พนมเปญแห่งเมืองสร้าง บนสัมพันธ์จีน-เขมร /อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

พนมเปญแห่งเมืองสร้าง

บนสัมพันธ์จีน-เขมร

 

ปูมักคะเนีย เป็นเรื่องวัฒนธรรมเฉพาะแล้วกระมังสำหรับกัมพูชาหลัง 150 ปีที่ผ่านมา ที่พบว่าภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศสและก่อนนั้น มีต้านตึงหรือต่อต้านอย่างเห็นได้

ฉันจะยกตัวอย่างแม้กระทั่งธรรมเนียมพุทธศาสนาอย่างวันมาฆบูชาที่เพิ่งรับไปจากไทยผ่านทางธรรมยุติกนิกายในรัชกาลที่ 4 เมื่อแรกนั้นก็ถูกต่อต้านจากฝ่ายมหานิกายสงฆ์กัมพูชา ประสาอะไรกับเรื่องอื่น ซึ่งต่างเห็นว่าเป็นเรื่องรัฐอำนาจทั้งสิ้น

ทั้งยุคก่อนและหลังของกัมพูชาจึงกลายเป็นความหวาดระแวง

ยิ่งธรรมเนียมจีนนั้นยิ่งแล้วใหญ่ ถึงจะมีชาวจีนอาศัยในเขมรมานานก็ตาม แต่ไม่ต่างจากชนอพยพ แม้วัฒนธรรมชนท้องถิ่นจะกลืนกันไปมาจากการสมรสก็ตาม และชาวจีนในเขมรมักเป็นฝายหันละธรรมเนียม หันมาเป็นเขมรอย่างเต็มคราบโดยเฉพาะในรุ่นลูกหลานด้วยแล้ว พวกเขามักจะให้ความสำคัญกับวันไหว้บรรพบุรุษเขมรอย่างผตุมเบ็ญมากกว่าตรุษจีนเสียอีก

แม้แต่ทูตจูต้ากวนซึ่งเคยบันทึกว่า ชาวจีนสมัยเมืองพระนครนิยมดูโหราศาสตร์ตามวิสัยชาวเขมรยุคนั้น

นับเป็นวิถีคล้อยตามวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างกลมกลืนเสียกระไร

ส่วนยุคที่พระมหากษัตริย์ที่บังเอิญเคยพึ่งอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอดีตเช่นพระบาทนโรดม สีหนุ นั้น ทรงมีวิถีตามขนบราชสำนักแบบเขมรเยี่ยงนั้น แม้แต่วันตรุษจีนในอดีตนั้น ก็เข้าใจว่า มิได้ทรงเฉลิมฉลองเอิกเกริกกระไร ไม่ว่าจะพระตำหนักจีนหรือที่กัมพูชา

อย่างมากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ยุคนั้น ก็ถวายคำอวยพรและดื่มน้ำชาอย่างเป็นพิธี

กระนั้นก็ตาม ในฐานะอาคันตุกะพิเศษที่พรรคคอมมิวนิสต์ให้ความสำคัญ ดังนี้ สมาชิกครอบครัวนโรดมระดับสูงจึงได้รับการถวายพระเกียรติอย่างสูงสุด ไม่ว่าวันประสูติของพระชายาโมนิกหรือพระบาทนโรดม สีหนุ การเลี้ยงฉลองวันดังกล่าวที่แม้จะดำเนินไปอย่างไร้สีสันตามแบบพรรคคอมมิวนิสต์ แต่การถือธรรมเนียมปฏิบัติอย่างมีแบบแผนยังคงดำเนินไปตลอดที่พระองค์ยังคงพระชนม์

และนี่คือมิตรไมตรีที่พรรคคอมมิวนิสต์มอบให้อย่างน่าจดจำตลอดมา

 

ปูมักคะเนีย มองความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกัมพูชากับชาวจีนโพ้นทะเลนี้ มีความน่าสนใจนัก หากจะแยกย่อยลงไป โดยจะเห็นว่า 100 ปีที่ผ่านมา ชุมชนชาวจีนไห่หนานในกัมพูชาที่อพยพมาตั้งรกรากในจังหวัดกำโปด คริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้สร้างความเจริญต่อราชสำนักและบ้านเมืองไม่น้อย

