ปริศนาโบราณคดี : ไฉนบริเวณด้านหน้า ‘เวียงแก้วเชียงใหม่’ จึงมี ‘ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก’? (2) / เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ไฉนบริเวณด้านหน้า ‘เวียงแก้วเชียงใหม่’

จึงมี ‘ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก’? (2)

 

บทความฉบับที่แล้วได้เปิดประเด็นเรื่องการกระจายตัวของ “ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” ที่เป็น “สมัญญานามแบบกลางๆ” ซึ่งมักเป็น “วิญญาณนักรบ” ของวีรบุรุษหลายท่าน ล้วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยพระเจ้าตากสินลงมาไปแล้วนั้น

ฉบับนี้จะขอกล่าวถึงประเด็นคำถามที่ตั้งค้างคาไว้คือ แนวคิดเรื่อง “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” สืบสาวราวเรื่องได้เก่าสุดถึงยุคสมัยใด

ช่วงล้านนาตอนต้นมีแล้วหรือไม่

หรือไกลถึงสมัยหริภุญไชยนั่นเทียว?

เจ้าแขนเหล็กเมืองเชียงตุง

วิญญาณนักรบยุคต้นล้านนา

ในสมัยของพระญาผายู (พ.ศ.1877-1910) รัชกาลที่ 5 ของราชวงศ์มังรายแห่งล้านนา (ครองราชย์สืบต่อจากพระญามังราย ไชยสงคราม แสนภู และคำฟู) พระองค์มีโอรสองค์สำคัญชื่อพระญากือนา ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 6 สืบมา

พระญาผายูยังมีพระโอรสอีกหลายองค์ หนึ่งในนั้นคือ “เจ้าเจ็ดพันตู” ถูกส่งให้ขึ้นไปปกครองเมืองเชียงตุง เนื่องจากในยุคนั้นเชียงตุงเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา

หลังจากเจ้าเจ็ดพันตูสิ้นพระชนม์แล้ว โอรสของพระองค์นาม “เจ้าอ้ายออน” ได้ปกครองเชียงตุงต่อ เจ้าอ้ายออนมีอนุชาชื่อ “เจ้าแขนเหล็ก”

เจ้าอ้ายออนอภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระญากือนา (การสมรสกันระหว่างเครือญาติเลือดชิดลูกพี่ลูกน้องกัน ถือเป็นเรื่องธรรมดาในวงศ์กษัตริย์ เพราะทำให้เชียงตุง-เชียงใหม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น)

สมัยนี้เองเชียงใหม่มีสงครามกับกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์เชียงตุงเจ้าอายออนพร้อมอนุชาคือเจ้าแขนเหล็กได้ลงมาร่วมรบด้วย เจ้าอายออนถูกจับเป็นเชลย ส่วนเจ้าแขนเหล็กต่อสู้จนตัวตายคาสนามรบที่อยุธยา

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ปราชญ์ล้านนาอธิบายเรื่อง “เจ้าแขนเหล็กแห่งเชียงตุง” ในวันที่มีการเสวนาเรื่อง “หริภุญไชย : หนีหวางกว๋าในเอกสารจีน” ที่เทศบาลตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นมีการพูดถึงเรื่องเสื้อเมืองลำพูนว่า

“เจ้าแขนเหล็กมีอีกนามว่า ‘อัยกาพาหุง’ หรือ ‘อัยกาตะพุ่นช้าง’ เป็นนักรบขี่ช้าง คำว่า ‘อัยกา’ ก็คือพ่อปู่/เจ้าพ่อ ‘พาหุง’ น่าจะมาจากคำว่า พาหา ที่แปลว่าแขน + องคะ หมายถึงเป็นนักรบที่มีกำลังแขนแข็งแรงมาก สันนิษฐานว่า คติการนับถือวิญญาณนักรบที่ต่อสู้ด้วยข้อแขนที่แข็งแกร่ง คงเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว”

 

เจ้าเมืองเหล็กยุครัตนโกสินทร์

นักรบเอกของพระเจ้ากาวิละ

สายสกุลเจ้านายเชียงตุงอีกท่าน ที่มีอายุร่วมสมัยกับกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการพบชื่อของ “เจ้าเมืองเหล็ก” ว่าเป็นโอรสองค์ที่ 2 ของเจ้าฟ้ามหาสิริชัยสารัมพยะ หรือเจ้าสามแห่งเชียงตุง

ในช่วงที่พระเจ้ากาวิละนำเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูนมาสวามิภักดิ์ต่อสยามในช่วง 250 ปีก่อน พระเจ้ากาวิละได้ขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อ ไทขึน ไทยอง ไทใหญ่ จากเมืองต่างๆ ในรัฐฉานและสิบสองปันนา

ช่วงนั้นเอง “เจ้าเมืองเหล็ก” จากเชียงตุง ได้ช่วยพระเจ้ากาวิละคุมไพร่พลชาวยองชาวเชียงตุงในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่แถวบ้านหนองช้างคืนในเขตอำเภอเมืองลำพูนด้วย

เจ้าเมืองเหล็กได้สมรสกับเจ้านางอุก ต่อมาเป็นต้นสกุล “เหล็กสมบูรณ์” และแตกเครือญาติไปเป็นสกุล “เหล็กยอง” อีกด้วย

ต่อมาคำว่า “เหล็กยอง” แผลงเป็น “เด็กยอง” เนื่องจากตัว ล กับ ด ในภาษากลุ่มตระกูลไท สับสนกันได้ เช่น จอมดอย-จอมลอย)

ชาวยองและชาวไทขึนในลำพูนมีการนับถือ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” โดยกล่าวว่ามีศักดิ์เป็นบรรพบุรุษของพวกเขาในสายตระกูลหนึ่ง ที่สืบมาตั้งแต่ “เจ้าแขนเหล็กยุคพระญากือนา” จนถึง “เจ้าเมืองเหล็ก” “นักรบผู้กล้าของพระเจ้ากาวิละ”

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ต้องการชี้ให้เห็นว่า เรื่องราวของ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก/ข้อแขนเหล็ก” นั้นนอกเหนือไปจากมิติการเป็นทหารชาวบ้านที่มีบทบาทในการรบแล้ว ในอีกมิติหนึ่งยังพบว่าเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายเจ้า มีตัวตนจริงๆ ทางประวัติศาสตร์อีกด้วย อย่างน้อยมี 2 ท่านในสายราชวงศ์เชียงตุง

 

ใครคือ “พระญาแขนเหล็ก”

และ “พระญาบ่อเพ็ก”

ยุคพระนางจามเทวี?

ในเมื่อคติเรื่องการนับถือ “เจ้าพ่อข้อแขนเหล็ก” สามารถสืบสาวราวเรื่องได้เก่าถึงยุคพระญาผายู-พระญากือนา สมัยล้านนาตอนต้นแล้ว

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วสมัยหริภุญไชยเล่า มีคติเรื่องนี้หรือยัง

ตำนานมูลศาสนา รจนาโดยพระภิกษุล้านนาชื่อ “พระพุทธพุกาม” เมื่อราว 500-600 ปีก่อน ได้บันทึกเหตุการณ์ย้อนยุคกลับขึ้นไปอีก 800 ปี อันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคหริภุญไชยตอนต้น หรือราว พ.ศ.1204-1205 ช่วงที่พระนางจามเทวีเสด็จมาครองนครหริภุญไชย ก่อนเข้าเมืองทรงประทับที่พลับพลาชั่วคราว ณ เวียงเล็ก (เวียงเหล็ก-เวียงรมณียาคาม) แถววัดกู่ละมักก่อน

โดยตำนานระบุว่า ที่แห่งนี้พระนางจามเทวีโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดเท่าพระองค์จริง (สันนิษฐานว่าเป็นต้นกำเนิดของการสร้างพระเจ้าค่าคิงของภาคเหนือ) เพื่อนำพระบรมสารีริกธาตุอันนำมาจากละโว้ และโกศทองคำ มาบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปนั้นด้วย

จากนั้นประดิษฐานพระเจ้าค่าคิงไว้ในซุ้มของพระบรมธาตุ และยังได้ถวาย “พระสิกขีปฏิมาศิลาดำ” ซึ่งอัญเชิญมาจากละโว้ ประดิษฐานไว้ในพระอาราม

ประโยคสำคัญอยู่ที่ “บรรดาเสนามหาอำมาตย์ที่ตามเสด็จ เป็นต้นว่า ‘พระญาแขนเหล็ก’ และ ‘พระญาบ่เพ็ก’ ก็โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างพระพุทธรูปด้วยคนละองค์สององค์ พระพุทธรูปทั้งหลายจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองเหนือตั้งแต่นั้นมา”

ใครคือ “พระญาแขนเหล็ก” กับ “พระญาบ่อเพ็ก”?

พระพุทธพุกามบันทึกเรื่องนี้ตามเค้ามูลเดิมที่เล่าสืบต่อๆ กันมาตั้งแต่ยุคหริภุญไชย หรือว่าขณะที่เขียนตำนานนั้น ได้มีการสอดแทรกเอาคติการนับถือเรื่อง “เจ้าแขนเหล็ก” บุคคลที่มีตัวตนร่วมสมัยจริงๆ จากเชียงตุงเข้ามาสวม?

หากเป็นการบันทึกตามหลักฐานดั้งเดิม ก็ยิ่งน่าตื่นเต้นว่าเรื่องราวของ “พระญาแขนเหล็ก” จะเป็นต้นแบบการนับถือ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก/ข้อแขนเหล็ก” ในยุคต่อมาหรือไม่

และพระญาแขนเหล็กท่านนี้คือใคร

ใจกลางเมืองลำพูน มีศาลชื่อ “เจ้าพ่อพญาเหล็ก” ตั้งอยู่ที่ลานจอดรถของห้างแจ่มฟ้าพลาซ่าทางด้านทิศใต้ ใกล้กับเจดีย์ไชยชนะ (ร้าง) ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่ตั้งแต่ยุคหริภุญไชย แต่ถูกครอบทับสมัยล้านนา

