ถ้าจะมี ห้องฟังเพลง สักห้อง ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

กลับเข้าห้องฟัง

 

ระยะหลังๆ จะว่านานนับปีๆ เลยก็ได้นะครับ ที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องราวอะไรในห้องฟังเพลงบ้างเลย เพราะมัวแต่ออกไปตะลอนนอกห้อง เอาเรื่องโน่น นี่ นั่น ที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาให้รู้จักกัน หรืออยู่ในห้องก็เอาเรื่องเครื่อง เรื่องลำโพง ที่ยกเข้าไปฟังแล้วเสร็จก็นำมาพูดคุยกันต่อที่ตรงนี้ โดยที่ไม่ได้พูดถึงอะไรที่เป็นเรื่องราวคล้ายๆ ที่ฝรั่งชอบพูดแบบเคล็ดลับเชิงแนะนำทำนอง Hints & Tips ในการที่จะทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้นกับซิสเต็มเดิมๆ บ้างเลย

เพราะเรื่องเกี่ยวกับ ‘เสียง’ นี่ แม้ว่าจะเป็นชุดเดิม ชิ้นเดิมทั้งระบบ ฟังไปนานวันเข้า สุ้มเสียงมันอาจจะเปลี่ยนไปในทีว่าจะแย่ลงกว่าเดิมก็เป็นได้

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

 

เรื่องของเรื่องมันมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งจะค่อยๆ ไล่เรียงไปทีละสาเหตุที่ว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องที่จะนำมาพูดคุยด้วยนี่ บรรดามิตรรักนักฟังมือใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกของคนเล่นเครื่องเสียง ก็สามารถนำไปเป็นแนวทางเพื่อปรับใช้กับซิสเต็มที่กำลังคิดจะนำเข้ามาอยู่ร่วมในห้องได้เช่นเดียวกันครับ

เพราะความจริงประการหนึ่งก็คือ ซิสเต็มหรือชุดเครื่องเสียงที่คุณพออกพอใจในคุณภาพเสียง หลังจากที่ได้ฟังนานพอจนตัดสินใจได้แล้ว ว่าจะยกกลับบ้านนั้น เสียงของร้อยทั้งร้อย (ซิสเต็ม) ที่ฟังในห้องลองเสียงของร้าน เมื่อยกกลับไปฟังในห้องของคุณเองแล้ว มันไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้ ได้อย่างมากก็คือใกล้เคียงเท่าที่พอจะเป็นไปได้เท่านั้นเอง

จึงเป็นที่มาของคำพูดที่มักจะได้ยินว่า ‘ไม่เห็นจะเหมือนกับตอนฟังที่ร้านเลย’ หลังจากยกชุดกลับมาฟังที่ห้องของตัวแล้วนั่นล่ะ

นั้นมันมีหลายสาเหตุมาก

แต่เรื่องหลักๆ ที่สำคัญสุดในเรื่องนี้ก็คือลักษณะของสภาพห้องครับ ซึ่งเป็นที่มาของเรื่อง ‘พังเพราะห้องฟัง’ ที่ทำให้หลายๆ ซิสเต็มแม้ได้ชื่อว่าเลอเลิศประเสริฐศรี ต้องตกม้าตายมานักต่อนักแล้ว

 

ลักษณะของสภาพห้องที่ว่าก็คือลักษณะทางด้าน Acoustics ของห้องนั้นๆ ที่มีอัตราการซับเสียง และสะท้อนเสียง อันแตกต่างกันนั่นเอง เพราะการดูดซับเสียงและการสะท้อนของเสียงอันเนื่องมาจากโครงสร้างหลักของห้อง ตลอดจนวัสดุ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่วางอยู่ในห้อง ล้วนมีอิทธิพลอันส่งผลต่อลักษณะเสียงอย่างเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกับเสียงในย่านความถี่ออดิโอ (20Hz-20kHz) จะมีความไวทั้งต่อปริมาตรและวัสดุที่กอปรกันขึ้นเป็นสภาพห้องโดยรวม

