เสียงจากหัวใจ “ภรรยา” ของตำรวจที่ถูก “ธำรงวินัย”

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 19/03/2021

“เรานอนร้องไห้ทุกคืนเลยนะ
พวกเรา 4 คน พ่อ-แม่-ลูกไม่เคยห่างกันเลย”

นี่คือความในใจของ “ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์” หรือที่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายคนรู้จักกันดีในนาม “ทนายแจม” ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เมื่อเธอบอกเล่าเรื่องราวของสามี ซึ่งเป็นหนึ่งในตำรวจ 97 นาย ที่ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาเปิดประเด็นว่าถูก “ธำรงวินัย” เป็นเวลา 9 เดือน

เนื่องจากไม่ยอมโอนย้ายหน่วยงาน

ทนายแจมเล่าว่า เธอพบรักกับสามีตอนเรียนปริญญาใบที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อจบการศึกษาทั้งคู่จึงตัดสินใจแต่งงานกัน

โดยสามีเลือกสมัครเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ซึ่งเป็นอาชีพในฝันของเขามาตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากมี “แรงบันดาลใจ” และ “ปมฝังใจ” บางอย่าง

“เขาอยากเป็นตำรวจตั้งแต่เด็กๆ เพราะมีพ่อ (ที่รับราชการเป็นตำรวจ) เป็นไอดอล และตอนเด็กๆ เคยถูกโจรจี้ชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือ จึงฝังใจอยากจะจับโจร และอยากทำงานที่สามารถจับคนร้ายได้ด้วยตัวเอง”

ตลอดชีวิตราชการ สามีของทนายแจมทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและรักในอาชีพตำรวจมากๆ ทำให้เธอรับรู้ได้ว่าอาชีพ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” คืองานหนัก เหนื่อย ไม่ค่อยมีเวลานอนพักผ่อน และแทบจะไม่มีวันหยุด เรียกว่าทำงานเกินกว่าสวัสดิการที่ได้รับ

ด้วยความทุ่มเทของสามี ทำให้เขาได้รับโอกาสทำงานในส่วนต่างๆ ตั้งแต่พนักงานสอบสวน สายสืบ หรือหน่วยปราบปราม เรียกว่าทำงานแทบจะทุกตำแหน่งในสายงานตำรวจ

กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีโครงการคัดตัวข้าราชการตำรวจ เพื่อโอนย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในอีกหน่วยงานหนึ่ง

เมื่อมีการคัดตัวในรอบแรกและมีการปฐมนิเทศ ปรากฏว่ามีนายตำรวจขอสละสิทธิ์ และตำรวจเหล่านั้นก็ถูกส่งตัวไป “ธำรงวินัย”

จากนั้น ก็มีการคัดตัวข้าราชการตำรวจรอบที่สอง ซึ่งรอบนี้สามีของทนายแจมมีรายชื่อติดเป็นตัวจริงที่จะต้องไปฝึกและโอนย้ายหน่วยงาน

เขาจึงตัดสินใจยื่นหนังสือชี้แจงเหตุผลว่าไม่สะดวกโอนย้ายและต้องการสังกัดตำรวจต่อไป “แต่ไม่มีใครรับฟัง เมื่อทำหนังสือลาออก ก็ปรากฏว่าไม่มีใครกล้าเซ็นให้ออก”

ทำให้สามีของทนายแจมกลายเป็น 1 ใน 100 นายตำรวจ (ต่อมา มีตำรวจ 3 นายลาออกจากราชการ จึงเหลือ 97 นาย) ที่ถูกส่งตัวไป “ธำรงวินัย” เป็นเวลา 9 เดือน

โดยส่งตัวไปที่จังหวัดยะลา 1 เดือน และจังหวัดนครราชสีมาอีก 8 เดือน

ตลอดระยะ 9 เดือนดังกล่าว ถือเป็นช่วงเวลาลำบากของครอบครัว

“มันเหนื่อยทั้งกาย และก็เหนื่อยทั้งใจ เพราะเรารู้สึกว่า สิ่งที่เขาถูกกระทำมันไม่เป็นธรรม เรารู้สึกว่ามันไม่ควรมีการบังคับให้มีการโอนย้ายแบบนี้” ทนายแจมกล่าว

เธอเล่าว่า ช่วงเวลาที่สามีถูกส่งตัวไปฝึกที่ยะลา 1 เดือนนั้น ตนเองไม่สามารถติดต่อกับสามีได้เลย สมาชิกในครอบครัวทั้งหมดต่างเป็นห่วงสามีมากๆ ว่าจะเกิดอันตรายอะไรขึ้นหรือไม่?

ด้วยหัวอกของภรรยาผู้เป็นทุกข์ ทนายแจมเล่าว่า เธอต้องนอนร้องไห้ทุกคืน และยังมีอาการเครียดสะสม จนนอนไม่หลับเป็นเวลานาน ทำให้ต้องเข้าพบจิตแพทย์

“พวกเราพ่อ-แม่-ลูก 4 คนไม่เคยห่างกันเลย และสามีเป็นคนดูแลลูกทุกอย่าง เพราะเขามีปมฝังใจในวัยเด็กว่าพ่อของเขาซึ่งเป็นตำรวจ ทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว และไม่มีเวลาให้เขา เขาจึงตั้งใจว่าถ้ามีลูกก็จะเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง และเขาก็ทำได้ดี ดูแลลูกเองทุกอย่าง”

