จับตา “วงศ์เทวัญ-คงสมพงษ์” บ้านนี้ (อาจมี) 2 ผบ.เหล่าทัพ พ่วงตำนานเพื่อนรัก จปร.5 “บิ๊กสุ-บิ๊กตุ๋ย”

ชื่อของ “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.สส. หรือ “นายพลเสื้อคับ” ถูกพูดถึงอีกครั้ง แม้จะถึงแก่อนิจกรรมไปนานแล้ว หลังมีข่าว “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่1 ผู้เป็นบุตรชาย เรียก “วัน อยู่บำรุง” ลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาพูดคุย

หลังวันโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อย่างรุนแรง ถึงขั้นให้บิ๊กทหารไปตาย เพราะทำบ้านเมืองล้าหลัง

สุดท้ายวันได้ลบโพสต์นั้น พร้อมโพสต์ข้อความขอโทษแทนว่า “ผมสำนึกผิด จึงกราบขอโทษคณะผู้บริหารของรัฐบาลและ คสช. ด้วย หวังว่าพวกท่านคงให้อภัยในความผิดพลาดครั้งนี้”

พร้อมนำพวงมาลัยมาขอขมานายกฯ ที่ทำเนียบ โดยผ่านศูนย์บริการประชาชน และระบุว่าได้พบแม่ทัพภาคที่ 1 แล้ว

ในวันนั้น พล.ท.อภิรัชต์ ติดลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจตรวจชายแดนไทย-กัมพูชา และประชุมร่วมกับนายทหารระดับสูงของประเทศกัมพูชา พร้อมระบุว่า ร.ต.อ.เฉลิม เตือนลูก จึงทำให้ต้องออกมาขอโทษ เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม ให้ความร่วมมือ คสช. มาตลอด

จึงมองว่ากรณีที่วันโพสต์ข้อความแบบนั้น ไม่รู้คิดอะไร หรืออาจมึนๆ อยู่หรือไม่

ในยุคที่ “บิ๊กจ๊อด” เรืองอำนาจ เคยทำรัฐประหารรัฐบาล “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ต้องลี้ภัยไปอยู่สิงคโปร์และเดนมาร์ก พร้อมครอบครัว ก่อนจะประสานขอบิ๊กจ๊อดกลับไทย ซึ่งได้รับการอนุญาตให้กลับได้

จุดนี้เองอาจเป็น “ความอยู่เป็น” ของ ร.ต.อ.เฉลิม ในการโลดแล่นการเมืองมานาน และอยู่ได้กับหลายพรรคหลายพวก ที่สำคัญนับจากรัฐประหาร 2557 ร.ต.อ.เฉลิม ก็เงียบหายไป บ้างก็มีข่าวว่าป่วยหนักหรือมีข่าวว่าเสียชีวิตแล้วบ่อยที่สุดคนหนึ่ง บุคคลในครอบครัว “อยู่บำรุง” ก็ไม่ออกมาปะทะหรือท้าทาย คสช.

การออกมาของ “ลูกวัน” จึงสร้างแรงสะเทือนไม่น้อย ทั้งในหมู่แฟนคลับเพื่อไทย กลุ่มต้าน คสช. และสะเทือนถึง คสช. จนขุนพลข้างกายนายกฯ อย่างบิ๊กแดงต้องออกมาเคลียร์ปม

หากมองในมุมประวัติศาสตร์การเมือง จะเห็นภาพการเมือง “รุ่นสู่รุ่น” นับจาก “บิ๊กจ๊อด-ร.ต.อ.เฉลิม” และ “บิ๊กแดง-ลูกวัน” จุดนี้ก็สะท้อนถึงการถ่ายทอด “จิตวิญญาณ” ทั้งทาง “การเมือง” และ “ทหาร” ให้กันและกัน ด้วยบุคลิกของรุ่นพ่อและรุ่นลูกที่ไม่ต่างกันนัก เรียกได้ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”

โดยเฉพาะในแวดวงลายพราง บิ๊กแดงถือเป็นอีกความหวังของทหารสาย “วงศ์เทวัญ” เสื้อจับจีบ 5 กลีบ เสื้อคับ แต่งชุดทหารเป็นเอกลักษณ์ สมาร์ตแมน ที่จะขึ้นชิง ผบ.ทบ. คนต่อไป ต่อจาก “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. จากรบพิเศษ

ถือว่าบิ๊กแดงมีโอกาสมากกว่าเพื่อน ตท.20 ด้วยกัน เพราะจ่อขึ้น 5 เสือ ทบ. ติดยศ “พล.อ.” ในเดือนตุลาคมนี้

หากปี 2560 พล.ท.อภิรัชต์ ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. จริง ก็เท่ากับว่าตระกูล “คงสมพงษ์” จะมีคนได้เป็น ผบ.เหล่าทัพถึง 2 คน โดยทิ้งระยะห่างเกือบ 30 ปี

หากกล่าวถึงบิ๊กจ๊อด ก็ต้องย้อนตำนานกลับไปช่วงรัฐประหาร 2534 ในฐานะผู้นำ รสช. เข้ายึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย จนนำมาสู่เหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2535 เมื่อ “บิ๊กสุ” พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เรื่องเล่าว่าด้วยกองทัพยุคนั้นถูกเปิดเผยออกมาผ่านหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ “บิ๊กตุ๋ย” พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี

หนึ่งในประเด็นที่บิ๊กสุเขียนถึงบิ๊กตุ๋ย ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนรักและคู่เขย ก็คือ

“เมื่อผมเป็น ผบ.ทบ. หลายคนเข้าใจผิดว่า อิสระพงศ์พยายามผลักดันให้ผมพ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ. เพื่อตนจะได้ดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

“เพราะ พล.อ.ชาติชาย นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้เรียกอิสระพงศ์ไปพบ และเสนอให้อิสระพงศ์เป็น ผบ.ทบ. โดยอ้างความสนิทสนมว่าท่านเคยอุ้มอิสระพงศ์มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก โดยเป็นคนราชบุรีด้วยกัน แล้วคุณพ่อของอิสระพงศ์ก็สนิทสนมกับคุณพ่อของท่าน

“แต่อิสระพงศ์ยืนยันว่า ผมเท่านั้นที่สมควรเป็น ผบ.ทบ. โดยไม่ยอมรับตำแหน่งที่ พล.อ.ชาติชาย เสนอให้ อิสระพงศ์เป็นที่ปรึกษาทุกอย่างของผม แม้แต่เมื่อผมทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลหรือแม้แต่เกษียณอายุราชการแล้ว อิสระพงศ์ยังคงเป็นเพื่อนและเป็นที่ปรึกษาในทุกๆ ด้านของผม” พล.อ.สุจินดา เผย

ทั้งหมดนี้ตอกย้ำความเป็นเพื่อนรัก “จปร.5” อันแนบแน่น เพราะทั้งคู่ต่างรู้จักกันมาแต่เรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ เล่นกีฬามาด้วยกัน ช่วงเรียนที่ จปร. บิ๊กตุ๋ยเล่นบาสเกตบอลได้ดี แม้ตัวเล็ก แต่คล่องแคล่ว เล่นฟุตบอลเก่งเป็นปีกซ้ายเพราะถนัดซ้าย ส่วนการตีกอล์ฟมาเล่นกันช่วงมีอายุมากแล้ว

ต่อมา พากันมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมนายร้อย จปร. บิ๊กตุ๋ยสอบจบ จปร. ปี 5 ได้คะแนนที่ 1 ของรุ่น ได้ไปเรียนหลักสูตรผู้บังคับหมวดทหารราบสหรัฐ ที่ Fort Benning และเลือกเหล่าทหารราบ แม้เคยสัญญากับ พล.อ.สุจินดา ว่าจะเป็นทหารเหล่าเดียวกัน แต่ก็มีเหตุให้ต้องแยกทางเดินกันไป

