กลยุทธ์ “ดิสรัปต์รู้เพดาน” แบบ “เพื่อไทย” แบ่งตลาด “ตระกูลชิน-ตระกูลก้าว”

หลังเกิดแผ่นดินไหวในพรรคเพื่อไทยช่วงปลายปี 2563

นับจากความเคลื่อนไหวของ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” ซึ่งนำมาสู่ “อาฟเตอร์ช็อก” หลายลูก ตั้งแต่การปรับทัพ “กรรมการบริหารพรรค” ที่ทำให้ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ต้องยอม “ยกธงขาว” ลาออกจากพรรคไป

ต่อมา “คุณหญิงอ้อ” ได้เข้า “เทกโอเวอร์พรรค” ตั้งคณะทำงาน 11 ด้าน พร้อมดึง “คีย์แมนกลุ่มแคร์-อดีตกุนซือไทยรักไทย” กลับมาร่วมสร้างพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง โดยหวังให้พรรคกลับมาเปรี้ยงเช่น “ยุคไทยรักไทย”

โดยมีตัวแทน “คุณหญิงพจมาน” คือ “คุณแจ๋ว-จุฑารัตน์ เมนะเศวต” เพื่อนร่วมรุ่นเซนต์โยเซฟ-รหัสรุ่น SJC1315 เข้ามาช่วยจัดการพรรค

การยึดพรรคคืนของ “คุณหญิงอ้อ” มาพร้อมแนวทาง “ประนีประนอม” อย่างชัดเจน

ก่อนที่ “แนวทางใหม่” ของพรรคจะถูกนำเสนอในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งหลายคนมองว่าเป็น “ฤกษ์ดี” ของอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร”

เพราะย้อนไปวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 นั่นก็คือวันที่พรรคไทยรักไทย ได้ ส.ส. 377 ที่นั่ง สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรก (และครั้งเดียว) ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ย้อนไป 20 ปีก่อน คือวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ก็คือวันที่ “ทักษิณ” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก

โดย 2 เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของพรรคไทยรักไทยได้ถูกย้อนรำลึกในเพจเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ที่มาพร้อมกับการเปิดตัวโครงการ “THE CHANGE MAKER” เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564

โครงการ “THE CHANGE MAKER” เปิดตัวผ่านเพจเฟซบุ๊ก “THINK คิด เพื่อ ไทย” โดยมี “คณาพจน์ โจมฤทธิ์” ผอ.ทีมคิดเพื่อไทย เพื่อนสนิทของ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” และอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ เป็นผู้รับผิดชอบโปรเจ็กต์

การเปิดเวทีเริ่มต้นด้วย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย สายตรงของ “เฮียเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” บุคคลที่มีเพาเวอร์สูง (ทว่าชอบเก็บตัวทำงานเงียบๆ) ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย

“ประเสริฐ” กล่าวเปิดว่า โครงการนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งที่พรรคจะ “ดิสรัปต์” ตัวเอง โดยเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะได้บุคคลและนโยบายใหม่ๆ มาพัฒนาประเทศ เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น

จากนั้นเป็นคิวของ “หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” และ “หมอมิ้ง-นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” สองแกนนำกลุ่มแคร์ และ “ทีมกุนซือทักษิณ” ยุคไทยรักไทย มาร่วมเวทีในฐานะ “ที่ปรึกษาโครงการ”

“หมอมิ้ง” ได้เผยเคล็ดลับ 3 ชุด คือ “คน-คิด-เคลื่อน” จึงสามารถครองใจประชาชนได้ ผ่านการเป็นนักปฏิบัติมากกว่านักพูด

พร้อมเปิดเคล็ดลับการบริหาร 3 ตัว คือ “ICE” โดย I – Inclusive หมายถึง ระดมความเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วม

C – Collaborative หมายถึง ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ประสานประโยชน์อย่างเหมาะสม

และ E – Empower ทำให้ประชาชนมีอำนาจ มีสิทธิ์ มีศักดิ์ศรี ผ่านโครงการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเท่าเทียม เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

เคล็ดลับต่อมาคือ “3 C” ซึ่งเป็นพลังแห่งความสร้างสรรค์ โดย C ตัวแรก หมายถึง Creative การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ คนรุ่นใหม่พลังสร้างสรรค์สูงกว่า ผู้ใหญ่ต้องรับฟังและเลือกใช้พลังดังกล่าวให้เป็น Communication หมายถึง เลือกสาระ เข้าใจเจตนาร่วม จึงจะบริหารประเทศสำเร็จ และ Contest หมายถึงการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยให้เกิดพลังที่สร้างสรรค์และท้าทาย

