Female Internet ‘อุดมคติ’ Whitney Wolfe Herd ‘เศรษฐินี’ เด็กที่สุดในโลก / จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Female Internet

‘อุดมคติ’ Whitney Wolfe Herd

‘เศรษฐินี’ เด็กที่สุดในโลก

ชั่วโมงนี้ สาวๆ ชาวอเมริกันใน “หมู่บ้านคานทอง” 100 ทั้ง 100 ไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก Whitney Wolfe Herd

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เธอเพิ่งได้รับสมญานาม “เศรษฐินีเด็กที่สุดในโลก” ในวัน “วาเลนไทน์” 2021 ที่ผ่านไป

Whitney Wolfe Herd “ขึ้นหน้าหนึ่ง” หนังสือพิมพ์ธุรกิจแทบทุกฉบับ จากการที่เธอนำ Bumble เข้าสู่ตลาดหุ้น Nasdaq ทำ IPO รับวาเลนไทน์ โดยเปิดที่ 73 เหรียญต่อหุ้น ก่อนที่ราคาจะปรับขึ้นเป็น 76 เหรียญต่อหุ้นในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

ส่งให้ Bumble มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 8.6 พันล้านเหรียญ โดย Whitney Wolfe Herd ถือหุ้น 12% หรือ 21.54 หมื่นล้านหุ้น

ทำสถิติเป็น”เศรษฐินี” อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เข้า Nasdaq ได้ด้วยวัย 31 กะรัต กับทรัพย์สิน 2.2 พันล้านเหรียญ

 

Whitney Wolfe Herd เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1989 ที่เมือง Salt Lake City รัฐ Utah ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุตรีของ Michael และ Kelly Wolfe นายหน้านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวอเมริกัน ปัจจุบันทั้งคู่ย้ายไปอยู่กรุง Paris ประเทศฝรั่งเศส

เธอจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจาก Judge Memorial Catholic High School ก่อนจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Southern Methodist

และที่ Southern Methodist University นี้เอง Whitney Wolfe Herd เริ่มต้นทำธุรกิจครั้งแรก ด้วยการร่วมหุ้นกับ Patrick Aufdenkamp สไตลิสต์ชื่อดังของสหรัฐ ผลิตถุงหิ้วที่ทำจากเยื่อไม้ไผ่ เพื่อต่อต้าน BP ที่ทำน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.2010 เป็นที่ฮือฮาในหมู่เซเลบเป็นอย่างมาก

นำไปสู่การก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Help Us Project และแผ้วทางเส้นทางไปสู่การทำธุรกิจใหม่ร่วมกันของทั้งคู่ นั่นคือ Tender Heart แบรนด์เสื้อผ้าที่ส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และการค้าที่เป็นธรรม

ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Southern Methodist เธอเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก และอุทิศตัวให้กับงานด้านเด็กกำพร้า เห็นว่าเคยมาป้วนเปี้ยนกับ NGO แถวๆ อาเซียนของเราด้วย

ไล่ดูจาก Time Line แล้ว ทั้ง Help Us Project ทั้ง Tender Heart และทั้งงานด้านเด็กกำพร้า เห็นได้ชัดว่า Whitney Wolfe Herd มีหัวใจ Activist เต็มร้อย

 

ปีค.ศ.2012 เธอร่วมกับ Justin Mateen อดีตแฟนหนุ่ม ก่อตั้ง Tinder แอพพลิเคชั่น “หาคู่” ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโด่งดังมากในสหรัฐ

หลังจากเกิดความบาดหมางไม่ลงรอยกัน ทำให้ Whitney Wolfe Herd ถอยออกมาจาก Tinder เพื่อก่อร่างสร้าง Bumble ในปี ค.ศ.2014 ที่จะนำเธอไปสู่สถานะ “เศรษฐินี” อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ในเวลาต่อมา ควบคู่กับบทบาท Activist ที่ต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปีกลาย ทันทีที่เกิดเหตุกราดยิงใน Florida เธอไม่ลังเลที่จะสั่งให้ทีมงานจัดการแบนภาพปืนออกไปจาก Bumble

Whitney Wolfe Herd โกรธมากกับเหตุกราดยิง เธอได้ชักชวน Serena Williams ก่อตั้ง Bumble Fund เพื่อรณรงค์ต่อต้านความรุนแรง และประสบความสำเร็จกับการล็อบบี้ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสให้ออกกฎหมายคุมเข้มกับ Content ที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปโป๊เปลือย

ควบคู่ไปกับที่ Bumble เปิดตัว A.I. และระบบคัดกรองสมรรถนะสูง สามารถลบภาพลามก เช่น รูปอวัยวะเพศชาย ทันทีที่มีการโพสต์

 

หลังจากแตกหักกับ Justin Mateen อดีตแฟนหนุ่ม และหันหลังให้กับ Tinder ที่เธอร่วมสร้างมากับมือ ในตอนนั้นที่ Tinder ได้ก้าวขึ้นมาท้าทาย Match.com เว็บหาคู่หมายเลขหนึ่ง

