วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (15) / อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (15)

การตอบโต้ของทุนนิยมต่อการวิพากษ์วิจารณ์

 

ตั้งแต่อุบัติขึ้น ระบบทุนนิยมเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์โดยตลอด ทั้งจากภายในและภายนอก

การวิจารณ์จากภายใน เริ่มตั้งแต่นักคิดทฤษฎีแห่งทุนนิยมรุ่นแรก มี อดัม สมิธ (1723-1790) และจอห์น สจ๊วต มิลล์ (1806-1873) เป็นต้น ซึ่งเป็นการวิจารณ์อย่างเบาบาง

สมิธวิจารณ์เชิงจริยธรรมว่า ระบบทุนที่เมื่อปล่อยให้ดำเนินไป จะทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการและรัฐ สามารถขึ้นมามีอำนาจเหนือผู้บริโภคได้

สำหรับมิลล์เห็นว่า ควรจำกัดจำนวนประชากรและอัตราการเติบโต เพื่อประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์สูงสุด

แต่การวิจารณ์หนักหน่วงจริงๆ มาจากค่ายสังคมนิยม โดยเฉพาะในแนวลัทธิมาร์กซ์ ที่เห็นว่าระบบทุนมีความขัดแย้งภายในรุนแรงที่ไม่อาจแก้ไขได้

เป็นกระบวนการขูดรีดแรงงานและธรรมชาติอย่างโหดเหี้ยมที่สุด แก้ไขได้เพียงอย่างเดียวด้วยการปฏิวัติสังคมนิยม

การวิพากษ์อย่างแจ่มแจ้งและเป็นระบบของมาร์กซ์และนักปฏิวัติอื่นทำให้รู้สึกคล้ายว่าระบบทุนนิยมจะดำรงอยู่ไม่นาน

เลนินนักปฏิวัติรัสเซียวิเคราะห์ในปี 1916 ว่าทุนนิยมที่พัฒนาสู่ขั้นจักรวรรดินิยมก็จะกลายเป็นระบบที่สุกงอมเน่าเฟะและร่อแร่เจียนตาย

แต่ระบบทุนก็ไม่ตายไป ขณะนี้กำลังฟื้นเยาวภาพของตนด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่และการตั้งต้นใหม่ครั้งใหญ่

ทั้งนี้เพราะว่าสังคมทุนนิยมเป็นระบบสังคมที่ซับซ้อนที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้น จึงมีความคงทนสูง

ความคงทนของระบบทุนนิยมเกิดจากลักษณะทางพลวัต การปรับตัวเองและการขยายตัวเองอย่างไม่หยุดหย่อน อนึ่ง ควรอธิบายเพิ่มเติมว่าระบบทุนนิยมนั้นเป็นนามธรรม ปฏิบัติอะไรไม่ได้ ผู้ปฏิบัติจริงด้านหลักเป็นผู้นำผู้บริหารประเทศทุนนิยมพัฒนาแล้ว

ปฏิบัติการตอบโต้ของระบบทุนนิยมอาจสรุปได้ดังนี้คือ

 

1)การตอบโต้เชิงรุก ประกอบด้วยชุดความคิดและการปฏิบัติสามกลุ่ม ได้แก่

ก) การยืนยันในจิตวิญญาณสองอย่างใหญ่ของระบบทุน ได้แก่ การขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการแสวงหากำไร เป็นการตอบโต้ที่ทรงพลังและได้ผลที่สุด ในด้านการขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ทั้งโลกยอมรับเรื่องการเติบโต และจีดีพี ว่าเป็นเครื่องวัดสุขภาพของเศรษฐกิจ

เห็นได้ชัดจากกรณีผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว เกิดบรรยากาศทั้งในหมู่นายทุนผู้ประกอบการ ลูกจ้างคนงาน และสาธารณชนทั่วไปว่า ต้องการให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตอัตราสูงหมือนเดิม

มีน้อยมากที่คิดว่า ควรทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างที่มิลล์เสนอ

ในประเด็นด้านกำไร ก็คล้ายกัน เรื่องกำไรเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้คือ การแข่งขัน การแปรสิ่งและกิจกรรมต่างๆ เป็นสินค้า การวิจัยและพัฒนารวมทั้งนวัตกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การขนส่ง การบริโภคและกำจัดของเสีย นั่นคือสิ่งเหล่านี้กระตุ้นการแข่งขัน และการแข่งขันกระตุ้นสิ่งเหล่านี้

จนปัจจุบันนี้ กล่าวได้ว่าทุกสิ่งถูกทำเป็นสินค้าและบริการ

มีกิจกรรมจำนวนมากที่เดิมไม่ได้เป็นสินค้าเพื่อหากำไร เช่น งานบ้าน งานครัว การดูแลผู้ป่วยผู้สูงอายุ ปัจจุบันกิจกรรมเหล่านี้ถูกทำให้เป็นสินค้าเพื่อหากำไร

เช่น การผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับทำงานบ้านจำนวนมาก ในด้านงานครัว เกิดอุตสาหกรรมอาหารที่ปลดปล่อยสตรีจากงานครัว ในเมืองไทยมีข่าวว่าเกิดบริการรับจ้างตักบาตรแทนสำหรับผู้ตื่นสาย เหลือแต่ขั้นตอนกรวดน้ำ กิจการสาธารณะสำคัญ เช่น การศึกษา การแพทย์สาธารณสุข การพลังงาน ก็ถูกทำให้เป็นสินค้าหากำไรเช่นกัน มากน้อยแล้วแต่ประเทศ

