ยอมถ่ายไม่ออก แต่ไม่ยอมหรอกที่จะไม่มีคู่ / ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

ยอมถ่ายไม่ออก

แต่ไม่ยอมหรอกที่จะไม่มีคู่

เคยเห็นจิ้งจกตกใจกันมั้ยครับ?

พอตกใจ จิ้งจกบางตัวจะรีบวิ่งหนี และในบางกรณี จะดุ๊กดิ๊กๆ แล้วทิ้งหางดิ้นได้ไว้ให้ดูต่างหน้าให้ผู้ล่างุนงง

และเมื่อผู้ล่ามัวแต่หันไปสนใจเจ้าหางดิ้นได้ เจ้าจิ้งจกหางกุดเอง ก็แว้บหนีหายไปจากสายตาเสียแล้ว

กลไกการสละอวัยวะเพื่อหลอกล่อดึงความสนใจของผู้ล่า อาจจะดูเหมือนเป็นกลไกที่ดีและแยบคาย

แต่ทว่าบ้าระห่ำและอาจต้องแลกมาด้วยราคาในชีวิตที่แพงอักโขที่จำเป็นต้องจ่าย

ซึ่งก็คือโอกาสในการอยู่รอดและสืบต่อเผ่าพันธุ์ที่อาจจะลดน้อยถอยลงไป

ในกรณีของจิ้งจกหรือจิ้งเหลน เมื่อสลัดหางทิ้งไป มันจะสูญเสียแหล่งสะสมไขมัน (fat storage) หลักไปด้วย

สำหรับส่วนหางที่สร้างใหม่ก็จะเล็กลง มักจะดูพิกลพิการ และมีผลชัดเจนต่อการเคลื่อนที่

ทำให้หนีหรือล่าได้ไม่ถนัดเหมือนเดิมแล้วยังอาจส่งผลต่อการเลือกคู่อีกด้วย

 

การยอมสละชิ้นส่วนร่างกายเพื่อความอยู่รอด แบบเฉือนเนื้อเพื่อหนีตายนี้ เพื่อซื้อเวลาในการหลบหนีทัน ไม่ได้พบแค่ในสัตว์พวกจิ้งจก จิ้งเหลนเท่านั้น

แต่ยังพบได้ในสัตว์นักล่า ท่าทางนักเลง อย่างแมงป่องอีกด้วย

เมื่อโดนคุกคาม แมงป่องบางชนิดในบราซิลจะมีกลยุทธ์ในการดีดหางออกมาเหมือนกัน ซึ่งพอผู้ล่าเริ่มเบี่ยงเบนความสนใจ ตัวมันก็จะสามารถหลีกหนีจากผู้ล่าได้

แต่ราคาที่พวกมันต้องจ่ายนั้นสูงยิ่งกว่าในกรณีของจิ้งจก จิ้งเหลนอยู่มากมายมหาศาล พวกมันจะต้องจ่ายค่าหนีครั้งนี้ด้วยชีวิต

สำหรับแมงป่อง การสลัดหางคือ “คำสั่งประหารชีวิต” เพราะตำแหน่งของรูทวารหนักของพวกมันนั้นอยู่บริเวณใกล้ๆ ปลายหางเกือบถึงส่วนที่เป็นเข็มพิษ ซึ่งพอสลัดทิ้ง หลุดหายไป พวกมันก็จะไร้รูก้น

และในที่สุดก็จะต้องตายเพราะถ่ายไม่ออกเป็นเวลาหลายเดือน

เรียกว่าท้องผูกจนตายนั่นแหละ

การสลัดหางจึงเหมือนเป็นการยอมเสียสละโอกาสในการเอนจอยสุขา เพียงเพื่อซื้อเวลา ยื้อชีวิตให้ได้อยู่ต่อ แม้จะอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือน แต่ก็ยังดีกว่าหนีไม่พ้น

แต่คำถามคือ ถ้าจะยื้อแล้วต้องตายแบบนี้ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกัน?

 

แมงป่องจะยอมสลัดหาง ท้องผูกจนตายเพราะเสียรูก้น แต่จะไม่ยอมทนตายไปแบบไร้คู่ ยังไงก็ขอให้ได้สละโสดก่อน

หลังจากที่หางกุด ก็จะรีบรุดไปหาคู่ เพื่อรีบผสมพันธุ์ ก่อเกิดทายาทแมงป่องสืบต่อวงศ์วานเผ่าพันธุ์ต่อไป

แต่แมงป่องใช้หางในการร่ายรำเกี้ยวพาราสี และสอดใส่ถุงเก็บอสุจิที่เรียกว่าสเปอร์มาโตฟอร์ (spermatophore) เข้าไปในช่องสืบพันธุ์เพศเมีย

“พฤติกรรมนี้เพี้ยนมาก แปลกประหลาดเสียจนฉันอยากรู้ ฉันต้องพยายามเข้าใจมันให้มากกว่านี้ให้ได้ว่าการสลัดหางมันมีประโยชน์กับแมงป่องยังไงกันแน่” โซลิมารี การ์เซีย เฮอร์นานเดซ (Solimary Garc?a-Hern?ndez) นักนิเวศวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยเซา เปาโล (Universidade de S?o Paulo) ประเทศบราซิลสงสัย

 

เพื่อค้นหาว่าชีวิตจะเป็นเช่นไร หากไร้หาง และการที่มันไม่มีหาง จะส่งผลกระทบกับพฤติกรรมหรือประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์ของพวกมันหรือไม่?

เธอวางแผนการทดลองโดยการจับแมงป่องมาราวๆ 150 ตัวจากทุ่งหญ้าสะวันนาของบราซิล แล้วตั้งกล้องส่องคลิปลับแมงป่องดึ๊บดึ๊บกัน โดยจะเทียบระหว่างแมงป่องหางครบ และแมงป่องหางกุด

ดังที่บอกไปแล้วก่อนหน้านี้ หางแมงป่องนั้นสำคัญในการร่ายรำเกี้ยวสาว ส่ายหาง เกาะเกี่ยว เอาหน้าชนหน้า สายตาสอดประสาน แล้วผสานจุมพิตแมงป่อง (scorpion kids) ก่อนจะเริงระบำกันอย่างโรแมนติกไปอีกหลายชั่วโมง ก่อนที่เจ้าบ่าวแมงป่องจะบรรจงวางถุงเก็บอสุจิของมันลงบนพื้น ก่อนจะใช้หางสอดใส่ถุงนั้นเข้าไปในช่องสืบพันธ์ของเจ้าสาวของมัน ตัวผู้ใดที่ไร้หางจึงน่าที่จะเสียเปรียบ!

“เราเคยคิดว่าหลังจากที่สูญเสียหางไปแล้ว แมงป่องตัวผู้จะไม่มีโอกาสเทียบเท่ากับตัวผู้ที่มีหางครบ” โซลิมารีกล่าว

 

แต่ผลการสังเกตการณ์กลับบ่งชี้ชัดว่าพวกแมงป่องชายไร้หางนั้นยังคงมีเสน่ห์ดึงดูดหญิงไม่แพ้แมงป่องชายเต็มตัว ในการร่ายรำ พวกมันจะส่ายตอสั้นๆ ดุ๊กๆ ดิ๊กๆ เพื่อยั่วยวนแมงป่องสาว แถมยังสามารถสอดใส่ถุงสเปิร์มของมันเข้าไปในตัวสาวเจ้าได้ด้วยตอเล็กๆ นั้นได้อย่างไม่มีปัญหา

และถ้าว่ากันเรื่องท่วงท่าและเวลา ต้องบอกว่าพอฟัดพอเหวี่ยง พวกหางกุดสามารถพิชิตใจสาวเจ้าได้ในเวลาไม่ต่างไปกับชายเต็มขั้น และสืบพันธุ์ได้ไม่ต่างจากหางเต็มเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้น ความสั้น (ของหาง) จึงไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด (สำหรับแมงป่องตัวผู้)

แต่สำหรับแมงป่องสาวหางกุด เรื่องราวของมันกลับต่างไปจนเหมือนดูหนังคนละม้วน

 

สาวหางกุดแม้จะยังคงมีความสามารถในการจับคู่และผสมพันธุ์ได้อย่างสุดแสนโรแมนติกเช่นเดียวกับผู้ชายไร้หาง แต่พอถึงเวลาตกลูกออกมา กลับสามารถให้กำเนิดจำนวนทายาทที่ลดไปอย่างมหาศาล อาจจะมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว เมื่อเทียบกับแมงป่องสาวหางเต็ม

เป็นไปได้ว่าช่วงเวลาตั้งครรภ์ที่ยาวนานของแมงป่อง ที่โดยปกติแล้วจะกินเวลายาวนานไปถึงห้าเดือน ซึ่งนั่นน่าจะนานพอที่จะทำให้แมงป่องตัวเมียต้องทรมานกับอาการท้องผูกได้แบบหนักหนาสาหัส