เป็นต้นว่า ห้องนั้นมีผนังและพื้นเป็นคอนกรีตฉาบปูนเรียบ อีกทั้งยังมีตู้โชว์บานกระจกขนาดใหญ่ มีโต๊ะกาแฟหน้าเก้าอี้นั่งฟังแบบผิวกระจกประกอบโครงสร้างโลหะ เสียงที่เกิดขึ้นในห้องนี้ก็จะออกไปข้างก้อง สะท้อน เพราะสภาพห้องรวมทั้งวัสดุเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติเช่นนั้น

ขณะที่อีกห้องแม้จะมีโครงสร้างห้องแบบเดียวกัน คือคอนกรีตฉาบปูน แต่ผนังทุกด้านมีผ้าม่านหนา มีชั้นวางตู้หนังสือแบบไม่มีบานและมีหนังสือวางเต็ม พื้นห้องก็ปูพรมหนาเต็มพื้นที่แบบ Wall-to-Wall โซฟานั่งฟังก็เป็นแบบผ้าหนาบุนวม เสียงที่เกิดขึ้นในห้องนี้ก็จะออกไปทางอับ ทึบ เพราะเสียงส่วนใหญ่ถูกวัสดุต่างๆ ดูดซับเอาไว้หมด เพราะไม่ว่าจะเป็นผ้าม่านหนา พรมปูพื้น ผ้าบุนวม ล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุเก็บเสียงชั้นดีทั้งสิ้น

คุณสมบัติหลักของห้องฟังที่ดีก็คือต้องมีอัตราส่วนของการสะท้อนเสียง กับการดูดซับเสียง ที่พอเหมาะพอควรซึ่งกันและกัน

เสียงที่เกิดขึ้นในห้องจึงจะมีสมดุลเสียงที่ดี น่าฟัง มีความเป็นธรรมชาติสูง

 

การแก้ปัญหาที่ว่านี้จึงต้องสังเกตเป็นกรณีๆ ไป ห้องไหนที่ฟังแล้วรู้สึกเสียงก้องสะท้อนมาก เพราะเป็นห้องคอนกรีตเปลือย ก็ให้ใส่ผ้าม่าน นำพรมปูพื้นเข้ามา หรือห้องไหนที่ฟังแล้วรู้สึกเสียงมันอับทึบมาก ก็นอกจากจะลองเอาพวกดูดซับเสียงออกไปบ้างแล้ว ลองใส่หรือเพิ่มเฟอร์นิเจอร์จำพวกกระจก โลหะ เข้ามา เพื่อช่วยให้ได้สมดุลเสียงระหว่างการสะท้อนกับการดูดซับที่ดีขึ้น ดังที่บอกคือมันไม่ได้มีสูตรสำเร็จให้นำไปแก้ไขได้แบบตายตัว ต้องว่ากันเป็นห้องๆ ไป

อย่างไรก็ตาม กับเรื่องนี้หากจะว่าไปแล้วคนเล่นเครื่องเสียงยุคนี้ยังมีตัวช่วยมากกว่าคนเล่นรุ่นก่อน คือนอกจากจะมีวัสดุสำเร็จรูปที่ทำขึ้นมาใช้เพื่อการนี้ขายกันเกร่อแล้ว

เครื่องเสียงหรืออิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ๆ ยังมีวงจรหรือระบบแก้ไขสภาพห้องจำพวก Room Correction System ใส่เข้ามาให้ในเครื่องเสร็จสรรพ จึงช่วยแก้ไขเรื่องสภาพห้องที่เป็นปัญหาต่อคุณลักษณะเสียงไปได้ระดับหนึ่ง

ภาพรวมของระบบที่ว่ากล่าวพอสังเขปได้ก็คือ เป็นการแก้ไขผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยเส้นกราฟตอบสนองความถี่ที่ย่านต่างๆ โดยดู Curve ของเส้นกราฟว่าออกมาอย่างไร ที่ย่านความถี่ไหนขาดหายไป ก็ยกขึ้น ที่ย่านความถี่ไหนดูว่าจะโด่งมากเกินไป ก็ลดมันลง เพื่อให้ได้การตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบ คลื่นเสียงที่ออกมาภายในห้องก็จะมีสมดุลที่ดี

แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงที่ได้ยินจะเป็นที่น่าพอใจของคนฟัง โดยเฉพาะกับเจ้าของห้อง จึงนอกจากจะใช้กราฟเข้ามาช่วยแล้ว ควรใช้การฟังเข้ามาเสริมด้วย เพื่อให้ได้เสียงอันเป็นที่พอใจมากที่สุด

 

อีกเรื่องที่มักจะเห็นในช่วงหลังๆ ก็คือ ไปว่าจ้างร้านค้าหรือคนที่รับทำ Room Treatment หรือทำการ Tune ห้อง, Tune ภาพ ตลอดจน Tune เสียง เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้

แต่สิ่งที่ตามมาหรือผลที่ได้ก็คือทุกอย่างจบลงตรงตามความชอบของคนที่ถูกจ้างมา

โดยที่คนว่าจ้างมักจะ ‘คล้อยตาม’ เพราะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปกับความคิดที่ว่า ‘เซียนว่าดี’ หรือที่จ้างมาคือ ‘กูรู’ เขาว่าดีก็ต้องว่าดีด้วย ไม่งั้นจะกลายเป็นพวกหูไม่ถึงตาไม่ดีไปเสียฉิบ

และเท่าที่มีประสบการณ์มากับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องผ่านการปรับจูนโดยเซียน หรือกูรูนั้นๆ ใครไปทำห้องไหนผลออกมาก็มักจะเป็นไปสไตล์เดียวกันหมด ชนิดที่ฟังเสียง เห็นภาพแล้ว บอกได้เลยว่าใครเป็นคนทำ หรือมาจูนให้ เพราะมันเหมือนลายเซ็นของคนนั้นๆ ไปแล้วนั่นเอง

ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ ‘ไม่น่าใช่’ เพราะเจ้าของห้อง เจ้าของซิสเต็มแต่ละคน หาใช่มีรสนิยมในการฟังเสียงหรือการชมภาพเหมือนกันแต่อย่างใด รวมทั้งไม่น่าจะเหมือนกับคนที่มาปรับแต่งให้ด้วย

ทุกคนล้วนมีความชอบ และความพอใจ ในสิ่งที่เห็นหรือได้ยินเป็นตัวของตัวเอง เพียงแต่อาจจะยังค้นไม่พบความจริงของสิ่งซึ่งเป็นนามธรรมในเรื่องนี้ หรือไม่กล้าแสดงออกที่ขัดกับคนอื่น โดยเฉพาะกับคนที่คิดว่ามีประสบการณ์มากกว่าตัวเอง ก็ต้องว่าตามหรือเห็นคล้อยตามเขาไปด้วย

กับเรื่องนามธรรมที่ว่านี้ ทุกคนล้วนมีความพึงพอใจเป็นตัวของตัวเองเป็นที่ตั้งทั้งสิ้น

แต่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มก้าวเข้ามา มักจะเขวหรือคล้อยตามคนอื่น

ซึ่งจริงๆ แล้ว หลักในการค้นหาความชอบของตัวเองในเรื่องนี้หาใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ฟังในสิ่งที่ใครเขาพูดหรือเขียนได้ แต่อย่าเพิ่งเชื่อ แล้วไปฟังด้วยตัวเองว่าที่เราได้ยินนั้น มันเป็นอย่างที่เขาว่าไหม ถ้าไม่ใช่ มันแตกต่างกับที่เขาว่าอย่างไรในความรู้สึกของเรา และที่ได้ยินนั้นมันใช่เสียงที่เราชอบไหม

ค่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ ฟังกับเพลงคุ้นๆ เพลงที่ชอบและฟังมาจนขึ้นใจ เพราะสิ่งที่คุ้นและชื่นชอบจะเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้เราสามารถค้นพบ ‘ความชอบ’ และ ‘ความจริง’ ที่เป็นของตัวเองในเรื่องนี้ได้ไม่ยาก

ว่ากันต่อเที่ยวหน้าครับ