Whitney Wolfe Herd ใส่เกียร์ 5 หน้าเดิน มุ่งมั่นสร้าง Bumble ให้เป็นแอพพลิเคชั่น “หาคู่” ในโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งของโลกให้จงได้

และดูเหมือนว่าฝันของเธอใกล้จะเป็นความจริงเข้าไปทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเข้าเทรดในตลาดหุ้น Nasdaq ยิ่งทำให้ Bumble ประดุจเสือติดปีก จากทีมงานหลังบ้านด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกรง ผนวกกับเงินทุนที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา

อย่างไรก็ดี ความฝันอันสูงสุดของ Whitney Wolfe Herd หาได้หยุดอยู่ที่ Bumble แต่อย่างใดไม่

เพราะอุดมคติของเธอก็คือ การสรรค์สร้าง Female Internet หรือเครือข่ายออนไลน์รูปแบบใหม่ ที่อุทิศให้กับเพศหญิงทั้งโลก!

แนวคิด Female Internet ก็คือขั้วตรงข้ามกับ Male Internet หรือโลกออนไลน์ของผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Silicon Valley ที่ผู้ก่อตั้งบริษัท ICT ล้วนเป็นเพศชาย

 

Whitney Wolfe Herd มองว่า เมื่อ Internet ถูกสร้าง และขับเคลื่อนผ่านแว่นของผู้ชาย การกลั่นกรองทางเทคโนโลยีย่อมเอื้อประโยชน์ทางเพศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เหมือนกับเนื้อหาในหนังสือ Brotopia : Breaking Up Boys’ Club of Silicon Valley ที่โด่งดังเมื่อปี ค.ศ.2018

เพราะ Bumble ของเธอเป็น “แอพพ์หาคู่” ที่มิใช่เป็นเพียง “แอพพ์หาคู่” เท่านั้น แต่มีเป้าหมายหลักคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเพศหญิง

เริ่มจากแรงบันดาลใจที่เธอเห็นความอยุติธรรมที่สังคมมีต่อเพศหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเหยียดเพศ Whitney Wolfe Herd รู้สึกว่าผู้หญิงมีพลังและอำนาจเพียงพอที่จะเดินผ่านทุกหลักไมล์ชีวิตด้วยการตัดสินใจของพวกเธอเอง

นำไปสู่การที่เธอกำหนดให้ว่าจ้างพนักงานทั้งหมดเป็นผู้หญิง แม้ปัจจุบันจะยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ผู้ชายอยู่ 18% แต่ทีมผู้บริหารทั้งหมดเธอขีดเส้นใต้ว่า “ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น”

ตามมาด้วยนโยบายของ Bumble ที่แม้จะเป็น “แอพพ์หาคู่” แต่ก็ไม่เน้นเรื่องออกเดตมากเท่ากับการให้ผู้หญิงได้ค้นหาเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายมิตรร่วมวิชาชีพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Concept ที่แตกต่างจาก “แอพพ์หาคู่” อื่นๆ กล่าวคือ สำหรับ Bumble ถ้าชายหญิงต้องใจกันแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นฝ่ายส่งข้อความไปหาผู้ชายก่อนภายใน 24 ชั่วโมง มิฉะการจับคู่ครั้งนี้จะหายไปตลอดกาล!

จะเห็นได้ว่า กฎเกณฑ์ “ผู้หญิงเป็นคนจีบ” ของ Bumble เป็นการจับจุดตลาดที่ตรงเป้ามาก เพราะเพียง 1 เดือนหลังเปิดตัว ยอดดาวน์โหลดทะลุไปถึง 100,000 ครั้งเลยทีเดียว

 

นอกจากกลไกที่ทันสมัยแล้ว ผู้ใช้ส่วนใหญ่ของ Bumble ที่เป็นผู้หญิง ต่างมองว่า Bumble ให้ความรู้สึกสุภาพ และปลอดภัยกว่าแอพพ์คู่แข่งอื่นๆ ทั้งหมดในท้องตลาด

ดังนั้น การสรรค์สร้าง Female Internet หรือเครือข่ายออนไลน์รูปแบบใหม่ ที่อุทิศให้กับเพศหญิงตามแนวคิดของ Whitney Wolfe Herd ก็คือโลกอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้เต็มไปด้วยความไม่สมดุลในแง่ของความเสมอภาคจากสภาพสังคมชายเป็นใหญ่

แนวทางเชิงรุกของ Bumble ก็คือการดักจับ และตักเตือนผู้ใช้ เกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการเหยียดเพศ ภาพอนาจาร และความรุนแรงต่อผู้หญิงนั่นเอง

เป้าหมายปลายทางก็คือ การสรรค์สร้าง “สังคมอุดมคติ” ที่ชาย-หญิงมี “ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ในทุกๆ เรื่อง ดังตัวอย่าง กฎเกณฑ์ “ผู้หญิงเป็นคนจีบ” ของ Bumble นั่นเอง

ปัจจุบัน Bumble มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคนใน 150 ประเทศทั่วโลก โดย Whitney Wolfe Herd ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่การเพิ่มปริมาณลูกค้า มากไปกว่าการทำโครงการ Female Internet ให้ประสบความสำเร็จในเร็ววันนั่นเองครับ