ครั้นอพยพมาตั้งถิ่นฐานในกรุงพนมเปญแล้ว ความมั่งคั่งสร้างแก่ราชสำนักและรัฐอินโดจีนดูจะมั่นคงไปอีก

ทว่า มรดกโบราณสถานที่หลงเหลือในพนมเปญทุกวันนี้ เหลือให้เห็นเพียงไม่กี่แห่ง นอกจากร้านค้าและอาหารแบบชาวจีนดั้งเดิมที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปตามเวลา เว้นแต่ศาลเจ้าหรือวัดจีนของพนมเปญบางแห่งเท่านั้นที่ยังคงสภาพดั้งเดิมและแทรกอยู่บางซอกมุมพนมเปญแต่ร้อยปีที่ผ่านมา (2464)

ชุมชนจีนเขมรยุคโน้น แม้จะเติบโตหลังฉากพ่อค้าเจ้าหน้าที่บารังที่ชิดใกล้ราชสำนักและสร้างทางเลือกความมั่งคั่งได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับชาวจีนโพ้นทะเลนั้น

แต่เชื่อไหมว่า ความมานะบากบั่นและมีหัวทางการค้ากับชาวท้องถิ่นรวมทั้งชนทุกชั้น ทำให้เราได้เห็นถึงสถานะที่ไม่ธรรมดาของชาวจึนกัมพูชาจากตำแหน่งและเส้นทางของถนนนานาที่พวกเขาอาศัยในกรุงพนมเปญ

จากบันทึก D?ambulations phnompenhoises ของฌอง-มิเชล ฟิลิปปี ที่เน้นไปในทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมฝรั่งเศสนั้น ทำให้ฉันได้เห็นถึงย่านเก่าแก่ของชาวจีนเขมรโพ้นที่เติบโตมากับถนนเส้นรองที่กลายเป็นเส้นหลักของเมืองในต่อมา

ไม่ว่าถนน 108 ที่ตัดเลียบขนานกับพระราชวัง และถนนเลขที่ 75 ซึ่งเป็นถนนสายรองขนานไปราชวิถี- มุนีวงศ์ (93) และย่านการค้าห้างบูติกหรูหราบนถนน 53

บริเวณเหล่านี้ตั้งอยู่รอบๆ บึงแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “บึงเดโช” เคยเป็นที่ตั้งของวัดญวนมาก่อน กระทั่งเกิดไฟไหม้ (2463) ทำให้ชาวญวนอันนัมอพยพออกไป และเปิดทางให้ชาวจีนไห่หนานยึดครองทำการค้าอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยเฉพาะเมื่อจากถนน 108 ทะลุไปจรดเลขที่ 61 เส้นนั้นคือส่วนขอบบึงทะเลสาบ และท่านคหบดีโช-โหลน เจ้าสัวชาวจีนผู้มีวิสัยทัศน์ ได้เคยเสนอไอเดียแก่พวกบารังทางการ นั่นคือการถมทะเลสาบเพื่อสร้างเป็นตลาดการค้าในร่มขนาดใหญ่ใจกลางเมือง

แต่ผู้สำเร็จราชการกลับปฏิเสธ ทว่า 15 ปีต่อมา (2480) กลับนำโครงการนี้มาปัดฝุ่นและอาคารหรูหราตามสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างโคโลเนียลกับพระปรางค์เจดีย์จากกรุงอุดงค์ที่จำลองมาจากราชธานีเก่าอย่างภูมิฐานตรงส่วนโดมของจัตุรัสอาคาร

และนั่นเอง ความงามอันคลาสสิคของตลาดกลางหรือ “เซ็นทรัลมาร์เก็ต” จึงถือกำเนิดและโดดเด่นเป็นแลนด์มาร์กแห่งศตวรรษที่ 20 ของกรุงพนมเปญที่คลาคล่ำไปด้วยชาวจีนโพ้นทะเล

จนเรียกขานพนมเปญบ้างว่า “นครชาวจีน” หรือ “ลิตเติ้ลไชน่า”

 

นั่นเอง ความมีอยู่ของชาวจีนโพ้นทะเลกัมพูชาในอดีต

อย่างไรก็ตาม สำหรับด้านวัฒนธรรมประเพณีแล้ว กลับพบว่า ชาวจีนยุคนั้นกลับชื่นชมปรีดาในวัฒนธรรมท้องถิ่นกัมพูชามากกว่าอัตลักษณ์ของความเป็นชาวจีนโพ้นทะเล กระนั้น ก็ยังถูกอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรทั้งกลืนและข่มไปจนเกือบสิ้น

โดยเฉพาะยุคเขมรแดงนั้น พวกเขาถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นกลุ่มแรกๆ เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สำหรับทศวรรษปัจจุบัน เรากลับพบว่า อิทธิพลคู่ขนานจีนโพ้นทะเลและกัมพูชา ได้วนกลับมาอีกครั้ง ทว่าเป็นรูปแบบที่ต่างจากศตวรรษก่อน

นั่นคือ การถูกหลอมรวมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ดังจะเห็นจากขนบธรรมเนียมใหม่ในพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์กัมพูชา

คือ พิธี ‘เซ่นไหว้’ บรรพบุรุษและ ‘จิ้มก้อง’ ของราชสำนัก ณ วันตรุษจีนอย่างเป็นทางการ

อนึ่ง ผู้สนองพระราชพระราชพิธีดังกล่าว หาใช่ใครอื่น แต่คือเจ้ากรมวังหรือเจ้าฟ้าเวียง (ตามชื่อเรียกสมัยเก่า) และตำแหน่งดังกล่าว-เจ้ากรมวังนี้ มีความขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล

และโปรดสังเกตว่าในอดีตเจ้าฟ้าเวียงจวนน์ซึ่งรับใช้พระมหากษัตริย์ถึง 3 รัชกาลนั้น (นโรดม-สีโสวัตถิ์-มุนีวงศ์) ก็มีตำแหน่งแบบเดียวกัน คือเทียบเท่ารัฐมนตรีในคณะรัฐบาลฝรั่งเศสอินโดจีน

มิใช่ข้าราชบริพารที่รับสนองพระดำริส่วนพระองค์

ที่ผ่านมาอดีตโพ้น เจ้าเวียงจวนน์นั้น พอถึงวันคริสต์มาส หรือวัน “โนแอล” ทีไร เขาต้องจัดพระราชพิธีถวายกระยาหารค่ำ ดังนี้ นับแต่รัชกาลสีโสวัตถิ์-มุนีวงศ์ลงมาแล้ว ราชวงศ์เขมรินทร์ก็คุ้นชินกับขนบประเพณีฝรั่ง แต่เมื่อถึงรัชกาลพระบาทนโรดม สีหมุนี ปัจจุบัน ได้ถือเป็นธรรมเนียมสำราญส่วนพระองค์เท่านั้น

หาใช่ข้อปฏิบัติของเจ้ากรมวังดังเช่นสมัยเจ้าฟ้าจวนน์ยุคก่อน

และเช่นข้อปฏิบัติของรัฐมนตรีกรมวังของรัฐบาลสมเด็จฮุน เซน ที่ทำให้เทศกาลตรุษจีนได้กลายพระราชกรณียกิจสำคัญของราชสำนักกัมโพชสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งในวิถีวัฒนธรรมสากลของจีนอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งต่อภาพลักษณ์การเมืองกัมพูชาและซอฟต์เพาเวอร์

หรืออำนาจเชิงซ้อนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

ตั้งแต่พระรัตนโกศนโรดม สีหนุ ที่แม้จะเห็นว่า ตลอดกว่า 3 ทศวรรษในปักกิ่งของพระองค์ที่ผ่านมาจะมีแต่พระองค์เท่านั้นที่อยู่เหนืออำนาจ (ทางวัฒนธรรม) ของพรรคคอมมิวนิสต์

ไม่ว่าธรรมเนียมการเสวยพระกระยาหารค่ำในเทศกาลคริสต์มาส ณ พระตำหนักกรุงปักกิ่งและพระราชวังเขมรินทร์จนเป็นธรรมเนียมของราชสำนักกัมโพชไปแล้วกลายๆ

และนัยหนึ่งซึ่งบ่งบอกว่า พรรคคอมมิวนิสต์ยุคนั้นยังไม่เห็นความสำคัญของอิทธิพลทางวัฒนธรรม

ทว่า จนในที่สุด พิธี ‘เซ่นไหว้’ บรรพบุรุษแบบธรรมเนียมจีนก็กลับมาสู่ความสำคัญในรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์และกัมพูชา อีกอันเหนือกว่ามิตรภาพนั้น

คือความ ‘จิ้มก้อง’ และวิถีพึ่งพา