ศาลดังกล่าวเป็นหอโล่งๆ เดิมไม่มีเทวรูป ต่อมามีผู้นำพระพุทธรูปดอกไม้ธูปเทียนไปวาง กับป้ายที่เขียนว่า “เจ้าพ่อขุนพญาเหล็ก”

นอกจากนี้ ทิศใต้นอกเมืองลำพูน เลยวัดประตูลี้ขนานแม่น้ำกวงออกไปเพียง 1 กิโลเมตร ยังมีโบราณร้าง “สันกู่เหล็ก” มีกรุพระเครื่องสกุลลำพูนหลายรุ่น ต่อมาได้รับการฟื้นให้เป็นวัดที่มีภิกษุจำพรรษาเมื่อไม่นานชื่อ “วัดกู่เหล็ก”

ผู้รู้ด้านประวัติศาสตร์ลำพูนหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า ทิศใต้ของเมืองลำพูน ถูกกำหนดให้เป็นเรื่องราวของสุสานหรือศาลนักรบ ขุนพล ขุนศึก เช่นมีศาลเจ้าพ่อเตโค (อยู่ในคูเมืองหอยสังข์ทิศใต้) ศาลเจ้าพ่อพญาเหล็ก และสันกู่เหล็ก เป็นต้น

ในเมื่อนามของท่านปรากฏคู่กับ “พระญาบ่อเพ็ก” เราก็ควรศึกษาด้วยว่าท่านคือใคร? คำว่า “เพ็ก” ถอดรหัสได้สองนัยยะ นัยยะแรกคือ “เป๊ก” หรือ “เปกข์” มาจาก “อุเบกขา” หมายถึงการบวช

นัยยะที่สอง หมายถึง “เพชร” ที่มีลักษณะ “แข็งเป๊ก” ชาวล้านนามักเรียก “ฆ้อนเพชรของพระอินทร์” แบบคำผสมว่า “แก้ววชิระเป๊ก” หมายถึง “แก้วแสงเพชร”

คำว่า “เป๊ก” ที่เป็นคำนามยังหมายถึงโลหะที่แข็งดุจเพชรใช้ปลุกเสก ด้วยวิธีผ่าฝังลงในร่างกายตามจุดต่างๆ ของนักรบยุคโบราณอีกด้วย ทำหน้าที่ต่างจากการฝังตะกรุด เพราะตะกรุดนั้นอยู่เฉพาะจุด

แต่เป๊กที่ฝังนั้น ใกล้จุดใดก็จะวิ่งแล่นมารับคมหอกคมดาบตามอวัยวะจุดต่างๆ ของร่างกายแบบเลื่อนไหลไปมาได้ ในวรรณกรรมเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” มีแม่ทัพเชียงใหม่คนหนึ่งชื่อ “แสนตรีเพชรกล้า” มีลักษณะต้องตรงตามสิ่งที่พรรณนามานี้ สร้างความสะท้านให้แก่ฝ่ายขุนแผนไม่น้อย

ส่วนคำว่า “บ่อ” อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ อธิบายว่าเป็นภาษาลัวะ หมายถึงแหล่ง แห่ง ที่ หากพบคำว่า “ต๋อ/บ่อ/บวก” ในชุมชนใดก็แล้วแต่ แม้ปัจจุบันจะเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทกลุ่มต่างๆ ทว่าเมื่อก่อนเคยเป็นชุมชนลัวะมาแล้วทั้งสิ้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ หากจะสืบสาวถึงคติการนับถือ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก/ข้อแขนเหล็ก” ว่าเก่าสุดถึงยุคหริภุญไชยหรือไม่ คำตอบคือมีร่องรอยอยู่ จากตำนานและหลักฐานเรื่องศาล กู่ ที่ยังตกค้างอยู่ในเมืองลำพูน

และไม่ใช่เพียงแต่เจ้าพ่อข้อแขนเหล็ก (พระญาแขนเหล็ก) ตนเดียวเท่านั้นที่ชาวหริภุญไชยมองว่าเป็นนักรบผู้เก่งกล้า ยังมีอีกตำแหน่งหนึ่งที่อยู่เคียงคู่กันมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี นั่นคือ “พระญาบ่อเพ็ก” อันเป็นต้นกำเนิดของตำแหน่ง “แสนตรีเพชรกล้า” ที่ยังรู้จักกันดีในวรรณกรรมชื่อก้องสมัยอยุธยา

น่าสงสัยว่า ในวัฒนธรรมล้านนายุคปัจจุบัน กลับไม่มีการสร้างหอ ศาล เพื่อเชิดชูนักรบที่ฝัง “เพชร” ตามจุดต่างๆ ของร่างกายให้เป็นเจ้าพ่อ/เทพารักษ์ ผิดกับนักรบที่แขนแข็งแกร่งดังเกราะ “เหล็ก”

เรื่องราวเชิงตำนานและประวัติศาสตร์น่าจะเจาะลึกพอสมควรแล้ว ฉบับหน้าได้เวลาวิเคราะห์ประเด็นศิลปสถาปัตยกรรมของศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กกันเสียที