สิทธิในการศึกษา สิทธิของพลเมือง คือ สิทธิมนุษยชน ที่มหาวิทยาลัยมิอาจปฏิเสธได้ / My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

สิทธิในการศึกษา

สิทธิของพลเมือง

คือ สิทธิมนุษยชน

ที่มหาวิทยาลัยมิอาจปฏิเสธได้

 

“พวกท่านที่เรียกกันว่าผู้หลักผู้ใหญ่จะมีความคิดเห็นของท่านอย่างไรก็มีกันไปเถิด พวกท่านที่ประสงค์จะไปใช้ชีวิตอันริบหรี่ของท่านอยู่ในโรงพิพิธภัณฑ์ ก็จงไปใช้อยู่ตามความพอใจของท่านเถิด …ขออย่าได้กักขังเหนี่ยวรั้งเขาไว้ในโรงพิพิธภัณฑ์กับท่าน ขออย่าได้ส่งมอบมรดกบางชิ้นที่เต็มไปด้วยกลิ่นขื่นคาวเน่าเฟะให้เขารับสืบทอดต่อไปเลย ผู้ใหญ่บางจำพวกที่ได้ทำความผิดมามากแล้ว และต้องการจะทำความผิดซ้ำซากต่อไปจนตาย ก็เชิญทำของท่านไป แต่อย่าเหนี่ยวรั้งบังคับให้คนรุ่นใหม่ไปนอนตายกับท่านในหลุมเก่าหลุมเดียวกันเลย” (กุหลาบ สายประดิษฐ์, มนุษย์มิได้กินแกลบ, 2548)

จากเหตุการณ์จับกุมนักศึกษา นักเรียน เยาวชนและประชาชนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากพวกเขาใช้สิทธิทางการเมืองในการชุมนุมเรียกร้องจากรัฐบาลด้วยสงบและสันติ จนนำไปสู่การลิดรอนสิทธิในการศึกษาในฐานะพลเมืองและสิทธิมนุษยชน

หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การสหประชาชาติกำหนดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

ในปฏิญญาสากลฯ แบ่งสิทธิและเสรีภาพออกเป็นหลายหมวด เช่น สิทธิในการแสวงหาที่ลี้ภัย สิทธิในการมีเสรีภาพจากการทรมาน สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการศึกษา อันเป็นสิทธิที่ไม่มีใครสามารถพรากสิทธิและเสรีภาพนี้ไปจากเราได้

เพราะสิทธิและเสรีภาพนี้เป็นของพวกเราทุกคน

ขบวนนักศึกษา มธก.เดินไปพบนายกรัฐมนตรี เพื่อทวงสิทธิในการศึกษาคืน เมื่อ 2494

หากพูดถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิในการศึกษาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว เรามักจะนึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญในอดีตครั้งหนึ่ง คือ นักศึกษาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการศึกษาในเหตุการณ์การเรียกร้องมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คืนจากรัฐบาลเมื่อ 11 ตุลาคม 2494

เหตุการณ์ยึดมหาวิทยาลัย เริ่มต้นจากวันที่ 29 มิถุนายน 2494 เกิดการบุกจับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นตัวประกัน เพื่อหวังก่อการรัฐประหาร แต่สุดท้ายฝ่ายก่อการพ่ายแพ้ รัฐบาลสามารถปราบปรามและควบคุมสถานการณ์ได้

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเรียกว่า “กบฏแมนฮัตตัน”

จากเหตุการณ์นั้น กองทัพบกเข้าควบคุมและครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ด้วยอ้างว่า “ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราวและเพื่อความสงบเรียบร้อย”

ทำให้มหาวิทยาลัยไม่อาจจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยกลายเป็นค่ายทหารไปเสียแล้ว

มหาวิทยาลัยจึงต้องใช้ห้องเรียนอาคารของเนติบัณฑิตยสภา และโรงอาหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว ซึ่งสร้างความลำบากให้กับนักศึกษามาก

จอมพล ป. พิบูลสงคราม รับฟังความต้องการของนักศึกษา

จากความยากลำบากเหล่านั้นทำให้นักศึกษา นักศึกษา มธก.ประมาณ 2,000 คน เดินขบวนจากสนามหลวงไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม เพื่อเรียกร้องขอคืนมหาวิทยาลัยจากรัฐบาล

ซึ่งในวันนั้น สมาชิกสภาผู้แทนฯ ธนบุรี ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงการยึดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่ใช้จัดการเรียนการสอนไป ซึ่งเป็นการคุกคามสิทธิในการศึกษาของเยาวชนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เมื่อขบวนนักศึกษาถึงรัฐสภาแล้ว พวกเขาร้องตะโกนขอพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