ส่วน “หมอเลี้ยบ” ได้กล่าวถึง 5 วิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญ ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม โรคระบาด และเทคโนโลยี

สำหรับวิกฤตการเมืองนั้น “นพ.สุรพงษ์” มองถึงผลพวงจากรัฐประหารตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเปรียบเสมือนยุค “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” และมองว่าการเมืองวันนี้ไม่สามารถทำให้คนไทยมีความหวังได้

แต่ที่ฮือฮาไม่น้อยคือการกลับมาของ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อดีตที่ปรึกษานายกฯ 3 รัฐบาล ตั้งแต่ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” “ทักษิณ ชินวัตร” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เจ้าของฉายา “มันสมองแห่งชาติ-กุนซือหูกระต่าย”

โดย “พันศักดิ์” เพิ่งจัดทำพอดแคสต์ตอนแรกของโปรเจ็กต์ “What Happened to the 5th Tiger เสือตัวที่ 5 สบายดีไหม?” ออกมา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นการ “แบ่งตลาด” ระหว่างพรรคเพื่อไทยของ “ตระกูลชินวัตร” กับขั้ว “พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” หรือที่เรียกว่า “ตระกูลก้าว”

หากพิจารณาที่ตัว “เนื้อหา” ขั้วเพื่อไทยก็พยายามเน้นกระบวนการคิดในเรื่องนวัตกรรม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มองเรื่องการพัฒนา ส่วนเรื่องการเมืองก็เน้นย้ำถึงความล้มเหลวตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมาหลัง คสช.ทำรัฐประหาร

ต่างจากขั้วตระกูลก้าว ที่ยังคงเดินเครื่องเรื่องการ “ปฏิรูปสถาบัน” ผ่านความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ การเสนอแก้ไขกฎหมาย 5 ฉบับ รวมถึง ม.112

รวมทั้งยังแสดงท่าทีสนับสนุนคณะราษฎรที่มีข้อเรียกร้อง “ทะลุเพดาน” อย่างชัดเจนมากกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งพยายามรักษา “ระยะห่าง” จากม็อบคนรุ่นใหม่

ความแตกต่างข้อนี้ปรากฏให้เห็นแม้แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหนล่าสุดที่เพิ่งปิดฉากไป

ความเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทยจึงเป็นการ “ดิสรัปต์ตัวเองอย่างมีเพดาน” สอดรับกับแนวปฏิบัติต่างๆ ที่ริเริ่มไว้โดย “คุณหญิงพจมาน”

วิธีการ “ดิสรัปต์ตัวเอง” ของพรรคเพื่อไทยนั้นมุ่งเน้นไปที่การผลิตซ้ำความสำเร็จยุค “ทักษิณ”

เห็นได้ชัดจากการที่อดีตนายกฯ แสดงทัศนะผ่านคลิปปิดท้ายงาน Care Talk หัวข้อ “คนไทยไร้จน : ฝันเฟื่องหรือเรื่องจริง” ที่จัดโดยกลุ่มแคร์

“ทักษิณ” ได้ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการคิด” ซึ่งสอดรับกับ “คอนเซ็ปต์ใหม่” ของพรรคเพื่อไทย พร้อมย้อนความสำเร็จของอดีตรัฐบาลไทยรักไทย ที่เคยประกาศสงครามกับความยากจน

พร้อมตั้งคำถามถึง “รัฐบาลประยุทธ์” ว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างไร? และรู้เท่าทันระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือไม่?

โดยอดีตนายกฯ ยังสนับสนุนแนวคิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560

ปัญหาท้าทายประการหนึ่งของ “พรรคเพื่อไทยยุคใหม่” คือการสรรหาผู้นำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า

ก่อนหน้านี้ มีการเอ่ยชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หลังมีการออกข่าวว่า “เศรษฐา” จะมาร่วมแสดงทัศนะในโครงการ “THE CHANGE MAKER”

ทว่าเจ้าตัวกลับออกมาปฏิเสธอย่างฉับพลันว่าไม่มีความทะเยอทะยานในทางการเมือง

ทั้งหมดนี้เป็นการ “รีโนเวตพรรคเพื่อไทย” ครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมรับศึกเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งหากนับปฏิทินการเมืองแล้ว “รัฐบาลประยุทธ์” กำลังจะมีอายุครบ 2 ปีเต็ม เท่ากับว่าเดินมาถึงครึ่งทาง

โดยไม่นับรวม “อุบัติเหตุอื่นๆ” ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการ “ยุบสภา” ก่อนรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปี

ด้วยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทยจึงต้องฟิตตัวเองให้พร้อมอย่าง “รู้เพดาน”!