จีนอพยพใหม่ในไทย (23) ชีวิต ความคิด และความหวัง (ต่อ) /วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (23)

ชีวิต ความคิด และความหวัง (ต่อ)

 

บ้านพักชายคา

สังคมจีนในปัจจุบันที่มีความแตกต่างจากสังคมอื่นในเรื่องหนึ่งคือ ที่พักอาศัย ซึ่งในจีนนั้นไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรต่างสามารถเป็นเจ้าของที่พัก (ซึ่งรวมถึงที่ดิน) ได้สูงสุดไม่เกิน 99 ปี ต่ำสุดไม่เกิน 70 ปี หลังจากนั้นจะตกเป็นของรัฐ

นโยบายนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดลัทธิสังคมนิยมและยากที่จะเปลี่ยนแปลง เหตุผลประการหนึ่งคือ เป็นเพราะประชากรจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อความมั่นคงทางที่พักอาศัย

จากเหตุนี้ ชาวจีนโดยทั่วไปจึงไม่มีความมั่นคงทางจิตใจในเรื่องที่พักอาศัย ด้วยต่อให้เป็นมหาเศรษฐีที่สามารถมีที่พักอาศัยหรูหราระดับคฤหาสน์ แต่ทุกคนก็พำนักอยู่ด้วยสำนึกตลอดว่าสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 99 ปี

ที่สำคัญคือ มีชาวจีนไม่น้อยเข้าใจว่าสังคมอื่นต่างก็เป็นเช่นเดียวกับจีน ส่วนชาวจีนที่รู้ว่าสังคมอื่นมิได้เป็นแบบจีนก็ย่อมหาทางเป็นเจ้าของที่พักอาศัยให้ได้ และหากหาได้ก็จะเกิดความมั่นคงทางจิตใจในเรื่องที่พักอาศัยขึ้นทันที อันเป็นความรู้สึกที่ประมาณค่ามิได้

ไทยก็เหมือนกับอีกหลายสังคมที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของที่พักอาศัยหรือที่ดินได้ แต่ก็แบ่งการเป็นเจ้าของออกเป็นหลายประเภทเช่นกัน

เช่น ถ้าเป็นห้องชุด (condominium) ผู้ซื้อทุกคนจะเป็นเจ้าของร่วมและมีความรับผิดชอบร่วมกันในทางกฎหมาย และชาวต่างชาติมีสิทธิ์ซื้อได้ไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนห้องพักทั้งหมด

ในขณะที่หากเป็นบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถวในเมือง (town house) ชาวต่างชาติมิอาจเป็นเจ้าของได้ เว้นเสียแต่ว่าจะได้สัญชาติไทย

ในกรณีห้องชุดนั้นพบว่า ได้มีชาวจีนเข้ามาซื้อห้องชุดในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่กรณีนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจเช่นกัน ข้อมูลนี้ได้รับจากอดีตลูกศิษย์ของผู้วิจัย ซึ่งหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วก็ได้เข้าทำงานในสถาบันการเงินของจีนในกรุงเทพฯ

ด้วยงานนี้ทำให้ครั้งหนึ่งเธอถูกส่งไปปฏิบัติงานที่เซี่ยงไฮ้ ที่นั่นทำให้เธอได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ที่สังกัดสถาบันการเงินเดียวกันจนเป็นที่คุ้นเคยกัน

จนคราวหนึ่งที่มีโอกาสสนทนากับเพื่อนชาวจีนกลุ่มนี้ในเรื่องการซื้อห้องชุดในไทย ว่าผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของได้ตลอดไป ปรากฏว่าเพื่อนชาวจีนต่างไม่เชื่อ และเชื่อว่าสามารถเป็นเจ้าของได้ 99 ปีเหมือนในจีน จนเธอต้องให้เพื่อนชาวจีนที่ทำงานในเมืองไทยยืนยัน ทุกคนจึงเชื่อด้วยความประหลาดใจ

หลังจากนั้นไม่นาน เพื่อนชาวจีนของเธอต่างพากันเดินทางมาซื้อห้องชุดในไทย

 

