คุ้มค่าที่จะฟังคนที่เราไม่เห็นด้วย | นิ้วกลม

คอลัมน์มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม [email protected]

คุ้มค่าที่จะฟังคนที่เราไม่เห็นด้วย

 

ซาชารี อาร์. วู้ด เป็นประธานกลุ่มนักเรียนที่วิลเลียมคอลเลจ กลุ่มของเขาชื่อว่า ‘Uncomfortable Learning’ หรืออาจแปลไทยได้ว่า ‘การเรียนรู้ที่น่าอึดอัด’

เหตุไฉนจึงตั้งชื่อเช่นนั้น?

เพราะคนหนุ่มผิวดำคนนี้เชื่อว่า การรับฟังความคิดเห็นที่น่าอึดอัดนั้นมีข้อดีและคุ้มค่าที่จะใช้เวลากับประสบการณ์เช่นนี้ในชีวิต และเขามักจัดกิจกรรมต่างๆ

 

ปี 1994 ชาร์ลส์ เมอร์เรย์ และริชาร์ด เฮิร์นสไตน์ สองนักเขียนร่วมได้ปล่อยหนังสือ ‘The Bell Curve’ ซึ่งก่อข้อถกเถียงใหญ่โตออกสู่บรรณพิภพ

เพราะเนื้อหาในเล่มชี้ว่าบางเชื้อชาติฉลาดกว่าเชื้อชาติอื่นและประสบความสำเร็จมากกว่า

แถมยังบอกอีกว่าอาชญากรรมรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในชุมชนแอฟริกัน-อเมริกันเกิดจากความด้อยประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ของคนกลุ่มนี้

ไม่เพียงสองคนนี้ที่คิดเช่นนั้น

ปี 2012 จอห์น เดอร์บี้ไชร์ เขียนบทความซึ่งมีความข้อทำนองว่า “อย่าเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนผิวดำจำนวนมาก” และ “จงอยู่ห่างจากชุมชนที่เป็นแหล่งรวมคนผิวดำ” และ “อย่าทำตัวเป็นพ่อพระแม่พระกับคนดำที่ประสบปัญหา”

แน่นอนว่าทัศนะของนักเขียนผิวขาวผู้นี้เป็นลบอย่างชัดเจนต่อคนดำ ซึ่งอาจสะท้อนถึงอคติแบบเหมารวม

เรื่องน่าสนใจคือ ซาชารี อาร์. วู้ด ตัดสินเชิญจอห์น เดอร์บี้ไชร์ และชาร์ลส์ เมอร์เรย์ ไปบรรยายที่โรงเรียนโดยรู้ทั้งรู้ว่าทั้งสองคนนี้มีทัศนคติอย่างไรต่อคนผิวดำเช่นเขา ซึ่งตัวเขาเองก็ปฏิเสธความคิดที่ทั้งสองนำเสนอ

แต่ที่เขาเลือกทำเช่นนั้นเพราะคิดว่า การรับฟังความคิดเห็นที่ตนเองไม่เห็นด้วยนั้นจำเป็นต่อการเติบโตในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย

 

หนุ่มผิวดำ-ผู้เป็นนักกิจกรรมในโรงเรียนเมื่อครั้งเขาเป็นประธานกลุ่มเล่าเรื่องราวในอดีตบนเวทีเท็ดทอล์กให้ฟังว่า บุคคลแรกที่ทำให้เขาเห็นความสำคัญของการรับฟังความเห็น ‘อีกฝั่งหนึ่ง’ แม้โดยพื้นฐานแล้วทั้งแม่และตัวเขาเองจะถูกเลี้ยงและเติบโตมาในครอบครัวที่ถือหางฝั่งเดโมแครต

กระนั้นแม่ก็ยังบอกกับเขาเสมอว่าโลกใบนี้สลับซับซ้อน เราควรรับฟังและมองเห็นสิ่งแตกต่างหลากหลายนอกไปจากตัวเอง

วันหนึ่ง ซาชารีอ่านเจอคำว่า ‘affirmative action’ หรือการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

เขาไม่เข้าใจคำนี้ จึงหันไปถามแม่เพื่อความกระจ่าง

แม่ใช้เวลาเนิ่นนานในการอธิบายโดยละเอียด โดยเล่าถึงสาเหตุของผู้คนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันทั้งเห็นด้วยและตั้งคำถามกับเรื่องนี้ โดยตัวคุณแม่เองเห็นด้วย กระนั้นก็ยังบอกกับลูกชายว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะมองเรื่องนี้ในมุมมองของประวัติความเป็นมายาวนาน มองในมุมของอนาคตที่ควรตั้งคำถาม และใคร่ครวญถึงเหตุปัจจัยต่างๆ ที่รายรอบเรื่องนี้ด้วย

