่ง จู่โจมเข้ายึดและปลดอาวุธกองรักษาการของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี เพื่อจัดตั้งเป็นกองบัญชาการคณะปฏิวัติ”

ไม่แตกต่างกับในวันที่ 26 มีนาคม ศปก.ทบ. ถูกยึด และรัฐประหารดูจะประสบความสำเร็จแล้ว

เกมพลิก!

เป็นที่รับทราบกันในระยะต่อมาว่า แต่เดิมนั้น พลเอกเสริม ณ นคร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกยอมรับเป็นหัวหน้าให้การยึดอำนาจของกลุ่มยังเติร์ก

แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงได้ เพราะแม้จะยึดอำนาจได้เรียบร้อยแล้วในทางการทหาร แต่ก็เป็นไปดังคำบอกเล่าของพลตรีมนูญที่ว่า “พลเอกเสริม ณ นคร ท่านกลับลำไม่เล่นด้วยกับพวกเรา… พลเอกเสริม ณ นคร ให้เหตุผลต่างๆ นานาในครั้งนั้นที่เราเปิดเผยไม่ได้ งานนั้นต้องเลิกกันไป”

แม้รัฐบาลต้องการจะเอาเรื่องกับนายทหารที่กระทำการในครั้งนี้ แต่พลเอกเสริมก็ออกมาปกป้อง

พันโทรณชัยกล่าวถึงคำตอบสำหรับรัฐบาลว่า “ไม่มีอะไร ผมเป็นผู้บังคับบัญชา การที่ผมเชิญผู้บังคับหน่วยมากินข้าวเย็นด้วยกันจะทำไม่ได้หรือ”

การเมืองเดินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง แต่ก็ถูกยับยั้งไว้ได้ ข่าวของความพยายามครั้งนี้เป็นที่รับรู้กันในวงการเมือง พวกเราที่อยู่ในบางขวางก็พอได้รับรู้จากพวกพี่ 26 มีนาฯ ด้วย ความหวังที่จะเห็นการล้มรัฐบาลธานินทร์เกิดขึ้นจริงก็จบลงอย่างง่ายๆ อีกครั้ง

เป็นแต่เพียงครั้งนี้ไม่มีใครเป็น “น้องใหม่” เข้ามาอยู่ร่วมกับเราในแดนพิเศษ…

รัฐประหารมิถุนายน 2520 ผ่านไปด้วยความเงียบเชียบ แต่ก็เป็นภาพสะท้อนอีกครั้งของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่สืบเนื่องมาจากปี 2516 และ 2519 และทั้งมีบริบทใหม่ของการมีส่วนร่วมของนายทหารระดับกลาง

แต่เมื่อเกิดความพยายามในเดือนมิถุนายนแล้วก็พอคาดเดาได้ไม่ยากนักว่า สถานการณ์เช่นนี้ย่อมจะต้องเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพราะเป็นดังอาการ “ค้างคา” ของปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารระดับกลางกับรัฐบาลที่ปิดบัญชีไม่ได้

และปัญหานี้เดินมาถึงจุดแตกหักอีกครั้งตามคำบอกเล่าของพันโทรณชัยว่า พันโทประจักษ์ได้ขออนุมัติเงินทดแทนเร่งด่วนให้กับทหารที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติการรบเป็นกรณีพิเศษจากนายกรัฐมนตรีขณะไปตรวจเยี่ยมฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดน

แต่คำตอบที่ได้ก็คือ “ทำไม่ได้เพราะผิดหลักการ”

คำตอบเช่นนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้ผู้นำกลุ่มยังเติร์ก

จนพันโทรณชัยสรุปไว้อย่างชัดเจนว่า “การนับถอยหลังที่จะล้มกระดานรัฐเกิดจากการสนทนาที่ออกในรูปปฏิเสธในครั้งนี้ เข็มนาฬิกาก็เริ่มทำหน้าที่ของมันแล้ว”

การคิดเรื่องรัฐประหารเริ่มก่อตัวขึ้นอีก

รัฐประหารตุลาคม 2520

แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มยังเติร์กไม่ได้จบลงด้วยรัฐประหาร 3 มิถุนายน พวกเขาเดินหน้าต่อ

และปัญหาสำคัญก็คือการหาหัวหน้าคณะรัฐประหาร

เมื่อผู้บัญชาการทหารบกปฏิเสธในครั้งก่อนแล้ว คำตอบจึงได้แก่การทาบทามผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมี พันโทจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ทาบทาม เพราะ “เคยอยู่ด้วยกันที่กองบัญชาการทหารสูงสุด”

พลตรีมนูญกล่าวว่า “มีข้อตกลงกับหัวหน้าผู้ก่อการ 2 ข้อคือ เมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้วต้องนิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาในคดี 6 ตุลาคม 2519 และนิรโทษกรรมแก่คดี 26 มีนาคม 2520 เมื่อหัวหน้าผู้ก่อการตกลงรับข้อเสนอและพร้อมจะนำการปฏิวัติแล้ว แผนการปฏิวัติวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ก็เริ่มขึ้นอย่างรัดกุม”

ผู้นำทหารที่ตัดสินใจทำรัฐประหารทราบดีว่าแม้แผนการจะดีอย่างไรก็อาจเกิดความผิดพลาดได้เสมอ กรณี 26 มีนาคมเป็นบทเรียนอย่างดี

แล้วในที่สุดก็เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นเมื่อกำหนดการยึดอำนาจของกลุ่มยังเติร์กในเวลา 20.00 น. รั่ว

และ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ชิงทำรัฐประหารก่อนในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. พร้อมกันนี้ก็ให้พลเรือตรีท่านหนึ่งนำกำลังทหารเรือไปยึดกรมประชาสัมพันธ์เตรียมอ่านประกาศคณะรัฐประหารในเวลา 18.00 น.

กลุ่มยังเติร์กโดยพันโทมนูญจึงตัดสินใจทำรัฐประหารซ้อน แต่กำลังของกลุ่มที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ พันโทพัลลภ ปิ่นมณี ที่เข้าควบคุมกรมประชาสัมพันธ์ กลับเผชิญปัญหาของกรุงเทพฯ แบบที่ไม่อยู่ในแผน

กำลังชุดนี้เจอกับ “ปัญหารถติด” ไปได้แค่บางลำพูเพราะรถติดมากในย่านนั้น และกลุ่มของพลเรือเอกสงัดก็ประกาศการยึดอำนาจไปเรียบร้อยแล้ว

พันโทมนูญจึงตัดสินใจใช้กำลังชุดนี้เข้าไปสนามเสือป่าซึ่งเป็นกองบัญชาการทหารสูงสุดแทน จนพวกเขาสามารถยึดกองบัญชาการดังกล่าวได้…

นายพล 24 คน ผบ.เหล่าทัพทั้งหมด และผู้บัญชาการตำรวจถูกควบคุมอยู่ในห้องนั้นทั้งหมด

สถานการณ์เช่นนี้นำไปสู่การโต้แย้งอย่างหนักระหว่างนายทหารชั้นผู้ใหญ่กับนายทหารระดับกลางที่ทำรัฐประหารซ้อน และจบลงด้วยคำบอกเล่าของพันโทพัลลภว่า

“ได้ยินเสียงรถถังแล่นเข้ามาปิดล้อมสนามเสือป่าไว้ทุกด้าน… จากนั้นเราก็เริ่มเจรจากัน”