ส่วนกรณีบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถวพบว่า ชาวจีนที่เป็นเจ้าของแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง ได้เป็นเจ้าของเพราะแต่งงานกับหญิงไทย กรณีเช่นนี้มีบางรายซื้อที่ดินโดยผ่านภรรยาชาวไทยด้วย แต่ก็มีหลายรายที่ซื้อโดยจ้างหญิงไทยแต่งงานโดยมิได้อยู่ด้วยกันฉันสามี-ภรรยา แล้วใช้หญิงไทยเป็นผู้ซื้อบ้านหรือที่ดิน

การว่าจ้างหญิงไทยแต่งงานนี้มีสนนราคาอยู่ที่ 30,000 ถึง 50,000 บาท ทั้งนี้ เป็นตัวเลขที่เกิดในจังหวัดนครนายก แต่ก็มีชาวจีนบางคนที่ให้ชาวไทยเป็นผู้ซื้อแทนโดยไม่ต้องว่าจ้าง กรณีนี้จะเกิดขึ้นบนฐานของความสนิทสนมกันจนไว้เนื้อเชื่อใจกัน

อีกกลุ่มหนึ่ง ได้เป็นเจ้าของเพราะได้สัญชาติไทย ซึ่งถือเป็นกรณีที่มีน้อยมาก โดยกลุ่มนี้รวมถึงชาวจีนอพยพรุ่นแรกๆ ที่อยู่ในไทยมานานจนมีครอบครัวและมีลูก ครั้นเมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่ก็ให้ลูกเป็นผู้ซื้อแทน

กล่าวเฉพาะกรณีที่ชาวจีนซื้อโดยผ่านตัวแทน (nominee) ชาวไทยดังกล่าวแล้ว ถึงแม้จะเห็นได้ถึงความไม่เหมาะสมหรือความไม่ชอบมาพากลก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นปมของความเสี่ยงปรากฏอยู่ด้วยเช่นกัน

นั่นคือ การที่ตัวแทนชาวไทยเป็นเจ้าของบ้าน (หรือที่ดิน) ในทางนิตินัยนั้นทำให้คิดได้ต่อไปว่า หากชาวจีนที่เป็นเจ้าของในทางพฤตินัยเสียชีวิตไปในวันหนึ่ง บ้านเหล่านี้จะถูกจัดการอย่างไรระหว่างทายาทของชาวจีนกับเจ้าของในทางนิตินัยที่เป็นชาวไทย

สิ่งที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้จึงคือ แม้การเป็นตัวแทนจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องในทางจริยธรรมก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาการถือครองเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัยนี้มีประเด็นที่ควรกล่าวด้วยว่า หลายปีที่ผ่านมามีเศรษฐีจีนจำนวนไม่น้อยที่หาซื้อที่พักอาศัยในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จนรัฐบาลจีนวิตกกังวลว่ากรณีนี้จะสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในจีน ว่าในขณะที่ชาวจีนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีกำลังพอที่จะซื้อได้

แต่ชาวจีนกลุ่มหนึ่งกลับมีโอกาสและมีกำลังที่จะเสวยสุขอยู่ยังต่างแดน

เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ทางรัฐบาลจีนจึงได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ชาวจีนโอนเงินออกนอกประเทศได้ปีละไม่เกิน 50,000 เหรียญสหรัฐต่อคน การแก้ปัญหาเช่นนี้เป็นที่รู้กันว่าไม่ได้ผล เพราะถึงที่สุดแล้วชาวจีนกลุ่มนี้ก็ใช้วิธีโอนเงินผ่านตัวแทน (nominee) ที่ไว้ใจได้เป็นทางออก อันเป็นวิธีง่ายๆ ที่ไม่ว่าใครก็คิดได้ ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลจีนเอง

วิธีที่ว่าจึงให้คำตอบได้ว่า กฎหมายดังกล่าวแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่

ปฏิสัมพันธ์กับสังคมไทยและคนไทย

 

จีนกับไทยมีพื้นฐานวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่หากเปรียบเทียบจีนก่อนและหลัง ค.ศ.1949 แล้วก็มีประเด็นที่พึงพิจารณาอย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือ จีนก่อน ค.ศ.1949 เป็นจีนที่มิได้ปฏิเสธหลักคำสอนทางศาสนาและหลักคิดเชิงปรัชญาอันเป็นภูมิปัญญาของจีนเอง เช่น ลัทธิขงจื่อหรือลัทธิเต้า

ในแง่นี้ทำให้จีนกับไทยมีจุดร่วมในทางวัฒนธรรม เพราะไทยเป็นสังคมที่มีศาสนาเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต อีกทั้งหลักคิดทางคุณธรรมและจริยธรรมของลัทธิขงจื่อและลัทธิเต้าก็มิได้แตกต่างจากหลักคิดทางศาสนามากนัก ชาวไทยกับชาวจีนจึงอยู่ร่วมกันมาได้ตั้งแต่อดีต

แต่จีนหลัง ค.ศ.1949 เป็นจีนที่ปฏิเสธศาสนาและหลักคิดอื่นใดที่มิใช่ลัทธิคอมมิวนิสต์

บางช่วงการปฏิเสธนั้นก็เต็มไปด้วยความรุนแรง ชาวจีนจึงจำต้องละทิ้งศาสนาและหลักคิดลัทธิขงจื่อหรือลัทธิเต้า

และยังผลให้ชาวจีนโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นศาสนิกชน หรือชาวจีนที่ยึดถือหลักคิดเดิมในการดำเนินชีวิต

เหตุดังนั้น ชาวจีนหลัง ค.ศ.1949 จึงมีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากชาวจีนก่อน ค.ศ.1949 และในขณะที่ชาวจีนก่อน ค.ศ.1949 หรืออีกนัยหนึ่งคือชาวจีนโพ้นทะเลมีจุดร่วมกับชาวไทยในทางวัฒนธรรม ชาวจีนหลัง ค.ศ.1949 ที่เข้ามายังไทยหลังจีนเปิดประเทศใน ค.ศ.1979 จึงไม่มีจุดร่วมทางวัฒนธรรมกับชาวไทย

ดังนั้น การมีพื้นฐานวัฒนธรรมที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ที่ชาวจีนมีกับสังคมไทยและชาวไทย

 

ชาวจีนอพยพแทบทุกคนให้ข้อมูลตรงกันว่า ตนไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมไทยเลยแม้จะอยู่ในไทยมาหลายปีแล้วก็ตาม ชาวจีนเหล่านี้จึงไม่เคยเข้าร่วมในพิธีกรรมหรือประเพณีไทย และในส่วนที่เข้าร่วมมักเป็นกิจกรรมมากกว่าพิธีกรรม

เช่น การสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ที่ชาวจีนบางคนเข้าร่วมด้วยรู้สึกสนุก มากกว่าที่จะเข้าใจสาระของเทศกาล

กล่าวเฉพาะการเข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาก็ดี พิธีกรรมในเทศกาลต่างๆ ก็ดี หรือพิธีกรรมในประเพณีไทย (เช่น พิธีกรรมในงานแต่งงาน) ก็ดี กลับมีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ กรณีที่ชาวจีนที่มีอาชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่งงานกับหญิงไทย

โดยฝ่ายหญิงเคยเป็นลูกศิษย์และเรียนจบปริญญาตรีเอกภาษาจีน ฝ่ายหญิงจึงสามารถสื่อสารภาษาจีนได้ ชาวจีนผู้เป็นสามีให้ข้อมูลว่า แม้จะแต่งงานมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ตนก็ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนา (พุทธ) ที่ครอบครัวภรรยานับถืออยู่ได้ ถึงแม้ตนจะไม่เคยปฏิเสธและเปิดใจเข้าร่วมแทบทุกครั้งก็ตาม

จนชั้นหลังต่อมาจึงเข้าร่วมน้อยลง หรือหากเข้าร่วมแต่จะนั่งสงบ โดยครอบครัวภรรยาให้ความเข้าใจเป็นอย่างดี

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป