“เดินสวนเดินนา” : การจัดเก็บภาษีสวนผลไม้ ในรัชสมัย รัชกาลที่ 3 | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

เดินสวน เดินนา

 

เมื่อตอนผมเป็นเด็กอายุได้ราวสิบขวบ ซึ่งนั่นหมายความว่าย้อนหลังไปตั้งห้าสิบห้าปีจากปัจจุบัน

พอถึงหน้าทุเรียน ถ้าจำไม่ผิดก็อยู่ในราวเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม พ่อกับแม่จะพาลูกสองคนเดินทางจากบ้านที่อยู่ย่านสุขุมวิทไปไกลถึงจังหวัดนนทบุรี

ที่เมืองนนท์จะมีแผงขายทุเรียนเรียงรายอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นริมถนน พ่อ-แม่จะเล็งแผงค้าที่มีทุเรียนหน้าตาเข้าท่าเข้าทางดีที่สุดเพื่อลงไปเจรจาต่อรอง

ผมจำราคาไม่ได้หรอกครับว่าลูกละสักเท่าไหร่ รู้แน่แต่ว่าพ่อมีเงินเดือนไม่มากนัก ซื้อได้สักสองลูกก็ปลาบปลื้มเต็มทีแล้ว

ค่ำวันนั้นกลิ่นทุเรียนหอมหวนชวนฝันก็อบอวลชวนแทะเล็มลิ้มรสไปทั้งบ้าน

 

ทุกวันนี้บรรยากาศเช่นว่าไม่มีอีกแล้วที่จังหวัดนนทบุรี สวนทุเรียนน่าจะมีเหลืออยู่น้อยเต็มที มีแต่เพียงบ้านจัดสรรและย่านการค้าพาณิชย์เข้ามาแทนที่ เวลานี้ถ้าอยากจะกินทุเรียนก็ต้องคิดถึงทุเรียนต่างจังหวัด เช่น ทุเรียนระยอง จันทบุรี หรือทุเรียนภูเขาไฟจากภาคอีสานไปโน่น

ผู้คนในยุคสมัยนี้ใครเลยจะนึกได้ว่า กรุงเทพฯ ของเรา ซึ่งแต่เดิมมีชื่อเรียกว่าบางกอก และเมืองบริวารโดยรอบ เคยเป็นทำเลที่สวนขึ้นชื่อลือชา มีผลไม้รสดี ทัดเทียมกันกับย่านบางช้าง อัมพวา ละแวกสมุทรสงคราม ซึ่งยังพอเหลือเค้าให้เห็นได้ว่ามีสวนผลไม้อย่างดีมาแต่ไหนแต่ไร จนมีสำนวนที่โบราณท่านกล่าวว่า

“บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน”

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ บริเวณโรงพยาบาลศิริราชเรื่อยไปจนถึงสถานีรถไฟบางกอกน้อย ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ไปแล้ว แต่เดิมบริเวณนั้นเป็นสวนมังคุดและสวนลิ้นจี่ลือชื่อ อย่างน้อยตั้งแต่สมัยธนบุรี และน่าจะเป็นทำเลปลูกผลไม้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วด้วยซ้ำไป

ดูเหมือนผมเคยพูดไว้ในที่นี้มาแล้วครั้งหนึ่งว่า ระบบการจัดเก็บภาษีผลไม้ของเราแต่เก่าก่อนนั้นใช้วิธีนับต้นผลไม้เป็นสำคัญ ไม่ใช่คำนวณจากรายได้การขายผลไม้ซึ่งควบคุมตรวจสอบได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ชาวสวนจึงต้องเลือกปลูกแต่ต้นที่ให้ผลผลิตดีมีราคา ต้นไหนมีคุณภาพต่ำก็อยู่ในเกณฑ์แพ้คัดออก เก็บไว้แต่ต้นที่ถูกใจทำรายได้ดีให้เจ้าของสวนเท่านั้น

ระบบภาษีอย่างนี้นี่เองที่ทำให้ผลไม้เมืองไทยมีคุณภาพชนะเลิศมาแต่ไหนแต่ไร

 

สองวันมานี้ผมมีโอกาสได้ไปอ่านหนังสือชุดจดหมายเหตุ รัชกาลที่ 3 ซึ่งพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2530 ในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปีของรัชกาลนั้น มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสวนผลไม้น่ารู้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเคยรู้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า เพื่อเป็นสถิติข้อมูลในการเก็บภาษีซึ่งเป็นรายได้สำคัญของรัฐ ทางราชการครั้งนั้นย่อมจัดให้เจ้าหน้าที่ไป “เดินสวนเดินนา” ตามเรือกสวนไร่นาต่างๆ

ภาษาสมัยนี้คือไปเดินสำรวจนั่นแหละครับ

รายงานฉบับที่ผมได้อ่านคือ บัญชีรายชื่อต้นไม้ 9 อย่างที่ต้องเสียอากร จุลศักราช 1192 เทียบเป็นพุทธศักราชก็ได้ปี 2373 หย่อนสองร้อยปีอยู่นิดนึง

บัญชีดังกล่าวใช้คำว่าสวนในสวนนอก ตรงกันกับสำนวนที่ผมกล่าวถึงมาแล้วข้างต้น

คำว่า “สวนใน” นั้นบอกรายละเอียดว่า เป็นสวนในกรุงเทพมหานคร ระวางซ้าย 28 ระวาง ระวางขวา คือพื้นที่แขวงเมืองนนทบุรี 19 ระวาง รวมพื้นที่ที่เรียกว่าสวนในทั้งสิ้น 47 ระวาง

ส่วน “สวนนอก” ได้แก่ สวนที่เมืองสมุทรสงคราม ราชบุรี สองเมืองนี้รวมกันสิบระวาง เมืองนครชัยศรี สาครบุรี (ปัจจุบันคือสมุทรสาคร) รวมกันสี่ระวาง บางครกแขวงเมืองเพชรบุรีหนึ่งระวาง เมืองฉะเชิงเทราสองระวาง รวมพื้นที่สวนนอกทั้งสิ้น 11 ระวาง

พื้นที่เหล่านี้คือบริเวณที่เป็นเรือกสวนอย่างดีของเรามาแต่ก่อน

แล้วสวนในสวนนอกเหล่านี้เขาปลูกอะไรกันบ้างเล่า

 

ตามบัญชีรายการที่ผมได้อ่านพบ ต้นไม้เก้าประเภทที่จะต้องเสียอากร จำกัดอยู่เพียงเก้าชนิดคือ หมาก มะพร้าว พลู มะปราง มะม่วง ทุเรียน มังคุด ลางสาด และส้ม ปลูกอะไรอย่างอื่นนอกจากนี้ยังไม่พบว่าจะต้องเสียภาษีอากรหรือไม่

นึกเดาเอาเองอย่างคนเรียนกฎหมายว่า เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ต้องเสียอากรเห็นจะไม่ต้องเสียกระมัง

สำหรับมะพร้าว มะม่วง มังคุด ทุเรียน ลางสาด มะปรางและพลู ตามบัญชีที่ปรากฏไม่ได้จำแนกรายละเอียดว่า จะต้องเสียภาษีแตกต่างกันหรือไม่ถ้าเป็นพืชชนิดเดียวกันแต่ต่างพันธุ์ ดังนั้น ตามความเข้าใจแบบนี้ มะม่วงพิมเสนหรือมะม่วงอกร่องก็ถูกเก็บภาษีเท่ากัน

ส่วนหมากและส้มนั้นแยกรายละเอียดเยอะแยะครับ หมากแยกย่อยเป็นหมากเอก หมากโท หมากตรี และหมากประการาย แต่ละชนิดแต่ละรายการเห็นจะมีอัตราภาษีอากรไม่เท่ากัน เช่นเดียวกันกับส้ม ซึ่งมีรายการย่อยได้แก่ ส้มโอ ส้มแก้ว ส้มเปลือกบาง ส้มเกลี้ยง ส้มเทพรส ส้มจุก และส้มมะแป้น

เมื่อถึงวาระที่จะต้องเดินสวนเดินนา ทางราชการจะจัดเจ้าหน้าที่ออกไปเดินนับต้นไม้ทีละต้น ต้นไม้เกือบทุกรายการข้างต้นล้วนแต่เป็นไม้ยืนต้น นับได้รายต้นไปเลยทีเดียว ยกเว้นพลู ซึ่งเป็นไม้เลื้อยสำหรับผู้คนครั้งนั้นกินกับหมาก ไม่ใช้วิธีนับเป็นต้น เพราะไม่มีต้นให้นับ จะใช้วิธีนับเป็น “ค้าง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกไม้หลักปักไว้สำหรับให้ต้นพลูเกาะเลื้อยขึ้นไป

เราลองมาดูความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองครั้งนั้นไหมครับว่า ทั้งสวนนอกสวนไหนรวมกันแล้วมีต้นอะไรอยู่บ้าง และมากน้อยแค่ไหน

รายงานท่านว่าไว้อย่างนี้ครับ

 

“ศริยต้นไม้สวนในกรุงเทพพระมหานคร สี่สิบเจ็ดระวาง สวนนอกหกเมืองสิบเอ็ดระวาง เข้ากันหกสิบสี่ระวาง เปนหมากเอกยี่สิบสองแสนหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยสามสิบเบดต้น หมากโทสิบแสนเจดหมื่นสองพันเก้าสิบสองต้น หมากตรีสามแสนเจดหมื่นสองพันเก้าร้อยสิบหกต้น หมากประการายหกแสนหกร้อยเก้าสิบสามต้น หมากเลกเก้าแสนพันหกร้อยสี่สิบเก้าต้น เข้ากันเปนต้นหมากห้าสิบเบดแสนหกหมื่นสี่พันแปดร้อยเก้าสิบต้น มะพร้าวสิบสี่แสนสามหมื่นแปดพันแปดร้อยสิบสี่ต้น พลูแสนหมื่นห้าพันสามสิบห้าค้าง มปรางหมื่นกกพันเก้าร้อยห้าสิบสามต้น มมวงสามแสนห้าพันเจดร้อยหกสิบห้าต้น ทุเรียนห้าหมื่นสี่พันสองร้อยหกสิบเจดต้น มังคุดหกหมื่นพันห้าสิบสี่ต้น ลางสาดหมื่สี่พันสองร้อยเก้าต้น ซ่มโอ ซ่มแก้ว ซ่มเปลือกบาง ซ่มเกลี้ยง ซ่มเทพรด ซ่มมแป้น ซ่มจุก ห้าแสนหมื่นสองพันเก้าร้อยสามสิบต้น ศริยต้นไม้มีอากอร ๙ สิ่ง เจดสิบหกแสนแปดหมื่น สามพันเก้าร้อยสอบเจดต้น ขอเดชะฯ”

มึนแล้วจ้า

เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้วไม่น่าแปลกใจที่บ้านเมืองของเราจะร่มเย็นนักหนา คนต่างชาติต่างภาษามาเห็นเข้าก็ร้องว่าอยู่เมืองนี้ไม่อดตายแน่

นี่เฉพาะต้นไม้ที่หลวงท่านเดินนับนะครับ ต้นอื่นนอกจากนี้ไม่เกี่ยวข้อง แค่กล้วยก็อีกกี่ล้านต้นไม่รู้แล้ว

 

ยังมีความสนุกต่อไปอีกว่า ข้าหลวงที่จะไปเดินรังวัดสวนนี้ ก่อนออกไปทำหน้าที่ต้องมีหนังสือถวายสัตย์สาบานว่าจะทำการโดยความสุจริต จะระมัดระวังไม่ให้ขาดเกินจำนวนไปกว่าความเป็นจริง เพราะถ้านับขาดหลวงคือทางราชการก็ขาดประโยชน์ ตรงกันข้ามถ้านับเกิน ราษฎรก็ได้รับความเดือดร้อน ถ้าไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ก็เป็นช่องทางทำมาหากินได้มากพอสมควรทีเดียว

คำสัตย์สาบานนี้สนุกมาก เพราะอธิบายรายละเอียดว่า ถ้าหากว่ามิได้ทำราชการด้วยความซื่อตรงแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต

ลองดูสักนิดหนึ่งเป็นหนังตัวอย่างนะครับ

“…ชีวิดข้าพระพุทธเจ้าอันมิได้ซื่อตรง จงวินาศฉิบหาย ตายด้วยอัสนีบาตสายฟ้าฟาดไฟฟ้าราชสถาวุธดาบองครักษจักนะราย กระบือ เสี่ยวช้างแทงจรเข้เสือสัตวในบกในน้ำ จงพิฆาตขบฆ่าข้าพระพุทธิเจ้าให้สิ้นชีวิด… จงปรจักแกตาโลกย์ ใน ๓ วัน ๗ วัน แล้วลงไปเกิดในมหานะรกหมุกไม่ อยู่สิ้นแสนกัลป์ คัรนสิ้นกำม์ในที่นั้นแล้ว ไปเกิดในภพใดๆ อย่าให้ภบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆเจ้าซึ่งจมาโปรดข้าพระพุทธิเจ้านั้นได้เลย”

คำสาบานแบบนี้สยดสยองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อนท้ายสุดนั้น คนไทยครั้งนั้นท่านหวาดกลัวเป็นที่สุด

 

นี่เห็นได้ว่าข้าราชการสมัยก่อนไม่ต้องมี ป.ป.ช. มากวดขันจ้ำจี้จ้ำไช เขาก็อยู่กันได้ด้วยฤทธิ์แห่งแรงสาบานแบบนี้

แต่อย่างว่าแหละนะครับ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป คนสมัยนี้ทนทานต่อคำสาบานยิ่งนัก ถ้าคำสาบานศักดิ์สิทธิ์จริง และข้าราชการบางหน่วยต้องสาบานทำนองนี้

สงสัยนักว่าจะเหลือรอดสักกี่คน

เอ! น่าให้ลองดูเหมือนกันนะครับ

เรามาทำโพลสำรวจกันดีกว่าว่า จะให้กรมไหนหรือสำนักงานไหนสาบานเป็นหน่วยแรก

สงสัยจะคิดตรงกันหลายหน่วยครับ ฮา!