แน่นอนว่าการเจรจาเริ่มด้วยอำนาจบังคับของรถถัง และเมื่อเจรจาไม่คืบหน้า คำตอบของผู้ถืออาวุธก็มีความชัดเจนในตัวเองก็คือ “นายทหารฝ่ายอำนวยการของคณะปฏิรูปของพลเรือเอกสงัดขึ้นมารายงานว่า ขณะนี้ทหารช่างของฝ่ายปฏิวัติได้ฝังระเบิดไว้รอบสนามเสือป่าแล้ว นั่นแหละอะไรๆ มันถึงได้ลงเอยตามที่พวกเราต้องการ นั่นคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เป็นนายกฯ คนที่ 15 ของประเทศไทย”

และคนที่มีส่วนทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดในการคัดเลือกตัวนายกฯ คนใหม่ยุติลงได้ก็คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ไม่น่าเชื่อว่าหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 แล้ว การเมืองไทยจะตามมาด้วยรัฐประหารอีก 3 ครั้งในปี 2520 คือ 26 มีนาคม, 3 มิถุนายน และ 20 ตุลาคม แล้วรัฐบาลธานินทร์ก็สิ้นสุดลงในวันดังกล่าว

เป็นความดีใจอย่างน่าตื่นเต้นทั้งสำหรับพวกพี่ๆ และเรา… ออกแรงเชียร์ให้ล้มรัฐบาลสำเร็จ ก็มาเกิดขึ้นจริงในครั้งนี้แหละ อย่างน้อยความหวังที่จะเห็นรัฐบาลล้มเป็นจริงขึ้นมาได้แล้ว

คำสัญญาอีกครั้ง

เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ก็เท่ากับวันเวลาในแดนพิเศษของพี่ 26 มีนาฯ เริ่มนับถอยหลังแล้ว ดูเหมือนพี่หนั่นและพี่ทุกคนดูจะยิ้มแย้มและคึกคักเป็นพิเศษ

โดยข้อมูลข่าวสารที่ไหลเข้ามาจากสายของพี่มนูญยืนยันว่า “ยังเติร์กมีข้อตกลงกับพลเอกเกรียงศักดิ์ในเรื่องนิรโทษกรรม และกำลังของยังเติร์กขณะนั้นก็มีอยู่ถึง 40 กองพัน ดังนั้น ขอให้วางใจว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ไม่กล้าหักหลังอีกแน่นอน”

คำกล่าวเช่นนี้อธิบายถึงสถานการณ์ในอดีตของพี่หนั่นได้ดีว่า พวกเขาถูกหักหลังมาถึง 2 ครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการวางอาวุธและการเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ จนมาถึงการประหารชีวิตพลเอกฉลาด คำสัญญาของพลเอกเกรียงศักดิ์จึงเป็นที่หวั่นใจว่าจะแปรผันอีกหรือไม่

ในการประชุมนัดแรกของรัฐบาลเกรียงศักดิ์ พลเอกเปรม จึงได้เสนอเรื่องนิรโทษกรรมให้แก่คดี 26 มีนาฯ แล้วในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2520 คำสั่งพ้นโทษจึงออกมาอย่างเป็นทางการ วันเวลาของคณะผู้ก่อการ 26 มีนาฯ ในบางขวาง เดินมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนมาเยี่ยมกันมากมาย พวกพี่ๆ ขออยู่ต่อไปเพื่อให้ได้ออกในวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษา แล้วในวันที่ 3 ธันวาคม 2520 คณะ 26 มีนาฯ จึงได้ฤกษ์ออกเดินทางจากบางขวาง

พวกเราชาว 6 ตุลาฯ จึงได้แสดงความดีใจกับพวกพี่ๆ ทุกคน อิสรภาพเป็นเรื่องที่น่ายินดีเสมอ เรื่องราวเหล่านี้เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้นำนักศึกษากับผู้นำทหารได้มีโอกาสใช้ชีวิตและเรียนรู้ร่วมกัน

แม้สถานที่ของการเรียนรู้นี้จะเกิดขึ้นในแดนพิเศษของเรือนจำมหันตโทษที่ชื่อ “บางขวาง” ก็ตาม!