นอกจากนั้น ช่วงที่สามีถูกส่งตัวไปฝึก ลูกคนที่สองของทนายแจมก็เพิ่งลืมตาดูโลกได้ประมาณ 6-7 เดือน พ่อเช่นเขาจึงไม่มีโอกาสได้เห็นลูกก้าวเดินเป็นครั้งแรก

และไม่ได้ยินหนูน้อยเอ่ยคำว่า “ป๊ะป๋า” ออกมาเป็นคราวแรกในชีวิต

เมื่อสามีถูกย้ายไป “ธำรงวินัย” ที่นครราชสีมา ทนายแจมพยายามขับรถพาลูกๆ เดินทางไปเยี่ยมเขาทุกสัปดาห์ และเกือบทุกครั้งที่แยกย้ายกัน ลูกคนโตก็จะร้องหาพ่อ และถามว่าทำไมพ่อไม่กลับบ้านด้วยกัน?

ขณะเดียวกัน ทนายแจมยังได้พบเห็น “ปัญหาร่วม” ของครอบครัวข้าราชการตำรวจทั้ง 97 นาย

กล่าวคือ ตำรวจที่ถูกธำรงวินัยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นประทวน มีเงินเดือนแค่หลักพัน ซึ่งปกติจะได้รับเงินเพิ่มเติมจากการเข้าเวรหรือค่าเบี้ยเลี้ยง แต่เมื่อรายได้ก้อนดังกล่าวขาดหายไป หลายๆ ครอบครัวจึงประสบความยากลำบากเป็นอย่างมาก

“97 ครอบครัวประสบปัญหาคล้ายๆ กัน เมื่อถูกธำรงวินัยก็เหลือแค่เงินเดือนหลักพัน และถึงแม้เขาจะเปิดให้เยี่ยม แต่ (สมาชิกครอบครัว) ส่วนใหญ่ก็ไม่มีต้นทุนเดินทาง ทำให้พวกเขา (ตำรวจ 97 นาย) ไม่ได้เจอครอบครัว”

หลังจากถูกธำรงวินัยครบ 9 เดือน ทนายแจมเล่าว่า สามีซึ่งเคยเป็นอดีตนายตำรวจติดตามผู้บังคับบัญชา ได้ถูก “แบล๊กลิสต์” โดยได้รับคำสั่งให้กลับไปเป็นพนักงานสอบสวนและเข้าเวรเหมือนตอนเรียบจบมาใหม่ๆ และไม่ได้เลื่อนขั้น 2-3 ปี ทั้งที่ไม่ได้ทำงานขาดตกบกพร่อง

แต่เขาก็ยังสู้ต่อไปเพราะอยากประกอบอาชีพตำรวจเหมือนเดิม

เมื่อ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับสามีและเพื่อนร่วมอาชีพ ในสภาผู้แทนราษฎร

ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า เธอรู้สึกโล่งใจ เนื่องจากที่ผ่านมาได้พยายามสื่อสารกับผู้คนถึงปัญหานี้ แต่ไม่มีใครพร้อมที่จะรับฟัง และทุกคนรู้สึกกลัวไม่กล้าพูด เพราะในประเทศของเรา หากมีใครลุกขึ้น “ยืนตรง” เพื่อต่อสู้กับอะไรบางอย่าง มันก็จะเกิดแรงกดดันตามมาอยู่เสมอ

“ในทางกฎหมายปกติเราไม่กลัวนะ เพราะเราได้บอกเล่าความจริงที่เกิดขึ้น และเราเชื่อว่าตำรวจทุกนายรู้เรื่องนี้ และเรารู้ว่าการที่เราออกมาพูดมันไม่ได้ส่งผลดีกับเราหรือสามีของเรา แต่มันจะเกิดผลดีกับตำรวจคนอื่นๆ ที่เขาไม่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้อีก เราทำเพื่อคนอื่นด้วย มันไม่ควรมีใครต้องเจ็บปวดอีกแล้ว”

ทนายแจมยังแสดงความเห็นว่า ผู้มีอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมักจะคิดถึงตนเองเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงลูกน้องสักเท่าไร และตราบใดที่พวกเขายังไม่คิดถึงส่วนรวมแบบนี้ วงการตำรวจก็ไม่มีทางจะยกระดับสูงขึ้น

“อยากให้พวกเขารู้ว่า ในขณะนี้ที่พวกเขาใช้ชีวิตปกติอย่างมีความสุข พวกเขากำลังมีความสุขอยู่บนความทุกข์ของ 97 ครอบครัวที่ถูกธำรงวินัย ไม่ใช่แค่ภรรยาของคนเหล่านั้นที่เป็นทุกข์ พ่อ-แม่ พี่-น้องของคนเหล่านั้น ทุกคนในครอบครัวของเขาก็เป็นทุกข์เช่นกัน จงรู้ไว้ว่ามีคนที่ทุกข์ทรมานจากโครงการที่เกิดขึ้นนี้”

นี่เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของ “ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

อนึ่ง ปัจจุบัน “ศศินันท์” กลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 11 พรรคก้าวไกล โดดเด่นด้านการเรียกร้องสิทธิเพื่อเด็กและสตรี สิทธิการลาคลอดและลาเลี้ยงบุตรของบิดา อยากเห็น “ไทย” เป็นประเทศที่มีห้องให้นม มีพื้นที่สาธารณะที่ดี และสิทธิมนุษยชนต้องถูกบรรจุในหลักสูตรเด็กปฐมวัย มีสวัสดิการถ้วนหน้าโดยรัฐ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความจน