เมียนมาสปริง! ฤดูใบไม้ผลิกำลังมาข้างบ้านเรา / สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สุรชาติ บำรุงสุข

 

เมียนมาสปริง!

ฤดูใบไม้ผลิกำลังมาข้างบ้านเรา

 

“ประชาชนของพม่ากำลังส่งเสียงให้ทุกคนได้ยิน และโลกก็กำลังเฝ้ามอง…ในขณะที่การประท้วงขยายตัวออกไป การใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่แสดงออกด้วยการใช้สิทธิประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน

11 กุมภาพันธ์ 2021 (คำแปลไม่เป็นทางการ)

 

เมียนมาเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบอบการปกครองของทหารมาอย่างยาวนาน

กองทัพอ้างสิทธิ์ในการใช้อำนาจทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร พร้อมกับการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง

จนเมื่อผู้นำทหารตัดสินใจยอมให้ประเทศกลับสู่ระบอบเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2015 จึงเป็นโอกาสให้เมียนมาก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ

แต่การเปลี่ยนผ่านนี้มิได้หมายความว่า ความสำคัญของกองทัพในทางการเมืองจะสิ้นสุดลง ทหารยังคงเป็นตัวแสดงหลักที่ปฏิเสธไม่ได้

การเป็นตัวแสดงหลักเช่นนี้ มีนัยโดยตรงว่ากองทัพยังคงมีขีดความสามารถในการทำรัฐประหาร แม้ระบอบรัฐสภาจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งก็มีความกังวลในหมู่นักสังเกตการณ์ว่า หากความขัดแย้งระหว่างทหารกับรัฐบาลพลเรือนเกิดขึ้นแล้ว กองทัพจะหวนกลับมาทำรัฐประหารอีกหรือไม่

แล้วในที่สุด รัฐประหารก็เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

การยึดอำนาจอีกครั้งของกองทัพเมียนมาเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึง การสิ้นสุดความอดทนของผู้นำทหารที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันก็สะท้อนอีกด้านหนึ่งว่า รัฐประหารไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้นำทหาร…

เมื่อใดที่บรรดานายพลเหล่านี้ตัดสินใจที่จะยุติการเมืองในระบบรัฐสภาแล้ว เมื่อนั้นรัฐบาลพลเรือนก็ถึงจุดสิ้นสุดตามไป

แต่พวกเขาเคยประเมินต่อไปอีกขั้นหนึ่งหรือไม่ว่า กองทัพจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการรัฐประหารอย่างไร และอนาคตของรัฐบาลนี้จะยั่งยืนเพียงใด

การสถาปนาอำนาจรัฐของทหารไม่ง่ายเช่นในอดีต ดังจะเห็นได้ว่าแม้ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาหลายวัน ผู้นำทหารเมียนมาก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม

และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ กองทัพต้องเผชิญกับการประท้วงที่ขยายตัวมากขึ้นในแต่ละวัน

จนทำให้เหลือคำถามแต่เพียงประการเดียวว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นจะสร้างปรากฏการณ์ “เมียนมาสปริง” ได้หรือไม่

โลกล้อมรัฐทหาร!

 

การยึดอำนาจครั้งนี้ต้องเผชิญกับการประท้วงและการแสดงความไม่เห็นด้วยจากเวทีสากลอย่างมาก ท่าทีของรัฐบาลประเทศประชาธิปไตยมีความชัดเจน เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป อังกฤษ และออสเตรเลียได้ออกมาประณามการยึดอำนาจ รวมถึงสหประชาชาติด้วย และความชัดเจนของโลกตะวันตกถูกทำให้มีผลในทางปฏิบัติมากขึ้นด้วยการประกาศของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่จะไม่เปิดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร

นอกจากนี้ สิ่งที่หลายประเทศจับตามองอย่างมากก็คือ ท่าทีของผู้บริหารชุดใหม่ของทำเนียบขาวก็คือ ผู้นำสหรัฐจะประกาศการ “แซงก์ชั่น” ผู้นำรัฐประหารเมียนมาหรือไม่…

ทุกคนเชื่อว่า หากชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2020 ตกอยู่กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อีกครั้งหนึ่งแล้ว บรรดาผู้นำอำนาจนิยมก็คงมีความสบายใจ ที่เชื่อว่าการกดดันของทำเนียบขาวจะไม่เกิดขึ้น และอาจจะมีเพียงการแสดงท่าทีต่อการยึดอำนาจในแบบ “ขอไปที”

แล้วบรรดานายพลทั้งหลายที่ขึ้นเป็นรัฐบาลด้วยอำนาจกำลังรบ ก็จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร

ตัวอย่างของการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ เป็นภาพสะท้อนถึงความไม่ใส่ใจกับปัญหาประชาธิปไตยในเวทีโลกของสหรัฐในยุคของทรัมป์

