โฟกัสพระเครื่อง : เครื่องราง ‘หมากทุย’ พระเกจิ ‘หลวงปู่เอี่ยม’ วัดหนัง บางขุนเทียน / โคมคำ

(ซ้าย) หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร (ขวา) หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

โคมคำ / [email protected]

 

เครื่องราง ‘หมากทุย’

พระเกจิ ‘หลวงปู่เอี่ยม’

วัดหนัง บางขุนเทียน

 

พระภาวนาโกศล หรือ “หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร” หรือ “หลวงพ่อวัดหนัง” เจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ พระเกจิชื่อดัง ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาและรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี

วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงมีมากมายหลายรุ่น นอกจากเหรียญรุ่นยันต์สี่หรือเหรียญยันต์ห้า พระปิดตายันต์ยุ่งเนื้อโลหะผสม ถือเป็นพระยอดนิยม อีกทั้งพระชัยวัฒน์ก็เป็นพระที่นิยมกันมากเช่นกัน

ยังมีจำพวกเครื่องรางของขลัง อาทิ ผ้าประเจียด ลูกอม และลูกสะกด แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงคือ “หมากทุย”

จนถึงขนาดมีโคลงคำกลอนสุดยอด 9 เครื่องรางของขลังทรงคุณค่า ดังนี้

“หมากดีที่วัดหนัง เบี้ยขลังวัดนายโรง ไม้ครูอยู่คู่วัดอินทร์ มีดบินวัดหนองโพธิ์ พิสมรวัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง ราหูคู่วัดศรีษะฯ แหวนอักขระวัดหนองบัว ลูกแร่ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน”

“หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง” ถือเป็นสุดยอดเครื่องรางโดยแท้

 

หลวงปู่เอี่ยมใช้หมากทุยจากต้นหมากที่ยืนตายพราย โดยให้ลูกศิษย์ขึ้นไปเอาลูกหมากที่ตายพรายลงมา โดยให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกขณะปีนขึ้นไป โดยสอนคาถาให้บริกรรมขณะปีน

ครั้นพอถึงยอดต้นหมากแล้ว จะไม่ให้ใช้มือเด็ด แต่จะให้ใช้ปากคาบลูกหมากลงมา

เมื่อได้ลูกหมากตายพรายแล้ว ก็จะเปิดจุกด้านบน คว้านเอาเนื้อหมากด้านในออก จากนั้นใช้กระดาษสาลงพระนามของพระพุทธเจ้าด้วยอักขระบาลีและบริกรรมคาถากำกับ ก่อนนำกระดาษสาบรรจุลงในลูกหมากและนำชันโรงใต้ดินมาปิดทับให้แน่น เป็นอันเสร็จพิธี

หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม ถือเป็นเครื่องรางชิ้นหนึ่งที่สร้างมาจากวัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหลายชนิด นำมาประดิษฐ์ขึ้นให้มีรูปลักษณ์อันโดดเด่น ถือเป็นภูมิปัญญาที่ล้ำเลิศของหลวงปู่เอี่ยมที่คิดค้นนำสิ่งของตามธรรมชาติที่หาได้โดยง่ายในสมัยนั้นมาทำการลงอักขระเลขยันต์ เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์ได้มีไว้ใช้ติดตัวป้องกันภยันตราย

นับได้ว่าหมากทุยเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องรางวัดหนังที่เจ้าอาวาสรูปต่อๆ มามักสร้างตามกันมา เช่น เจ้าคุณผลที่เป็นศิษย์เอกก็มีการจัดสร้างหมากทุย แต่หมากทุยของเจ้าคุณผลส่วนใหญ่จะไม่ถักเชือกและลงรัก จะเห็นแต่เพียงชันโรงที่อุดอยู่บนหมากด้านบนและอักขระเลขยันต์บนตัวหมากเท่านั้น

ส่วนหมากทุยจะถักเชือก ด้านบนถักเป็นหูไว้สำหรับคล้องเชือกและนำไปทารัก เพื่อรักษาเชือกที่ถักไว้บนลูกหมากไม่ให้เปื่อยยุ่ย

 

หลวงปู่เอี่ยมเป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด เกิดในสกุลทองอู๋ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2375 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ครอบครัวประกอบอาชีพชาวสวน

อายุ 9 ขวบ เข้าศึกษาที่สำนักพระอาจารย์รอด วัดหนัง ครั้นอายุได้ 11 ปี ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระมหายิ้ม วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อจากนั้นได้ไปอยู่ในสำนักพระปิฎกโกศล (ฉิม) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)

ต่อมาท่านได้กลับมาบรรพชาและศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดหนังสำนักเดิมอีกวาระหนึ่ง การศึกษาในระยะนี้ ดำเนินมาหลายปีติดต่อกันจนกระทั่งถึง พ.ศ.2394 เมื่อท่านอายุได้ 19 ปี จึงได้เข้าสอบ แปลพระปริยัติธรรมสนามหลวง ซึ่งสมัยนั้นต้องเข้าสอบแปลปากเปล่าต่อหน้าพระพักตร์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แต่น่าเสียดายที่ท่านสอบพลาดไป เลยลาสิกขา กลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง

 

เมื่ออายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดราชโอรสาราม มีพระสุธรรมเทพเถร (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระธรรมเจดีย์ (จีน) พระภาวนาโกศล (รอด) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาสุวัณณสโร

เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและมุ่งมั่นศึกษาด้านปริยัติธรรมมาก ในระยะสั้น ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดนางนอง โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่รอด วัดหนัง ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านวิทยาอาคมขลัง ท่านได้หันมาสนใจศึกษาวิทยาคม กลายเป็นศิษย์เอกที่พระอาจารย์รักมาก

ต่อมาในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลวงปู่รอดถูกถอดจากสมณศักดิ์เดิมให้เป็นพระสงฆ์ธรรมดา จึงได้ย้ายไปอยู่ที่วัดโคนอน ซึ่งหลวงปู่เอี่ยมตามไปรับใช้ด้วย ไม่นานนักก็ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดโคนอนสืบแทน

นอกจากนี้ ยังเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์

พ.ศ.2441 ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ไปครองวัดหนัง และรุ่งขึ้นอีก 1 ปี ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะ ที่พระภาวนาโกศล ซึ่งเป็นสมณศักดิ์เดียวกับพระอาจารย์ของท่านนั่นเอง

สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้วัดหนังเป็นอย่างมาก จวบจนละสังขาร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2469

สิริอายุ 94 ปี พรรษา 72