แม่บอกกับเขาว่า ถึงแม้การช่วยเหลือในลักษณะนี้อาจเพิ่มจำนวนคนชายขอบในสถาบันการศึกษาของบรรดาอภิชน กระนั้นมันก็อาจลดทอนโอกาสของคนเชื้อชาติอื่นซึ่งมีฐานะดีกว่าคนกลุ่มน้อยเหล่านั้น

เขาเล่าสิ่งนี้เพื่อจะบอกว่า แม่สอนเขาให้ดูเรื่องราวต่างๆ ให้รอบด้านโดยไม่โยนความเห็นที่ไม่ชอบใจทิ้งไป

เพราะมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อยู่เสมอจากมุมมองที่แตกต่าง แม้ว่าบางครั้งจะทำใจยากเมื่อต้องรับฟังก็ตาม

 

ตอนเกรดสี่ ซาชารีเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนซึ่งเต็มไปด้วยคนผิวขาว

เขาได้ปะทะกับความคิดและพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความแตกต่างของเชื้อชาติและสีผิว

บรรดาผู้ปกครองส่วนใหญ่ประเมินเขาตั้งแต่แรกเห็นว่าเขาน่าจะเล่นบาสเก่งเหมือนบรรดานักบาสผิวดำทั้งหลาย

เขาใช้ความพยายามอย่างหนักและต้องใช้เวลายาวนานเพื่อเปลี่ยนการมองแบบเหมารวมหรือตัดสินกันจากสีผิว เพียงจะทำให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายเห็นว่าเขาก็เป็นนักเรียนคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียน ชอบพูดในที่สาธารณะก็ไม่ง่ายแล้ว

แต่ประสบการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้เขาลงแรงเต็มที่เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าคนเหล่านั้นไม่สามารถตัดสินเขาได้จากเชื้อชาติหรือสีผิว

ความอดทน กระตือรือร้น และทุ่มเทสุดจิตสุดใจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เพื่อนและผู้ปกครองผิวขาวทั้งหลายเห็นว่า เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนแห่งนี้และคู่ควรกับมันไม่ต่างจากคนอื่นๆ

เขาค่อยๆ เรียนรู้ว่าการได้มาอยู่ในแวดล้อมของบรรดาอีลิตในโรงเรียนเอกชนนั้นเป็นประสบการณ์อันมีค่าในการท้าทายตัวเองให้เกิดกระบวนการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะกับความคิดที่เขาต่อต้านหรือไม่เห็นด้วย

เขาจึงตระเตรียมการออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ตัวเองไม่ชอบใจด้วยการเรียนเชิญผู้คนที่ ‘คิดต่าง’ จากตัวเองมาบรรยายในแคมปัส

แน่นอนว่าเมื่อเชิญสปีกเกอร์ที่มีความคิดชวนขัดแย้งมาพูดที่โรงเรียน ก็เหมือนโยนหินก้อนใหญ่ลงไปในบ่อน้ำ เกิดวงกระเพื่อมในจากคนที่หลากหลาย

บางคนอาจรู้สึกว่าแนวความคิดของแขกรับเชิญนั้นคุกคามสถานะของตน บางคนขอให้ยกเลิก เปลี่ยนตัวคนพูด

ซาชารีบอกว่าเขาเข้าใจดีว่า กิจกรรมที่สร้างขึ้นนั้นอาจทำร้ายจิตใจบางคน

กระทั่งตัวเขาเองก็ไม่ชอบฟังผู้บรรยายที่มาบอกว่า ขบวนการสตรีนิยมกลายมาเป็นสงครามต่อต้านผู้ชาย หรือคนดำไอคิวต่ำกว่าคนขาว

กระนั้น เขาก็คิดว่าการหัดรับฟังความคิดที่เราไม่ชอบนั้นสำคัญ นั่นเป็นเหตุผลที่เขายืนยันที่จะเชิญผู้บรรยายเหล่านี้มาพูดที่โรงเรียน

เหตุผลก็คือ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดที่ตรงข้ามกับตัวเองนั้นมีอยู่ในสังคม และมีคนอีกนับล้านที่เห็นด้วยกับคนเหล่านี้

หากเราต้องการให้สังคมดำเนินไปข้างหน้าก็ต้องเข้าใจแนวคิดที่ต้านทานอยู่ด้วย และการรับฟัง ถกเถียง เรียนรู้จากแนวคิดที่แตกต่างจะนำมาซึ่งการค้นพบจุดร่วมบางประการ

หากเราไม่เจอจุดร่วมกับผู้พูด เราอาจจะพบจุดร่วมระหว่างเรากับผู้ฟังอีกฝั่งหนึ่ง เขาเชื่ออย่างยิ่งว่า กิจกรรมเช่นนี้นำมาซึ่งความเข้าใจที่ดีขึ้นระหว่างสองฝ่าย

ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการเป็นผู้ฟังที่ดี

ซาชารีมีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำกับชาร์ลส์ เมอร์เรย์ ผู้เชื่อว่าคนขาวฉลาดกว่าคนดำ

เขารู้ดีว่ามันจะเป็นช่วงเวลาที่น่าอึดอัดและไม่ได้คาดหวังความสุขสำราญจากอาหารมื้อนั้น

แต่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แย่อย่างที่คิด ชาร์ลส์ เมอร์เรย์ แลกเปลี่ยนอย่างจริงใจ

พวกเขาถกเถียงกันและรับฟังกัน

ซาชารีสังเกตได้ว่านักเขียนผิวขาวก็ชื่นชอบในตัวเขาและพวกเขาก็มีส่วนที่คิดเห็นตรงกัน นั่นคือต้องการสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมกว่าที่เป็นอยู่

ข้อต่างก็คือหน้าตาของความยุติธรรมของทั้งสองฝ่ายไม่เหมือนกัน

แนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็แตกต่างกัน

โดยรากที่มาของความคิดและข้อเสนอทั้งหลายของชาร์ลส์ เมอร์เรย์ นั้นมาจากแนวคิดแบบเสรีนิยมและอนุรักษนิยม

ซึ่งแตกต่างจากตัวเขา แม้จะได้รับการอธิบายเหตุผลโดยละเอียด ซาชารีก็ไม่ได้เห็นด้วยกับชาร์ลส์ เมอร์เรย์ อยู่ดี

กระนั้น คืนนั้นเขาก็เดินกลับบ้านด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้น

สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ผ่านเส้นทางของการเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างก็คือ โลกใบนี้ต้องการความมุ่งมั่นร่วมกันในการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งระหว่างมวลมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลาย

เขาฝันที่จะเห็นบรรดาผู้นำทั้งหลายคุ้นชินกับการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันคนละขั้ว เพื่อจะได้เข้าใจเสียงที่หลากหลายซึ่งตัวผู้นำเป็นตัวแทนของเสียงเหล่านั้น

แน่นอนว่าผู้นำมิได้เป็นตัวแทนของความคิดแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น โดยเริ่มจากการรับฟังอย่างแท้จริง แทนตัวเองไปสวมรองเท้าของคนที่เห็นต่าง แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคนที่คิดอีกแบบ

ฟังซาชารีบอกเล่าเรื่องราวและความคิดของเขา ผมออกจะคล้อยตามเหตุผลที่เขาไล่เรียงให้ฟังว่า เป็นเรื่องคุ้มค่าที่เราจะรับฟังความคิดเห็นที่เราไม่ชอบ เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องอยู่ร่วมกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน (บางครั้งคนละขั้ว) และเราปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเขาไม่ได้ แทนที่จะอยู่ร่วมด้วยความเกลียดกลัว น่าจะดีกว่าถ้าอยู่ร่วมกันด้วยความพยายามเข้าใจความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง

เข้าใจ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

แต่เข้าใจเพื่อมองเห็นความเป็นไปได้อื่นที่มีอยู่จริงในสังคม เข้าใจรากที่มาของความคิดนั้น และไม่แน่, วันหนึ่งเราอาจพบความหวังเล็กๆ เมื่อสามารถแลกเปลี่ยนกันจนพบเจอจุดร่วมบางอย่างระหว่างคนที่คิดต่าง ปรับความคิดเข้าหากัน หรือบางครั้งอีกฝ่ายอาจได้บางแง่มุมจากเราไป บางครั้งเราก็ได้รับจากเขามา

อย่างน้อยที่สุด การได้ฟังกัน เจอกัน แลกเปลี่ยนกันก็ทำให้เราไม่อยู่ร่วมกันอย่างแบ่งแยก โกรธ เกลียด กลัว และอยู่ภายใต้สังคมที่ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน

ผมชอบชื่อกลุ่มที่ซาชารีตั้ง ‘การเรียนรู้ที่น่าอึดอัด’

นั่นอาจเป็นการเรียนรู้ที่เราต้องเรียนไปตลอดชีวิต