ซึ่งทำเนียบขาวไม่เพียงไม่แสดงออกอย่างจริงจัง หรือมีเพียงถ้อยแถลงอย่าง “ขอไปที” เท่านั้น หากยังมีการเชิญผู้นำรัฐประหารไทยไปเยือนทำเนียบขาว จนดูจะเป็นการผิดประเพณีทางการเมืองของสหรัฐอยู่ไม่น้อย

แม้จะมีข้ออ้างในทางยุทธศาสตร์ว่า การกดดันทางการเมืองต่อผู้นำทหารไทย อาจจะทำให้ไทยหันไปอยู่ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น

ในความเป็นจริงก็พิสูจน์แล้วว่า แม้สหรัฐจะไม่ได้ใช้มาตรการรุนแรงตอบโต้กับการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ แต่ผู้นำทหารไทยก็พร้อมที่จะพาประเทศเข้าไปหาจีน

อาจจะด้วยเหตุผลว่าจีนเอื้อประโยชน์และให้ผลตอบแทนทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่บรรดาผู้นำรัฐประหารมากกว่า

จนรัฐประหาร 2557 เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนทิศทางทางยุทธศาสตร์ นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทยหลังจากนั้น จึงมีทิศทางของนโยบายในแบบ “ใกล้ชิดจีน-ห่างเหินตะวันตก” อย่างเห็นได้ชัด และจีนกลายเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์หลักของไทย

ดังนั้น ท่าทีของสหรัฐในยุคทรัมป์ต่อรัฐประหารไทย อาจจะถือเป็นสัญญาณประชาธิปไตยจากโลกตะวันตกที่ “พร่ามัว”

และทำให้รัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ เชื่อมั่นอย่างมากว่า ประชาคมระหว่างประเทศกดดันไทยไม่ได้

ในอีกด้านไทยมีปักกิ่งเป็นปราการป้องกันที่เข้มแข็ง สถานะเช่นนี้ทำให้ผู้นำทหารไทยเชื่อว่าตะวันตกไม่กล้ากดดันไทยมากนัก เพราะปัญหาความกังวลทางยุทธศาสตร์จากปัญหาการแข่งขันระหว่างจีนกับตะวันตก ผลเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนเป็นทางเลือกที่ดีของระบอบอำนาจนิยม โดยเฉพาะระบอบทหาร

นอกจากนี้ กรณีของเมียนมาได้ตอกย้ำอีกครั้งว่า จีนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะใช้ต้านทานแรงกดดันของตะวันตก

โดยจีนได้ช่วยยับยั้งการออกญัตติประณามการรัฐประหารเมียนมาในเวทีสหประชาชาติ อีกทั้งเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้แก่ ไทย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ล้วนประกาศว่า การยึดอำนาจเป็น “กิจการภายใน”

แต่เป็นที่รับรู้กันว่าผู้นำทั้งสามประเทศนี้ล้วนยืนอยู่บนฐานของระบอบอำนาจนิยม ที่อาจจะไม่ได้แตกต่างจากผู้นำทหารเมียนมามากนัก

ความท้าทายของไบเดน!

 

แต่ปัญหารัฐประหารเมียนมามีบริบทการเมืองภายนอกที่แตกต่างออกไปจากกรณีของไทย เมื่อผู้นำคนใหม่ของสหรัฐคือประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา

แล้วอีก 10 วันถัดมา กองทัพเมียนมาก็ตัดสินใจยึดอำนาจ ปัญหาเช่นนี้จึงเป็นความท้าทายใหญ่ครั้งแรกจากประเด็นการรัฐประหารในประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และเป็นความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญกับนโยบายในการเสริมสร้างประชาธิปไตยในเวทีโลกของสหรัฐเองด้วย

อย่างไรก็ตาม เราพอจะคาดคะเนได้ไม่ยากว่า ท่าทีของไบเดนจะไม่เหมือนกับของทรัมป์อย่างแน่นอน แต่คำถามสำคัญก็คือ แล้วสหรัฐจะย้อนรอยกลับไปสู่การใช้มาตรการกดดันอย่างรุนแรงในแบบการแซงก์ชั่นเช่นเดิมอีกหรือไม่

และการกดดันจะทำให้ทหารเมียนมาต้องกลับไปหาจีน และกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย เพื่อใช้คานกับแรงกดดันของสหรัฐหรือไม่…

โจทย์ทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ไม่ง่ายเลย

แล้วในที่สุด ทำเนียบขาวได้ออกประกาศการแซงก์ชั่นผู้นำการรัฐประหาร!