“เราตกลงกันไว้ว่า จะเลือกไปรับราชการเหล่าเดียวกัน โดยใครมีสิทธิเลือกเหล่าก่อน คนเลือกทีหลังจะต้องเลือกตาม แต่เผอิญตอนใกล้จบการศึกษา ผมมีอาการโรคหอบหืด จึงเปลี่ยนใจไปเลือกเหล่าทหารปืนใหญ่” พล.อ.สุจินดา เผย

อีกบุคคลที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.อิสระพงศ์ คือ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรษ

ช่วงที่ป๋าเปรมเป็นนายกฯ เกิดเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย ในช่วงนั้น บิ๊กตุ๋ยเป็น ผบ.ร.11 รอ. ซึ่งผู้บังคับหน่วยกำลังในกรุงเทพฯ ทั้งระดับผู้การและผู้พันล้วนเป็นพวกกลุ่มยังเติร์ก หรือ จปร.7 นำโดย พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร ที่เตรียมทำการยึดอำนาจป๋าเปรม ทำให้ พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อิสระพงศ์ ต้องหาแนวทางต่อต้าน

โดยได้รับกำลังสนับสนุนจาก “บิ๊กซัน” พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 จากโคราช เข้าปราบกบฏจนได้รับชัยชนะ และ พล.อ.อิสระพงศ์ ได้เลื่อนขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.6, ผบ.พล.1 รอ. และแม่ทัพภาคที่ 2 ก่อนขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในท้ายที่สุด

“เพื่อนๆ เรียกว่า “ตุ๋ย” เราก็เรียก “ตุ๋ย” เหมือนกัน “ตุ๋ย” เป็นนายทหารอาชีพและนายทหารมืออาชีพ” พล.อ.เปรม เขียนคำไว้อาลัย

นอกจากนั้น ช่วงที่ พล.อ.อิสระพงศ์ เป็น ผบ.ร.11 รอ. เป็นครั้งแรกที่เขาได้พบกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เมื่อครั้งเป็น “ร้อยตรี” หลังจบโรงเรียนนายร้อย จปร. ช่วงปี 2522 มาประจำที่ ร.11 พัน.1 รอ. ซึ่ง พล.อ.อิสระพงศ์ ได้ปฏิบัติราชการชายแดนตะวันออก

ต่อมาปี 2527 พล.อ.ไพบูลย์ได้ใกล้ชิดบิ๊กตุ๋ย จนเป็นทหารคนสนิท ขณะ พล.อ.อิสระพงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.พล.ร.6 และ ผบ.กองกำลังสุรนารี

“ในชีวิตส่วนตัวพ่อตุ๋ยและคุณแม่หมอ (พญ.สุมนา ภริยา พล.อ.อิสระพงศ์) ดูแลผม ให้ความรักความเมตตา ความไว้เนื้อเชื่อใจ เสมือนสมาชิกในครอบครัวท่าน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลูกอีกคนก็ว่าได้” พล.อ.ไพบูลย์ เผย

“ทุกครั้งที่ผมรับตำแหน่งทางการทหาร แม้แต่ทางการเมือง ท่านก็จะให้คำแนะนำประสบการณ์ทำงานเหมือนเป็นครู เป็นพ่อที่คอยห่วงใยทุกเวลา” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

วันเวลาไม่เคยหยุดเดิน ประวัติศาสตร์การเมืองก็ถูกบันทึกไม่รู้จบ “คนเก่าไป คนใหม่มา” จาก “รสช.” ถึง “คมช. 2549” มาถึง “คสช. 2557” ไม่มีใครรู้เมื่อไหร่รัฐประหารจะหมดไป? แต่กลับเชื่อกันว่า “รัฐประหาร” ยังมีอีกแน่นอน

เพราะ “ทหาร-การเมืองไทย” แยกกันไม่ออก!!