ในที่สุดจอมพลออกมาพร้อมสอบถามความต้องการของเหล่านักศึกษา

นักศึกษาหญิงแจ้งกับนายกฯ ว่า “หนูจะเอามหาวิทยาลัยคืน ไม่มีที่เรียนค่ะ”

จอมพล ป.จึงตอบว่า “งั้นเหรอ เอ้า…จะคืนให้” เมื่อนักศึกษาถามถึงกำหนดเวลา นายกรัฐมนตรีจึงตอบว่าภายใน 1 เดือน

เหล่าผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันกลับ

จอมพล ป. ยอมคืนสิทธิในการศึกษากลับคืนนักศึกษา

ต่อมา เมื่อครบเวลาที่รัฐบาลสัญญาคืนมหาวิทยาลัยแล้ว พวกเขาราว 3,000 คน รวมตัวกันเพื่อทวงสัญญาการคืนพื้นที่การเรียนการสอนตามสิทธิในการศึกษาอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน

ทหารที่เฝ้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้รับคำสั่งให้ขัดขวาง จึงยอมปล่อยให้เหล่านักศึกษาเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัย ถือเป็นการทวงสิทธิในการศึกษาของพวกเขาและเธอด้วยการขอคืนมหาวิทยาลัยอย่างสงบ

ต่อมา กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลครั้งนั้นว่า

“พวกท่านที่เรียกกันว่าผู้หลักผู้ใหญ่จะมีความคิดเห็นของท่านอย่างไรก็มีกันไปเถิด พวกท่านที่ประสงค์จะไปใช้ชีวิตอันริบหรี่ของท่านอยู่ในโรงพิพิธภัณฑ์ ก็จงไปใช้อยู่ตามความพอใจของท่านเถิด พวกท่านที่ไม่ต้องการจะคิดถึงใครเลย นอกจากจะคิดถึงแต่ตัวท่าน วงศ์วานของท่าน…ก็เชิญท่านไปตามทางของท่าน แต่ขออย่ามาขัดขวาง เหนี่ยวรั้ง และใช้อำนาจเกะกะระรานแก่คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่เขาต้องการจะคิดถึงคนอื่น ที่ต้องการจะคิดแก้ไขความสกปรกโสมม ความทุราจารเลวร้ายในสังคมเก่าที่เขาเห็นเด่นชัดอยู่กับตา คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ต้องการจะก้าวไปข้างหน้า…ขออย่าได้กักขังเหนี่ยวรั้งเขาไว้ในโรงพิพิธภัณฑ์กับท่าน ขออย่าได้ส่งมอบมรดกบางชิ้นที่เต็มไปด้วยกลิ่นขื่นคาวเน่าเฟะให้เขารับสืบทอดต่อไปเลย ผู้ใหญ่บางจำพวกที่ได้ทำความผิดมามากแล้ว และต้องการจะทำความผิดซ้ำซากต่อไปจนตาย ก็เชิญทำของท่านไป แต่อย่าเหนี่ยวรั้งบังคับให้คนรุ่นใหม่ไปนอนตายกับท่านในหลุมเก่าหลุมเดียวกันเลย”

ต่อมา เขาได้เขียนบทความเรื่อง “ดูนักศึกษา มธก. ด้วยแว่นขาว” เขาสรุปเรื่องการต่อสู้ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ถึงการเรียกร้องสิทธิในการศึกษาด้วยการขอคืนพื้นที่มหาวิทยาลัยจากการยึดครองของทหารสำเร็จนั้น เป็นผลมาจาก…

“นักศึกษาและบัณฑิตของ มธก.มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่า เขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะว่ามีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่นๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปาทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น ชาว มธก.รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”

ด้วยเหตุนี้ การกระทำของรัฐบาลที่จับกุมประชาชนในการชุมนุมทางการเมือง จากเหตุที่พวกเขาใช้สิทธิทางการเมือง ถือเป็นการคุมคามสิทธิของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชนสากล

พร้อมการพรากเสรีภาพของพวกเขาด้วยการคุมขังเท่านั้นยังไม่พอ แต่รัฐบาลยังพรากสิทธิในการศึกษาของเยาวชนในวัยเรียนอีกหลายคนด้วย

เพราะพวกเขาหลายคนที่ถูกคุมขังยังอยู่ในวัยเรียน อยู่ในฐานะนักศึกษา นักเรียน เป็นอนาคตของสังคม

ดังนั้น รัฐบาลต้องคืนสิทธิให้กับพวกเขา

ผู้บริหารมหาวิทยาลัย โรงเรียนต้องเร่งคุ้มครอง และปกป้องสิทธิในการศึกษาให้กับพวกเขา

พร้อมอำนวยให้พวกเขาคงสิทธิในการได้รับการศึกษาต่อไป