การแซงก์ชั่นที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นมีเป้าหมายโดยตรงต่อตัวผู้นำทหาร ที่จะถูกรัฐบาลวอชิงตันขึ้น “บัญชีดำ”

และอาจตามมาด้วยการควบคุมการส่งสินค้าออกของเมียนมา และหยุดความสัมพันธ์ในเรื่องทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลเมียนมาโดยตรง

แต่จะไม่ยุติความสัมพันธ์ในเรื่องทางด้านสาธารณสุข การสนับสนุนภาคประชาสังคม และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนเมียนมา

และนโยบายนี้เป็นการแซงก์ชั่นครั้งแรกของรัฐบาลไบเดนที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง

การแซงก์ชั่นครั้งนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองที่จะตอบโต้กับการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง โดยเฉพาะเมื่อผู้ประท้วงที่เป็นสตรีอายุ 19 ปีคนหนึ่งถูกยิงที่ศีรษะในระหว่างการประท้วงที่เมืองเนปิดอว์ เธอรักษาตัวที่โรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อีกทั้งยังเห็นได้ว่า ระยะเวลาที่ล่วงเลยมานับตั้งแต่การประกาศยึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การประท้วงขยายตัวออกไปอย่างมากและอย่างรวดเร็ว จนเป็นหนึ่งในหัวข้อข่าวสำคัญในเวทีโลกไปแล้ว

ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า อนาคตของรัฐบาลทหารเมียนมาดูจะไม่สดใสนัก

เมียนมาสปริง!

 

สตรีผู้ประท้วงที่ถูกยิงที่ศีรษะและเสียชีวิตลง จนอาจจะเปรียบเทียบได้ว่า โอกาสความอยู่รอดของรัฐบาลทหารเมียนมา ก็อาจไม่แตกต่างกันกับชีวิตของหญิงสาวผู้นั้น…

จนถึงวันนี้แล้ว การจัดตั้งรัฐบาลทหารจริงๆ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ยังไม่มีความชัดเจน ในขณะเดียวกันการที่รัฐบาลทหารจะได้รับการยอมรับทางการเมืองจากประชาคมระหว่างประเทศ ก็ดูจะมีปัญหาอยู่มาก

แม้ในอนาคต รัฐบาลทหารเมียนมาอาจจะหันกลับไปหาความสนับสนุนจากโลกตะวันออก เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 1988 และหลังการล้มผลการเลือกตั้ง 1990 แต่ปัญหาในปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างมากแม้รัฐบาลปักกิ่งและมอสโกตัดสินใจจะ “โอบอุ้ม” ด้วยการประกาศการรับรองทางการเมืองต่อรัฐบาลทหารเนปิดอว์แล้ว

แต่รัฐบาลทหารก็ไม่สามารถแก้ปัญหาภายในจากการขยายตัวของการต่อต้านกองทัพจากการเคลื่อนไหวภายใน ที่กำลังขยายตัวเป็นวงกว้างจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน… จากเมืองสู่เมือง

พร้อมกันนี้ภาพของการประท้วงถูกส่งออกภายนอกด้วยโลกอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้การต่อต้านรัฐประหารเมียนมากลายเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญในเวทีโลกที่กำลังถูกจับตามอง

ภาพการต่อสู้ของประชาชนเมียนมาวันนี้ จึงแทบไม่ต่างกับเมื่อครั้งที่เราได้เห็นการต่อสู้ของประชาชนในตูนิเซีย และอียิปต์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ในตะวันออกกลางมาแล้ว

 

วันนี้กลไกอำนาจรัฐบางส่วนในเมียนมาได้ “ลงถนน” เข้าร่วมต่อต้านการรัฐประหาร

การประท้วงไม่ใช่เรื่องของภาคประชาสังคมอีกต่อไปแล้ว

ผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ เดินขบวนต่อต้านการยึดอำนาจอย่างไม่เกรงกลัว

การปราบปรามครั้งก่อนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยชะลอการต่อต้านทหารได้ รอเพียงให้เกิดการแตกแยกของผู้นำทหาร ที่จะส่งผลให้ความสำเร็จของการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ ล้มลงในเวลาอีกไม่นานนัก

ในขณะที่โลกภายนอกล้อมรัฐแน่นหนามากขึ้น โลกภายในก็กระชับรัฐมากขึ้นคู่ขนานกัน จนอดคิดไม่ได้ว่านี่คือสัญญาณของกระแสลมแห่ง “ฤดูใบไม้ผลิเมียนมา”… “The Myanmar Spring” กำลังมาถึงแล้ว

แม้ประชาชนในอีกฝั่งของเส้นเขตแดนยังคงต้องเฝ้ารอ “ฤดูใบไม้ผลิไทย” แต่ก็มีความหวังที่ไม่แตกต่างกันว่าอีกไม่นานนัก

กระแสลมอุ่นของ “The Thai Spring” ก็จะพัดมาเช่นเดียวกัน!