โซลิมารีตั้งสมมุติฐานไว้ว่าเป็นไปได้ว่าอุจจาระที่สะสมขึ้นมาในตัวของมันอาจจะเป็นพิษต่อตัวอ่อน หรือไม่ ตัวอ่อนก็อาจจะพัฒนาไปไม่เต็มที่ เพราะพื้นที่โดนขี้เบียดบังไปจนเกือบหมดก็เป็นได้

เธอเชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่าเพราะปริมาณอุนจิที่มันสะสมเอาไว้อาจจะมีมากถึงราวๆ 30 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวเลยทีเดียว ก่อนที่มันจะสิ้นชีพด้วยอาการท้องผูกเรื้อรัง

ถ้าเทียบกับคนน้ำหนัก 75 กิโลกรัมที่มีอุจจาระอัดอืดอยู่ในตัวราวๆ 25 กิโลกรัม

“พฤติกรรมแบบนี้เป็นพฤติกรรมการเอาตัวรอดที่บ้าระห่ำที่สุด และคำถามที่ทีมนักวิจัยตอบได้ ก็คือ มันมีราคาในเชิงวิวัฒนาการ (evolution cost) ที่ต้องจ่ายมากน้อยแค่ไหนกับพฤติกรรม (สลัดหาง) สุดโต่งแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก” แซ็กคารี เอมเบิร์ตส์ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) กล่าว

ภาพแมงป่อง Ananteris balzani จากประเทศบราซิล โดย Mattoni และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS ONE ปี 2015 (เส้นประแสดงตำแหน่งของการดีดหาง)

ซึ่งน่าสนใจ เพราะถ้าราคาแลกเปลี่ยนกับการอยู่รอดเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแค่พอผสมพันธุ์กันได้ ที่ตัวเมียจำเป็นต้องจ่ายด้วยการสูญเสียโอกาสในสืบทอดทายาท มันดูจะสูงกว่าราคาที่ตัวผู้ต้องเสียสละไปจากการสลัดหางอย่างเห็นได้ชัด พฤติกรรมแบบนี้ก็ควรที่จะพบได้น้อยในแมงป่องเพศเมีย เมื่อเทียบกับเพศผู้

และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น จากการทดลองที่เคยมีคนทำไว้ พบว่า ตัวผู้ราวๆ 88 เปอร์เซ็นต์เมื่อเจอภัยมาใกล้ตัว จะเลือกที่จะสลัดหางทิ้ง ไว้ล่อเป้า แล้วหนีเอาตัวรอด

ในขณะที่ตัวเมียนั้น มักจะยอมทำใจดีสู้เสือ ยอมเสี่ยงภัย แต่ไม่ค่อยยอมเสียหาง จะมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะยอมถอดหาง วางล่อ รอถอยหนี

“ดูเผินๆ พฤติกรรมแบบนี้เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนที่มีราคาสูงมาก คือ คุณต้องสูญเสียบางส่วนของร่างกายไป (และการถ่ายไม่ออก) กับโอกาสเพียงเล็กน้อยในการหลบหนี แต่ถ้ามองในแง่มุมวิวัฒนาการ มันอาจจะฟังดูเข้าท่าก็ได้ในสังคมโหดร้าย สังคมที่หมากินหมา

ในสถานการณ์จวนตัว หนียังไงก็ไม่พ้น การยอมเสียบางส่วนของร่างกายแลกกับการรักษาชีวิตเอาไว้ เพื่อจะได้มีโอกาสหาคู่ตุนาหงัน ได้มีโอกาสมีทายาทสืบต่อเผ่าพันธุ์แมงป่องต่อไป ก็อาจจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

เพราะนั่นอาจจะหมายถึงความอยู่รอดของมวลแมงป่องชาติ

ก็คงต้องยอมซูฮกจริงๆ กับพฤติกรรมสุดแสนจะเด็ดเดี่ยวของพวกเหล่าแมงป่อง “สละรูก้นเพื่อถอยหนี แต่ไม่มีจะยอมตาย (แบบโสด) ยอมทนทรมานถ่ายไม่ออก แต่ไม่ยอมหรอกที่จะไม่มีคู่”

หมายเหตุ : ใครสนใจอ่านงานวิจัยของโซลิมารีฉบับเต็มสามารถติดตามหาอ่านได้ในวารสาร American Naturalist ฉบับเดือนมีนาคม 2021