มีความพยายามในการแปรการประกอบการของบริษัทให้ไม่เป็นเชิงหากำไร เรียกว่าการประกอบการเชิงสังคม แต่ก็ยังมีขนาดเล็ก กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดยังคงนำโดยบรรษัทหากำไร

ข) การสร้างรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา มีอยู่สองชุดด้วยกัน

ชุดแรก ได้แก่ ลำดับขั้นการพัฒนาของวอลต์ รอสทาว (Walt Rostow 1916-2003) นักรัฐศาสตร์ชาวสหรัฐ ผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายความมั่นคงสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้และลินดอน บี. จอห์นสัน เสนอทฤษฎีนี้ในปี 1960 ในหนังสือชื่อ “ลำดับขั้นความเติบโต” (The Stages of Economic Growth : A Non-Communist Manifesto) รอสทาวพัฒนาทฤษฎีขั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ทศวรรษ 1950 สนับสนุนสงครามเวียดนามเต็มตัว ต่อมายังสนับสนุนทฤษฎีเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่

ลำดับขั้นการพัฒนาเศรษฐกิจของรอสทาวกล่าวให้ครบมี 6 ขั้นด้วยกัน

ขั้นแรก ได้แก่ สังคมดั้งเดิมเป็นสังคมเกษตรดั้งเดิม รวมทั้งการเก็บของป่า-ล่าสัตว์

ต่อมาเป็นขั้นก่อนการเหินบิน มีเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็ว

ขั้นที่สาม ได้แก่ การเหินบิน มีการแปรเป็นเมือง การอุตสาหกรรมตั้งมั่น การผลิตแบบแปรวัตถุดิบเป็นสินค้ามีความสำคัญขึ้น

ขั้นที่สี่ คือการโตเต็มวัย การบริโภคเริ่มสำคัญขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง

ขั้นที่ห้า เป็นสังคมผู้บริโภค

ขั้นสุดท้าย ยุคหลังการบริโภค เป็นการก้าวสู่การเติบโตแบบมีคุณภาพ

ทฤษฎีของรอสทาวเป็นการต่อสู้กับขั้นการพัฒนาทางสังคมของลัทธิมาร์กซ์ ที่เริ่มต้นด้วยสังคมบรรพกาล สังคมทาส สังคมฟิวดัล สังคมทุนนิยม สังคมสังคมนิยม และสังคมคอมมิวนิสต์ อันเป็นสังคมไร้ชนชั้นและไร้รัฐ

แต่ทฤษฎีของรอสทาว คือนำเอาการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงประจักษ์ของประเทศตะวันตกมาแทนการต่อสู้ทางชนชั้นของมาร์กซ์ แน่นอนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ย่อมไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงตามขั้นการพัฒนาของรอสทาว แต่ทฤษฎีนี้ก็เพียงพอสำหรับประเทศมหาอำนาจ ใช้ตรวจวัดเส้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกว่าเป็นไปตามกรอบที่วางไว้หรือไม่

ทฤษฎีชุดที่สอง ได้แก่ เสรีนิยมใหม่ เสนอในทศวรรษ 1980 ผู้นำได้แก่ อเมริกา-อังกฤษ มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการทำให้เศรษฐกิจโลกเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว หรือมีขั้นการพัฒนาแบบเดียวในกระบวนการโลกาภิวัตน์ หลังจากปฏิบัติมาหลายสิบปี พบว่ามีผลข้างเคียงสูง แต่การหย่าขาดจากโลกาภิวัตน์ไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นได้จากกรณีอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป

เป็นที่สังเกตว่าความคิดเสรีนิยมใหม่ถูกโจมตีในด้านก่อวิกฤตินิเวศยิ่งกว่าทุนนิยมเสียอีก

ค) การสร้างเศรษฐกิจแห่งความล้นเหลือ ซึ่งปฏิบัติสำเร็จสูงในประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจแห่งความล้นเหลือนี้ ด้านหนึ่ง เกิดจากแรงขับเคลื่อนของความต้องการการเติบโต อีกด้านหนึ่ง เกิดจากการต่อสู้ของคนงาน เกิดผลให้มีการยกฐานะคนงานให้เป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่และการบริโภคมากขึ้น ซึ่งยิ่งกระตุ้นการผลิตและการเติบโต

ในหลายประเทศในยุโรปมีการสร้างระบบประกันสุขภาพและประกันสังคมขึ้นอีกเพื่อลดภาระ

การผลิตซ้ำตนเองของคนงาน การลุกขึ้นสู้รุนแรงของคนงานในประเทศเหล่านี้จึงมีน้อย

 

2) การตอบโต้เชิงปิดล้อมทำลายล้าง สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปและประเทศที่ใช้เศรษฐกิจ ไม่เป็นเชิงตลาด การตอบโต้เน้นหนักไปในทางการปิดล้อมทำลายล้าง การเกิดความรุนแรง ความทุกข์ทรมานเสียหาย และการหลั่งเลือดอย่างน่าอเนจอนาถ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนกระทั่งถึงขณะนี้ สหรัฐซึ่งเป็นแกนนำของระบบทุนนิยม ก็ได้ก่อสงครามและปฏิบัติการลับอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สงครามเย็น สงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม สงครามสกปรกในอาร์เจนตินาและในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อสกัดกั้นฝ่ายซ้าย และล้มล้างเปลี่ยนระบอบปกครองในประเทศเหล่านี้ ซึ่งก็ได้เป็นที่ประจักษ์กันแล้ว

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการตอบโต้ของระบบทุนโดยการปฏิรูปและสร้างภาพทางเลือกใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจโดนัท